Holy Katmandu (3/4)

Boudhanath
เล่าต่อจากตอนที่แล้ว

เสร็จจาก Swayumphu stupa เราก็ไปเมือง Bhaktapur ซึ่งห่างจาก Kathmandu (KTM) ประมาณ ๑ ชม.ขับรถ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองใน Kathmandu valley มีตัวเมืองโบราณ (Durbar square) อยู่ คล้ายๆ ที่ KTM คือเป็น Unesco World Heritage Sites แต่สะอาดกว่า อยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า และไม่ให้รถเข้า เลยเดินได้อย่างสบายใจ

Example of excellent craftmanship: Peacock window

ทุกๆ ที่ๆ เป็นโบราณสถาน เค้าจะเก็บเงินค่าเข้า เพื่อนำไปใช้บำรุงสถานที่ ซึ่งฉันก็ยินดีจะจ่าย ตัวเมืองเก่าในเนปาลนี่เหมือน Living museum คือ คนก็ยังอาศัยอยู่ในโบราณสถานเหล่านั้น เป็นร้านค้า เป็นวัด หลายๆ ตึกเริ่มแสดงอายุขัย และไม่แน่ใจว่าจะพังเมื่อใด


พระวิษณุที่ Budhanilkanata Narayan

ลืมเล่าว่าจุดเด่นของสถาปัตยกรรมเนปาลคือ Wood carving ซึ่งมีทั้งบานประตู บานหน้าต่าง Facade และติดเพื่อประดับตกแต่ง ส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มมากๆ ก็เลยทำให้ดูหนักๆ ขรึมๆ เหมือนกัน ถามเค้าว่าทำมาจากไม้อะไร เค้าว่าไม้ Sal ซึ่งขึ้นเป็นต้นตรงๆ ทำให้ง่ายต่อการแปรรูป ลุงอรรถ-เพื่อนร่วมทางของฉัน-ไปตีซี้กับคนขายสมุดทำมือ เค้าเลยพาขึ้นไปอวด Antique collection ของเค้า ก็เลยได้เยี่ยมบ้านคนเนปาล เนื่องจากที่ราบมีจำกัดในเนปาล บ้านส่วนใหญ่ในเมืองจึงสร้างเป็นตึกแถว ข้างล่างค้าขาย ข้างบนเอาไว้อยู่อาศัย ทั่วไปมี ๔ ชั้น ถ้าเป็นบ้านเก่า ชั้นหนึ่งจะเตี้ยๆ สูงไม่ถึง ๒ เมตร

เจิม Tika

จาก Bhaktapur เราไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ Naraghot (Ghot แปลว่า โกฐ=Top) ซึ่งก็ไม่เห็นพระอาทิตย์หรอก เพราะเมฆมาก แต่ฉันชอบที่เราได้นั่งรถออกไปนอกเมือง ผ่านชนบท เห็นเค้าทำนาขั้นบันได ปลูกพืช ที่เนปาลเค้าใช้พื้นที่คุ้ม ที่เล็กๆ ขนาดไม่กี่ตารางเมตรก็ยังหาอะไรมาปลูก อีกอย่างที่ชอบคือเค้าเดินไปไหนมาไหนกัน คือ เดินคุยกันยามเย็นมั่ง เดินไปบ้านคนอื่นมั่ง ถนนก็ไม่ค่อยมีรถ ฉันว่ามันเรียบง่ายดี

