Students' Class Reflection (1/3)

เมื่อเรียนครบ ๑ เทอม นิสิตเขียนประเมินตัวเองหลังจากจบคลาสการสื่อสารและภาวะผู้นำ นิสิตที่เรียนเป็นนิสิตปีสี่ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการร คณะวิศวฯ ม.เกษตร ได้รับอนุญาตจากนิสิตให้เผยแพร่ได้


คนลักษณ์หนึ่ง ฐานกาย

สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากวิชานี้ที่สำคัญที่สุด 3 อย่าง 

- ตัวเราเอง สิ่งที่เราคิดว่ามีค่าที่สุดในการเรียนวิชานี้คือ การได้รู้จักตัวเอง บางทีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคนที่อยู่กับเราคือตัวเราเองก็จริง แต่ในทางกลับกันในบางครั้งเราก็ละเลยตัวเราเองเหมือนกัน อาจจะละเลยโดยการไม่ชมตัวเอง ไม่พอใจในตัวเอง หรือผิดหวังในตัวเอง ทั้งนี้มันก็มีเหตุผลในส่วนของการไม่รู้จักตัวตนตัวเอง ไม่ได้มานั่งทบทวนหรือถามตัวเองว่า เราเป็นคนยังไง การที่เราเป็นคนแบบนี้ส่งผลเสียยังไงต่อตัวเราบ้าง แล้วควรทำยังไงดีเพื่อที่จะให้ตัวเองมีความสุขด้วยได้กับการเป็นคนแบบนี้ เราเริ่มสัมผัสการได้รู้จักตัวเองจากคลาสนพลักษณ์ เหมือนเป็นคลาสที่ได้ค้นหาตัวเองจริง ๆ เรามาเจอว่าตัวเองเป็น perfectionist ก่อนหน้านี้เรารู้สึกแย่และเสียใจที่ตัวเองใช้ชีวิตตึงและไม่มีความสุขเท่าที่ควร มันเป็นเพราะเราไม่รู้ตัวว่าเราตึงเกินไปจริง ๆ ไม่เข้าใจในตนเอง เราสนแต่ผลลัพธ์ของการกระทำเราว่าออกมาดีหรือไม่ดี การที่เป็นแบบนั้นมันทำให้เราจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ยากมาก เหมือนเรามองไม่เห็นทางออกของการเป็นแบบนี้  เหมือนทำดีเท่าไหร่เราก็ไม่พอใจในตัวเองเลย พอเราได้ค้นหาตัวเองจากคลาสนี้จากคลาสนพลักษณ์ คลาส Clifton Strength Finders เราดีใจที่รู้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง มีเรื่องที่เก่งด้วยนะ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราภูมิใจในตัวเองมาก ๆ เพราะเรามองเห็นข้อดีของตัวเองแล้ว และยังรู้เท่าทันในตัวเองในส่วนของข้อเสีย มันอาจจะเลิกเป็นคนแบบนั้นไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ มันก็ทำให้เราจัดการความรู้สึกตัวเองได้เก่งขึ้น และปล่อยวางได้บ้าง เราก็รู้สึกดีใจกับจุดนี้มาก ๆ แล้ว

