My Reflection on the Leadership Class (1/2)

ยังไม่ปิดคอร์สและยังเหลือกิจกรรมที่เรายังจะทำกันอยู่ แต่รู้สึกอยากเขียนมาก

เหมือนเทอมแรก เทอมสองนี้ชั้นเปิดคอร์ส Communication and Leadership ให้กับนิสิตปี ๔ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาคพิเศษ มีเด็กวิศวกรรมเคมีมาลง ๑ คน  มีสิ่งที่แตกต่างและที่เหมือนเดิมตอนที่เราทำรอบสอง

สิ่งที่เหมือนเดิมคือชั้นใช้หัวข้อ ลำดับคลาสเหมือนเดิม วิทยากรชุดเดิม

ส่วนที่ต่างคือเด็กและชั้น เทอมที่แล้วที่เปิดครั้งแรก เด็กทุกคนมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ มากน้อยต่างกัน และชั้นยังไม่มีไอเดียในการให้เกรดนอกจากเช็คงานที่ส่ง ทุกคนจึงได้ A  เทอมนี้เด็กหลายคนจึงมาด้วยความคาดหวังที่จะได้ A 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่เปลี่ยนในเทอมนี้ ด้วยธรรมชาติของกระบวนการและความใสๆ ของเค้า เด็กก็เปลี่ยนอยู่แล้ว

ส่วนตัวชั้นเอง เทอมนี้ชั้นก็เฉื่อยเนือยด้วย การรู้จักเด็กในระดับเรื่องราวในชีวิตหรือปมในอดีต มันใช้พลังชั้นมาก โดยสันดาน ชั้นมีโลกส่วนตัวสูง หมกมุ่นกับตัวเอง การใส่ใจผู้อื่นต้องใช้ความพยายาม ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ทำได้แต่ใช้พลัง ชั้นเชื่อเรื่องการสร้างนิสัยใหม่ว่าทำได้ แต่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี เหมือนเทอมที่แล้วเราแทบหมดก๊อกไปแล้ว นี่จะต้องมารู้จักเด็กกลุ่มใหม่อีกเหรอ...

เห็นง่ายๆ เลยว่าชั้นตอบ Reflection ของเด็กช้าลงกว่าเทอมที่แล้ว เหมือนพอทำรอบสอง ความตื่นเต้นที่จะอ่าน Feedback ของเด็กลดลง

เด็กในคลาสเทอมนี้ไม่สนิทกันทั้งหมด มีบางกลุ่มที่สนิทกันมาก บางกลุ่มแทบไม่เคยคุยกันทั้งๆ ที่อยู่ภาคเดียวกันและเรียนด้วยกันมา ๔ ปี ทำให้ต้อง Break the ice กันอยู่โคตรนาน กว่าพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแบ่งปันจะเกิด จะหมดเทอมแล้วบางคนยังขอให้มีกิจกรรมละลายพฤติกรรมอยู่เลย

นอกจากความไม่สนิท มีเด็กบางคนที่ดูเกรียน โดยไม่ได้ตั้งใจเค้าทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเปราะบาง คือ ก็ไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่เป็นกรรมร่วมกัน

สี่คาบแรกที่ชั้นสอนเอง ชั้นก็สอนเหมือนเทอมที่แล้วเป๊ะ โดยไม่รู้ตัว ชั้นจบคลาสเร็วกว่าเวลาเลิก หลักๆ เป็นเพราะวงคุยไม่เกิด ทำให้กิจกรรมจบเร็ว และชั้นเองก็ไม่มีแผนเสริมที่จะทำอย่างอื่นเพิ่ม หรือลึกๆ จริงๆ ชั้นอาจจะเป็นคนเร่งจังหวะให้จบคลาสเร็วๆ ก็ได้ เพราะเหนื่อยละ

จุดเปลี่ยนของความรู้สึกของชั้นกับเด็กๆ คือ หลังจากกลับจากเขาใหญ่ แน่นอนว่ากิจกรรมและความลำบากร่วมกันทำให้สนิทกันมากขึ้น  หลายกิจกรรมของมูทำให้ชั้นเห็นเด็กมากขึ้น เห็นด้านที่เป็นปัญหาแบบที่เราช่วยเด็กได้  มูเป็นคนช่างสังเกต เราคุยกัน ปรึกษากันเรื่องเด็กๆ ทำให้ชั้นมีเพื่อนช่วยคิด อีกคนที่สังเกตเด็กมากคือเก๋ที่มาตอนท้ายเทอม ช่วยๆ กันดูเด็กตอนที่อยู่เขาใหญ่และตอนที่ทำกิจกรรม

