พลังของความเปราะบางในห้องเรียน

ช่วงนี้ได้ฟังหนังสือเสียง Power of Vulnerabilities ของ Brene Brown แล้วได้ใคร่ครวญถึงบทบาทในห้องเรียนของตัวเองในช่วงนี้

ชั้นเคยได้ฟังนางพูด TEDx Talk ในหัวข้อเดียวกันนี้ที่มียอดคนฟังติดท๊อปเท็นของ TED talks ขณะนี้ยอดวิว 38 ล้านครั้ง



เทอมนี้ ชั้นมีคลาส Communication and Leadership เหมือนเทอมที่แล้ว แต่เป็นนิสิตปี ๔ อีกกลุ่มหนึ่ง  เทอมที่แล้วทำครั้งแรกแล้วมันออกมาดีเกินคาดไปมาก เทอมนี้ ชั้นลุ้นน้อยลง แต่มีความกังวลแทนว่ามันจะสำเร็จเหมือนเทอมที่แล้วไหม (คีย์เวิร์ดลักษณ์สาม)

ชั้นมองว่าคลาสจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวคนเรียนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กรู้สึกปลอดภัย และเป็นตัวของตัวเองได้ในห้องเรียนหรือเปล่า  ถึงชื่อวิชาจะเป็นการสื่อสารและภาวะผู้นำ แต่จริงๆ เริ่มที่ตัวคนเรียน ให้รู้จักตัวเองก่อน สร้างพลังในตัวเอง (Self empowerment) แล้วปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกจะเปลี่ยนเอง เหมือนเดินทางทั้งภายนอกและภายในไปพร้อมกัน

คล้ายๆ ที่ Dr. Brown บอกว่า คุณรักคนอื่นได้มากเท่าที่คุณรักตัวเอง ถึงจะเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อแม่กับลูกก็ตาม

สี่คาบแรก ชั้นสอนเองในเรื่องที่เคยเรียนมาหลายครั้ง เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง ผู้นำสี่ทิศ การใคร่ครวญชีวิตตอนนี้  ทุกครั้งที่ชั้นสอนเอง จะมีความกังวลว่ามันจะออกมาอย่างไร และมีหัวโขนสวมอยู่ด้วย ว่าชั้นเป็น Air traffic controller อยู่บนหอคอยดูและควบคุมกลายๆ

สองคาบล่าสุด ให้เพื่อนหม่องมาสอน Non-violent communication ที๋ฮีแปลว่าการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ ชั้นชอบมากกว่าชื่อการสื่อสารอย่างสันติ เพราะชื่อหลังดูเป็น Peace talks เหมือนกำลังจะสงบศึกตะวันออกกลาง

หม่องและเด็กๆ ในคลาส


หม่องให้ชั้นช่วยสาธิตกิจกรรมบางอัน ชั้นเป็นหนูทดลอง เช่น ให้เล่าเรื่องตัวเอง แล้วให้เด็กเดาว่ารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร คาบต่อมาให้ Role play ประโยคที่ชั้นฟังแล้วปี๊ด ซึ่งชั้นก็เอาสถานการณ์จริงทั้งสองครั้ง ที่ยังทำให้ปั่นป่วนข้างใน  หม่องก็โค้ชไปด้วย

คาบสอง เมื่อได้พบความต้องการของตัวเองในสถานการณ์นี้ ชั้นน้ำตาไหลเลย มันโชะมาก ปลดล็อกอารมณ์ค้างภายใน เหมือนที่ Marshall Rosenberg บอกจริงๆ ว่าถ้าเราพบความต้องการของตัวเอง เหมือนระฆังถูกเคาะดังแก๊ง คือใช่เลย คลิก

ชั้นพบว่าชั้นได้รับการเยียวยาไปด้วย การสาธิตทั้งสองครั้งทำให้ชั้นชัดเจนในตัวเองว่าเออ กูรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร  และมันช่วยมากที่ได้รับ Empathy จากเด็กๆ และจากหม่อง  คำถามดีๆ จากโค้ชหม่องช่วยได้มาก 

พอชั้นเล่นจริง เจ็บจริง พลังของความเปราะบางทำให้ชั้นดูจริงแท้ More real, more authentic ทำให้พลังงานในห้องเปลี่ยน ชั้นรู้สึกว่าเด็กเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง เป็นมนุษย์ และอยู่กับเนื้อกับตัว (Presence) มากขึ้น ไม่ได้ดูสุภาพแบบซอมบี้

การที่น้ำตาไหลในคลาสเป็นโอกาสที่จักรวาลจัดสรร  ถ้าจะจัดวางเอง มันคงดู Fake มาก  ชั้นคิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของคลาส

ปกติ นอกจากใจดี หรือโมโหเด็ก หงุดหงิดเด็กเรื่องไม่ตั้งใจเรียน เด็กจะไม่ได้เห็นอาจารย์ในอารมณ์อื่นเท่าไหร่

ความตั้งใจคือชั้นอยากเป็นคนธรรมดาในคลาสนี้ ไม่ใช่พระปูน ไม่ใช่ตัวอย่าง คนที่โมโห เศร้า ปั่นป่วน แค้น ใจดี ได้ (คลาสอื่นที่เป็นทฤษฎี ตัวตนชั้นออกมาไม่มาก)

ถ้าอาจารย์ยังไม่เป็นคนธรรมดา เด็กก็จะไม่เป็นคนธรรมดา แล้วเราจะเฟคใส่กัน

ชั้นคิดว่าถ้าไม่เอาตัวจริงๆ ออกมา จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ  คนที่จะเอาตัวจริงออกมาก่อนคือชั้นเอง

แต่ละรุ่นมีความท้าทายต่างกัน รุ่นนี้ผู้ชายเยอะ 15 คนจาก 17 คน  บางคนเป็นพลังงานแบบ Macho บางคนเป็นพลังงานแบบวิเคราะห์  โดยมาก ผู้ชายจะถูกฝึกให้ด้านชากับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง แล้วการเรียนวิศวะยิ่งทำให้การด้านชานี้แข็งแรงขึ้น Reinforced numbing.  ความท้าทายของคลาสนี้คือการทลายกำแพงความด้านชาแบบที่เจ้าตัวเจาะออกมาเอง  คลาสเป็นพื้นที่ให้โอกาส  จะเอาตัวเองออกมาหรือไม่ จักรวาลจัดสรรแล้วคุณเลือก

ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

Comments