เรื่องของอาม

 


(อามเป็นนามสมมติ เจ้าของเรื่องอนุญาติให้เผยแพร่ได้)

อามเป็นลูกชายคนเล็ก มีพี่ชาย 1 คน คุณพ่อเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่อามยังเด็ก คุณแม่ทำงานด้านวิศวกร เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่บ้านฐานะดี อามมีรถขับ

เหมือนในซีรีส์ It's OK not to be OK.  พี่ชายอามเป็นออทิสติก คุณแม่บอกให้อามช่วยดูแลพี่ชาย อามคิดมาตลอดว่าทำไมต้องเป็นเขา และเขาก็ไม่อยากดูแลพี่ชาย จนมาวันหนึ่ง พี่ชายถูกไฟดูดเสียชีวิต อามรู้สึกผิดมากที่คิดไม่ดีกับพี่ชาย

อามแปะป้ายตัวเองว่าเป็นสมาธิสั้น เป็นซึมเศร้า ไปพบจิตแพทย์เพื่อรับยาคลายเครียด น่าจะตั้งแต่ปี 1-2 อามเรียนที่คณะวิศวฯ มก. เรียนได้ไม่ดีนัก เขาบอกว่าเขาเลือกมาเรียนภาควิชานี้เอง เพื่อให้แม่และคนรอบข้างภูมิใจในตัวเขา ขณะนี้อามอยู่ปี 5  

ในมุมมองฉันที่เป็นอาจารย์ อามดูไม่มีระเบียบในชีวิต เช่น ฉันคุมสอบวิชามิดเทอมที่อามต้องมาสอบ เขามาสายไป 30 นาที สำหรับการสอบ 3 ชม.; ตอนไปค่ายที่ป่า อามลืมเอาเป้ตัวเองขึ้นรถตู้ ตัวไปแล้วแต่เป้ยังอยู่ ก็เอาขึ้นรถคันอื่นไปให้ นอกจากนี้วันหนึ่งอามตื่นสายมาก มาไม่ทันทำกับข้าวและฉันต้องไปเรียกที่เต็นท์ ในระหว่างค่าย ก็ลืมนั่นลืมนี่ตลอด; ฉันแนะนำให้ไปทำ Art therapy workshop วันแรกไปสายครึ่งวัน วันที่สองก็สาย

วันนี้ อามขอนัดฉันกินข้าวพร้อมกับเพื่อนปีห้าคนอื่นๆ ฉันกะว่าอามจะต้องสายแน่ๆ ฉันจึงเตรียมหนังสือมาอ่าน ปรากฏว่าเขามาก่อน และในมือก็ถือหนังสือเช่นกัน

คุณยายของอามเลี้ยงคุณแม่มาแบบเจ้าระเบียบมากๆ น่าจะบงการด้วย คุณแม่จึงเลี้ยงอามมาแบบไม่บังคับเลย ปล่อย ฉันสังเกตเห็น pattern นี้มาหลายคู่แล้ว พ่อแม่จะให้ลูกในสิ่งที่ตัวเองขาด ทั้งการเลี้ยงดู วัตถุ และการศึกษา เช่น ถ้าพ่อแม่เรียนมาน้อย จะอยากให้ลูกเรียนสูงๆ 

อีกแบบคือ ลูกทำความฝันหรือสิ่งที่พ่อแม่อยากเป็นแต่ไม่ได้เป็น ให้เป็นจริง ถ้าความฝันของลูกและพ่อแม่ตรงกันก็สงบสุขไป ถ้าไม่ตรงกัน ก็อึดอัด ทุกข์กันไป

อามเรียน Communication and Leadership กับฉันปีที่แล้ว ตอนเขาอยู่ปี 4 เทอมต้น อามพูดกับฉันสุภาพมาก ใส่ใจมาก และอามดูไบโพล่าร์สำหรับฉัน ดูร่าเริงสุดขั้วในบางเวลา บางเวลาก็ดูเศร้ามากๆ เหมือนอีกคนเข้าสิง ในคลาส อามได้รับรู้ว่าตัวเองเป็นลักษณ์สี่ ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนในคลาสฟัง ได้รับการโค้ชจากวิทยากรที่มาสอนไลฟ์โค้ช และฉันก็ได้คุยกับอามหลายครั้ง ข้อดีของอามคือยื่นมือออกมาขอรับความช่วยเหลือ

