Holy Katmandu (2/4)

Swayumpunath
ต่อจากความเดิม 
รูปเท่าที่ได้ edit & comment แล้ว

การเที่ยวเอง (ไม่ไปกับกลุ่มทัวร์) ที่เนปาลคล้ายๆ กับที่อินเดียคือเราเหมารถกับคนขับไปได้ เนื่องจากค่าแรงเค้าถูก มีคนขับหรือขับเองก็ไม่ได้แตกต่างมาก และที่เนปาลก็ขับรถกันเลวร้ายพอๆ กับอินเดีย (e.g., เสียบไปก่อน ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน) แถมป้ายบอกทางก็ไม่มี Highway ก็ไม่มีป้าย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขับไปเอง  แต่ก็เห็นสาวฝรั่งปั่นจักรยานข้ามเมืองเหมือนกัน น่าทึ่งมาก

รถที่ KTM เป็น Isuzu หรือ Toyota คันเล็กๆ โทรมๆ แอร์ไม่เย็น แต่ถูกเงิน ค่าเช่าวันละ $40-50 แล้วแต่ระยะทาง รวมค่าแรงคนขับและค่าน้ำมันแล้ว  ที่เนปาลน้ำมันรถขาดแคลน เห็นต่อคิวที่ปั๊มกันยาวเหยียด

นอกจากน้ำมันรถไม่มีแล้ว ในหน้าแล้ง (ที่เราไป) ไฟดับบ่อยมาก เพราะไม่มีน้ำพอจะเดินเครื่องปั่นไฟตลอดเวลา เค้าบอกว่าดับวันละ ๗ ชม. โรงแรมส่วนใหญ่จึงมีเครื่องปั่นไฟของตัวเอง ฉันก็นึก..แล้วน้ำมันจะพอใช้ได้ยังไงน้อ... อ้อ..ถ้าจะไปเนปาลหรือประเทศกำลังพัฒนา  ให้พกไฟฉายไปด้วย

เราเหมารถสองวัน โดยใช้กาฎมัณฑุเป็นศูนย์กลาง วันแรกเราไป Swayumpunath (สวายัมภู หรือ Monkey temple เพราะลิงอยู่เยอะ), เมือง Bhaktapur และชมวิวพระอาทิตย์ตก (ตามแผนที่วาดไว้) ที่ Saranghot

วัดพุทธหรือวัดฮินดูก็นิยมจุด Butter lamps แบบนี้ เพื่อนมัสการ

เรามีภารกิจที่จะนำยาหอมและของอื่นๆ ที่พระอาจารย์ฉันฝากมาจากเมืองไทย มาถวายพระลามะที่อยู่ที่วัดแถวสวายัมภู (ท่านเคยพบกันตอนพระอาจารย์ไปจาริกที่เนปาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา) โดยมีนามบัตรที่มีที่อยู่ สไตล์ของสถูปพุทธในเนปาลคือว่าจะมีวัด (Monasteries) อยู่รอบๆ รอบแบบติดประชิดบ้าง รอบแบบห่างออกไปบ้าง

ศาสนาพุทธที่เนปาลเป็นพุทธแบบวัชรยาน (วัชระแปลว่าเพชร) หรือแบบธิเบต (เครื่องแบบเหมือนท่านดาไลลามะ) ฉันก็เดินไปถามพระที่วัดแรก ท่านชี้ไปที่วัดที่สองที่ใกล้ๆ บอกให้ไปถามวัดโน้น ฉันไปถามที่วัดนั้น ท่านก็เดินออกมานอกประตู บอกมานี่..จะบอกทางให้ แล้วก็ชี้ไปที่หลังคาสีเหลืองทองไกลๆ โน้น.. (สวายัมภูอยู่บนเนินเขา บนนั้นมองลงมาเห็นวิวกาฎมัณฑุด้วย) บอกเนี่ย..ที่นี่แหละ.. ฉันก็..แล้วฉันจะบอกคนขับรถฉันยังไงเนี่ย... ปรากฎว่าคนชาติเดียวกันเค้าก็เข้าใจกัน ฉันก็ลงมาบอกคนขับอย่างเดียวกัน ชี้ไปที่หลังคา บอก I want to go to that monastery with the yellow roof. ปรากฎว่าแกก็ไปถูก..ทางเข้าก็วกวนมาก บางช่วงเหมือนซอยตันอีกต่างหาก มาเองไม่ถูกแน่นอน

Facilitator สำหรับ morning pujas ที่ Swayumpu
ตอนที่แล้วบอกว่าที่เนปาลไม่มีบ้านเลขที่ บางคนอาจสงสัยว่าแล้วเค้าจะส่งไปรษณีย์กันยังไง ก็ใช้ตู้ไปรษณีย์ (Post box) เอา..

