การเขียนบันทึกการเรียนรู้

ดัดแปลงจากบทความของนพ.พนม เกตุมาน

การเขียนบันทึกการเรียนรู้ ทำเพื่อให้เราได้ใคร่ครวญ ทบทวน สิ่งที่เพิ่งเรียนไปในบริบท (Context) ของชุดความรู้เดิม ทำให้วงจรการเรียนรู้สมบูรณ์ การเขียน Reflection เป็นส่วนที่สำคัญมากของการเรียนรู้
ฉันอยากให้มองว่า Reflection เป็นบันทึกส่วนตัวของเรา ไม่ใช่การเขียนเรียงความประกวด หรือเขียนรายงานแบบกล้องวงจรปิด ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฉันต้องการความเป็นตัวเองของเธอ ความเป็นธรรมชาติ การประดิษฐ์คำมากเกินไปทำให้งานเขียนแข็ง อ่านแล้วอึดอัด
ขอให้เขียนอย่างน้อย 800 คำ
  1. ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ (คิดอย่างไร คาดหวังอะไร) ก่อนกิจกรรม คาดหวังอะไร คาดว่าเรื่องนี้คืออะไร รู้สึกอย่างไร สัมพันธ์กับความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตอย่างไร อยากเข้าร่วมหรือไม่ คาดว่าจะเรียนรู้อะไรใหม่ จะนำไปใช้ได้อย่างไร
  2. ประสบการณ์เรียนรู้ (เรียนรู้อะไร อย่างไร ชอบ ไม่ชอบ) เรียนรู้อย่างไร เช่น โดยการฟัง การสนทนาแลกเปลี่ยน การปฏิบัติ กิจกรรม วิธีการเรียนรู้นั้นดีหรือไม่ รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เหตุใดจึงชอบ เหตุใดจึงไม่ชอบ ตรงไหนที่ประทับใจ
  3. ความสัมพันธ์กับการเรียนรู้เดิม วิเคราะห์ประสบการณ์เรียนรู้นี้ว่า เหมือนหรือแตกต่างจากการเรียนรู้เดิมอย่างไร วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ข้อดี ข้อด้อย เหตุใดจึงรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เกิดจากการเรียนรู้ใดในอดีต มีอคติใดแฝงอยู่ อคตินั้นเกิดจากการเรียนรู้ใดในอดีต
  4. การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น สังเคราะห์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ได้องค์ความรู้ใหม่ ได้แนวคิดใหม่ หรือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตัวเรา ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ใช้การคิดอย่างใคร่ครวญ ใจเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตนเอง คิดในมุมมองอื่น คิดโดยสมมติบทบาท
  5. การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตตนเอง สังเคราะห์การนำไปใช้ในชีวิตจริง ทำได้หรือไม่ ทำอย่างไร ต้องการการเรียนรู้ใดเพิ่มเติม การนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ประเทศชาติได้อย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์เหมือนเดิม จะคิดและทำต่างจากเดิม เปลี่ยนวิธีคิด การกระทำและทัศนคติมุมมองจากเดิม หรือได้แนวทางชีวิตใหม่
  6. การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนที่ร่วมประสบการณ์เดียวกัน ถ้ามีการแลกเปลี่ยน เปิดเผยข้อ 1-5 เป็นกลุ่ม อาจได้ความคิด ความรู้สึก และการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากความคิดเดิมของตนเอง
  7. ข้อเสนอแนะ ให้เสนอแนะว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้นี้ได้อย่างไร เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโอกาสต่อไป
  8. คำถามสำหรับอาจารย์ (ถ้ามี)

ตัวอย่างที่ 1 Reflection หลังกิจกรรม “การสื่อสารอย่างสันติ”

1.ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ จากสัปดาห์ก่อนที่เรียนมา ทำให้เห็นภาพของคลาสนี้มากขึ้นครับ ไม่วาจะเป็น การทำให้เรารู้จักกับความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง ยิ่งมีกิจกรรม Feelings and Needs ที่ทำทั้งหมด 7 วัน มันช่วยสะท้อนความรู้สึกความต้องการของเราจริง ๆ ของเรา ในคลาสนี้คิดว่าจะนำสิ่งนั้นมาช่วยต่อยอดจากตัวเองไปผู้อื่นมากขึ้น

