ของขวัญจากเขาใหญ่

จุดที่เรากินอาหารเที่ยง
กิจกรรมพาเด็กไปออกป่าเขาใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Communication and Leadership  ชั้นไม่ได้วางแผนล่วงหน้าอย่างชัดเจน แค่รู้สึกว่าการทำความรู้จักกับป่า และการได้ใช้ชีวิตแบบนอนเต๊นท์ ทำกับข้าวกินเอง เป็นส่วนหนึ่งของ Life skills ที่สำคัญมากๆ

ชั้นรู้จักวิชัย ผ่านวัดป่าสุคะโต เห็นวิชัยพาเณร พาเด็กๆ ไปป่า รู้ว่าวิชัยนำทางเข้าป่า และนำกิจกรรม Nature walk ได้

ส่วนเพื่อนอีกคนคือมู เจอกันผ่าน Workshop หลายครั้ง เคยเชิญมาทำกิจกรรมให้นิสิตทั้งป.ตรีและโท มูมีความเป็นครูสูง และ connect กับเด็กได้ดี พี่ณัฐเคยบอกว่ามูสามารถเป็นทายาทพี่ณัฐ นำ Quest ได้ เราชอบความลึกลับ (Mystery) ของมู ดูแม่มดดี ชั้นไม่ชอบการให้คำตอบแบบตรงๆ ชอบให้ไปถึงคำตอบด้วยตนเอง

ชั้นไม่บังคับให้เด็กเข้าร่วม จะเข้าก็ได้ไม่เข้าก็ได้ อยากให้ตั้งใจมากันจริงๆ และการไปครั้งนี้เป็นของขวัญ ซึ่งขึ้นกับความพร้อมของคนรับ ชั้นไม่อยากยัดเยียด

วันศุกร์ที่แล้ว ชั้นได้พาเด็กลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้าน จากการสังเกต เด็กดูตั้งใจพูดคุยและมอบของให้กับคนไร้บ้านมาก จากที่อ่าน Reflection หลายๆ คน ตอนก่อนไป กลัวคนไร้บ้าน คิดว่าเป็นคนบ้า แต่พอได้ผ่านกิจกรรม หลายคนเปลี่ยนมุมมองกับคนไร้บ้าน  ชั้นรู้สึกได้ว่าเด็กไว้ใจเรามาก การที่มาเขาใหญ่คราวนี้ก็เพราะเด็กไว้ใจเรามากเหมือนกัน

ก่อนไป เด็กก็มีประเด็นว่าจะไปไม่ได้ เช่น เท้าเจ็บ "หลังเจ็บ" ติดธุระกับครอบครัว เหมือนคอร์สปฏิบัติธรรม จะต้องมีคนไปไม่ได้ ชั้นรู้สึกเหนื่อย ตอนแรกก็ไม่ได้กระตือรือร้นมากที่จะไปเขาใหญ่ แต่พออ่าน Reflection จากคลองหลอดแล้วทำให้ชั้นมีพลัง

วันแรก

เราออกจากมก. 9 น. ด้วยรถตู้คณะ ทุกคนตรงเวลา ชั้นเอารถไปอีกคัน วิชัยไปเจอเราที่นั่น อ.บอลขับรถไปอีกคัน วิชัยให้เราไปกางเต๊นท์ที่ลานกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ เพราะว่ามีศาลาที่เราจtไปซุกได้ถ้าฝนตก

ฟ้าหลังฝน
เขาใหญ่ต้อนรับเราด้วยสายฝน ไม่เคยขับรถในป่าแล้วฝนตกหนักขนาดนี้ ชั้นไม่กลัว รู้สึกสดชื่นดี ตกตอนนี้อ่ะดีแล้ว ค่ำๆ จะได้ไม่ตก

วิชัยให้พวกเราทำความคุ้นเคยกับสถานที่และกลับมาอยู่กับตัวเองคือให้เราทำแผนที่เสียง วาดตัวเราตรงกลาง เขียนทิศใต้เหนือตกออก ฟังเสียงนก เสียงฟ้าร้อง เสียงสัตว์อื่น แล้วจุดว่าเสียงมาจากทิศไหน แชร์กับวงใหญ่

