ลูกๆ ของชั้น

อาชีพอาจารย์ของชั้นเป็นงานที่ชั้นจะอายุห่างจากคนที่ชั้นดูแลไปเรื่อยๆ พวกเค้าจะอายุอยู่ที่ 17-22 ปีตลอดไป ชั้นไม่ได้กลัวแก่ แต่อายุมันสำคัญตรงที่เราจะแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชั้นอาจจะไม่เข้าใจพวกเค้าเลยก็ได้ถ้าชั้นไม่พยายามจะเข้าใจ

ช่วงนี้มีหนึ่งหญิงหนึ่งชายที่ชั้นดูแลอย่างใกล้ชิด คุยกันบ่อยๆ ด้วยเสียงหรือข้อความ  สนิทกันระดับที่เรียกเราว่าแม่

ลูกสาวและลูกชายของชั้นมาจากครอบครัวที่แตกต่างกันมาก

ครอบครัวของลูกสาวอบอุ่นจนถึงขั้นร้อน คือ พ่อแม่ใส่ใจในลูกมาก ไม่อยากให้ลูกลำบาก ซัพพอร์ตลูกทางการเงินเป็นอย่างดี ไม่อยากให้ลูกผิดพลาด อยากให้ทุกขั้นตอนลื่นไหล สมูท หาข้อมูลเยอะเพื่อจะตัดสินใจ คิดเยอะ กังวลเยอะ หาตัวเลือกเยอะ ตัดสินใจไม่ได้ ถามเยอะ

ลูกสาวมักกังวล Play safe ความสงสัยในทุกสิ่งทำให้เห็นตัวเองไม่ชัด ลังเลในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องที่ไม่สำคัญก็ต้องถาม เรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวกับตัวเองก็ต้องไปถามคนอื่น เช่น ไปฝึกงานต่างประเทศ บอสถามว่ามีทักษะอะไรบ้าง นางเขียนไม่ได้ ไอจีมาถามชั้นๆ ก็.. เห้ย.. นี่เด็กเกียรตินิยมจากภาคเราเลยนะ ถ้าเด็กเรียนเก่งขนาดนี้ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้นี่ การศึกษาเรามีปัญหาละ

ก่อนไปฝึกงานต่างประเทศ นางถามอาจารย์ที่ภาคที่ดูแลจนอาจารย์เบื่อที่จะตอบ ชั้นบอกลูกสาวเรื่องนี้เพราะอยากให้นางรับรู้ว่าการถามมากไปทำให้ตัวเองดูเสียเครดิตอย่างไร นาง defend ตัวเองว่าถามเพราะอยากได้ข้อมูล บลา.. บลา..

พอเขียนทักษะที่มีเสร็จ ก็ถามอีกว่า ควรจะเอาให้นายดูไหม ชั้นก็... คิดเอง ถ้าตอบก็ถามอีกเรื่อยๆ แหละ..

ไอจีคุยกัน นางยังคง defend การอีเมล์ถามอ.เรื่องฝึกงาน ชั้นก็เลย..อ่ะ..ได้..ตอนนี้ชั้นมีแรง เพิ่งกลับมาจากเกาะ.. เรามาคุยเคลียร์ประเด็นเหล่านี้กัน

สันดานเดิมของชั้นคือสายปะทะ ถูกความโกรธผลักดัน ซึ่งชั้นต้องกลับมาแก้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความโกรธนี้บ่อยๆ  พอได้ไปภาวนา ได้เจอครูหลายๆ คน เช่น พระอ.โน้สหรือพี่ณัฐ เราก็เบาลงไปมาก โอบอุ้มมากขึ้น รับฟังมากขึ้น

แต่งวดนี้ชั้นรู้สึกว่าชั้นโอบอุ้มมาพอละ ฟังมาพอแล้ว ลูกสาวต้องการสายฟ้าแห่งความชัดเจน ฟังชั้นพูดบ้าง

นางร้องไห้ตอนที่คุยกัน จริงๆ ไม่ได้คุยอ่ะ ชั้นพูดเป็นส่วนใหญ่ เมื่อชั้นพูดจากเจตนาที่คิดดีแล้ว ไม่ได้พูดด้วยความโกรธ การร้องไห้ของนางไม่ได้ทำให้ชั้นหวั่นไหวหรือรู้สึกผิด  คือ ถ้าเราพูดด้วยความโกรธ การร้องไห้ของเค้าจะทำให้ชั้นรู้สึกผิด

และชั้นก็มั่นใจด้วยว่าความสัมพันธ์ของเราจะแข็งแรงมากขึ้นเมื่อเค้าเก็ตประเด็นที่พูดไป

วันรุ่งขึ้นนางไอจีมาบอกว่าได้กลับไปดูอีเมล์ที่ถามอ.เรื่องฝึกงาน นางยอมรับว่าถามเยอะจริงๆ บางประเด็นก็หาเอาเองได้ ชั้นก็โล่งใจที่เค้าไปทำการบ้านต่อและเห็นเองในสิ่งที่เราบอก

ลูกชายบ้าง... ลูกชายมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน ทะเลาะกันอย่างรุนแรงก่อนหย่าด้วยเรื่องเงินและมือที่สาม ลูกชายรู้สึกโกรธพ่อแม่ที่ทำให้ครอบครัวแตกแยกและไม่มั่นคงทางการเงิน  ลูกชายและน้องของฮีบอกว่าพ่อและแม่มักพูดไม่จริง ไม่รักษาสัญญา

