การเขียนทวนสะท้อน (Reflections)


ย่อความจากโพสของผศ.นพ. พนม เกตุมาน
  1. ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ (คิดอย่างไร คาดหวังอะไร)  ก่อนกิจกรรม คาดหวังอะไร คาดว่าเรื่องนี้คืออะไร รู้สึกอย่างไร สัมพันธ์กับความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตอย่างไร อยากเข้าร่วมหรือไม่ คาดว่าจะเรียนรู้อะไรใหม่ จะนำไปใช้ได้อย่างไร 
  2. ประสบการณ์เรียนรู้ (เรียนรู้อะไร อย่างไร ชอบ ไม่ชอบ)   เรียนรู้อย่างไร เช่น โดยการฟัง การสนทนาแลกเปลี่ยน การปฏิบัติ กิจกรรม วิธีการเรียนรู้นั้นดีหรือไม่ รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เหตุใดจึงชอบ เหตุใดจึงไม่ชอบ ตรงไหนที่ประทับใจ 
  3. ความสัมพันธ์กับการเรียนรู้เดิม วิเคราะห์ประสบการณ์เรียนรู้นี้ว่า เหมือนหรือแตกต่างจากการเรียนรู้เดิมอย่างไร วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ข้อดี ข้อด้อย เหตุใดจึงรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เกิดจากการเรียนรู้ใดในอดีต มีอคติใดแฝงอยู่ อคตินั้นเกิดจากการเรียนรู้ใดในอดีต
  4. การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น สังเคราะห์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ได้องค์ความรู้ใหม่ ได้แนวคิดใหม่ หรือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตัวเรา ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ใช้การคิดอย่างใคร่ครวญ ใจเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตนเอง คิดในมุมมองอื่น คิดโดยสมมติบทบาท
  5. การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตตนเอง สังเคราะห์การนำไปใช้ในชีวิตจริง ทำได้หรือไม่ ทำอย่างไร ต้องการการเรียนรู้ใดเพิ่มเติม การนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ประเทศชาติได้อย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์เหมือนเดิม จะคิดและทำต่างจากเดิม เปลี่ยนวิธีคิด การกระทำและทัศนคติมุมมองจากเดิม หรือได้แนวทางชีวิตใหม่
  6. การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนที่ร่วมประสบการณ์เดียวกัน  ถ้ามีการแลกเปลี่ยน เปิดเผยข้อ 1-5 เป็นกลุ่ม อาจได้ความคิด ความรู้สึก และการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากความคิดเดิมของตนเอง
  7. ข้อเสนอแนะ ให้เสนอแนะว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้นี้ได้อย่างไร เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโอกาสต่อไป
  8. คำถามสำหรับอาจารย์ (ถ้ามี)

ตัวอย่าง 1 บันทึกการทบทวนการเรียนรู้ (reflection) หลังกิจกรรม เรื่อง “การสื่อสารอย่างสันต”  

ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว

1. ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ - ความจริงคือไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษเพราะไม่รู้ว่าจะได้เรียนเรื่องอะไร วันนี้มาเร็วแต่เห็นไม่มีใครเข้าไปเลยยังไม่เข้าไป เข้าห้องตอนใกล้จะเรียน วันนี้เรามาเรียนด้วยพลังเต็มที่มากเพราะตื่นแต่เช้าได้นั่งชิวๆเคลียร์งานก่อนมาแล้ว หวังแค่การเรียนวันนี้มันจะทำให้เราพัฒนาตัวเองมากขึ้น

2. ประสบการณ์การเรียนรู้ – class วันนี้ได้เรียนเรื่อง NVC (non violent conversation) เราชอบการได้เรียนเกี่ยวกับการพูดมันเห็นภาพชัดและปรับให้เข้าใจได้ง่ายดี พี่ตู๋เปิดด้วยประเด็นให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองในประเด็นที่เรากำลังใคร่ครวญในช่วงนี้ ส่วนตัวตอนนั้นกำลังมีประเด็นที่เกิดคำถามมากว่า เราใส่ใจคนอื่นน้อยเกินไปรึเปล่า เหตุที่ทำให้สงสัยเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะ เราได้ลองทำกิจกรรมของคลาสนี้ย้อนหลังเองในคลาสที่ไม่ได้เข้านั้นก็คือการเขียนข้อดี ข้อเสียของตัวเองโดยให้เพื่อนและตัวเองเขียนแล้วมาเปรียบเทียบกัน น่าประหลาดใจมากเพราะเราให้เพื่อนเขียนถึง 4 คน แล้วพบว่า 3 ใน 4 เขียนถึงประเด็นเดียวกันคือเรื่องความใส่ใจ ว่าข้อเสียคือเราใส่ใจน้อย และเรื่องตกใจกว่าคือเพื่อนทุกคนเขียนข้อดีของเราคือ เราเป็นคนจริงจัง ส่วนตัวคิดว่าอันนี้ไม่ใช่ข้อดีอะ