อีกกิจกรรมคือให้ไปเดินหาวัตถุในธรรมชาติที่แสดงความเป็นตัวเรา แล้วให้แนะนำตัวผ่านของเหล่านี้ เราพบว่าคุณภาพการใคร่ครวญและการสะท้อนของเด็กพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านกิจกรรมมาครึ่งเทอม ชั้นว่าชั้นเชื่อมโยงไม่ดีเท่าเด็ก ออกจะมั่วๆ ในการหาด้วยซ้ำ แอบโกงเพราะรู้ว่าหยิบอะไรมาก็เชื่อมได้ทั้งนั้น

มูให้เราเขียนนางฟ้าประจำตัว คนละ ๒ องค์ ชั้นเลือกนางฟัาแห่งความเปิดกว้าง (Expansiveness) และนางฟ้าแห่งความรัก  แล้วมูก็รวบรวมเอามากองตรงกลาง คว่ำหน้าลง แล้วให้เราหยิบนางฟ้าที่จะคุ้มครองเราตลอดสามวันนี้  นางฟ้าที่แต่ละคนจับได้ตรงกับคาแรกเตอร์ของเจ้าของอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น นิสิตตัวกลมๆ จับได้เทพเจ้าแห่งอาหาร ส่วนชั้นจับได้ของตัวเอง คือ นางฟ้าแห่งความเปิดกว้าง ซึ่งเป็นนางฟ้าที่ชั้นเคยจับได้ตอนเลือก Angel's cards ชั้นกำลังมีประเด็นเรื่องการเปิดกว้างให้กับความเป็นไปได้

เราแยกย้ายกางเต๊นท์ เด็กหลายคนไม่มีเต๊นท์ ขอยืมเต๊นท์มุ้งจากวิชัย ดูจากการแต่งกายก็รู้ว่าไม่เคยมาเดินป่า ชั้นเขียนรายการของที่ให้เอามา มีแค่ 1/4 ที่เอามาตามนั้น ชั้นไม่กังวลเพราะว่ามันเป็นการเรียนรู้ของพวกเค้า จะหนาวจะร้อนก็แล้วแต่

Photo Credit: Vichai
วิชัยเตรียมของสด เตา หม้อสนาม ของสด ของแห้ง มาให้ เราแบ่งเป็น 4 กลุ่ม รับผิดชอบเมนูกันเอง ชั้นโชคดีมากที่ได้บอลและมูมาด้วย สองคนนี้ทำ ชั้นล้าง ชั้นขี้เกียจทำและตอนแรกจะแอบเนียนๆ กินกับเด็ก

เด็กจุดเตาถ่านประมาณ ๑ ชม. เราไม่มีฟืนเท่าไหร่ด้วย เพราะฝนเพิ่งตก ใช้จุดจากเทียนไขเล็กๆ ดีงามมากที่ได้กินข้าวทุกคน ข้าวไม่ไหม้

ลิงเยอะมาก ต้องคอยระวังอาหาร มันขโมยข้าวขาวเราไปได้ เหลือแต่ข้าวกล้องของวิชัย

กลางคืน มูให้เราสำรวจความเชื่อของตัวเอง จับคู่เล่าให้เพื่อนฟัง ชั้นจับคู่กับณัฐที่เคยได้คุยกันมาหลายรอบ

Photo Credit: Vichai
มูชอบนพลักษณ์ สังเกตเด็กๆ ว่าเป็นลักษณ์อะไร แล้วก็ป้อนคำถามเพื่อให้เห็นชัดเจน

งวดนี้มีแนะและปราง นิสิตที่ Sit in มาทริปด้วยตอนผ่านไปแล้ว 5 คาบและ 3 คาบ  เมื่อชุมชนแข็งแรงแล้ว วงคุยก็สามารถรองรับสมาชิกใหม่ และยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้

แปลกที่และกินกาแฟไป ชั้นยังนอนไม่ค่อยหลับ

วันที่สอง

เรานัดกัน 7 น. เพื่อแยกย้ายกันดูนกและทำอาหารเช้าและเที่ยง มีข้าวต้มจากข้าวที่เหลือเมื่อวาน ไข่เจียว ผัดผัก กุนเชียง  บอลและมูตื่นเช้า ก็ทำไป เด็กๆ ย้วยๆ กัน ตื่นสาย

