Communication and leadership class reflection

คลาสนี้เป็นครั้งที่ 5 สำหรับฉัน ฉันจัดทุกเทอมสำหรับนิสิตปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.เกษตรฯ เทอมหนึ่งสำหรับภาคปกติและอีกเทอมสำหรับภาคพิเศษ (ภาค IUP ก็รีเควสมา แต่การพูดความรู้สึกเป็นอังกฤษยากกว่ามาก ก็เลยไม่จัดและฉันไม่เหลือเวลา) มีนิสิตนอกภาคมาลงบ้าง แต่น้อยมาก เมื่อทำมาแล้ว 4 ครั้ง ฉันเริ่มเบื่อและเหนื่อย แต่เพราะโควิด ฉันไม่ได้เจอมนุษย์นาน ทำให้ฉันอยากพบผู้คนอีกครั้งหนึ่ง คลาสนี้เริ่มน่าสนใจอีกครั้ง

(ฉันได้ซ้อมพูดเกี่ยวกับคลาสนี้ ก่อนไป Conference เผื่อใครอยากรู้ว่าเรียนอะไรกัน ดูได้ที่คลิปนี้)

พี่ตู่ ที่มาสอนให้ทุกเทอมตั้งแต่ต้น ทักว่า ทำไมฉันสนิทกับรุ่นนี้จัง ฉันตอบว่าเป็นครั้งแรกที่ฉันเรียกเด็กมาคุยตัวต่อตัวหลายคนตั้งแต่ต้นเทอม บางคนดูเงียบๆ บางคนดูลึกลับ บางคนดูมีปัญหา ฉันก็ถามไปเรื่อยๆ แล้วแต่เซ็นส์จะพาไป เวลาได้คุยกันส่วนตัว ทำให้สนิท บางรุ่น ฉันหรือมูโค้ชตามหลังคลาสปิด

ฉันพบว่าปัจจัยที่สำคัญว่าเด็กสนิทกับฉันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเปิดกว้างของฉัน รุ่นก่อนๆ ฉันยังไม่มั่นใจในเซ็นส์ตัวเอง หรือบางทีก็ขี้เกียจ เบื่อ หรือเหนื่อย ฉันก็ไม่ทุ่มเต็มที่ การเปิดใจให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของฉันใช้พลังงาน การปิดง่ายสำหรับฉันที่เป็น Introvert ได้มากๆ 

รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ฉันเชิญมาที่บ้านเพื่อนำเสนอโปรเจ็ค Prototype interview (Design your life projects) ที่ให้ทำ เพราะหยุดรับปริญญาและวันหยุดราชการ เลี้ยงข้าวที่บ้าน ฉันคิดว่าอยู่บ้านสบายกว่า การที่ได้มาบ้านอาจารย์ก็น่าจะเป็นเรื่องพิเศษสำหรับเด็กๆ

เมื่อทำหลายครั้ง ฉันเป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ หมายถึง ฉันก็อยากให้เด็กเปลี่ยนแปลง มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุข ฉันก็ช่วยเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าไม่เปลี่ยน ฉันก็ไม่ได้เสียใจว่าล้มเหลว ฉันยอมรับได้ว่าแต่ละคนมีวาระ (Timing) ที่ต่างกัน อาจจะยังไม่ใช่เวลาสุกงอมของเขาก็ได้ ถ้าจักรวาลจัดสรร ถึงไม่อยากเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ไม่หายก็ตาย อย่างที่หลวงพ่อชาบอกกับลูกศิษย์ที่ป่วย

ฉันเริ่มได้รับความไว้วางใจจากเด็กๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กทักมาขอคุยเอง โดยที่ฉันไม่ต้องนัด หรือถ้าขอให้ทำการบ้านพิเศษ เช่น เขียน Grateful moments หรือวาดรูปมาส่งทุกวัน 21 วันติดกัน เด็กก็ทำให้ ยินดีบ้าง แบบแกนๆ บ้าง 

ในแง่การเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ฉันอยู่กับความทุกข์ของผู้คนได้ดีขึ้น คือ รับรู้ความรู้สึกของคนเล่าได้ ภาพขึ้นมาในมโนทัศน์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ฉันไม่ได้ดำดิ่งไปด้วย รักษาความเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ ตั้งคำถาม ทวนสิ่งที่ได้ยิน เดาสิ่งที่เกิดขึ้นหรือแนะนำได้


รูปที่เด็กวาดต่อกัน 21 ครั้ง มีข้ามบางวัน

เมื่อฉันใช้เซ็นส์หรือ Intuition บ่อยๆ มันเป็นทักษะหรือกล้ามเนื้อที่ฉันใช้ประจำ ฉันคิดว่ามันแม่นยำขึ้น  คุยไม่นาน เด็กก็พบจุดเปราะบาง (Vulnerablity) ของตัวเอง เอาจริงๆ แล้ว แค่เขาได้เล่าให้มนุษย์อีกคนหนึ่งที่ใส่ใจฟัง ก็ทรงพลังมากแล้ว วิธีการแก้ปัญหามาทีหลัง

