คอร์เซ็ตที่รัก

สืบเนื่องจากโพสต์ที่แล้ว ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่เสื้อ แต่อยู่ที่ my personal transformation ฉันก็ได้รับข้อความส่วนตัวจากเพื่อนสองคน เกี่ยวกับเสื้อคอร์เซ็ตของฉัน ที่ให้ความรู้สึกต่างกันมาก

อันแรกมาจากมูที่ส่งบล็อกฉันให้เพื่อนที่สนใจด้านแฟชั่น เพื่อนนางก็ส่งรูปลุคอื่นๆ มาให้ฉัน แล้วบอกว่าควรมีเสื้อคลุม หรือสวมเชิ้ตทับ ฉันตอบไปว่ามันร้อน มูก็ไปบอกเพื่อนๆ บอกว่า จริงๆ แล้วคอร์เซ็ตเป็นเสื้อชั้นใน คนที่ใส่แล้วไม่มีเสื้อทับได้คือมาดอนน่า มูบอกว่าฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบนั้น (ฉันแค่คิดว่ามาดอนน่าทำได้ ฉันก็ทำได้ และฉันก็หน้าอกแบนราบมาก จนฉันไม่คิดว่าจะมีความโป๊เกิดขึ้นได้) เพื่อนมูบอกว่า จบข่าว

ส่วนอันที่สอง มาจากอาจารย์ที่เคยสนิทมากว่า (คอร์เซ็ตที่ใส่) "โป๊ไปอ่า อันดำ ชอบ ลูกไม้ชอบ ขาวล่าสุด (มั้ง) ไม่ชอบ"  และเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "ยังทำงานอยู่ที่บ้านหรือเปล่า ต้องใส่เสื้อผ้าเป็นทางการไหม" ฉันก็โอ้.. costume police!  มิน่า.. โพสต์ก่อนหน้านี้เขาก็คอมเม้นแปลกๆ  ฉันก็ตอบไปว่า "ใส่เสื้อคลุมเวลาไปทำงาน แต่ถ้าไม่ได้ไปออฟฟิศ หมายถึงไม่ไปม. ก็ไม่ใส่จ้ะ"

ฉันก็บอกขอบคุณเขาไปในความใส่ใจ แต่ฉันก็สงสัยว่าทำไมฉันยังหงุดหงิด เหมือนเรื่องยังไม่จบ

มันน่าอัศจรรย์ที่คอมเม้นทั้งสองอันเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน แต่ท่าทีที่ต่างกัน และต้นทุนความสัมพันธ์ที่ต่างกัน (พี่ตู่บอกว่าถ้า connection ดี ก็ได้หมด อันนี้จริง!!) ทำให้ฉันรู้สึกต่างกันมากๆ

ก่อนนอน ฉันนึกขึ้นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ได้จากเพื่อนกระบวนกรที่เป็นไลฟ์โค้ช ไม่ว่าจะเป็นพี่ณัฐฬส หรือพี่ตู่ ก็คือ เวลาฮีจะแนะนำหรือคอมเม้นใคร ฮีจะถามว่า "แนะนำได้ไหม อยากฟังที่จะพูดไหม" ซึ่งฉันชอบมาก เป็นการส่งสัญญาณให้คนฟังได้รู้ว่าฮีจะพูดแล้วนะ และให้ทางเลือกกับคนฟังว่าอยากฟังไหม ร้อยละร้อยก็ฟังคอมเม้นนั่นแหละ ฉันคิดว่าการถามก่อนเป็นการส่งสัญญาณ เป็นการให้เกียรติกัน การโพล่งบอกไปโดยไม่เช็คกับคนฟัง หรือดูว่าเขาพร้อมไหม เหมือนพูดเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง มากกว่าที่จะคอมเม้นเพื่อช่วยเหลือคนฟังจริงๆ  (อันนี้จากการสังเกตตัวเอง)

Non-violent communication สอนว่า ขั้นที่หนึ่ง ก่อนจะพูด ให้เคาะประตูก่อน คือ เช็คว่าคนฟังพร้อมไหม

พอนึกเรื่องนี้ขึ้นได้ ฉันก็รู้สึกว่าเออ..ที่อารมณ์ค้างอยู่นี่เพราะไม่ไช่เรื่องเสื้อฉัน แต่เป็นเพราะฉันรู้สึกถูกตัดสิน เหมือนไม่ให้สัญญาณแล้วปาขี้ใส่ สิ่งที่ฉันต้องการคือความเคารพ (Respect) ว่าเราจะฟังหรือไม่ฟัง

จริงๆ ฉันสังเกตตัวเองว่าบางทีเวลาฉันคิดว่าฉันคอมเม้นด้วยเจตนาดี (ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการกับนิสิต) บางครั้งเจตนาเจือด้วยความรู้สึกว่าเหนือกว่าอยู่ เหมือนฉันคิดว่าความคิด ศีลธรรม มาตรฐานหรือรสนิยมของฉันดีกว่าเขา

หลายๆ ที ฉันพูดหรือคอมเม้นเพื่อระบายความอึดอัดคับข้องใจของตัวเอง ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นเรื่องรอง

ค่ำๆ ฉันก็ส่งข้อความไปหาเพื่อนอ.คนเดิมว่าอยากฟังที่ฉันจะคอมเม้นไหม แล้วก็บอกไปเรื่องการถามก่อนของพี่ณัฐและพี่ตู่ที่ฉันชอบ เพื่อนก็ยังไม่เก็ต ยืนยันว่าตั้งใจยัดเยียดคอมเม้นให้ ฉันนี่เดือดหนักกว่าเดิม จะพิมพ์คำว่าคุณคิดว่าคุณคือใคร แต่ความนางฟ้าและสิ่งที่เรียนมาบอกว่า "แกลบซะ" ก็ลบ

Marshall Rosenberg บอกว่าความโกรธหรืออารมณ์เหมือนเป็นควันไฟ ที่เราต้องไปหาว่าความต้องการของเรา หรือที่มาของควันไฟคืออะไร

อาจจะรู้สึกดีเพราะต่อยมวย

ความต้องการของฉันคือ ฉันอยากได้ทางเลือก อยากได้ Respect คือ เข้าใจว่าเพื่อนหวังดี แต่ฉันก็จะห้าสิบแล้ว มีสไตล์ของตัวเอง การคอมเม้นว่า โป๊เกินไปนี่ฉันรู้สึกถูกตัดสินมากๆ ซึ่งไม่มีใครในโลกชอบแน่ๆ

ความต้องระวังของคนเป็นอาจารย์คือคำพูด ยิ่งสูงวัยยิ่งต้องระวัง เพราะเรามี Rank ที่เหนือกว่าหลายๆ คน โดยเฉพาะนิสิต พี่ตู่พูดเสมอว่าเราไม่ได้ทำร้ายกันด้วยอาวุธ แต่ด้วยคำพูด ตลอดเวลา

เมื่อถูกคอมเม้นมาแล้วฉันสะเทือน ฉันก็ต้องขอบคุณที่มันเป็นบทเรียนให้ฉันจำว่าจะพูดอะไร ให้เช็คตัวเอง เช็คสถานการณ์ เช็คคนฟังเยอะๆ  มนุษย์ทั่วไปที่ไม่ใช่ฉันจะไม่สวนกลับ และฉันจะแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาเสียใจกับคำพูดเราหรือเปล่า

จริงๆ แค่เขียนเสร็จนี่ก็รู้สึกดีแล้ว ได้เรียบเรียง ได้ระบาย

Comments