2. ประสบการณ์เรียนรู้ เริ่มต้นจากการให้เช็คสถานะตัวเองว่า วันนี้ตัวเองมีความรู้สึกอย่างไรผ่านสี ซึ่งวันนั้นผมเป็นสีแดง ให้ความรู้สึกสนุกสนาน ได้เจอเพื่อน ๆ จากนั้นโดยพี่อ้อมอธิบายถึง iceberg ที่ให้เข้าใจเบื้องลึก เบื้องหลังของผู้อื่นที่มีต่อความต้องการโดยใช้การขอร้อง แล้วมีกิจกรรมสังเกตหรือตีความมาให้ฝึกแยกแยะทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เรารับสารนั้นมากการที่เราสังเกต หรือเราตีความ นั่นทำให้เราสื่อสารอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ตอนกิจกรรมที่เพลงบอกอะไรเรา รู้สึกว่าเพลงที่เราฟัง คนร้อง ผู้แต่ง ต้องการสื่อสารอะไร ตอนังเพลงแอบดี ก็รู้สึกถึงความเศร้าใจ เสียใจ เข้าใจอารมณ์ของตัวเพลง แต่ส่วนใหญ่ที่เข้าใจนั้น มาจากประสบการณ์ของเรา ที่เราเข้าใจว่า ไอเนื้อเพลงตอนนี่ที่พูดถึง มาจากตอนที่เรากำลังรู้สึกอกหัก เศร้า แต่กำลังจะดีขึ้นนะ แล้วก็แอบหวังว่ามันจะดีขึ้นจริง ๆ  แล้วก็เรื่องการที่ให้เราฝึกการรับสารของผู้อื่น โดยใช้การ์ดความรู้สึก ความต้องการ โดยให้เขาหยิบไพ่ความรู้สึกโดยมีเราช่วยบอกด้วย แล้วนำไพ่ความต้องการมาดู มันช่วยให้ระบุความรู้สึก และความต้องการ ซึ่งนำไปสู่วิธีการที่จะทำให้เราบรรลุผลให้สำเร็จให้เสร็จตามความต้องการนั้น

3.ความสัมพันธ์กับการเรียนรู้เดิม เหมือนเป็นการต่อยอดกับความรู้ของคลาสก่อน แต่เป็นการนำความรู้ที่เราได้รับ ไปใช้กับคนอื่นมากขึ้น ข้อดีคือเราจะได้รับรู้ว่า การที่เราคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการที่เราคิดตรงกับสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ มั้ย ทำให้เราได้ฝึกคิดอย่างไม่มีอคติมากขึ้น ข้อด้อย คือ ถ้าเราไม่สามารถแยกแยะ หรือเข้าใจความต้องที่เขาสื่อสารมา อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ 

4.การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ได้รับรู้ว่า การที่เราบอกถึงความรู้สึก ความต้องการของเรานั้น เป็นการสื่อสารที่เป็น Nonviolent Communication แล้ว ผู้ที่รับสารนั้นกับเรา จะรู้สึกดีที่ แล้วอยากจะตอบสนองกับความต้องการของเรามากกว่าที่เราบอกขา โดยเหมือนการใช้คำสั่ง อย่าง เมื่อเราต้องการให้เพื่อนผู้จาดี ๆ กับเรา เราก็จะบอกเขาว่า เราไม่โอเคกับคำพูดยูนะ เรารู้สึกไม่ดี เขาจะเอามาคิด แล้วอยากปรับตาม มากกว่าที่เราไปบอกว่า มึงพูดจาแย่หวะ หัดพูดจาดี ๆ บ้างนะ นั่นทำให้ผมรู้สึกว่า เห้ยวิธีนี้มันเวิร์คเลยหวะ หรือการที่เวลาเรารับฟังคนอื่น การที่เรา Feedback อยากให้เขาไปปรับ แล้วเราพูดแบบตัดสินเลยทันที ทำให้ผู้ที่สื่อสารด้วย ไม่รู้สึกเกิดการขอร้อง จนไม่อยากปฏิบัติตาม การใช้ความชื่นชม ให้ข้อสังเกต หรือให้ความต้องการของเรา จะทำให้เกิดการสื่อสารที่เป็น NVC มากขึ้น 

