Almost Tibet (1/x)

Emei Shan เออเหมยซันหรือเขาง้อไบ๊
ตั้งใจและวางแผนไปทิเบตล่วงหน้า นาน กว่าทริปอื่นๆ ที่เคยไปมา เพราะรู้ว่ามีขั้นตอนหลายอย่างที่จะต้องทำ เช่น ขอวีซ่า ทำ Tibet permits โอนเงินมัดจำให้ Tibet travel agent  น่าแปลกว่าฉันขอ info เรื่องทิเบตจากคนที่เคยไป 3 คน แต่ก็ไม่ได้เลย  มันเป็นทริปที่ฉันรู้สึกยากกว่าปกติ จนถึงกับอธิษฐานว่า ฉันจะเป็นมังสวิรัติจนกว่าจะได้ไปเหยียบที่นั่น (คล้ายๆ purify ตัวเองก่อนไป)

แผนของเราคือ บินเข้าเฉิงตู (Chengdu) แล้วขึ้นรถไฟไปลาซา เพราะจะได้ปรับความสูง  พอเหลืออีก ๑ อาทิตย์ที่จะบินไปเฉิงตู Agent ก็อีเมล์มาบอกว่าอาจจะไม่ได้ Permits นะ จะเลื่อนการเดินทางไม๊ พระอาจารย์บอกว่าไม่ ถ้าไม่ได้ permits ก็จะไปที่อื่นในจีนแทน  ตอนเราออกจากกรุงเทพ เรายังมีความหวัง คือ คิดว่าจะไปเที่ยวที่อื่นก่อน แล้วพอได้ permits ก็เข้าทิเบตส่วนที่เป็นเขตปกครองพิเศษ (Tibet Autonomous Region, TAR) ทีหลัง ระหว่างนั้นเราก็ทำการบ้านเพิ่ม วางแผน B เผื่อไม่ได้เข้าด้วย  ทริปนี้วางแผนหลายตลบมาก  ดีตรงสอนเรื่องความไม่แน่นอนให้ Control freak อย่างฉันเยอะเหมือนกัน  แหล่งข้อมูลหลักคือ Lonely Planet (ซื้อแบบ PDF เป็นครั้งแรก, Work มาก เพราะส่งให้เพื่อนได้ด้วย และอ่านบน iPad ก็สะดวก ขยายตัวหนังสือได้ เหมาะกับคนแก่อย่างเรา) และดูบล็อกของคนอื่นเอา (เช่น Luvjourney และ TrekkingThai)  การเขียนคราวนี้ก็ตั้งใจจะให้ข้อมูลเผื่อคนอื่นเช่นกัน

วันที่สองที่อยู่ในจีน  Travel agent ส่งคนมาคืนเงินมัดจำของเรา  ซึ่งก็ทำให้ฉันโล่งใจว่าไม่ถูกโกงแน่ (เพื่อนบอกใจกล้ามากที่โอนให้เค้าเป็นแสน) ธนบัตรก็ดูไม่ปลอม (ที่จีน แบ็งค์ 100 หยวนปลอมเยอะ) Summer Wang บอกเราตรงๆ ว่าเราไม่ได้ Permits เพราะกลุ่มเรามีพระสงฆ์  รัฐบาลจีนควบคุมพระทิเบตอย่างเข้มงวด (พระชาติอื่นก็เข้ม คนไทยทั่วไปอยู่จีนได้ ๓๐ วัน แต่พระได้แค่ ๑๕ วัน) เพราะท่านดาไลลามะเป็นผู้นำทิเบต in exile  ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ก่อนเราไป  พระทิเบตสองรูปเผาตัวเอง (Self immolation) ที่หน้าวัดโจคัง (Jokhang) ที่ลาซา ซึ่งเป็นวัดสำคัญประมาณวัดพระแก้วเรา  การเผาตัวเองเป็นการประท้วงที่รัฐบาลจีนปวดหัวมาก เพราะไม่รู้จะคุมอย่างไร  และในช่วงที่เราอยู่จีน ก็มีโยมอีกสองคนเผาตัวเองที่ลาซาอีก

Leshan เล่อซัน พระใหญ่แกะจากภูเขา
นอกจากวีซ่าเข้าจีน ระยะนี้ จะขอ Tibet permits ต้องเป็นกลุ่มอย่างน้อย ๕ คนที่มีสัญชาติเดียวกัน, ต้องมีทั้งชายและหญิง, อายุไม่เกิน ๖๕ ปี, ช่วงที่อยู่ใน TAR จะต้องระบุรายละเอียดของทริปในแต่ละวัน ว่าพักที่ไหน ไปไหน ที่ๆ สำคัญ เช่น พระราชวังโปตาลา หรือวัดโจคัง เราดุ่มๆ ไปเองไม่ได้ จะต้องมีไกด์จีนประกบด้วย  คนต่างชาติไม่สามารถใช้ Public transportation นอกลาซาได้ จะต้องมีรถและคนขับสถานเดียว ซึ่งทำให้การไปทิเบตแพงมาก ตอนที่เราสมัคร Permits เราไม่ต้องชำระค่าทัวร์หมด  แต่ข่าวล่าสุดบอกว่ารัฐบาลจีนจะให้จ่ายค่าทัวร์ให้ครบหมดก่อน, ชาติที่เค้าไม่ให้ Permits ในช่วงนี้ คือ อังกฤษ เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และออสเตรีย (ฉันติดตามเรื่องนี้ จาก Lonely Planet Forum)  กลุ่มเราผ่านเกณฑ์ทุกอย่าง แค่มีพระในกลุ่มเอ๊ง...