เด็กส่วนใหญ่ไม่ร้องขอความช่วยเหลือ ฉันคิดว่าเป็นเพราะเกรงใจ หรือเพราะคิดว่าเรื่องตัวเองไม่สำคัญ 

เทอมนี้ อามอยู่ปีห้า เพื่อนๆ ที่เคยแฮงค์เอาท์กัน ก็จบไปแล้ว หรือไม่ค่อยได้เจอกันเพราะเรียนน้อย ฉันถามว่าการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง อามบอกว่า ลองมาหลายวิธี อ่านกับเพื่อน อ่านหนังสือคนเดียว พบว่าการอ่านหนังสือคนเดียวเวิร์คที่สุด ซึ่งก็เป็นโชคดีกับเทอมนี้ที่เพื่อนเรียนจบกันไปแล้ว 

ก่อนหน้าเทอมนี้ เกรดเฉลี่ยสะสมของอามคือ 1.97 แต่เทอมนี้ เรียนวิชาของภาคฯ 3 ตัว และวิชาดึงเกรด 1 ตัว ได้เกรดเฉลี่ย 3.5 ทำให้เกรดเฉลี่ยสะสมเป็น 2.09 เริ่มเห็นใบปริญญาแล้ว

อามที่ฉันเห็นวันนี้ดูจัดการกับชีวิตได้ดีขึ้นมาก อยู่ด้วยตัวคนเดียวได้แบบไม่มีแฟน ออกกำลังกาย ไปพบจิตแพทย์สม่ำเสมอและหาวิธีรักษาอาการซึมเศร้าของตัวเองด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการกินยาคลายเครียด แนะนำเพื่อนเรื่องการเรียนได้ เขาบอกว่าเขาคุยกับแม่มากขึ้น คุยทุกเรื่องยกเว้นเรื่องการเมือง

อามเล่าถึงหนังสือ Atomic Habits ที่บอกว่าถ้าทำเรื่องดีๆ เพิ่มวันละ 1% ทุกวัน จะเป็น 1.01^365 = 37.7 เท่าของตอนนี้ แต่ถ้าเลวลงวันละ 1% ก็จะเป็น 0.025 หรือเหลือแค่ 2.5% ของจุดเริ่มต้น

เขาบอกว่าเขาเริ่มว่ายน้ำวันละ 15 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มจนเป็นชั่วโมง อ่านหนังสือวันละ 1 ชม. จนเพิ่มเป็นเวลามากๆ ได้ ฉันฟังแล้วดีใจที่เขาเลิกให้คำว่าสมาธิสั้นเป็นตัวกำหนดเกรดของเขาได้

ฉันคิดว่าอามนัดฉันกินข้าวเพื่อให้กำลังใจฉัน และสื่อสารว่าเขากำลังไปได้ดีกับชีวิต

ฉันทำคลาสนี้มา 5 ครั้ง ฉันพบว่าเด็กต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องชีวิตของเขา โดยเฉพาะเรื่องเปราะบาง เรื่องบาดแผล ฉันแทบไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร ไม่ได้โค้ชเยอะขนาดนั้น ฉันคิดว่าแค่ได้เอาเรื่องบาดแผลออกมาในที่ๆ คนอื่นได้รับรู้ ที่ๆ บาดแผลหรือเรื่องราวได้รับการมองเห็น Acknowledged แค่นี้ก็มีความหมายมากๆ แล้ว

จริงๆ แล้วผลการเรียนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นปลายเหตุ หรือเป็นผลจากเหตุอื่น ถ้าเด็กคลี่คลายประเด็นตัวเองได้ ผลการเรียนที่ดีหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจะตามมาเอง เหมือนถ้ามีพลังชีวิต จะทำอะไรก็ทำได้

ฉันเพิ่งไป Non-violent communication workshop อันหนึ่ง ผู้เข้าร่วม 2 คนจาก 15 คนบอกว่า ไม่มีใครฟังเขาจริงๆ มาเป็นปีแล้ว ฉันเศร้าใจเลย จริงๆ แล้ว การมี Social Media ทำให้เรารู้สึกเหมือนเรามีพื้นที่พูดคุย แต่อย่างไร ก็ไม่เหมือนการอยู่ตรงหน้ากันจริงๆ แบบใส่ใจและรับฟัง



Comments