- พื้นที่ปลอดภัย เราเติบโตมาจากชุดความคิดที่ว่าเราสามารถอยู่คนเดียวได้ เราใช้ชีวิตคนเดียว ทำอะไรเองคนเดียว พึ่งพาตนเองได้ เราจะดูเป็นคนเข้มแข็งและไม่ได้เล่าอะไรที่ทำให้เราดูแย่ออกไป เราเป็นคนที่เปิดใจต้อนรับคนใหม่ ๆ ยากมาก เหมือนคุยได้แต่ไม่ได้สนิทใจพอที่จะเล่าอะไรให้ฟัง เรามีเพื่อนสนิทแค่ไม่กี่คน ในตอนแรกบางคนที่เป็นเพื่อนมหาลัยกลุ่มเดียวกันในคลาสนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เราจะกล้าเล่าให้ฟัง ยิ่งเพื่อนในคลาสคนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยกับความรู้สึกเรามากขึ้นไปอีก แต่คลาสนี้เหมือนค่อย ๆ ละลายพฤติกรรมกัน ทุกคนเริ่มสบายใจที่จะได้พูด อาจจะเริ่มจากแสดงความคิดเห็นของตัวเอง จนไล่มาถึงการแชร์เรื่องราวตัวเองให้ฟัง ซึ่งทุกคนในคลาสให้เกียรติกันและกันมาก ๆ ทั้งเพื่อน อาจารย์ และวิทยากร ทุกคนส่งพลังมาโอบกอดเราจนเรารู้สึกว่ามันเรียกว่าพื้นที่ปลอดภัยจริง ๆ มันอาจจะอธิบายเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่ความตั้งใจ ความจริงใจ และการให้เกียรติของทุกคนมันส่งมาได้ถึงเราจริง ๆ เรารู้สึกถูกโอบกอดเสมอเมื่อเรียนคลาสนี้ คำว่าพื้นที่ปลอดภัยที่อาจารย์พูดตั้งแต่คาบแรกว่าอยากให้คลาสนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน เราได้สัมผัสกับคำนี้มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่คลาสแรกจนถึงคลาสสุดท้าย จนเราพูดได้เต็มปากว่าทุกคนในคลาสคือพื้นที่ปลอดภัยจริง ๆ และเราก็คิดว่าความรู้สึกที่เราได้รับนี้เราสามารถนำไปส่งต่อให้กับความสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เราเรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในกับคนอื่น ๆ ได้

- การทำความเข้าใจว่าคนมีหลายประเภท/รูปแบบ การเรียนวิชานี้สิ่งที่ถูกปลูกฝังในทุก ๆ คลาสคือคนเราแตกต่างกันจริง ๆ อาจจะเป็นชุดความคิด ทัศนคติ หรือลักษณะนิสัย จากเดิมอาจมีคำพูดที่ว่า คนแบบนี้มันมีจริง ๆ เหรอ ? พอเรียนวิชานี้ก็ได้คำตอบว่า ใช่ คนมันมีหลายแบบ หลายประเภท ซึ่งมันควรเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ และไม่ตัดสินใครไปก่อน ยกตัวอย่างเพื่อนในคลาส ก่อนหน้านี้เราจะไม่เข้าใจคนที่เป็นลักษณ์ 4 มาก ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าพฤติกรรมของเขานิยามว่าลักษณ์ 4 เรามีความไม่เข้าใจในการพูด การคิด การแสดงออกของเขา เรามองตรงนั้นว่าเป็นความเอาแต่ใจที่ทำอะไรตามใจตนเอง เปลี่ยนอารมณ์เร็ว นั่งจมอยู่กับความทุกข์ และความเป็นคนอยากเอาชนะ พอมาทำความรู้จักว่าจริง ๆ แล้วคนลักษณ์นี้เขาเป็นแบบนี้ เหมือนเขามีความสุขที่จะได้ทุกข์ เขาเถียงเพราะเขาอยากอธิบายในมุมของเขาให้ทุกคนเข้าใจ เขามักจะเก็บอะไรแย่ ๆ ไปคิดแล้วอะไรแย่ ๆ นั้นมันขยายขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นความเศร้าที่ดิ่งลง พอรู้แบบนี้เราพร้อมจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเขามากกว่า อีกทั้งมีลักษณ์อื่น ๆ ที่เราได้ทำความเข้าใจอีก ทำให้รู้จักคนหลายรูปแบบ ซึ่งมันก็จะเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะคนแต่ละลักษณ์นั้น ๆ ก็แตกต่างกันออกไปอีก ข้อดีคือเราจะสังเกตได้ไวขึ้น แล้วรู้จักวิธีเข้าหา สร้างและรักษาความพันธ์ได้ง่ายขึ้น