คำถามที่เพื่อนแชร์กันในวงของแต่ละคนมีไดนามิคที่ไม่เท่ากัน เราชอบของโอ้คที่ถามว่าเรากำลังทรยศความฝันของตัวเองตอน 5 ขวบหรือเปล่า พอฟังคำถามปุ้ปภาพในหัวก้ย้อนกลับไปตอนประถามที่นั่งเรียนแล้วมีคนถามว่าอยากเป็นก้ตอบอยากเป็นหมอทันทีเลย

กลับมาที่ NVC เราได้เรียนเรื่องความแตกต่างระหว่าง การตีความกับการสังเกตการณ์ หลักง่ายๆ ของมันเลยคือกล้องถ่ายวิดีโอต้องมีแค่สามองค์ประกอบคือ ภาพ เสียง เวลา แค่นั้นถ้ามากกว่านั้นจะเป็นการตีความทั้งสิ้น เช่น ตลอด 3 วันที่ผ่านมาฉันเห็นเทอเข้าห้องหลังจากที่สอนไปแล้ว อันนี้คือการสังเกตการณ์ แต่ถ้าเป็นตีความจะเช่น เทอเข้าห้องสายเป้นประจำเลยนะ ลูกเล่นเกมตลอดทั้งวันเลย เป็นต้น การตีความบางทีก็มองเป็นภาษาของหมาป่านะ

จากนั้นก็เริ่มเข้าองค์ประกอบของ nvc มากขึ้นว่ามันจะประกอบไปด้วย 3 ตัวหลักๆ คือ สังเกตการณ์ ความรู้สึก และความต้องการ จะถูกนำมาใช้เมื่อเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์มันกำลังเปราะบาง อยู่ในจุดที่จะขาด การสื่อสารให้เข้าใจกัน connection before solution จึงสำคัญ

พี่ตู๋ให้ยกตัวอย่างประโยคอะไรก้ได้มาหนึ่งประโยค เราเองเลือกที่จะพูดว่า “ทำไมมีอะไรไม่พูดวะ” เราสังเกตตัวเองว่าชอบมีประโยคนี้บ่อยๆแล้วถ้ามีประโยคนี้ขึ้นมาแล้วเราเองกำลังหงุดหงิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ประโยคนี้ถูกเอาไปทำเป็นตัวอย่างโดยเปลี่ยนเป็น “ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมมาเราเห็นเทอยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเลยรู้สึกกังวลใจเราอยากให้เทอใส่ใจกับกิจกรรมหน่อยนะ” ยาวกว่าเดิมมาก ได้ข้อคิดกลับมาจากจารย์ว่า “อะไรที่เราทำแล้วมันชินมันก็จะไม่มีการพัฒนา อะไรที่ทำแล้วมันยากถ้าเราทำได้เราจะพัฒนา“ คมเวอร์ๆ แล้วก็ break

ตัวอย่าง 2 บันทึกการทบทวนการเรียนรู้ (reflection) หลังค่าย “Nature Walk” 

วันแรกที่มีกิจกรรมนี้ขึ้นมาในเฟสบุ๊คขึ้นมารอให้ตอบรับ มันชวนให้คิดถึงที่ผ่านมาทั้งหมดว่าเราได้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แบบนี้ล่าสุดตอนไหนแบบที่ไปกางเต็นท์นอนกางป่า ชมสัตว์ ทำอาหารกินกัน พบว่าที่ใกล้เคียงที่สุดคงจะเป็นลูกเสือตอนเด็กๆ สุดท้ายตอบรับว่าไป ไม่ใช่ว่าเพราะไม่ได้ไปเที่ยวแบบนี้นานแล้ว แต่คิดว่าการที่วิชานี้พาเพื่อนๆที่เราได้คุย ได้ผ่านการศึกษากันมามาก น่าจะทำให้กิจกรรมไปป่าครั้งนี้จะต้องเป็นอะไรที่น่าสนใจมากแน่ๆ และเชื่อมั่นในตัวนักกระบวนกรที่อาจารย์จัดหามาให้ ว่าจะทำให้ไปป่าครั้งนี้พิเศษและ สนุก มีคำกล่าวหนึ่งคือ “ การได้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ สักทริปจะทำให้เรารู้จักกันดีขึ้น “

