เมื่อฉันดูแลเพื่อนซึมเศร้า


เอก (มาจาก "ตัวเอก" ของเรื่องนี้) เป็นลูกศิษย์ในคลาส Communication and Leadership ในเทอมที่แล้ว เป็นคนที่ไม่อยู่ในเรด้าร์ของคนที่ "ดูมีปัญหา" เอกไม่เคยเล่าเรื่องตัวเองเวลาแชร์กันในห้อง เงียบ แสดงความคิดเห็นหรือตัวตนน้อยมาก เป็นวอลล์เปเปอร์ ไม่เด่น หลบตัวเองให้อยู่ในแบ๊คกราวน์ ดูเรียบร้อย พูดเพราะมากกับชั้น สูงขาว ผอม หน้าตาดี เดินช้าๆ พูดเสียงเบา ดูไม่มั่นใจ

เอกบอกว่าจุดเปลี่ยนของเค้าคือตอนที่ไปค่ายที่เขาใหญ่ เด็กๆ สนิทกันมากขึ้น (รุ่นเค้าเป็นรุ่นที่สนิทกันเป็นหย่อมๆ แต่แทบไม่สุงสิงกันข้ามกลุ่ม) ในกิจกรรม"ขอพร" เรามานั่งล้อมวงกัน แต่ละคนออกมานั่งกลางวง กล่าวถึงสิ่งที่อยากได้รับหรืออยากสละ แล้วนอนลงตรงกลาง เพื่อนๆ เข้าไปสัมผัสร่างกาย แล้วเอ่ยให้พรกับเพื่อน เมื่อถึงคราวของเอก เอกบอกว่าไม่มีอะไรที่อยากได้รับหรืออยากสละ แต่ถึงอย่างนั้น เพื่อนก็ยังให้พรที่เอกรู้สึกได้ว่าเพื่อนรู้จักตัวตนของเขา เอกได้พลังจากคำอวยพร

ชั้นมองว่า เอกเริ่มมีศรัทธา เริ่มไว้ใจคนอื่น

เอกไม่เคยเล่าประเด็นชีวิต ประเด็นครอบครัว ให้เพื่อนในคณะฟัง เอกบอกว่า อยากดูปกติ ไม่อยากให้เพื่อนมาดูแลเราเป็นพิเศษ มีอดีตแฟนที่รับรู้เรื่องเอกทุกเรื่องตอนเป็นแฟนกัน และมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่รู้ เป็นเพื่อนที่มีแฟนเป็นซึมเศร้า

ตอนใกล้ๆ หมดเทอม ชั้นต้องการโค้ชเพื่อนเอก มูบอกให้ชั้นหาข้อมูลของเด็กคนนี้ก่อนจะโค้ช ชั้นโทรหาเอก ชั้นถามไปเรื่อยๆ ก็ถามเรื่องเอกแทนเรื่องเพื่อน ประโยคที่สั่นสะเทือนชั้นคือ "ในแต่ละวัน ผมรู้สึกไม่มีความสุข" และเค้าเคยพยายามฆ่าตัวตาย ชั้นก็ เห้ย..  ความดูปกติของเธอนี่ไม่บ่งบอกเลยนะว่าเธอไม่มีความสุข

ชั้นเปลี่ยนเป้าเป็นเอก แล้วให้มูดูแลเพื่อนเอกแทน พอแงะแล้ว ปรากฏว่าชีวิตราบเรียบดี ชั้นแอบเศร้าตรงที่เรด้าร์จับคนซึมเศร้าของชั้นห่วยแตกมาก

ชั้นไม่เคยเรียนเรื่องการดูแลคนเป็นซึมเศร้า แต่สนใจเรื่องจิตวิทยา จิตวิญญาณมาก ฟังมาเยอะ และสังเกตตัวเอง เมื่อวานคุยกับเอก แล้วคิดว่าสิ่งที่ทำเวิร์คภายใน 5-6 เดือน จึงอยากทบทวนตัวเองด้วยการบันทึกไว้

การสร้างความไว้ใจ

ชั้นคิดว่าเอกเปลี่ยนแปลงภายในมาแล้วในระดับหนึ่ง จากกิจกรรมต่างๆ ของคลาส Leadership ที่เราทำด้วยกัน ได้ฝึกรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ได้ฝึกเขียน Reflections ทบทวนตัวเอง ได้รับรู้เรื่องของเพื่อน ได้โค้ชเพื่อน ชั้นคิดว่ามันช่วยทำให้เกิด Connection และเค้าน่าจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง

ทั้งเทอม เด็กๆ ต้องเขียน Reflections ส่ง ซึ่งชั้นคอมเมนต์กลับไป บางทีก็ชื่นชม รับรู้ (Appreciate and acknowledge) นำเสนอความเป็นไปได้อื่นๆ หรือแนะนำ คอมเมนต์เหล่านี้มีความหมายกับเด็กๆ บางเคสมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปที่มาเล่าให้ฟัง เช่น กับแม่

