เทอมนี้ของฉัน (Week 2)

ความท้าทายของสัปดาห์นี้เป็นเรื่องงานและความสัมพันธ์กับคนที่ชั้นทำงานด้วย  เวลาอินมากๆ กับเรื่องที่ทำมันก็ดีและไม่ดี ดีคือเพลินไม่รู้สึกว่าทำงาน ไม่ดีคืออารมณ์มันเยอะเกินไปเวลาลุ้นว่าจะเกิดหรือไม่เกิดโปรเจคนี้  จะเขียนอย่างไรให้โปรเจคขายได้  ความเหนื่อยและการสื่อสารเฟลๆ ของเราก็ทำให้ทะเลาะกัน ก็ได้เรียนรู้ว่าเราสามารถทะเลาะกันเพราะอยากทำเรื่องดีๆ ได้

ชั้นโทรปรึกษาเพื่อนสนิทที่รู้จักเราทั้งคู่ แล้วก็ทำให้เห็นตัวเองว่าการที่เรายกใครขึ้นแท่นบูชามากๆ เราดูแลเค้าดีมาก ทำให้เราไม่อนุญาตให้เค้าเป็นมนุษย์อ่ะ เค้าผิดไม่ได้ ผิดจากที่เราคาดไว้แล้วเราจะผิดหวังอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าอกหักจากความรักชายหญิงอีก เหมือนอกหักทางจิตวิญญาณ  เพื่อนก็บอกนี่ก็เกิดกับเธอมาสองครั้งแล้ว แสดงว่าเป็นเรื่องของเธอละ ไม่ใช่เรื่องของครู ก็เออ..จริง ประเด็นของชั้นคือความจริงใจ พอชั้นมั่นใจว่าคนๆ นี้จริงใจ อันนี้ไปต่อได้ ยอมขอโทษได้ว่าที่เราพูดไปทำร้ายเค้า

เพื่อนบอกอีกอย่างว่าพอเวลาเรา Transparent มากๆ เนี่ย อารมณ์เรามันก็โปร่งใส คนอื่นรับรู้ ไปด้วย

งวดนี้ก็ได้เรียนรู้การยอมฟังเพื่อให้คู่สนทนาระบายเสียงหมาป่า (ความไม่พอใจ) ออกมาให้หมด ระหว่างฟัง ก็หงุดหงิด ก็ดูตัวเองไป รู้ว่าไม่ชอบแต่ก็ฟังได้ เมื่อตั้งเจตจำนงไว้แล้วว่าจะมาขอโทษ และเรามีพลังดีๆ หลังจากการสอน การฟังเรื่องที่ไม่ชอบก็ง่าย เป็นบทเรียนการละวางอีโก้ของชั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ  ภูมิใจในตัวเองที่เออ..ชั้นก็ทนได้นะ  เราก็ได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ทำข้อตกลงกันว่าจะคุยกันเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างไรที่ไม่ทะเลาะกัน ที่ Feedback ให้กันจริงๆ

การให้คนเก่งมาทำงานร่วมกันมันยากตรงวางอีโก้แล้วฟังกันจริงๆ ยอมรับกันจริงๆ แต่ถ้าผ่านความขัดแย้งแบบจะแตกหักมาได้นี่เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ เหมือนคนที่ผ่านเรื่องยากๆ มาด้วยกัน  มีไม่กี่ครั้งที่ชั้นทะเลาะกับคนในทีม ส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะเค้ายอมเรา พอได้ขัดแย้งกันแล้วก็ยังรู้สึกว่าเป็นของขวัญอยู่  ตอนมันยังค้างคา ก็ทุกข์ พอก้าวข้ามมาได้ รู้สึกดี ได้รู้จักตัวเองและอีกคน