วันแรกคือการเดินทางระหว่างนั่งอยู่บนรถตู้มีความสุขกับการฟังเพลงที่เราชอบหวังว่ามันจะบันทึกช่วงเวลานี้ตอนที่เรามาฟังทีหลัง และนั่งจดจ่อกับตัวเลขในแอพดูอุณหภูมิที่กำลังลดลงเรื่อยๆ สัญญาณมือถือที่เริ่มหายเป็นเหมือนการต้อนรับแรกหรือการเตือนแรกจากธรรมชาติ ทำให้เราเลิกเล่นแล้วมองออกไปนอกหน้าต่างตลอดแทน ฟ้าเริ่มร้องตามมาด้วยฝนตกหนัก ทำให้บรรยากาศในรถเงียบขึ้น รู้สึกเหมือนเป็นการต้อนรับที่สอง ให้เห็นถึงความน่าเกรงขามของธรรมชาติ เราเช็คเข็มขัดนิรภัยดูอีกครั้งว่าไม่หลวมเกินไป รถมาถึงที่ลานตั้งแคปม์ในที่สุด ขนของลงไปรวมกันที่ๆ หนึ่งที่เคยเป็นเหมือนร้านอาหารมาก่อนโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ พี่วิชัยให้เราฟังเสียงรอบตัวแล้วบันทึก แอบเข้าใจผิดไม่ได้แค่จุด ด้านที่มาของเสียงแต่เขียนบรรยายไปเลย มาดูอีกทีก็ยังจำได้ดี ต่อให้เอาเครื่องบันทึกเสียงที่คุณภาพดีแค่ไหน ก็บันทึกเสียงและความรู้สึกตอนนั้นแบบที่เราพบมาจริงๆ ไม่ได้

จากนั้นให้เดินไปสำรวจธรรมชาติ และเก็บสิ่งของที่คิดว่าเป็นตัวเรามาแบ่งปัน และเล่าเรื่องกันในกลุ่ม เลือกดอกหญ้าเพราะคิดว่ามันดูเหมือนเราดีที่เป็นง่ายๆสบายๆ บางครั้งอยากจะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางครั้งก็อยากลอยไปตามลมเหมือนเกสรไปสักที่ใหม่ๆ จากนั้นพี่มูให้เลือกนางฟ้าประจำตัวที่เพื่อนๆ เขียนกันขึ้นมาเราได้นางฟ้าอาหาร สุดท้ายเราก้อจะพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่เราได้ คิดว่าน่าจะเป็นความตั้งใจการทำอาหารมากๆ เพราะกลัวเพื่อนจะกินไม่ได้ แต่ก็รอดตัวไป ถึงเวลากางเต๊นท์ต้องบอกว่ากลัวกางไม่ได้มากๆ แต่ก็มีเพื่อนมาช่วยกางจนสำเร็จขอบคุณมากๆนะ ตลอดวันตั้งแต่เจอพี่มูจะชอบตั้งคำถาม ยอมรับว่าชอบและสนุกมากๆ ในการฟังทั้งเพื่อนตอบ และเราตอบ แอบสงสัยว่าจะเอาไปทำอะไร จนได้ยินถึงลักษณ์ก็ลุ้นว่าเขากำลังมองเรา และทำความรู้จักเราในเวลาแค่ไม่กี่ชม. ถ้าเราลองเป็นพี่มูยอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายเหมือนกัน เพราะมาแบบไม่รู้จักใครเลยและต้องรู้จักเขาให้ได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง คืนนี้จบลงด้วยดีจากบรรดาสัตว์ต่างๆมาสร้างบรรยากาศตลอดเวลา อากาศเย็นๆ และวิวดวงดาว ทำให้เราหลับลงอย่างรวดเร็ว