มีกวางเดินไปเดินมาแถวที่เรากางเต๊นท์ มีพญากระรอกด้วย สวยมาก ทากที่ดูดเลือดเยอะมาก เพราะเป็นหน้าฝน ชั้นดีใจที่เด็กไม่โวยวายถึงแม้มันจะเข้าเต๊นท์ไปบ้าง ชั้นว่ามันเข้าไปกับเสื้อผ้า

Bar chart ใบไม้
ก่อนที่เราจะเริ่มเดินป่า วิชัยให้เราเล่นเป่ายิ้งฉุบใบไม้ คือ เป่ายิ้งฉุบกับใครก็ได้ในวง คนชนะเดินออกไปเก็บใบไม้ แล้วกลับมาเป่ายิ่งฉุบต่อ ชนะก็ไปเก็บใบไม้ใหม่ ข้อแม้คือห้ามเก็บใบที่ซ้ำที่มีอยู่แล้ว ถ้าซ้ำก็ไม่นับคะแนน คนที่มีใบไม้มากชนิดที่สุดชนะ  จากนั้นเราก็เอาใบไม้มาเรียง อันไหนที่ซ้ำ คือ Species เดียวกัน เรียงอยู่คอลัมน์เดียวกัน เหมือนกับทำ Bar chart ใบไม้  เราว่าอันนี้สร้างสรรค์มาก ใช้สอนสถิติได้  Message ของวิชัยคือขนาดพื้นที่เล็กๆ ขนาดนี้ เรายังเจอต้นไม้หลากหลายขนาดนี้ นี่แหละคือป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าไม่หลากหลาย ก็ไม่ใช่ป่า เช่น ป่ายาง หรือป่ายูคานี้่ไม่ใช่ป่า

วิชัยเล่าเรื่องเก่งมาก เล่าเรื่องการตัดไม้ การพัฒนาแบบไม่องค์รวมที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น แถวบ้านวิชัยมีแอ่งน้ำธรรมชาติที่มีนกจำนวนมากอพยพมากินอาหาร อบต.อยากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็กวาดเอาพืชที่อยู่รอบๆ หนองออกหมด ให้โล่งๆ พร้อมสร้างหอดูนกรอบบ่อ เมื่อลอกหนองเสร็จแล้ว นกก็ไม่มาอีกเลย เพราะไม่มีแหล่งอาหารและที่หลบภัย  This is a real-life systems thinking example.  

ชั้นไม่ได้เตี๊ยมกับวิชัยมาก่อน แต่ชั้น had this topic nailed!  มันสำคัญมากที่วิศวกรในศตวรรษที่ ๒๑ จะเข้าใจความหลากหลายและความโยงใยของสรรพสิ่ง  

เราเดินเส้น 2.7 km ที่เริ่มใกล้ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพราะเป็นลูปกลับมาที่เดิมได้ 

ระหว่างเดิน วิชัยก็อธิบายถึงระบบนิเวศ รากฝอยของต้นไม้ หน้าดิน เรื่องที่ชั้นชอบคือเรื่องพืชมีหลายระดับ ระดับอยู่ล่างๆ ระดับกลาง และระดับบนๆ เถาวัลย์เป็น Network ที่เชื่อมต้นไม้ให้เป็นโครงข่ายที่จะยันกันไว้เวลาลมพัดมาแรงๆ ชั้นไม่เคยรู้เลยว่าเถาวัลย์มีไว้ทำไม

อีกเรื่องที่ชอบคือช้างที่เคลียร์ป่า ช้างล้มต้นไม้เนื้ออ่อนบางชนิดที่โตเร็ว ใบใหญ่ ต้นไม้เหล่านี้มีหน้าที่ให้ร่มเงากับต้นไม้อ่อนๆ ที่เนื้อแข็งกว่า โตช้ากว่า เมื่อต้นสูงถูกโค่น แสงส่องลงถึงต้นเล็ก มันได้โอกาสที่รอมาสิบกว่าปี ต้องรีบโต เพราะว่าอาจจะไม่ได้แสงอีก 

ชอบเรื่องต้นไทรด้วย วิชัยบอกว่าต้นไทรเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของป่า เพราะแต่ละต้นออกผลคนละเวลา และจะเป็นเวลานั้นไปตลอด เช่น มีนาก็มีนาไปเรื่อยๆ ลูกไทรเป็นแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่า สัตว์มันบอกต่อๆ กันว่ามีต้นไทรอยู่ที่ไหน เราสามารถวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วยความหนาแน่นของต้นไทร  พรานและสัตว์นักล่าอื่นๆ จะซุ่มที่ต้นไทรนี้ 