วันต่อมาเราไปแวะที่วัดฮินดู Budhanilkanata Narayan (จำชื่อไม่ได้หรอก แต่ Google เอา) ที่มีพระวิษณุเอนกายอยู่บนเตียงพญานาค (จะเรียกว่างูก็ดูต่ำต้อยไปหน่อย) แล้วเค้าวางรูปหินสลักนี้ตรงกลางสระน้ำอีกที มีคนมาสักการะตอนเช้าเยอะ เพราะวันนั้นเป็นวันฤกษ์ดี ที่นี่จัดว่าเป็นหนึ่งในที่ๆ คนฮินดูมาจาริก (Pilgrimage) พราหมณ์ทำหน้าที่เอาพวงมาลัยไปวางบนรูปพระวิษณุอีกที รอบกันนั้น กำลังมีพิธีสวดด้วย สวดแบบฮินดูมีเครื่องดนตรีประกอบ เครื่องสายและกลอง มีพราหมณ์กำลังเป็นร่างทรงอยู่ด้วย อีกวงหนึ่งก็เป็นกองฟืนที่วางอยู่บนจานแล้วตั้งเรียงเป็นวง คนฮินดูก็เอาก้านอ้อยไปเติมเป็นเชื้อ แล้วก็เอามือไปอังไฟ แล้วก็เอามาลูบตา ถามคนขับเราว่าเค้าทำอะไรกัน เค้าว่าเป็นการภาวนา (Pray) ฉันชอบวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดในศาสนาใดก็ตาม มันมีพลังแห่งความศรัทธาและความตั้งใจอยู่ และเมื่อมีคนมาภาวนาในสถานที่เหล่านั้นอย่างต่อเนี่องเป็นเวลาหลายพันปี จะไม่ให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Holy places) ได้อย่างไร...

พระกำลังสอนพุทธศาสนาในภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ
ที่วัดในบริเวณโพธินาถ

ต่อจากวัดฮินดู เราก็ไป Boudhananth ที่คนไทยเรียกโพธินาถ บรรยากาศรอบๆ คล้ายๆวัดเล้งเนยยี่ที่กรุงเทพ คือ มีตึกแถวล้อมรอบเป็นรั้วไปในตัว และอยู่บนพื้นราบ ไม่เหมือนกับ Swayumphu ที่อยู่บนเนิน มีต้นไม้ล้อมรอบ ทำให้ดูสงบกว่า ตอนคนขับรถบอกถึงที่แล้ว ฉันยังงงเลย

Boudnanth เป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล อ้อ..ควรอธิบายดวงตาที่อยู่บนยอดสถูป ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนตาของพระพุทธเจ้า (All knowing & watchful eyes) และสิ่งที่คล้ายๆ จมูก จริงๆ คือเลขหนึ่ง คล้ายๆ กับ All is one/Togetherness  ฉันชอบการให้สึดวงตา  ใช้ Combination ของสีฟ้าและแดง คือ น้ำเงิน/ฟ้า และแดง/ส้ม พื้นหลังของตาเป็นสีเหลือง ใช้แม่สีจนครบ... ที่ฐานสถูป มีทางราบให้เดินสามระดับ แต่เปิดเฉพาะระดับล่างสุด ที่เหนือระดับถนนขึ้นมา เห็นทาสีกันอยู่บนชั้นสูงขึ้นไป  เรายังสรุปไม่ได้ว่าคราบสีเหลืองที่อยู่บนส่วนสถูปสีขาวคืออะไร

สาวนักภาวนา
ฉันก็ถือโอกาสเดินทักษิณาวัตรสามรอบ เห็นสาวเนปาลนั่งอยู่ที่สนามหญ้าข้างๆ (อยู่ในรั้วชั้นในอีกที) มีร่มกางกันแดด นั่งอยู่บนแผ่นไม้ที่เอาไว้กราบอัษฎางคประดิษฐ์ (อัษฎางค์=๘ เป็นการกราบที่มีแปดจุดของร่างกายจรดพื้น คือ มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง ลำตัว และหน้าผาก การกราบแบบนี้ทำให้ฉันนึกถึงท่าสุริยนมัสการของโยคะ) ขณะนั้นเป็นเวลาสายแล้ว แดดร้อนเปรี้ยง เธอไม่ได้กราบ แต่นั่งภาวนาด้วยการนับลูกประคำด้วยมือซ้าย มือขวากำถั่วดิบหรือกรวดแล้วโปรยลงบนถาดทองเหลือง  แล้วเอามือขัดไปที่ถาด ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ตอนแรกฉันไม่รู้ว่าเธอกำลังภาวนา นึกว่าขัดให้ถาดเป็นเงา ทุกคนที่เดินผ่านต้องมองเธอ เพราะเสียงถั่วที่สัมผัสถาด แต่เธอก็ไม่ได้สนใจ

ปรากฎว่าจบยังไม่ลง เอาไว้ต่อคราวหน้าละกัน.. 

ต่อตอนสี่

Comments