Simulation

 เราให้เด็กทำ Hand simulation of as simple queue บนตาราง ๒ แบบ แบบเป็นค่าคงที่  และให้สุ่มเลขจากลูกเต๋าบนมือถือ เด็กผ่าน Prob & Stat โดยไม่เคยใช้ Dice app or Random Tools ในมือถือมาก่อน  สิ่งใหม่ที่ลองตามคำแนะนำของอ.เฮงและอ.นุชคือให้เด็กเรียนรู้ Probability Distribution โดยการให้จับคู่ ให้โจทย์ไปอ่าน แล้วช่วยกันระบุการแจกแจงเอง ให้ค้นในเน็ตได้ แล้วก็ให้บอกว่ามันคือการแจกแจงอะไร มีคีย์เวิร์ดอะไรที่ทำให้เรารู้ว่ามาจากการแจงนี้ ให้เขียนใส่กระดาษแผ่นโตแล้วนำเสนอให้เพื่อนฟัง ชั้นก็เดินแนะนำ เดินดู สนุกดี ชั้นชอบมากเวลาเห็นเด็กทำงาน คุยกัน Engage ตอนเด็กสอนเพื่อนดูเพื่อนไม่อินเท่าไหร่

เด็กๆ นำเสนอวีดีโอ Animation เพื่อให้เห็นว่าการมี Animation มีประโยชน์หลายอย่าง เด็กๆ หามาเป็น Video game, Space X และการรักษารากฟัน ก็หลากหลายดี

ให้เด็ก Reflect ว่าได้เรียนรู้อะไร มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าได้เรียนรู้เรื่องการค้นหาข้อมูลทางเน็ต การวิเคราะห์ด้วยตัวเอง การนำเสนอทำให้เข้าใจมากขึ้น คนอื่นๆ บอกว่าได้เรียนรู้เรื่องการแจกแจงความน่าจะเป็น 

สอนแบบ Active learning บางอันก็ทำให้ชั้นไม่เหนื่อยด้วย แค่ต้องคิดว่าจะทำอะไร

สัมมนาป.โท

เชิญหม่องจากขวัญแผ่นดินมาทำกิจกรรม Deep listening ปรากฏว่าจำนวนเป็นเลขคี่ ทำให้เราต้องทำด้วย ได้จับคู่กับนิสิตหญิงที่ตอนแรกจับคู่กับแฟน ทั้งๆ ที่หม่องบอกว่าให้จับคู่กับคนที่ต่างจากเรา ชั้นเลยจับแยก  ชั้นทำกิจกรรมนี้หลายครั้ง เพื่อไม่ให้เบื่อ ก็จะหา Throughline ใหม่ๆ เวลาเล่า พอได้ก็เล่าไม่ให้หลุดเส้น ปรากฏว่าเด็กต่างจากเรามาก เค้าเล่าก่อน แล้วเราเล่าทีหลัง ตอนสะท้อน เด็กถามว่าอ.เล่าเรื่องนี้เพื่อสอนเค้าเหรอ เราบอกเปล่า เราเล่าเพราะอยากเล่า ดีที่เค้าถาม เพราะเราไม่ชอบสอนแบบอ้อมๆ เหมือนทำตัวเหนือกว่า  ชั้นรู้สึกว่าชั้นไม่พยายามใช้ Rank ตัวเอง

หม่องพาเล่นเกมเพื่อสร้าง Trust มีเกมหนึ่งให้ล้อมวง ปิดตาแล้วจับผมคนข้างหน้า นิสิตหญิงที่อยู่ข้างหลังจับผมชั้น แวบหนึ่งรู้สึกว่า..เอ๊ะ เราเป็นอาจารย์นะ แล้วก็เออนะ ไอ้สมอง American liberal ของชั้นนี่จริงๆ ยังมีชนชั้นอยู่ ที่คิดว่าเราทำตัวเสมอภาคกับเด็กนี่จริงๆ แล้วไม่ใช่อ่ะ ชั้นชอบที่เห็นตัวเองในมุมต่างๆ

เด็กๆ ก็เอ็นจอยมากเช่นเคย  ชั้นคิดว่าหม่องพลิ้วขึ้น ลูกเล่นมากขึ้น ชอบเวลาที่หม่องจับประเด็นแล้วซัพพอร์ตเด็กๆ Empower เค้า

