Self reflection on my class

ฉันเปิดคลาส Communication and Leadership มา 4 ปี 8 เทอม ปรับเปลี่ยนคลาสไปตามสถานการณ์ ฉันจึงอยากเขียนทวนสะท้อนตัวเองในเทอมนี้

อันนี้เป็นประมวลการสอนของเทอมล่าสุด วิชานี้เป็นวิชาเลือกของนิสิตวิศวอุตสาหการปี 4 จริงๆ นิสิตภาควิชาอื่นก็มาเรียนได้ ที่ผ่านมาก็มี 2 คน

คลาสเริ่มมีพลังงานเป็นของตัวเอง หลายๆ หัวข้อที่อยู่ตอนเวอร์ชั่น 1.0 ก็ยังอยู่ตอนนี้ เช่น Deep listening, Non-violent communication, Coaching  มีหลายหัวข้อที่เพิ่มเข้ามา ตามที่มีคนแนะนำบ้าง ฉันไปเจอเองบ้าง เช่น Nature connection, Deep democracy (Process work), นพลักษณ์, Boundary & coping mechanism

เด็กๆ เรียกวิชานี้ว่าวิชาเดินป่า เพราะ 4 รุ่นแรก กิจกรรมใหญ่ของเราคือไปกางเต็นท์นอนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หรือปางสีดา และเดินป่า แต่ฉันงดกิจกรรมนี้ไป เพราะรู้สึกเหนื่อยเกินไปที่ต้องจัดการทั้งเรื่องคนและเรื่องเงิน แล้วพอเหนื่อยมาก ก็พาลจะเลิกทั้งคลาสเลย อ.ธนาบอกว่าไม่ต้องสุดโต่งทุกเรื่องก็ได้ ก็เลยลดสเกลลง

เทอมนี้ เปิดมาด้วยนิสิตหลายคนมีคะแนน EQ จากแบบสอบถามของกรมสุขภาพจิตต่ำ บางคนต่ำมากจนน่าตกใจ วิทยากรคาบแรกที่ได้เจอเด็กบอกว่า "เด็กพี่ดูน่าเป็นห่วงนะ"  การเรียนออนไลน์มา 1 ปีส่งผลกับสุขภาพจิตเด็กอย่างมาก คาบแรก เด็กบางคนมาพร้อมกับกำแพงแก้วรอบตัว นั่งก้มหน้า ไม่สบตาผู้คน ส่งภาษากายว่าไม่อยากสุงสิงกับใคร


นอกจากสุขภาพจิตจะน่าเป็นห่วงแล้ว ทักษะการเขียนทบทวนการเรียนรู้ (Reflection) ก็แย่มาก นิสิตถูกฝึกให้มองออกนอกตัวจนชิน การมองเข้ามาข้างในตัวเองเป็นเรื่องยากและไม่คุ้นชิน เด็กจะเขียนแต่ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แบบกล้องวงจรปิดพูดได้ แต่แทบจะไม่พูดถึงตัวเองว่าสิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร ฉันอ่านแล้วเบื่อมากๆ แทบอาเจียน แต่ก็ต้องหาข้อดึมาคอมเม้นกลับไปให้ได้ ช่วงแรกๆ การอ่านรีเฟล็กชั่นเป็นยาขมของฉัน ทุกข์ทรมานและต้องผลัดวันประกันพรุ่งจนกว่าจะอ่านครบ แต่ตอนท้ายๆ ก็เริ่มดีขึ้น ฉันอ่านจนรู้สไตล์ว่าถ้าคนๆ นี้เขียนจะน่าเบื่อมาก คือเบื่อตั้งแต่เห็นชื่อแล้วกดเข้าไปอ่าน 

สิ่งที่ฉันชื่นชมในตัวเองคือความรอได้ ฉันในช่วงเด็กรุ่นแรกๆ เร่งจังหวะ กดดันเด็กให้เปลี่ยนแปลง ทุ่มสุดตัว ประสบการณ์ที่ได้สอนว่าคาดหวังเองก็ทุกข์เอง และทุกคนมีวาระการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เหมือนต้นไม้ เร่งไม่ได้ ที่เราทำได้คือดูแล ให้โอกาส และรอ ฉันคิดว่าฉันหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงดิน เมื่อเงื่อนไขพร้อม ต้นไม้จะผลิบาน   


ความเปลี่ยนแปลงในตัวฉันเอง คือ ฉันกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น ยอมรับว่าฉันมี Paradox มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง เดิม ฉันคิดว่าคนที่จะมาทำคลาสซอฟท์สกิลแบบนี้ ต้องดูเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ฉันนี่มีนางมารออกมาเป็นระยะๆ ฉันพบว่าการใช้อำนาจเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการคลาส อำนาจที่อ.มีช่วยผลักให้เด็กข้ามขอบได้ถ้าเขาไว้ใจเรา ในมโนฉันคือ ถ้าเด็กไม่กระโดดซักที ฉันก็พร้อมจะถีบให้โดด