คุณในเวอร์ชั่นก่อนเรียน และหลังเรียน แตกต่างกันอย่างไร 

- ก่อนเรียน ในแง่ของพฤติกรรม เป็นคนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นตรงที่ตึง ซึ่งปฏิบัติแบบนี้กับทั้งตัวเองและคนรอบข้าง อาจจะสังเกตได้จากการทำงานกลุ่ม เราเป็นคนที่ทุกอย่างต้องมีระเบียบแบบแผน มีวันเวลานัดหมาย มีความก้าวหน้าของงาน งานต้องเป็นระเบียบทั้งภาพรวมและรายละเอียดของงาน เช่น การสะกดคำ หรือย่อหน้า จริง ๆ แล้วเรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาตลอด เพราะงานมันออกมาดี และคะแนนดี แต่เราไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของคนทำงานด้วย เราโฟกัสแค่ที่ตัวงาน เพื่อนที่ทำงานร่วมกับเราอาจมีความรู้สึกเหนื่อยจากงานอื่น ๆ หรือการใช้ชีวิตมาแล้ว ยังมาเจอเราที่ไม่หยวนอีก อาจทำให้เพื่อนรู้สึกอึดอัดและเหนื่อยกว่าเดิมจากการทำงานกับเรา การที่เราเป็นคนเก่งในสายตาคนอื่น แต่ไม่น่าทำงานด้วยไม่ใช่เรื่องที่ดี เราเป็นคนที่ให้งานมาเป็นอันดับ 1 ก่อนเสมอ และเราก็จะคิดว่าทุกคนควรที่จะคิดแบบเดียวกับเราสิ ซึ่งไม่ใช่เลยทุกคนมีอะไรอีกเยอะต้องทำในชีวิตประจำวัน เราค่อนข้างเป็นคนโลกหมุนรอบตัวเอง และเคร่งเครียดตลอดเวลา ทำให้เพื่อน ๆ ไม่ค่อยกล้าเข้าหาหรือเข้ามาพูดคุยด้วย แต่จริง ๆ แล้วเราเป็นคนคุยได้ อยากเป็นที่พึ่งพาและเป็นที่รักของเพื่อน ในแง่ของทัศนคติ/ความเชื่อ เรารู้สึกว่าต้องขยันเท่านั้นถึงจะเก่งเท่าคนอื่นได้ เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ เรารู้สึกตัวตลอดว่าเราเหนื่อย แต่เราไม่พอใจในตัวเองที่ไม่เก่งสักที และไม่เคยที่จะชื่นชมตัวเองหรือคนอื่นเลย ชีวิตมีแต่การแข่งขันและการชนะเท่านั้น เราไม่ค่อยเรียนรู้ที่จะแพ้ เรารู้สึกว่าเรายอมรับการแพ้ไม่ค่อยได้ และปล่อยวางยากมาก ความสุขของเราขึ้นอยู่กับผลลัพธ์เท่านั้น ไม่ได้มองระหว่างทาง บางครั้งพอผลลัพธ์ออกมาดีมาก ๆ แล้ว ก็รู้สึกว่าต้องไปต่อ มีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ซึ่งมันวนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีเป้าหมายที่พอใจสักที

