Holy Katmandu (4/4)

โพสต์นี้เป็นอันสุดท้ายที่เขียนเกี่ยวกับกาฎมันฑุ อันหน้าจะย้ายไปเมืองอื่นแล้ว (อันก่อนหน้านี้)

ศิวลิงค์
จากโพธินาถ เราก็ไปวัดฮินดูชื่อ Pashupatinath เราเข้าไปในตัววัดที่เป็น temple ด้านในไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนฮินดู แต่ก็มีอย่างอื่นที่น่าสนใจเยอะแยะ บริเวณวัดนี้กว้างขวางมาก ร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ๆ เต็มไปหมด เป็นที่ๆ เค้ามาเผาศพข้างๆ แม่น้ำแล้วโกยลงแม่น้ำด้วย คือ ไม่ใช่แม่น้ำใดๆ ก็ทำแบบนี้ได้ ต้องเป็นแม่น้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ชื่อ Bagmati

เราไปตอนที่เค้ามีงานศพใหญ่พอดี (เผาศพน่ะมีตลอดอยู่แล้ว ถ้าญาติไม่มีฐานะก็ทำแบบธรรมดา ถ้ารวยก็จะเอิกเกริกมากหน่อย) เราก็ยืนดูอยู่บนสะพานห่างๆ ผู้ตายเป็นคนพุทธ (รู้เพราะมีพระธิเบตมาสวดมนต์) แก่มากแล้ว ศพก็วางไว้ที่แท่น (Ghat) ข้างๆ แม่น้ำ โดยไม่ใส่โลง เปิดให้เห็นหน้ากันเลย พอใกล้ๆ จะเผา ก็ให้ร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย มีลูกสาวร้องห่มร้องไห้แบบคร่ำครวญไม่เลิก แทบจะเป็นลม ทั้งๆ ที่ผู้ตายก็ชรามากแล้ว ณ ตอนนี้ที่ฉันเฝ้ามองด้วยความรู้สึกเป็นผู้ดูละครฉากนี้ที่ไม่ได้โศกไปด้วย บทสวดมนต์ที่ว่า "โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัสะ อุปายาสาปิ ทุกขา" ก็ลอยเข้ามาในหัว แปลว่า "ความทุกข์อันได้แก่ ความโศก, ความร่ำไรรำพัน, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ" คือ บางทีฉันฟังเสียงสวดมนต์ตอนขับรถ แล้วท่อนนี้จะเป็นท่อนที่ได้ยินบ่อยมากในหลายบท เช่น ธรรมจักกัปวัตนสูตร แล้วเสียงของคำในท่อนนี้มันเพราะมากๆ จนบางทีก็จะสวดตาม

Funeral at Pashupatinath

จากนั้นเค้าก็สุมฟืน แล้วสุมไฟ เสร็จก็โกยเถ้าลงแม่น้ำ ซึ่งเผอิญว่าตอนนี้เป็นหน้าแล้ง แม่น้ำก็เลยเหมือนลำธาร และเป็นแม่น้ำที่กว้างประมาณไม่ถึง ๑๐ เมตร คือ ถึงโกยลงไป ก็กองอยู่ตรงนั้นอยู่ดี




เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดของพระศิวะ ก็เลยมีศิวลิงค์และวัว (พาหนะของพระศิวะ) เต็มไปหมด และมีฤาษี (Sadhus เหมือนที่เราพูดว่า "สาธุ" ซึ่งพุทธเราแปลว่า"ดีแล้ว") รับของบูชา ถ้าจะถ่ายรูปฤาษี นักท่องเที่ยวต้องให้เงินเค้าด้วย ฉันถือว่าฤาษีสละทางโลกแล้ว จะมาขอเงินแบบนี้มันผิดหลักการ ฉันเลยไม่ให้และไม่ถ่ายรูปพวกเค้าด้วย... สังเกตว่าเป็นฤาษีได้จากผมที่เป็น dreadlocks เหมือนนักร้องเร็กเก้หรือฝรั่งวัยรุ่นตามถนนข้าวสาร ใส่ชุดสีส้มหรือสีขาว ร่างกายผอมๆ ดูเหมือนไม่ได้อาบน้ำมานาน...


นอกจากฤาษี ก็เห็นพราหมณ์ทั้งหญิงและชาย นั่งให้คำปรึกษากับผู้ศรัทธาอยู่ใน temple รอบๆ

รองน้ำดื่ม

ความน่าสนใจของศาสนาพุทธและฮินดูในเนปาลคือว่า สำหรับฮินดูแล้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธก็เป็น holy places สำหรับเขาเหมือนกัน เช่น ที่โพธินาถ ฉันก็เห็นคนฮินดู (แน่ใจว่าใช่จากจุดแดงที่หน้าผาก) มาสักการะ มีบางกลุ่มเอาเสื้อผ้า traditional costume มาเปลี่ยนเพื่อถ่ายรูปด้วย

จากนั้นเราก็ไป Patan เมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งใกล้ๆ กัน มีงานแห่เทพฮินดูอยู่พอดี ถนนปิดก็เลยต้องเดินเข้าไป ฉันเริ่มสังเกตเห็นว่าผู้หญิงที่นี่บางส่วนเค้าต้องนำภาชนะมาต่อคิวรองน้ำดื่มจากท่อน้ำสาธารณะ ท่อบางอันคลาสสิกมากๆ เหมือนใช้มาแล้วหลายร้อยปี ไม่แน่ใจว่าทำเฉพาะบ้านที่ไม่มีประปาหรือเปล่า แต่ไม่เห็นผู้ชายมารองน้ำเลยสักคน ฉันเลยเริ่มละอายใจเหมือนกันเวลากดชักโครกโครมๆ ที่โรงแรม

เทพที่อยู่บนรถในขบวนแห่ที่ Patan

จริงๆ แล้ว เราก็เริ่มปรับตัวและความคาดหว้งได้กับการที่ไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน เช่น จะสั่งกาแฟเอสเปรสโซก็ไม่ได้ เครื่องไม่ทำงาน, จะกิน Lassi ก็ไม่ได้ Blender ไม่ทำงาน, ร้านขายของบางร้านต้องเปิดไฟเฉพาะเวลาที่ลูกค้าเข้ามาดูของ ถ้าไม่มีลูกค้า ก็อยู่กันมืดๆ อย่างนั้น หรือใช้เทียน, WiFi ก็เดี้ยง ก็โอเค ไม่มีก็ไม่ใช้ ไม่กิน

แต่สิ่งที่ Amazing มากๆ คือ จำนวนธนาคารและตู้ ATM ซึ่งเห็นบ่อยกว่าที่ New Delhi เมืองหลวงของอินเดียอีก และทุกๆ ที่ๆ ไป ขนาดโรงแรมเล็กๆ บนภูเขายังมี WiFi คนเนปาลบอกว่า Banking & Telecom เป็นสองอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ามากในประเทศของเขา  ฉันเลยได้เช็คอีเมล์แทบทุกวันผ่าน iPhone 

นักเรียนนั่งเล่นอยู่ที่ Patan Durbar square
ซึ่งเป็น Unesco World Heritage Site




วันถัดไปก็จะไปเที่ยวแบบผจญภัยแล้ว เอาไว้มาเล่าต่อ

Comments