ช่วงท้ายนี้ เด็กๆ ต้องทำแผนชีวิต ๕ ปีข้างหน้า เรียกว่า Odyssey Plans แบบ Design your life มี ๓ แผน คือ แผนที่จะทำอยู่แล้ว แผนที่จะทำถ้าโลกนี้ไม่ต้องการอาชีพในแผนแรก แผนที่สามคือเมื่อเงินไม่ใช่ประเด็น

เด็กต้องนำเสนอแผนให้เพื่อนกลุ่มเล็กและชั้นฟัง เพื่อนๆ มีหน้าที่ถามเพื่อช่วยคิด หรือช่วยให้เห็นประเด็นที่อาจมองข้าม การได้ฟังเด็กนำเสนอ Odyssey plans ทำให้ชั้นรู้จักพวกเค้ามากขึ้นไปอีก บางคนชั้นก็โค้ชหรือแนะนำตอนที่นำเสนอนั่นเลย

มีบางคนที่ชั้นส่งให้มูและเก๋ช่วยดูแล ช่วยโค้ช มีบางคนที่ชั้นดูเอง

ชั้นโค้ชเด็กสามคนที่ชั้นรู้สึกว่าเค้าต้องการการรับฟัง และชั้นรู้สึกว่าคอนเน็คกับพวกเค้าในระดับพลังงาน ซึ่งเค้ามีพลังงานตรงข้ามกับชั้น คือ นุ่มๆ ช้าๆ สายอะไรก็ได้ ขณะที่ชั้นสายบ้าพลัง พุ่งๆ มุ่งเป้า เด็กมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เลิกกัน ชั้นโทรไปหาทีละคน ถามเรื่องครอบครัวพวกเค้าไปเรื่อยๆ  ชั้นเพิ่งเข้าใจว่าการหย่าร้างส่งผลกระทบกับเด็กมากๆ ทั้งในแง่จิตใจและความมั่นคงทางการเงิน และน่าจะส่งผลกับผลการเรียนในบางคน

ชั้นมีการบ้านให้ทั้งสามคนทำทุกวัน แต่ละคนได้โจทย์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับด้านที่เจ้าตัวอยากมี หรือชั้นมโนว่าเจ้าตัวควรมี เราจะทำกัน ๒๑ วัน (เชื่อว่า ๒๑ วันนานพอที่จะสร้างนิสัยใหม่) คือ ให้เขียนโมเม้นที่มีความสุขของวันนั้น สิ่งที่ภูมิใจ และสิ่งที่ขอบคุณของวันนั้นๆ มาให้ ๓ ข้อ (๑ คนต่อ ๑ โจทย์) ชั้นก็ส่งของชั้นให้เด็กทั้ง ๓ อย่างเหมือนกัน เพื่อความแฟร์และเพื่อเป็นเพื่อน

บางคนที่เราเห็นคำตอบเค้า แล้วเราอยากรู้ต่อ ก็จะส่งข้อความไปถาม หรือถามเจ้าตัวว่าโทรไปถามเพิ่มได้ไหม ชั้นถามเด็กว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้คุยกัน เด็กคนหนึ่งตอบว่ารู้สึกว่าได้เห็นมุมมองใหม่ของเรื่องตัวเอง และคิดว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น บางครั้งที่เค้าเล่า ชั้นก็นำเสนอความเป็นไปได้อื่นๆ ด้วย

ชั้นพบกว่าการถามเรื่องพื้นเพ ภูมิหลังของเด็ก ช่วยให้ชั้นเข้าใจ landscape ของชีวิตเค้า ความท้าทายที่เจอ ทำให้ชั้นตั้งใจจะคุยทีละคนแบบนี้ ตอนต้นเทอมหน้าเลย

จริงๆ แล้ว พอนั่งคุยกัน เด็กอยากเล่าเรื่องเค้าให้ผู้ใหญ่ฟัง ถ้าเราถามด้วยความสนใจ และเค้ารู้ว่าเค้าปลอดภัยกับเรา

เหลืออีก ๑ คาบและรออ่าน Overall reflection จากเด็กๆ น่าจะเขียนต่ออีก อยากเขียนเรื่องชุดความเชื่อของคนรุ่นใหม่ด้วย

Comments