- หลังเรียน  หลังจากได้เรียนวิชานี้ เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนยังไง เรียนรู้และยอมรับตัวเองได้ว่าเป็นคนแบบนี้จริง ๆ และไม่ได้นิ่งนอนใจในการที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่นได้ เรามีความหยวนขึ้นในการทำงาน ไม่ใช่ว่าเรากลายเป็นคนทำงานไม่ละเอียด แต่เราสามารถใช้คำพูดที่ประนีประนอมกับเพื่อนได้ เราพยายามรับฟังและเข้าอกเข้าใจเพื่อนมากขึ้นถ้าเขาไม่ว่างหรือไม่เข้าใจงาน เราไม่ยึดตัวเองเป็นหลักในทุก ๆ ความสัมพันธ์ แต่ในทุก ๆ ความสัมพันธ์เราจะมองเห็นทั้งเราและอีกคนเสมอ เรารักษาความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น การพูดข้อเท็จจริงของเรา (fact) จากใช้คำพูดรุนแรงและคิดว่าทุกคนรับได้ กลายเป็นคนที่พยายามที่จะคิดก่อนพูด และใช้คำพูดที่คิดว่าสามารถอธิบายความคิดเห็นของเรารวมทั้งเจตนาของเราให้ผู้รับฟังเข้าใจได้ ในแง่ของทัศนคติ/ความเชื่อ เราชื่นชมคนอื่นมากขึ้น ฝึกชมคนอื่นและตัวเองมากขึ้น เรามีความคิดและความรู้สึกว่าอยากให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามีเราอยู่ อยากให้รู้ว่าทุกคนเก่งหมดที่ทำงานมา เรากลายเป็นคนยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นเป็น ไม่มองเป็นการแข่งขันไปหมดทุกอย่าง เรารู้จักคำว่า เพื่อน มิตรภาพ และการปล่อยวางมากขึ้น เรารู้สึกว่าเราเปิดใจกว้างมากขึ้นในการรับมุมมองใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังมากขึ้นจากเดิมที่จะเป็นผู้พูดเป็นหลัก และกล้าที่จะมีทางเลือก (ทางเลี้ยว) ให้กับตัวเองจากคนที่เคยเดินเป็นเส้นตรง รู้สึกเติบโตขึ้นมากจริง ๆ และเป็นการเติบโตไปในทางที่คิดว่าตัวเองมีความสุขด้วย ในส่วนของความสุข เราสามารถมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น มีความสุขและเอ็นจอยในแต่ละวันมากขึ้น จากเดิมที่เป็นคนโฟกัสแต่เรื่องแย่มาเก็บไว้ในใจ ในส่วนของเป้าหมาย จากเดิมที่อาจดูเป็นคนที่มองแค่เป้าหมายใหญ่อย่างเดียว ก็กลายมาเป็นการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วค่อยก้าวไปทีละขั้น เป็นขั้นที่นำไปสู่เป้าหมายใหญ่ การทำแบบนี้ทำให้เราไม่กดดันตัวเองมากเกินไป 

มีคุณลักษณะใดของคุณที่คุณอยากจะเปลี่ยน แต่ยังไม่เปลี่ยนบ้าง

การกลัวการเปลี่ยนแปลงหรือการออกจากเซฟโซน รู้สึกว่าตัวเองได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ และกล้าที่จะมีทางเลือกที่ไม่ใช่เซฟโซนแล้ว แต่มันก็จะเป็นแค่ทางเลือกเฉย ๆ สุดท้ายแล้ว ณ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเราถนัดอะไร และมีความคิดเป็นของตัวเองแล้วว่าไปได้ดีในทางไหน มันเลยมองทางอื่นเป็นแค่ทางเลือก(ที่ไม่ได้เลือก) แต่ก็ขอบคุณตัวเองที่อย่างน้อยก็มีความคิดที่จะมีทางเลือก แต่คิดว่าก้าวแรกอาจจะต้องลองไปในทางที่ตัวเองมั่นใจและคิดว่าใช่ก่อน ถ้าสุดท้ายแล้วเราไปได้ดีจริง ๆ และมั่นคงระดับนึงแล้ว อาจจะพัฒนาตัวเองโดยลองขยับออกเจอเซฟโซนทีละนิด เช่นอาจจะเริ่มเปลี่ยนงานมาเป็นงานที่ทำงานใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นแต่ยังอยู่ในสายงายเดิม หรือถ้าสุดท้ายแล้วเราไปไม่รอดในทางที่เราคิดว่าใช่ อย่างน้อย ๆทางเลือกที่มีอยู่ตอนนี้มันอาจจะเป็นทางเดินที่มีแสงสว่างให้เราได้ในวันที่เรารู้สึกว่าต้องหาทางไป เรารู้สึกว่าการอยู่ในเซฟโซนมันก็ดี เราจะได้ไม่ต้องเสียใจมาก แต่มันก็แย่เหมือนกันที่มองคนอื่นทำอะไรใหม่ ๆ แต่เราทำอะไรเดิม ๆ ไม่มีความกล้าที่จะออกมาจากตรงนั้น