ในแง่กิเลสของลักษณ์สาม ฉันมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เข้าเป้าเพิ่มขึ้น เมื่อฉันมีฉันทะใน Life coaching และได้ฝึกบ่อยๆ 

เทอมนี้ ฉันพบว่ามีความสุขมาก เมื่อเด็กจำคำพูดของเราได้ บางประโยคก็เป็นการกระแทกแรงๆ บางประโยคก็พูดลอยๆ ทั่วไป ไม่ได้เจาะจงบุคคล เมื่อเด็กกลับมาโควตให้ฟังใน Reflections ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีอิมแพค เหมือนได้ทิ้งอะไรไว้ให้กับโลกนี้ ถึงจะไม่มีลูกของตัวเองก็ตาม

ฉันพบว่าฉันไม่ได้กังวลว่าเด็กจะรักฉันหรือไม่ แน่นอนว่าฉันอยากเป็นที่รัก แต่การเป็นที่รักไม่ใช่เป้าประสงค์หลัก มันเป็นผลพลอยได้ การไม่เรียกร้องความรักจากเด็ก ทำให้ฉันเป็นอิสระ ฉันทำในสิ่งที่ฉันเห็นสมควร ว่าถ้าฉันเป็นนิสิต ฉันอยากให้อ.ทรีตเราแบบนี้ ฉันทำแบบที่ฉันอยากให้คนอื่นทำกับฉัน


ถ้าฉันเรียกร้องความรัก ฉันจะเหมือนเปรต ที่หิวความรักอยู่ตลอดเวลา น่าจะน่ารำคาญหรืออึดอัดที่จะอยู่ใกล้

ฉันอนุญาตให้ตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดา โมโหและว่าแรงๆ เมื่อคิดว่ามันไม่แฟร์ ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธรูปที่หน้านิ่งอยู่ตลอดเวลา ฉันไม่อยากให้เด็กติดภาพว่าคนดีคือคนไม่โกรธ แบบที่คนปฏิบัติธรรมมักจะเชื่อกัน (จริงๆ ฉันอาจจะเข้าข้างความขี้โมโหของตัวเอง) 

พอรับฟังเรื่องราวของพวกเขา ฉันตระหนักว่าโลกของฉันและเขานั้นต่างกันมาก ในยุคนี้ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีสัญญาแน่นอนที่ปลายสายรุ้งว่า ถ้าคุณทำตามสิ่งที่สังคมบอก แล้วคุณจะ "ประสบความสำเร็จ" หรือ"มีความสุข"  ชีวิตหลากหลายรูปแบบมากๆ ฉันไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่และอาจารย์ส่วนใหญ่จะเห็นความท้าทายนี้ และเทรนเด็กให้อยู่ให้ได้ Survive ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อีกอย่างที่ฉันชื่นชมเด็กคือความเปิดกว้าง โดยเฉพาะเรื่องเพศสภาพ ในคลาสฉันมีเกย์ทุกเทอม เด็กก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ และรุ่นนี้ไม่ได้เอาเรื่องนี้มาล้อกัน ชายธรรมดาสามารถนอนข้างๆ ชายเกย์บนศาลาในค่ายที่ปางสีดาได้ โดยไม่เขินหรือกลัว มูสังเกตเห็นประเด็นนี้

เทอมหน้า ฉันเปลี่ยนกำหนดการหลายอย่างมาก Mega change ซึ่งทำให้ฉันตื่นเต้นและมีไฟอีกครั้ง

โจทย์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นมา หลังจากที่ฟัง The Law of Human Nature (Audible) คือ ฉันจะฝึกสังเกตภาษากายมากขึ้น ไม่เน้นที่คำ จะดูสีหน้า น้ำเสียง ท่าเดิน การเลือกตำแหน่งที่นั่ง ว่าบอกอะไรเกี่ยวกับเจ้าตัว ช่วงที่ผ่านมา ฉันเริ่มอิ่มตัวกับ Life Coach แบบที่ฟัง ทวน ถาม ใช้คำพูดและพลังงานที่ฉันรู้สึกเป็นหลัก ฉันก็ได้ใช้ Intuition และการเก็บข้อมูลจากการฟังเด็กมาเป็นร้อยคน ฉันเห็น Pattern ของ Cause and effects ของเด็กๆ จนมันเริ่มไม่ท้าทาย ถ้าฉันได้สังเกตภาษากาย น่าจะสนุกขึ้น มันเป็นการบ้านของฉันในเทอมหน้านี้ 

Comments