5.การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตตนเอง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้ลองเอา NVC มาใช้ในชีวิตจริง ๆ เพราะว่ามีปัญหาทะเลาะกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนของผม และอีกฝ่ายเป็นเพื่อนของเพื่อน ผมก็พยายามเป็นคนกลาง ๆ ช่วยไกลเกลี่ย อาจจะไม่ลงรายลเอียดมาก แต่ว่าเป็นเรื่องการเข้าใจผิดในการไปกินเหล้า โดยตอนจ่ายเงิน เขาจับคิดเท่ากันหมด ทั้งที่เพื่อนผมแบบพึ่งมา หรือบางคนกินน้ำเปล่า ซึ่งทำให้เพื่อนผมโมโหและใข้อารมณ์คุยสุด ๆ ผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรพลอยโดนลูกหลงไปด้วย ก็เลยไปคุยกับอีกฝ่าย ซึ่งตอนนั้นผมฟังจากเพื่อนก็ได้รับสารมาโดยใส่ bias ของเขามาด้วย แต่พอไปคุย ลดอารมณืลง เหมือนอีกฝ่ายจริง ๆ เราโกรธ และโมโห ที่เพื่อนผมใช้คำพูดไม่ค่อยโอเค ผมก็เคยไปอธิบายแบบมันเป็นสไตล์มันอยู่แล้ว ที่พูดจาแบบนี้ แล้วก็แบบไม่ค่อยเชื่อ แล้วผมก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่สรุป ๆ แล้วก็ออกมาคุยกันทั้งสองฝ่าย ให้อารมณ์มันลดลง โดยพยายามเลือกคนที่ไม่ค่อยรู้สึกเดือด ณ ตอนนั้น จนทำให้เข้าใจกันมากขึ้น แต่แม้ว่าจะยังโกรธ ๆ อยู่ดี แต่อย่างน้อยก็ได้ปรับความเข้าใจ ความรู้สึก ความต้องการของกันและกัน รู้สึกว่าเรานำ NVC มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเลย

6.การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนที่ร่วมประสบการณ์เดียวกัน ตอนกิจกรรม หยิบไพ่เล่าเรื่อง จับกลุ่มกับปอเช่ กับอาย ได้แชร์หลาย ๆ เรื่องกัน คุยกับเพื่อนไว้แล้วว่า ตอน reflect ไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดมาก แต่สรุป ๆ ภาพรวมคือ ปอเช่มีพี่ที่มันทำงานด้วยแล้วไม่โอเค แล้วแบบปอเช่อยากให้พี่เขารับรู้ความรู้สึก ความต้องการของมันมาก สื่อสารไปแล้วก็ไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา ความเกิดความรู้สึก เบื่อ/เซ็ง ต้องการความเข้าใจ  รู้สึกรำคาญ ต้องการ การสื่อสาร และรู้สึกอึดอัด ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ส่วนอายเป็นเรื่องของเพื่อน ตอนสื่อสารเหมือนอายก็รู้สึกน้อยใจ ต้องการการรับฟัง รู้สึก หงุดหงิด ต้องการความสบายใจ และรู้สึกเหงา ต้องการการมีส่วนร่วม นั่นเป็นสิ่งที่อายต้องการ แต่ยังไม่ได้ลองสื่อสารกับเขาตรง ๆ ส่วนผมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนที่เขามาทำเรื่องหนึ่งกับผม แล้วผมรู้สึก งงมาก แล้วแบบแบบนี้ได้เหรอ  ตอนนั้นรู้สึก งง ตกใจ สับสน แล้วก็อึดอัด ต้องการความเข้าใจ ความเคารพ พื้นที่ส่วนตัว ความเห็นใจ จากเพื่อนคนนั้นมาก แต่ผมก็ได้มีการลองไปพูด ๆ ดูแบบอ้อม ๆ ก็รู้สึกว่าด้วยความที่เพื่อนเป็นคนลักษณ์ 7 อาจจะเห็นคนไม่ค่อยคิดอะไรมาก เลยทำให้บางเรื่องที่เขาทำนั้น อาจจะไม่ได้มากจากการคิดทบทวนมากก่อนให้ดี ก็ได้มีการแอบ ๆ เตือนเพื่อนไป

ตัวอย่าง 2 Reflection หลังกิจกรรม “นพลักษณ์”

1. ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ จริงๆเคยเรียนเรื่องนี้มาก่อนในวิชา Industrial Safety โดยตอนนั้นเป็นการทำแบบทดสอบ แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกสนใจเท่าไหร่ พอมาเรียนในวิชานี้ทำให้เกิดสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา โดยอยากจะรู้ว่ากิจกรรมจะจัดในรูปแบบไหน อยากรู้ว่าตัวเองและเพื่อนๆจริงๆแล้วเป็นลักษณ์ไหนกันแน่
2. ประสบการณ์เรียนรู้ กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะทำเป็นกลุ่ม ซึ่งจับกลุ่มจากการสุ่ม ทำให้ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนบางคนทีไม่ค่อยได้คุยกัน ทำให้รู้จักกับเพื่อนในภาคมากขึ้น กิจกรรมแรกที่ทำคือกิจกรรมทายภาพแบบเกมดาวินชี ซึ่งผมรู้สึกชอบมันนะ รู้สึกอยากเอาชนะดี ถึงจะคิดไม่ค่อยออก เพราะไม่ได้รู้เรื่องตัวละครในวรรณคดีมากขนาดนั้น แต่ก็รู้สึก enjoy กับมัน กิจกรรมต่อมาคือเกมพระราชา โดยจะให้หาของที่กำหนดให้มาให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ของที่ต้องหา เช่น ดอกไม้ 5 ดอก แก้ว 3 ใบ เส้นผม 10 เส้น ใบไม้แห้ง 1 ใบ เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะไม่จำเป็นต้องไปหยิบของมาจริงๆ บางกลุ่มใช้การวาดรูปเอา บางกลุ่มใช้โทรศัพท์มือถือ search เอา ส่วนกลุ่มผมได้ทำการวิ่งหาของเองทั้งหมด แต่ผมก็โอเคกับกลุ่มที่ใช้วิธีอื่นนะ มีความหลากหลายดี ไม่ได้ใช้วิธีเหมือนๆกันทุกกลุ่ม ทำให้รู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แล้วแต่คนไป และเกมที่ 3 คือ เกมโป้งอั๊ยหยา ซึ่งเป็นเกมที่ผมชอบที่สุดใน 3 เกมนี้ เพราะ ทำให้เรามีสติตื่นตัวตลอดเวลา ถ้าไม่มีสมาธิอยู่กับเกมอาจทำให้เราโดนขีดได้ เพราะ ต้องจำว่าถึงเลขไหนแล้วบ้าง และยังต้องจำว่าพอถึงเลขที่ลงท้ายด้วย 3 หรือหารด้วย 3 ลงตัวจะต้องโป้งคนอื่น หลังจากนั้นก็ได้แบ่งกลุ่มตามลักษณ์ต่างๆ ซึ่งผมอยู่ลักษณ์ 7 คือ นักผจญภัย (The Epicure) เพราะ ส่วนตัวเป็นคนชอบทำอะไรท้าทายอยู่แล้ว ชอบการท่องเที่ยว ไม่ชอบทำอะไรในกรอบเท่าไหร่ ชอบลองอะไรใหม่ๆ และไม่ชอบอะไรที่มันน่าเบื่อ ซึ่งพอได้ลองพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ในลักษณ์นี้เหมือนกัน ทำให้รู้ว่าเรามีอะไรหลายๆอย่างเหมือนกัน ถึงบางคนจะไม่ได้สนิทหรือว่าแทบไม่เคยคุยกันมาก่อนเลยก็ตาม แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะแต่ละคนอาจจะไม่ได้มีแค่ลักษณ์เดียว แต่มีหลายลักษณ์รวมอยู่ในตัวคนเดียว ทำให้ไม่ได้เหมือนกันหมด 100% และพอได้ฟังเรื่องส่วนตัวของเพื่อนในลักษณ์อื่นก็ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น ทำให้รู้ว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น และหลังจากนี้เราต้องปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร อีกกิจกรรมหนึ่ง คือ กิจกรรมที่ให้เพื่อนเขียนข้อดีข้อเสียของเรา ทำให้ได้รู้ว่าเพื่อนก็เห็นบางด้านของเราที่บางทีตัวเราก็ยังไม่รู้ตัวเลย และมีหลายอย่างที่เราควรจะปรับปรุงเพื่อให้สามารถอยู่กับคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น