สำหรับเพื่อนที่ยังไม่เคยเรียนวิชานี้ คุณจะอธิบายวิชานี้ให้ฟังว่าอย่างไร

เพื่อนหลาย ๆ คนอาจเคยชินกับการเรียนแบบเดิมคือ การเรียนเลคเชอร์ ที่มีทฤษฎีหรือตัวเลขให้นำไปคิดวิเคราะห์ ใช้สมองมากกว่าความรู้สึก  แต่อยากให้ลองเปิดใจที่จะมาลองเรียนวิชาที่ไม่ใช่การเลคเชอร์ เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นวิชาที่ถ้าเราเรียนจบไปคงไม่ได้มีโอกาสมาเรียนอะไรแบบนี้แน่ ๆ สำหรับเราในตอนแรกเราก็คิดหนักกับการเรียนวิชานี้เหมือนกันเพราะไม่ใช่การเรียนรู้รูปแบบเดิม อีกทั้งต้องเจอกับอะไรไม่รู้ เพราะเนื้อหามันหลากหลาย มีวิทยากรมาบรรยายหลายคน และเป็นวิชาของอาจารย์จุฑาที่เราไม่เคยเรียนกับเขาอีก ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง แต่ตอนนั้นเราแค่คิดว่าชีวิตปี1 - ปี3 เราเรียนทฤษฎีมาหนักมาก ๆ แล้ว พอปี4 แล้วเราอยากอนุญาตให้ตัวเองไปลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง คิดว่าเพื่อนหลาย ๆ คนก็คงเบื่อวิชาที่เป็นเลคเชอร์เหมือนกัน เหตุผลแรกในการตัดสินใจเรียนวิชานี้อาจจะเป็นการก้าวออกมาสู่การเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เสียหายเลย พอมาเรียนจริง ๆ จะรู้สึกไม่เสียดายเลยที่ได้เรียน สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญที่สุดคือตัวเราเอง ซึ่งมันก็คงเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยถ้าเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น หลาย ๆ คนอาจเคยมีคำถามที่ว่า เรารู้สึกอะไร เราต้องการอะไร ทำไมเราเป็นแบบนี้ หรือเราไม่ชอบตัวเองเลยที่เป็นแบบนี้ อยากให้ลองมาค้นหาตัวเองในวิชานี้ดู ว่าแท้จริงแล้วเรามีลักษณะนิสัยยังไง แล้วเรามีชุดความคิดหรือทัศนคติยังไงเราถึงแสดงออกกับคนรอบข้างแบบนั้น ลองมาทบทวนและสังเกตตัวเองในคลาสนี้ดูว่าทัศนคติและมุมมองการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีหรือไม่ดีอย่างไร ประสบปัญหาอยากจะปรับแก้นิสัยตัวเองแต่ยังไม่รู้ว่าเราจะต้องแก้ตรงไหนหรือเปล่า ลองมาค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ ในแต่ละคลาส พร้อมทั้งมีความความเข้าใจในคนอื่นที่แตกต่างจากเราด้วย มันช่วยเราให้เป็นเราในเวอร์ชั่นที่มีความสุขมากขึ้น และเติบโตไปในแบบที่รู้เท่าทันตัวเองและมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในทุกความสัมพันธ์

อันที่สอง


Comments