ชั้นตีความเองว่าความประพฤติของพ่อแม่ที่ไม่น่าเชื่อถือหลายอย่างทำให้เค้าไม่มีความชอบธรรม (Legitimacy) ที่จะสอนลูก คือ เสียเครดิตไปแล้วอ่ะ พูดไปลูกก็ไม่ฟังเพราะพ่อแม่ทำให้เค้าหวังลมๆ แล้งๆ มาหลายรอบ ทำตัวไม่น่านับถือ แถมพ่อแม่ต้องการความรักจากลูก เพราะทำไม่ดีไว้เยอะ พ่อแม่ก็จะแทบไม่เตือนหรือสอนลูกเลย (อันนี้เดา)

ชั้นรับเค้ามาเป็นลูกชายเพราะเค้าบอกว่าชีวิตแต่ละวันแทบไม่มีความสุขเลย ชั้นก็เลยให้การบ้านว่า ให้เขียนความสุข ๓ อย่างในแต่ละวันส่งมาให้ทุกวัน ล็อตแรกทำ ๒๑ วัน แล้วชั้นก็รวบรวมส่งให้เค้าดูว่าอันนี้คือความสุขของเธอใน ๒๑ วันที่ผ่านมา ชั้นส่งของชั้นให้เค้าด้วยทุกวัน แลกกัน  ช่วงแรกๆ ฮีเขียนไม่ออกเลย ฮีบอก

อีกอย่างที่ให้ทำคืออ่านหนังสือที่ชั้นและเพื่อนเลือกให้ เพราะชั้นเคยอ่านเจอว่าการอ่านหนังสือช่วยฝึก Empathy ได้ เล่มแรกคือเจ้าชายน้อย ซึ่งฮีบอกว่าอ่านจบเป็นเล่มแรกในชีวิต!! เล่มสองคือ Colorful เมื่อสวรรค์ให้ของขวัญกับผม เล่มสามคือ Animal farm เพราะฮีสนใจเรื่องการเมือง ให้ไปยืมจากห้องสมุดมก. น่าจะเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ยืมหนังสือห้องสมุด

ลูกชายของชั้นเรียนเพียงเพื่อให้ได้ใบปริญญาไปทำงาน พลังชีวิตน้อย เฉื่อยเนือย เคยเป็นซึมเศร้า ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีค่าสำหรับใคร รวมถึงตัวเองด้วย ตอนมีแฟนซึ่งมาจากครอบครัวแตกเช่นกัน สองคนนี้ใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยาเต็มที่ อยู่ด้วยกันที่บ้านลูกชาย ยึดกันและกันไว้อย่างเหนียวแน่น พอจะเลิกกัน ลูกชายรู้สึกไม่อยากอยู่โลกนี้อีกต่อไป พยายามฆ่าตัวตายแต่รอดมา

ก่อนหน้านี้ลูกชายไม่รู้สึกอยากทำอะไร ตอนนี้มีบางอย่างที่อยากทำ แต่พลังชีวิตน้อยเกินกว่าที่จะดึงตัวเองขึ้นมาทำ

ชั้นต้องการฝึกกายและใจของเค้า สร้างความมั่นใจ ชั้นให้ลูกศิษย์อีกคนที่ทำงานเป็น personal trainer ช่วยเทรนให้เค้า โดยชั้นออกเงินให้ ชั้นไปด้วยบางครั้ง บางทีฮีก็ไปตรงเวลา บางทีก็ไปสาย ล่าสุดนอนหลับเพลิน ไม่ตื่นไปตามนัด ชั้นโทรไปวันนั้นพอดี

ชั้นต้องการให้บทเรียนจากความไม่รับผิดชอบของเค้า ชั้นให้ลูกชายออกเงินเองสำหรับ session ที่ขาด แล้วบอกว่าถ้าเทอีก จะไม่มีการเทรนอีกแล้ว และชั้นบอกเค้า (ตามคำแนะนำของมูเพื่อนชั้น) ว่าชั้นรู้สึกผิดหวังมากที่เค้าไม่มา มูบอกว่าการบอกเด็กแบบนั้นจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่ใครบางคนจะมีความหวังกับเขา ตอนแรกชั้นไม่อยากบอกเพราะชั้นไม่อยากกดทับเด็กด้วยความคาดหวังของชั้นเอง แต่ก็เชื่อมู แล้วเด็กมาบอกตอนส่งความสุขประจำวันว่ารู้สึกตัวเองมีค่าขึ้น และมีความสุขที่ "ได้รับความเป็นห่วงจากอาจารย์"

การรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเป็นรากเหง้าของปัญหา บวกเพิ่มด้วยว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่มีงานอดิเรกทำ นอกจากเล่นโทรศัพท์หรือเกม เวลาว่างที่มียิ่งทำให้ฟุ้งซ่านขึ้นไปอีก การเล่นโทรศัพท์ไม่ได้ช่วยทำให้เด็กรู้สึกตัวเองมีค่า แถม Social media อาจยิ่งตอกย้ำความด้อยของตัวเองด้วย

จริงอย่างที่พี่ตู่ว่า Connection สำคัญมาก คือ ชั้นรู้สึกว่าเด็กฟังเราเพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คุยกัน ดูแลกัน ไว้ใจกันมาก่อน I earn their trusts.  ชั้นบอกเค้าเสมอว่าชั้นรักพวกแกนะ บอกรักฟุ่มเฟือยมาก บอกตลอดเวลา แต่ชั้นบอกตอนที่ชั้นรู้สึกอยากจะบอก ไม่ใช่ออโต้ จะจากกันก็กอดกันถ้าไม่ลืม คล้ายชั้นอัดความรักให้อ่ะ หวังว่าจะเป็นเหมือนฝนลงบนพื้นดินแห้งๆ ถ้าเกินก็ไหลไปที่อื่นก็แล้วกัน



Comments

YUI said…
ชอบจังค่ะ พี่หญิง