วันที่สองพี่วิชัยให้แข่งกันเก็บใบไม้ให้เห็นถึงความหลากหลายของธรรมชาติจึงสามารถเรียกได้ว่าป่าทำให้เราเข้าใจคำว่าป่าจริงๆมากขึ้น เรื่องเล่าหลายๆอย่างของพี่วิชัยทำให้เรามองป่าเปลี่ยนไปเยอะ มองอะไรเล็กๆมากขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น ระหว่างทางไปบนรถพี่วิชัย ได้คุยกับพี่วิชัยเรื่องช้างว่าเราไม่เจอ แต่พี่วิชัยบอกว่าเขาออกมาแล้วเมื่อคืน สอนให้เราดูร่องรอยช้าง เขาไปที่ไหนเขาจะล้มต้นไม้ เราก็สังเกตแล้วก็พบว่ามีร่องรอยของ รู้สึกทุกความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ จริงๆ ก็ไม่อยากเจอเท่าไรกลัวเขาจะตกใจเรา ตอนเดินป่าเราไม่ได้เดิน มานั่งที่ร้านกาแฟบรรยากาศชายป่า มีคลองไหลผ่าน เต็มไปด้วยลิง ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์ป่าในไทยชนิดต่าง ๆ พบว่ายังมีสัตว์อีกมากมายในป่าที่เราคาดไม่ถึงอีกที้งยังทำให้ปะติดปะต่อเรื่องราวที่พี่วิชัยเล่าบนรถได้ชัดเจนขึ้น เช่นเรื่องโป่งธรรมชาติ พึ่งรู้ว่าสัตว์กินพืชต้องการกินแร่ธาตุจากโป่งเหล่านี้ รวมถึงการปฎิบัติเมื่อเจอช้าง เราไม่ควรบีบแตรไล่เพราะประสาทหูช้างดีมากจะยิ่งทำให้เขาอารมณ์เสียควรค่อยขับรถถอยหลัง รวมทั้งท่าทีของช้างเมื่ออารมณ์ดีปกติคือจะสะบัดหูและหางไปมาต่างจากตอนโกรธจะหางชี้ตรงหูนิ่ง และระลึกไว้ว่าเรามาทีหลังถนนเราเองที่ไปขวางเส้นทางหากินเขา

ตกกลางคืนกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกได้เปิดเผยด้านที่อ่อนแอในใจ คือกิจกรรมของพี่มูและขอบคุณพี่มูและเพื่อนๆที่ย้ำเตือนสิ่งที่เราควรทำคือการเปิดใจให้กับใครๆที่เข้ามาไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม อีกทั้งทำให้รู้จักบางมุมของเพื่อนๆมากขึ้นเหมือนได้ตอบคำถามในใจเราหลายอย่างเหตุที่มาแห่งการกระทำของเพื่อนๆ

วันสุดท้ายพี่วิชัยนำกิจกรรมฟังเสียงจากป่า เราเลือกต้นไม้ต้นหนึ่งดูท่าทางมันจะผ่านเรื่องราวบากบั่นมาสมควรกิ่งไม้หักหลายกิ่ง เหลือเพียงไม่กี่ก้าน ใต้ต้นมันยังเป็นที่อยู่ของต้นเล็กๆอีกหลายต้น เราเลือกต้นนี้ มันทำให้นึกถึงเราเองว่าแบบเราผิดพลาดอะไรมาหลายอย่าง แต่สุดท้ายเรายังสู้ต่อและไม่ลืมที่ยังจะแบ่งปันเหมือนต้นไม้ต้นนี้ เลยคิดว่าต้นไม้น่าจะอยากพูดว่า “เราจะเติบโตต่อไป” หลังจากนั้นพี่มูให้ผลัดกันวาดรูปที่เราเริ่มต้น เราก็เลือกโดเรม่อนเพราะตอนเด็กชอบวาดมาก ชอบส่งประกวดในรายการการ์ตูนช่อง 9 เลยแบ่งให้เพื่อนๆชื่นชนโดเรม่อนหลายๆ ท่าบ้าง สุดท้ายแล้วมาถึงตัวเรา มันกลายเป็นเรื่องราวเหมือนโดราเอม่อนที่จะไปผจญภัยหลายๆที่ มันกลายเป็นตอนๆ หนึ่งรู้สึกขอบคุณทุกคนมาก เป็นภาพที่เราชอบมากภาพหนึ่ง คงจะไปอยู่หนังสือเล่มโปรดสักเล่มสอดไว้ไม่ให้มันยับ

ก่อนกลับสุดท้ายแล้วพี่มูก็เฉลยลักษณ์ที่คิดว่าเป็นของแต่ละคน ก่อนหน้านี้เคยไปอ่านนิดหน่อยแต่ก็เลือกไม่ได้ พี่มูบอกเราเป็น 4 ไม่ก็ 5 ค่อนไปทาง 5 เลยไปอ่าน 4,5 ก็บอกเลยว่า ยังไงก็ 5 ครับแน่นอน ยิ่งอ่านยิ่งใช่ การรู้ลักษณ์นี้จะทำให้เราได้ระวังตัวหลายๆเรื่องมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ระวังไม่ยึดกับลักษณ์มากไป โชคดีที่ฝนตกแค่ตอนมาทำให้การนอนเต๊นท์ครั้งนี้ไม่สมบุกสมบันเท่าไร ขอบคุณอาจารย์ พี่ๆ ทั้งสอง และเพื่อนๆ ทุกคนที่มาร่วมเป็นความทรงจำดีๆให้กัน ขอบคุณนะเขาใหญ่

Comments