เมื่อฉันไปพบอัยการ

เพิ่งรู้ว่าดูทุกคำสั่งของม.ได้จากหน้าเว็บ
ฉันเป็นคนใส่ใจรายละเอียดน้อย จำอดีตไม่ค่อยได้ (ถ้าไม่แค้น) เติบโตที่บ้านที่มีลำดับชั้น (Hierarchy) น้อยมาก ฉันเรียนจบปริญญาตรี โท เอกที่อเมริกา ยิ่งเน้นความเป็นปัจเจก การได้มาทำงานอาจารย์ ยิ่งเหมาะมาก เพราะดีลกับโครงสร้างบริหารขององค์กรน้อยถ้าเราไม่ได้ทำงานบริหาร ที่ทำงานก็มีสังคมที่ดีมาก ไม่ต้องต่อสู้หรือทุกข์ทนกับความงี่เง่าเท่าไหร่ ความงงงวยที่มากที่สุดที่เคยเจอคือตอนทำโครงการ เช่น ปฐมนิเทศ ปัจฉิมนิเทศ แล้วต้องทำเรื่องเบิกเงิน อันนี้เบิกได้ อันนั้นไม่ได้ เรื่องเบิกจ่ายเป็นปัญหาที่แก้ได้ด้วยเงิน รายการที่เบิกไม่ได้ก็เข้าเนื้อกันไป ช่างมัน

ฉันทำงานด้านกิจการนิสิตของที่ภาค และถูกฟ้องจากการทำงานในหน้าที่นี้ เนื่องจากถูกฟ้องขณะปฏิบัติหน้าที่ และถึงแม้ม.ออกนอกระบบแล้ว แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยู่ดี ฉันจึงไม่ต้องตั้งทนาย มีอัยการว่าการให้

ความอัศจรรย์ใจช็อตแรกคือการซักประวัติ เริ่มมาเป็นอ.ตั้งแต่พ.ศ.ไหน เป็นผศ. รศ.เมื่อไหร่ ซึ่งฉันอ้ำอึ้ง ตอบได้แค่เป็นอ.มา 20 ปีแล้ว ฉันได้รศ.แล้วก็แล้วกัน พอใจแล้วที่เขาจะไม่เชิญออก ไม่ได้สนใจว่าได้มาเมื่อไหร่ จำปีพ.ศ. ไม่ได้ โชคดีที่เอาโน้ตบุ๊คไปด้วย ก็เปิดดู ให้เจ้าหน้าที่เช็คให้ว่าได้รศ.เมื่อไหร่

ตอนท้าย มานั่งอ่านบันทึกคำชี้แจงว่าอัยการเขียนว่าฉันจบตรีโทเอกด้านใด จากสถาบันไหน ฉันได้เรียนรู้เพิ่มว่าสถาบันที่เราจบมา และอาชีพที่ทำเป็นส่วนสร้างความน่าเชื่อถือ (Credibility) ที่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต ฉันรู้สึกภูมิใจที่ตั้งใจเรียน และจบจากสถาบันที่เป็นที่รู้จักระดับโลก เหนื่อยทีเดียว แต่ใช้เครดิตนี้ไปได้ตลอดชีวิต

สิ่งที่ฉันฉงนและไม่เข้าใจเกี่ยวกับประเทศนี้คือการปกครองแบบรวมศูนย์ บนลงล่าง ว่าทำไมมันยังอยู่ และจะทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้เหรอ แต่ฉันก็อยู่ในโลกของฉันไป มีความสุขดีเพราะฉันยังได้ทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่มหาวิทยาลัย

คำสั่งรศ.ของข้าฯ เอง
ขอบคุณตั๊กที่ช่วยค้นให้
ประเด็นที่น่าสนใจคือพออัยการเล่าถึงวิธีการเขียนคำชี้แจงส่งศาล ฉันจึงเริ่มเข้าใจวิธีการมองโลกแบบบนลงล่างนี้

อัยการขอให้เล่าให้เห็น chain of command ว่ามาตรการโควิดสั่งจากสบค. สั่งจากม. สั่งจากคณะ แล้วทำให้เกิดการกระทำ ประเด็นที่เขาต้องการแสดงคือฉันทำเพราะหน้าที่ ไม่ได้ประสงค์ให้โจทก์เสียหาย

อีกกระบวนการที่น่าอัศจรรย์คือการเน้นเอกสาร เน้นการตีความตัวหนังสือ ฉันซึ่งลูกทุ่ง บ้านๆ ถึงกับอึ้งว่าน่าจะเรียนนิติศาสตร์ไม่รุ่ง เพราะทื่อเกินไป

อัยการที่ดูแลคดีฉันจบเอกเดียวกับฉัน คือ วิศวกรรมอุตสาหการ แต่จากจุฬาฯ เขาไปเรียนปริญญาตรีนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต (คือ จบป.ตรีสาขาอื่นมาแล้ว และเทียบโอนหน่วยกิตวิชาเลือก) และมาสอบอัยการ เขาบอกว่ายังไม่ได้ทำงานวิศวะเลย วิศวกรทำได้ทุกงานจริงๆ 

ฉันรู้สึกดีใจที่ได้อัยการที่จับประเด็นเก่ง ซักประวัติและเรื่องราวฉันแล้วเรียบเรียงได้ หาข้อมูลเองได้ เขียนสรุปออกมาได้ รู้สึกอุ่นใจที่ได้คนฉลาดมาดูแลคดี แถมยังหน้าตาดีมากอีก ทำให้การนั่งอยู่ในออฟฟิศอัยการไม่น่าเบื่อจนเกินไป (จะเล่นโทรศัพท์ก็ผิดที่ผิดเวลา)

อัยการอีกท่านที่เป็นหัวหน้าก็ช่วยปลอบใจว่าไม่ต้องกังวล ฉันก็รู้สึกดีที่ท่านใส่ใจ ท่านบอกว่าช่วงโควิด คดีอั้นไว้เยอะ ของฉันกว่าจะได้สีบพยานจริงๆ น่าจะปี 2567 หวังว่าทั้งโจทก์และจำเลยจะยังมีชีวิตอยู่

ถึงเราจะบ่นเรื่องสังคมไทยแค่ไหน แต่ก็ยังมีกลไกบางอย่างที่ทำงานอยู่ ถ้าเราไม่พอใจกันแล้วไม่มีระบบมาดูแล ต้องฟาดฟันกันเอง คงวุ่นวาย และกระวนกระวายมาก 

แน่นอนว่าเราไม่อยากมีคดีความ เสียเวลา เสียพลังงาน แต่ถ้ามันเกิดแล้ว ฉันคิดว่ามันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ได้รู้จักตัวเอง ได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ถ้ามองในแง่นี้ ก็ทำให้ฉันอยู่กับเรื่องตรงหน้าได้ ไม่หงุดหงิดเกินไป

Comments