การที่ฉันไม่แอบเป็น"คนดี" ทำให้ฉันดูจริง (Authentic) และผ่อนคลาย ไม่เหนื่อยจนเกินไปด้วย ในระหว่างเทอมทุุกเทอม ฉันจะคิดทุกครั้งว่าเลิกทำดีไหม มันเบื่อและเหนื่อย แต่พอได้เห็นคะแนน EQ ที่ดีขึ้น และรีเฟล็กชั้นที่เด็กเขียนประเมินตัวเอง ก็รู้สึกคุ้มค่าเหนื่อย และมันกลับมาตอบคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของฉันด้วย ว่าฉันผู้ได้รับโอกาสมากมายในชีวิตได้สร้างอิมแพคให้กับโลกใบนี้ ถึงตัวฉันจะตาย สิ่งที่ฉันเคยทำยังเป็นความทรงจำของบางคนในโลก

การได้กัลยาณมิตรมาช่วนสอนก็ทำให้อยากมีคลาสต่อด้วย เหมือนฉันได้เตือนตัวเองถึงชุดคุณค่าที่ฉันอยากให้มีและเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่


ฉันอยากจะ acknowledge คำแนะนำของเด็กๆ ที่กลายเป็นสิ่งที่เรามี เช่น

  • ทำวีดีโอคลิปสั้นๆ แนะนำคลาสทุกเทอม เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับนิสิตที่จะลง ที่ผ่านมา นิสิตไม่ค่อยรู้จักคลาส แล้วเรามีคนลงทะเบียนน้อย เป็น pain point ในช่วงแรกๆ ตั้งแต่ทำคลิปแนะนำคลาสแล้วโพสต์ให้เฟสบุ๊คกลุ่มนิสิต ปัญหานี้หมดไป
  • นิสิตเขียนรีเฟล็กชั้นเกี่ยวกับตัวเองตอนสิ้นเทอม ตอนแรกฉันประเมินคนเดียว แต่ฉันว่าให้เด็กเขียนมา เป็นการพิธีกรรมในการปิดบทๆ นี้ของชีวิตเขาได้ดีกว่า 
สิ่งที่ฉันแปลกใจในเทอมนี้มีหลายอย่าง เช่น
  • เด็กลักษณ์เก้า 2 คนบอกว่า การที่ฉันปรับเวลามาเรียนสาย นาทีละ 10 บ. ช่วยให้เขามีวินัยมากขึ้น
  • คอมเม้นที่ฉันตอบกลับรีเฟล็กชั่นเด็กมีผล เช่น ฉันบอกบางคนว่าไอเดียดีนะ น่าจะพูดแสดงความเห็นให้มากขึ้นนะในคลาส เขาก็เริ่มยกมือพูดมากขึ้น ส่วนอีกคนบอกว่า นางกลับมาอ่านคอมเม้นฉันที่ชมเขา ในช่วงเวลาที่เขาหมดกำลังใจ ทำให้มีกำลังใจ
  • เด็กดูมึนๆ ไม่โต้ตอบในคลาสกับวิทยากร แต่เมื่ออ่านที่เขียนในรีเฟล็กชั่น ก็พบว่าเข้าใจหัวข้อที่เรียน
  • เด็กเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนๆ ด้วยอัตราที่เร็วกว่าเดิม สิ่งที่ฉันคิดว่าไม่ต้องบอก เป็นเรื่องที่ต้องบอก เช่น การแต่งกาย ปกติฉันให้เด็กแต่งตัวตามสบายมาเรียน ตอนนี้ "ตามสบาย" มีกางเกงขาสั้นแบบสั้นมากๆ ใส่วิ่งสำหรับนิสิตชาย และเสื้อครอป (ตัวสั้นเต่อ) และกางเกงยีนส์สั้นมากๆ สำหรับนิสิตหญิง
  • นิสิตบางคนไม่ขอบคุณในสถานการณ์ที่น่าจะกล่าว เช่น ฉันตอบคำถามทางไลน์ หรือฉันโอนเงินคืนให้ เพื่อช่วยแชร์ครึ่งหนึ่งที่ทำกิจกรรมจิตอาสา ประเด็นนี้ บางทีฉันก็บอกเขาตรงๆ ว่าควรพูดว่าขอบคุณ
บุญรักษาที่ติดโควิดตอนปิดเทอม

ตอนท้าย ก็ให้ทำแบบสอบถาม EQ อีกรอบ เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน ก็แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (หลังเรียนมี EQ มากกว่า) ฉันได้รวบรวมรีเฟล็กชั่นของนิสิตบางคนในโพสต์สองอันนี้: อันแรก อันที่สอง

ฉันพบว่าถ้าสิ่งที่ทำให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อคนอื่น ฉันจะทำได้ยาวๆ ถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่ง มันจะไม่ยั่งยืน

Comments