แต่ก็ดีที่ตัดสินใจไป เดิมฉันไม่เคยอยากไปจีนเลย ทั้งๆ ที่เป็นลูกจีนเต็มตัว  และจีนเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมของตัวเองที่ชัดเจนมาอย่างยาวนาน (ปกติฉันเป็นพวกบ้าพิพิธภัณฑ์และโบราณสถาน) ฉันเคยไปซีอานกับทัวร์แล้วไม่ประทับใจ และก็มีความกังวลเรื่องคนจีนและส้วมจีนมาก  พอไปแล้ว ส้วมบางที่ก็แย่จริงอย่างที่คาดไว้ แต่เราก็พบว่าเราทนได้  คนอื่นเข้าได้ เราก็ต้องเข้าได้  อ้อ..แล้วธรรมชาติที่จีนอลังการมาก 

และก็ได้เรียนรู้ว่ามีคนทิเบตอีกมากที่อยู่นอก Tibet Autonomous Region  มีวัดทิเบตที่สำคัญหลายแห่งที่อยู่นอก TAR เช่น Labrang Monastery ที่เซียะเหอ (Xiahe) และ Kumbum Monastery ที่ใกล้ๆซิหนิง (Xining)  ถ้าเราสนใจในวิถึชีวิตทิเบต เราก็ยังไปดูได้อยู่  คนทิเบตนอก TAR ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลเสฉวน (Sichuan) กานซู (Gansu) และชิงไห่ (Qinghai)

Home stay at จิ่วไจ้โกว
ฉันไปกับแอมที่เป็นอาจารย์วิศวะเหมือนกัน เราประทับใจการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนจีน เช่น ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวพื้นๆ ร้านใหญ่แห่งหนึ่ง เราต้องซื้อคูปองก๋วยเตี๋ยว แล้วเอาไปยื่นที่หน้าร้านเพื่อรับอาหาร  เผอิญเส้นบะหมี่หมด เค้าวิทยุให้หลังร้านเอามาให้ ไม่ต้องแหกปากตะโกนบอก; รถบัสบางเมืองมีเส้นทางระบุที่ผนังในรถ แล้วก็มีไฟบอกว่าอยู่ที่ป้ายไหนแล้ว; เค้าใช้พลังแสงอาทิตย์เพื่อทำน้ำร้อน เราเห็นฟาร์มแผงโซลาร์เซลล์ ฟาร์ม Wind turbines; โรงแรมเล็กๆ ของเราทุกที่ (ไม่นับ Guesthouse) ใช้การ์ดเพื่อเปิดประตูห้อง และเสียบเพื่อเปิดไฟฟ้า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเค้าประหยัดไฟฟ้ากันมาก  ร้านค้าไม่เปิดไฟตอนกลางวัน ใช้เปิดประตูเอา ห้างก็แอร์ไม่เย็น ตู้แช่น้ำก็เอาไว้วางขวดน้ำโชว์เฉยๆ น้ำไม่เย็น  คนจีนไม่กินน้ำแข็ง ไม่ดื่มน้ำเย็น  ฉันชอบที่แทบทุกคนพกกระบอกน้ำชา  ฉันไม่ชอบซื้อน้ำเปล่า เพราะเปลืองเงินและไม่ชอบขยะขวดพลาสติก  ร้านอาหารเค้าก็ไม่เสริฟน้ำเปล่า เพราะคนได้น้ำจากน้ำแกงหรือน้ำข้าวอยู่แล้ว  เราดื่มน้ำจากขวดของเราเองได้ ร้านเค้าไม่ว่า  อ้อ...ความที่อาหารและน้ำร้อนมาก ทำให้พวกเราไม่ท้องเสียกันสักคน (ฉันท้องเสียที่อินเดียและพม่า)

ความยากที่เจอที่จีนคือภาษา ขนาดที่ๆ เราคิดว่าน่าจะพูดภาษาอังกฤษได้ เช่น ร้านอาหารที่สนามบินเฉิงตู ก็พูดไม่ได้  โชคดีที่พระอาจารย์พอพูดได้บ้าง เพราะมาสอนธรรมะที่จีนหลายครั้ง และเราก็ใช้ภาษาใบ้กันบ้าง  ฉันไม่เคยไปไหนแล้วใบ้แดกเท่านี้เลย  ก็เห็นความหงุดหงิดที่เกิดเวลาสื่อสารไม่รู้เรื่อง  ดีที่ไปกับคนใจเย็น เราหมดพลังจะสื่อสาร ก็ให้คนอื่นพยายามต่อไป

นอกจากนี้แล้ว คนจีนยังสูบบุหรี่กันทุกที่ ในรถบัส ในรถไฟ  ผ้าปิดจมูกก็เอาไม่อยู่  ท่าทางเวลาพูดของเค้าบางทีก็ดู aggressive จนน่ากลัว แต่พอเริ่มชินก็โอเค  อยู่ที่จีน รู้สึกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องของถูกขโมยมากเหมือนอยู่อินเดีย  พ่อบอกว่าที่นั่นลงโทษหนัก ไม่คุ้มจะทำผิด   

ต่อตอนสอง



Comments