การมีคลาสทำให้เกิดชุมชน เป็นสังฆะ การเป็นส่วนหนึ่ง (Belongings) มีคุณค่ามากๆ สำหรับเด็กวัยรุ่น เด็กแทบทุกคนสะท้อนว่าสิ่งที่ได้รับจากคลาสคือมิตรภาพ เอกก็ตอบแบบนี้เช่นกัน

การระบาย

ชั้นขอเอกว่าจะโทรหา โทรถี่มากและคุยยาวมากในช่วงแรกๆ มันไหลไปเองตามเรื่องที่เล่า ชั้นถามคำถามให้เอกเล่า ชั้นฟัง-ทวนสิ่งที่เค้าเล่าให้เค้าฟัง-ถาม-สะท้อน-ชื่นชม/รับรู้ วนลูปอยู่อย่างนี้ ชั้นพยายามอย่างมากที่จะไม่แนะนำ ไม่ตีความในตอนแรก ฟังเพื่อฟัง โหมดที่บอกตัวเองคือ Stay curious!

บางครั้งที่คุยกันก็มีธีมที่ชั้นบอกก่อน เช่น วันนี้จะคุยเรื่องแม่ เรื่องพ่อ เรื่องแฟนเก่า บางครั้งก็จะถามว่าวันนี้อยากคุยเรื่องอะไร เอกได้เล่าเรื่อง ได้น้ำตาไหล กับมนุษย์อีกคน ไม่ต้องน้ำตาไหลคนเดียว ช่วงแรกๆ ของการคุย แรงสั่นสะเทือนมหาศาลมากขนาดแค่ได้ยินเสียง ชั้นสัมผัสได้ถึงความเปราะบาง ความเจ็บปวด ความไม่มั่นคง ความสั่นไหวภายใน

ชั้นคิดว่าการได้เล่าเรื่องตัวเองช่วยให้เอกได้มองเรื่องตัวเองจากมุมมองใหม่ ได้เป็นเจ้าของเรื่อง (He owns the story) ไม่ใช่ให้เรื่องเป็นเจ้าของเรา (The story doesn't own him) คือ เป็นอิสระและไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวในอดีต จริงๆ ชั้นก็ไม่ได้วางแผนว่าให้เอกระบาย ชั้นแค่อยากจะเข้าใจเค้า การได้ระบายเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญ ชั้นคิดว่าการได้ปล่อยออกทำให้เค้ามีที่ว่างภายในที่จะรองรับสิ่งใหม่ๆ

ชั้นได้ใช้ทักษะโค้ชชิ่งที่ฝึกมา การตั้งคำถาม การเช็คความรู้สึกเค้า การให้เค้าได้ระบุความต้องการของตัวเองภายใต้ความรู้สึกนั้น บางครั้งที่เค้านึกไม่ออก ชั้นให้เค้าเปิดตารางความรู้สึกของ Non-violent communication แล้วให้เลือกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร

อีกเรื่องที่ชั้นรู้สึกว่าเป็นจุดเปลี่ยนของเอก คือ ความสัมพันธ์กับแฟนเก่า ที่เอกยังรู้สึกตกค้าง ยังไม่ปิด ก่อนที่แฟนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ แฟนมาขอคืนดี เดิมเอกหลีกเลี่ยงการพูด ใช้มึนตึงใส่ ชั้นบอกเอกว่า ถ้าชาตินี้ไม่ได้เจอกันอีก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย แล้วไม่ได้เคลียร์กันล่ะ ชั้นขอให้เอกพูดความรู้สึกและความต้องการของตัวเองกับนาง ผลคือเอกรู้สึกโล่งและไม่ติดต้าง เหมือนได้ปิดอีกบทหนึ่งของชีวิต ตอนนี้เอกสามารถไปในที่ๆ เคยไปกับแฟน แล้วไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป

การบ้าน

ชั้นให้เค้าทำการบ้านประจำวันหลายอย่าง ที่ให้เค้าได้ดูแลตัวเอง
  1. การเขียนความสุขประจำวัน ชั้นอ่านจากเน็ตว่า เราฝึกมองโลกในแง่ดีได้ด้วยการเขียนความสุข ๓ อย่างที่เกิดขึ้นทุกวัน ๒๑ วันเป็นอย่างน้อย ชั้นให้เอกเขียนส่งมาให้ชั้น และชั้นส่งให้เอกด้วยเพื่อความแฟร์ และเพื่อให้เค้าได้รับพลังของชั้น  ครบ ๒๑ วัน ชั้นเอามาเรียงส่งให้เค้าดู เค้าอยากเขียนต่อ ชั้นก็เขียนเป็นเพื่อน; ชั้นพบว่าการเขียนความสุขประจำวัน ทำให้เราเห็นภาพรวมของชีวิตและเห็นสิ่งที่เค้าให้ค่า
  2. Free flow writing เค้าคิดวนไปวนมากับความเจ็บปวดเดิมๆ ชั้นบอกให้เขียนความคิดในหัวแบบเขียนไม่หยุด ๑๐ นาที ไม่ขีดฆ่า ไม่หยุด ไม่ต้องสนใจว่าอ่านออกหรือไม่ ให้เขียนก่อนนอน 
  3. Laser scan เอกเคยไปพบอ.จิตวิทยาท่านหนึ่งแล้วเค้าแนะนำให้จินตนาการถึงเลเซอร์ แสกนตรงจุดที่รู้สึกเจ็บปวด ชั้นถามเอกว่า ตอนที่รู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ ความรู้สึกขึ้นมาทางส่วนไหนของร่างกาย เอกบอกท้ายทอย ขมับ ชั้นขอให้เอกแสกนตรงจุดนั้น
  4. การออกกำลังกาย ชั้นเชื่อว่าถ้าได้ออกกำลัง เอ็นโดรฟินหลั่ง เราจะรู้สึกดีขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น ถ้าให้ไปออกกำลังเอง อาจจะไม่ไปในช่วงแรก ต้องมีคนประกบ ชั้นมีลูกศิษย์ที่เป็นเทรนเนอร์ ชั้นจ้างให้เค้าเทรนเอกและให้เอาน้องตัวเองไปด้วย เอกพูดถึงน้องบ่อยมาก เป็นคนที่เอกห่วงใย และน้องเองก็เป็นซึมเศร้า ชั้นอยากให้เค้าได้ออกกำลังกายทั้งคู่ และใช้เวลาร่วมกัน; เมื่อการออกกำลังกายเริ่มส่งผล เอกไปวิ่งกับเพื่อนเอง ไปว่ายน้ำเอง 
  5. การอ่านหนังสือ ชั้นเคยรู้ว่า สามารถฝึกความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ ผ่านการอ่านวรรณกรรม ชั้นบอกเอกว่า ชั้นอยากจ้างเค้าอ่านหนังสือ ค่าจ้างคือค่าเทรนที่ชั้นจ่าย ชั้นกับมูช่วยกันเลือกหนังสือให้ อ่านไปแล้ว ๓ เล่ม คือ เจ้าชายน้อย เมื่อสวรรค์ให้ของขวัญกับผม Animal Farm ตอนแรกๆ อ่านช้ามาก เค้าบอกว่า รู้สึกเบื่อ และตั้งตารอคอยให้จบแต่ละหน้า เล่มที่สามที่อ่าน เค้าเริ่มสนุกและอ่านทีเดียวจบครึ่งเล่ม เค้าบอกว่าเค้าเริ่มสนใจหนังสือที่มีอยู่ในบ้าน จากเดิมที่ไม่เคยสนใจ

การมองไปข้างหน้า

เวลาคุยกัน ชั้นจะถามอยู่เสมอว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง รู้สึกอย่างไร หรือเวลาเค้าพูด "ครับ" ชั้นจะถามว่า ครับแปลว่าอะไร ชั้นบอกเค้าว่า ช่วยเตือนด้วยนะถ้าชั้นพูดมากเกินไป สั่งมากเกินไปแล้วเค้าอีดอัดน่ะ เพราะชั้นมีสถานะสูงกว่าเค้าด้วยวัย การศึกษา ความเป็นอาจารย์ ฐานะ

ตอนนี้เค้าเรียนจบแล้ว กำลังรองาน ชั้นบอกเค้าว่าเค้าควรพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและการเขียนโปรแกรม เพื่อให้ดูน่ารับเข้าทำงาน ชั้นขอให้เค้าเขียน Action plan ระบุเป้าหมายและวิธีการ แล้วส่งมาให้ดู ซึ่งเค้าก็ทำแล้วบอกว่าพอทำแล้ว ทำให้ตัวเองรู้สึกมีพลัง ไม่งั้นจะท้อแท้ว่าเป้าหมายไกลเกิน

โดยบังเอิญ เมื่อวานเราได้คุยกันเรื่องน้องของเอก ซึ่งเป็นอีกคนที่ชั้นเป็นห่วง ชั้นได้คุยกับน้องหลายครั้ง ชั้นคิดว่าชั้นมีมุมมองของคนนอกที่อาจจะเห็นภาพรวมได้ชัดกว่าคนใน แล้วชั้นก็ได้พูดถึงน้องให้เค้าฟัง ถึงแม้เอกจะต่อต้านในสิ่งที่ชั้นพูด แต่เค้าบอกว่าทำให้เค้าเข้าใจน้องมากขึ้น

ชั้นพบว่า การจะเยียวยาคนๆ หนึ่ง มันต้องทำไปทั้งยวงเลยถ้าทำได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงจะเร็ว แต่ว่าจะยั่งยืนเพียงใดนี่ต้องรอดูเมื่อเค้าเจอเรื่องยากๆ  

Comments