ที่สวายัมภูนี้ (มาอ่านเจอที่หลังว่าที่ตรงนี้มีสถูปมานานเป็นสองพันปี แต่คงไม่ใช่หน้าตาเหมือนปัจจุบันเป๊ะ) เป็นที่ๆ ฉันเริ่มสังเกตว่าพุทธแบบเนปาลนั้นผสมกันระหว่างพุทธกับฮินดู ในทางกลับกัน ฮินดูแบบเนปาลก็รับเอาพุทธแบบวัชรยานเข้าไปด้วย ที่สวายัมภู ตอนเช้าที่เราไปถึงมีการเซ่นไหว้เทพแบบฮินดู โดยมีคนทำหน้าที่รับของ (มีร้านขายอยู่ใกล้ๆ เห็นมีข้าวตอก ข้าวสาร ดอกไม้ Butter lamp ธนบัตร จัดใส่ถาด) และผู้ช่วยนี้ก็รับของบูชา เอาสีแดงแต้มหน้าผากให้ และส่งของบางส่วนคืนเพื่อนำไปเป็นสิริมงคล ดอกไม้ที่ได้คืนก็เห็นเค้าเอามาทัดมวยผม  สถูป (Stupas) พุทธที่อื่นๆ เช่น ที่ Bothnath ก็มี morning pujas เหมือนกัน

ในมุมกลับ วัดฮินดูที่เราไปวันถัดมา ก็มีการทำศพแบบพุทธโดยมีพระลามะสวดทำพิธีด้วย ฉันว่าการปรับตัวของศาสนาให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่ายินดี

ที่วัดท่าน Kalsang
พอเรามาถึงวัดของหลวงพ่อ Kalsang ก็พอดีมีการสวดต่ออายุ พระธิเบตเค้าสวดกันหลายจังหวะ มีอุปกรณ์เสริม เช่น กลอง Conch shell การสวดจึงค่อนข้างคึกครื้น เนื่องจากสวดกันยาว ก็จะมี Break ให้เณรมาเติมชา แจกบิสกิต ตอนเข้าไปมีฝรั่งนั่งเป็นแถวอยู่ด้วย ตอนแรกนึกว่าเป็นนักท่องเที่ยวมา observe เฉยๆ แต่ปรากฎว่าฝรั่งจาก Kazakhstan เหล่านี้มาเพื่อเข้าร่วมพิธีนี้ มากันทั้งครอบครัว ทั้งเพื่อน (เป็นสิบคน) แล้วก็เอารูปลูกหลานที่มาไม่ได้มาแผ่กางออกบนโต๊ะ เสมือนหนึ่งเข้าร่วมพิธีไปด้วย

ท่าน Kalsang เป็นเจ้าอาวาส เป็นประธานในพิธีด้วย ฉันก็เอารูปพระอาจารย์ที่เซฟใส่โทรศัพท์มาให้ดูว่าของนี่มาจากพระสองรูปนี้นะ ท่านยื่นมือให้จับ (ไม่ค่อยชินตอนแรก เนื่องจากชินกับพระไทยที่ต้องห่างกันเป็นเมตร ส่งของให้ตรงๆ ไม่ได้) ท่านน่ารักมาก ถามว่ามาเนปาลวันไหน อยู่กี่วัน ชวนกินข้าวเที่ยงด้วยกัน (ที่วัดมีครัว พระธิเบตไม่บิณฑบาต และกินข้าวเย็นได้) ฉันบอกว่าเราต้องไปที่อื่น เราก็นั่งฟังพระสวดกันซักพัก ก็ลาท่านออกมา

พบคนเนปาลหน้าตาดีๆ เป็นลูกครึ่งเหมือนเณรรูปนี้หลายคน
อีกสิ่งหนึ่งที่ขำขำกับคนเนปาลคือ เค้ารู้จักหนังของจาพนมกันเยอะมาก คนขับรถฉันบอกชอบหนังต้มยำกุ้ง ดูตั้งหลายรอบ นอกจากเรื่องหนังแล้ว เค้าก็รู้เรื่องการเมืองของเรา รู้จักทักษิณ รู้ว่าเรามี King เนื่องจากประเทศเนปาลไม่ติดทะเล คนส่วนใหญ่ที่พบ ถ้ามีโอกาสไปเมืองไทย จะไปภูเก็ต

นี่ยังไม่จบวันที่สองเลย จะครบทั้งทริปเมื่อไหร่นี่...

ต่อตอนสาม

Comments

alisra said…
อ่านสนุกมากค่ะ ชอบการเขียนสไตล์นี้มาก อ่านเพลินได้ความรู้ดี
jutapi said…
ใช่ Elle TG หรือเปล่า? Thanks ja. ดีใจที่มีคนอ่าน