ชั้นเห็นถึงพลังของเรื่องเล่าที่ดี มันทำให้เรื่องมีชีวิตชีวา ถ้าสอนชีววิทยาและนิเวศวิทยาแบบนี้ คนจะเก็ตและอินกว่านี้มาก

ช่วงนี้ปลายฝน เมื่อวานฝนเพิ่งตก บางช่วงทางเละมาก เด็กบางคนลื่น ก้นลงพื้น หลายคนสังเวยเลือดกับทาก ชั้นชื่นชมเด็กๆ ที่ไม่บ่นเลยซักคำ คือ เดินไม่ง่าย ขอบคุณเด็กๆ สำหรับการเปิดใจเรียนรู้

วิชัยพาดูต้นไม้ ดมต้นไม้ ใบไม้ ชิมพืช ใช้ตาหูจมูกลิ้น 

จุดที่เราแวะกินข้าวเที่ยงเป็นโคนต้นไทร สวยงามมาก เราชอบพูพอนของมัน ใกล้แหล่งน้ำที่ล้างช้อนล้างอะไรได้ 

เด็กผู้ชายคนหนึ่งถามว่าจะไปเข้าห้องน้ำได้ที่ไหน ชั้นบอกว่าตรงไหนก็ได้ที่คนมองไม่เห็น มันก็เดินไป ๓ เมตร ชนิดที่ยังเห็นหลังกันหลัดๆ เพื่อนต้องบอกให้เดินออกไปอีก

เราได้เดินจากหุบเขาขึ้นสันเขา วิชัยให้ดูชนิดของป่าที่แตกต่างออกไปจากข้างล่าง ต้นไม้ที่อยู่ที่สูงมีใบเล็ก ต้นเล็ก เพราะได้รับแสงอยู่แล้ว ไม่ต้องพยายามสร้างขนาดใบใหญ่ๆ เพื่อรับแสง  วิชัยสอนให้เราดูว่าการเปรียบเทียบป่าต้องเปรียบเทียบป่าชนิดเดียวกัน เช่น ดิบชื้นกับดิบชิ้น ไม่ใช่ดิบชื้นกับดิบแล้ง

Hiku Reading

ออกมาเราก็แวะกินน้ำอัดลม กินไอติม ตอนนั่งรอกัน ชั้นและมูชงถามเด็กๆ ว่าให้ทายว่าพี่วิชัยเรียนจบอะไรมา เด็กๆ ทายว่าวนศาสตร์ นิเทศฯ แล้วเราก็เผยว่าวิชัยจบป. ๖ เพราะรู้ได้ตั้งแต่นั้นว่าการเรียนในระบบไม่ใช่ทาง เด็กๆ ก็อึ้งกันไป ชั้นบอกเค้าว่าชั้นอยากให้เห็นว่าความรู้ไม่ขึ้นอยู่กับปริญญา ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบเรื่องที่ทำหรือเปล่า เราอินไหม ถ้าอิน มันก็ด้นไปได้เอง ถ้าจบปริญญาเอกมาทั้งๆ ที่ไม่ชอบ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เราไปต่อกันที่เหวสุวัต ตอนแรกวิชัยจะให้ภาวนากับน้ำตก แต่ว่าคนเยอะเกินไป วิชัยพาขึ้นไปต้นน้ำ มูพาเขียนกลอนไฮกุ มี ๓ บรรทัดๆ แรก ๕ พยางค์ บรรทัดที่สอง ๗ พยางค์ บรรทัดที่สาม ๕ พยางค์ แจกกระดาษ A4 เอาด้านในออก แล้วด้านนอกก็เป็นกรอบ ให้เขียนกลอนและเอากรอบมาถ่ายรูป  นั่งเงียบๆ กันซักพัก นั่งกระจายๆ กัน เขียนเสร็จ ก็เอามาอ่านให้วงฟัง ชั้นว่ามันทรงพลังมาก 

พอกลับมา ก็ทำอาหาร เด็กๆ มีการเรียนรู้ ทำเวลาได้ดีขึ้น ลากเต๊นท์มุ้งเข้าศาลาเพราะฝนอาจจะตก