3. ความสัมพันธ์กับการเรียนรู้เดิม จำได้ว่าตอนที่เรียนเรื่องนี้ในวิชา Industrial Safety ตอนที่ทำแบบทดสอบลักษณ์ที่ผมได้ คือ ลักษณ์ 1 Perfectionist ซึ่งพอลองเอากลับไปคิดดูแล้วทำให้รู้ว่ามันไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ ผมไม่ใช่คนเสพติดความ perfect เท่าไหร่ ทั้งเรื่องของในห้องที่วางไม่เป็นระเบียบ และไม่ชอบจัดด้วย การทำงานไม่ชอบจัดตารางว่าจะทำอันไหนก่อนหลังและชอบผลัดวัน ไม่ยอมรีบทำให้เสร็จสักที และยังชอบตื่นสายและไปเรียนสายอยู่หลายครั้ง เลยคิดว่าเราไม่น่าจะใช่ perfectionist เลยทำให้รู้สึกไม่ชอบ แต่พอได้มาเรียนอีกครั้งในวิชานี้อีกทีทำให้เกิดชอบขึ้นมาอาจจะเป็นเพราะวิธีการยกตัวอย่างของพี่มู อาจารย์ และเพื่อนๆ ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นรวมถึงเข้าใจคนที่อยู่รอบตัวด้วย จริงๆจิตใจคนเรามันก็คงมีอยู่แค่เท่านี้แหละ และที่สำคัญคือ รู้ว่าลักษณ์ที่ตรงกับตัวตนเรามากที่สุดก็คือลักษณ์ 7 นักผจญภัย (The Epicure) ซึ่งมีเกือบทุกอย่างที่ตรงกับที่เราเป็น และหลังจากที่ได้ฟังเพื่อนๆในแต่ละลักษณ์พูด ทำให้รู้จักและเข้าใจในตัวตนของแต่ละคนมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกแค่ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนี้ แต่ไม่ได้หาคำตอบว่าทำไมเขาถึงเป็นคนแบบนี้
4. การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ได้รู้จักลักษณ์แต่ละลักษณ์ ได้รู้ว่าแต่ละลักษณ์มีลักษณะนิสัยยังไง ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และได้รู้ว่าคนรอบข้างแต่ละคนเป็นลักษณ์อะไร เราจะสามารถ แบ่งลักษณ์ของคนรอบตัวได้อย่างไร ทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ง่ายขึ้นหรือเข้าใจคนรักของตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญคือได้รู้ว่าลักษณ์ต่างๆมีข้อดี ข้อเสียยังไงบ้าง ควรจะรับมือกับลักษณ์ต่างๆอย่างไร และตัวเรามีจุดไหนบ้างที่ควรจะปรับปรุง เช่น ชอบต่อต้าน เพ้อเจ้อ ใจร้อน ไม่ค่อยอดทน อยู่นิ่งไม่ได้ หุนหันพลันแล่น ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อตนเอง
5. การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตตนเอง สามารถเข้าใจตัวเองมากขึ้นรวมถึงเข้าใจคนที่อยู่รอบตัวด้วย ทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นหรือเข้าใจคนรักของตัวเองมากขึ้น และสามารถปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง เช่น เพื่อนผมหลายคนเป็นลักษณ์ 5 เวลาจะชวนเพื่อนออกไปเที่ยวก็ควรจะนัดก่อนถึงวันเขาจะได้มีเวลาเตรียมตัวก่อน และก็ไม่ควรที่จะบังคับให้เขาร้องเพลง เพราะลักษณ์นี้ค่อนข้างขี้อาย ไม่ค่อยชอบทำอะไรที่เกี่ยวกับการแสดงเท่าไหร่ หรือลักษณ์ 9 เวลาไปเที่ยวในกลุ่มเพื่อนก็ไม่ควรจะให้เขาเป็นคนตัดสินใจเวลาจะไปเที่ยวที่ไหนดีวันนี้ เพราะ เพื่อนผมที่เป็นลักษณ์นี้มีปัญหา เรื่อง priority เขาเลือกไม่ค่อยถูกว่านะไปไหน
6. การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนที่ร่วมประสบการณ์เดียวกัน ได้เข้าใจเพื่อนมากขึ้น ได้รู้ว่าบางคนก็มีหลายๆอย่างเหมือนกันถึงแม้จะไม่ค่อยได้คุยกัน ทำให้เริ่มสนิทกับเพื่อนบางคน ได้บอกข้อดีข้อเสียของเพื่อนตรงๆ รวมทั้งได้อ่านข้อดีข้อเสียของเราว่ามีจุดไหนบ้างที่เพื่อนชอบเรา และจุดไหนบ้างที่เพื่อนไม่ชอบเรา จะได้แก้ไขถูกจุด และได้เข้าใจตัวตนของเพื่อนบางคนว่าเขาเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว บางอย่างก็ไม่สามารถแก้ไขให้เขาได้ อยู่ที่ตัวเราเองมากกว่าว่าจะทำตัวกับเพื่อนยังไงให้อยู่ด้วยกันได้ เพราะ เราไม่สามารถไป control ชีวิตคนอื่นได้ ดังนั้น แก้ที่ตัวเองอะง่ายที่สุดแล้ว จะได้เป็นการพัฒนาตัวเองไปด้วยในบางเรื่องที่คนอื่นเขาไม่โอเค
7. ข้อเสนอแนะ อยากให้มีกิจกรรมเล่นเกมมากกว่านี้จะได้ฝึกการทำงานร่วมกับคนที่เราไม่คุ้นเคย ได้รู้แนวคิดคนอื่นมากขึ้น และอาจจะได้แนวคิดใหม่ๆให้กับตัวเอง เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในอนาคต

Comments