มูนำกิจกรรมตอนค่ำ เราปิดไฟ ใช้เทียน นั่งเป็นวง ให้แต่ละคนมานั่งกลางวง แล้วคนรอบวงสลับกันพูดด้านที่เราเห็นจากภายนอกเกี่ยวกับคนๆ นี้ และด้านที่เป็นภายใน พอสิ้นสุดแต่ละรอบ คนที่อยู่กลางวงเลือกว่าชอบอันไหนที่สุด เพราะอะไร ไม่ชอบอันไหนที่สุด เพราะอะไร บอลและชั้นเข้าร่วมด้วย

มูบอกว่าเรามีพื้นที่ๆ ปลอดภัยมากจนเด็กไม่กลัวที่จะมานั่งกลางวง

วงแชร์มุมมอง
ชั้นรู้สึกว่าเด็กๆ ได้เห็นตัวเองจากมุมมองของเพื่อนและคนที่เพิ่งรู้จัก บางคนได้เผยด้านที่เป็นประเด็นค้างคาในใจออกมา ชั้นว่ามันดีงามมาก

ชั้นพูดเซ็นส์ของชั้นที่มีต่อเด็กคนหนึ่ง โดนเค้าอย่างมากทั้งสองรอบ เค้าสั่นไหวมาก ชั้นประหลาดใจและเริ่มเชื่อมั่นใน Intuition ของตัวเอง 

ชั้นเป็นคนสุดท้าย เด็กๆ ก็พูดด้านดีของชั้นๆ ก็มีโอกาสได้เล่าเรื่องตัวเอง

ปรางบอกว่า "มันดีจริงๆนะจารย์ วงนั้นคือปกติไม่ได้สนิทกับเพื่อนที่เราจะกล้าเล่าเรื่องของเราแต่วันนั้นเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างทำให้เรารู้สึก เราเล่าได้ ไม่กลัวด้วยว่าความลับของเราที่เก็บไว้มันจะถูกบอกต่อรึเปล่า เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่​เพื่อนสนิทหนูเองยังไม่เล่าให้เพื่อนฟังเลย"

มูให้เราปิดวงด้วยกิจกรรมกอด นับ 1-2 แล้วแบ่งเป็นวงนอกวงใน สลับกันกอดนิ่งๆ ไม่พูด จนกว่าจะได้ยินเสียงระฆัง อ้อมกอดของแต่ละคนพลังไม่เท่ากัน การกอดทำให้เรากลับไปนอนได้เต็มตา

วันนี้เราเสร็จใกล้เที่ยงคืน 

วันที่สาม

ตื่นกันสายวันนี้ ทำอาหารกันง่ายมากๆ ยังมีแซนวิชที่เหลือจากเมื่อวาน มูและบอลหุงข้าว 

วิชัยนำกิจกรรมเสียงกระซิบ ให้เราเลือกต้นไม้ที่ดึงดูดเรา อยู่กับเค้าสองต่อสองพักนึง ฟังเสียงกระซิบจากเค้า แล้วเขียน “เสียงกระซิบ” ลงในกระดาษ แล้วแปะที่ต้นไม้ เรากลับมารวมกัน แล้วเดินอ่านเสียงกระซิบของเพื่อน จากนั้น เอากระดาษเสียงนี้ มาแปะที่อกเรา สำหรับชั้น มันคือสัญลักษณ์ว่าเป็นเสียงกระซิบจาก Soul เรา ใจเราเอง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

ทรงพลังมากถึงจะทำสั้นๆ และจุดที่ทำก็ไม่ได้กว้างมาก อยู่ติดถนนด้วยซ้ำ

มูนำกิจกรรมวาดรูปหมุนวน เราวาดของเรา หมุนวนให้เพื่อนวาดต่อ จนวาดครบทั้งวง

ชอบสองอันสุดท้าย คือ ให้คนหนึ่งนำร้องเพลง แล้วที่เหลือต้องร้องตาม แล้วก็กอดหมู่ เพราะชั้นเริ่มเปราะบางตอนพูดปิดวง

ทุกครั้งที่ไปนอนป่าจะได้พลังกลับมาทุกครั้ง คราวนี้มีพลังเด็กด้วย เด็กมี Innocence และความไม่ปรุงแต่งที่ทำให้ชั้นมีพลัง

รอพลังก๊อกสองจากการอ่าน Reflection ของเด็ก

Group Hug ชั้นอยู่ตรงกลาง

Comments