OR1

เริ่มด้วยการนั่งเป็นวง แปะชื่อที่หน้าอกเพราะยังจำไม่ได้ เช็คอินด้วยรูปภาพ ส่วนตัวไม่ชอบคำว่าเปิดใจ คนมันก็ต้องเปิดใจอยู่แล้วหรือเปล่า ชั้นเรียกว่าคุยกันมากกว่า  พูดถึงงานอดิเรกที่เด็กชอบ ความคาดหวังกับวิชานี้ การ Quiz ประจำสัปดาห์ การให้คะแนน  เทอมนี้เป็นเทอมแรกที่ไม่แจก Syllabus กระดาษ อัพโหลดในกลุ่มเฟสบุ๊ก แล้วให้ไปโหลดดูเอาเอง ถามเด็กว่ามีใครตั้งใจมาเรียน IE แล้วถ้าไม่อยากเรียน IE อยากเรียนคณะอะไรแทน มีคนอยากเรียนภาษา อีกสองคนอยากเรียน Econ หรือบริหารธุรกิจ บอกว่าเรียนวิศวะยากไป

ชั้นแจกบอร์ดเกมให้เด็กเอากลับบ้านไป ๓ เกม จับกลุ่มไปฝึกเล่น แล้วเอามาสอนเพื่อน  ชั้นเลือกเกม Kingdom Builder เพราะว่าไม่ยากเกินไป และคนสอนอยู่กันครบตอนเพื่อนทยอยกลับมาจากเบรค  เด็กตั้งใจเตรียมมาสอนเพื่อนมาก ไปดูใน YouTube พบว่าสอนไม่ละเอียดพอ เด็กต้องไปเปิด Dictionary อ่านจากวิธีเล่นที่เป็นภาษาอังกฤษ จดวิธีการเล่นมา ซ้อมเล่นกันเอง ชั้นเห็นเค้าสอนเพื่อนแล้วประทับใจมาก คืออีเกมพวกนี้มันซับซ้อน ชั้นเป็นคนที่ห่วยแตกกับบอร์ดเกมหรือเกมคอมพิวเตอร์มากๆ แต่เด็กพวกนี้เล่นกันได้ เล่นกันดี  ตั้งใจเล่น แทบไม่เล่นมือถือกันเลยกระทั่งเด็กที่ดูง่วงๆ  ชั้นชอบมากเวลาเด็กมีความเป็นผู้นำ สอนเพื่อนเล่น และเด็กอิน ถ้าการเรียนเป็นการเล่นทุกคาบจะดีมาก

เกมนี้คิดหัวแตกมากถ้าอยากชนะ วางแผนหลายชั้น เป็น Multi-objective optimization

ให้เล่นสองครั้ง ครั้งแรกยังไม่คล่อง ลองซ้ำอีกที

สำคัญที่ Reflection ให้เด็กสะท้อนว่ารู้สึกอย่างไรเวลาเล่น ได้เรียนรู้อะไร เทียบกับ Optimization terminology, อะไรคือ Objective function, constrains, decision variables, resource.  เริ่มแรก เด็กๆ ยังไม่รู้จักการ Reflect ร่วมกัน ต้องเข้าไปช่วยนำ ช่วยถาม 

Leadership Class

ประทับใจมากว่าเด็กมาก่อนเวลา จากคาบที่แล้ว เด็กเขียน Reflection กันดีมากๆ เขียนดี และเขียนว่าชอบกิจกรรมที่ทำด้วย จนเราประหลาดใจ ประธานโครงการหลักสูตรป.ตรีบอกว่าอยากให้มีวิชาแบบนี้ แต่อยากให้ชั้นสอนเอง ชั้นคงต้องสะสมดีกรีความแก่กล้าอ่ะนะ ประหยัดแรงให้คนอื่นมาช่วยไปก่อน 

คาบนี้สอน Deep listening ด้วยตัวเองเพราะเด็กไม่มาก จะเชิญหม่องมาก็เกรงใจ เลยทำเอง เพื่อฝึกด้วย เคยทำเองตอนแรกๆ แล้วโดนเพื่อนเบรคว่า ตัวเองฟังดีแล้วเหรอจะไปสอนคนอื่น ตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจละว่าฟังดีกว่าเดิมเยอะ เลยกล้าทำ

ให้เด็กไปอ่านโพส อ่านหนังสือ แล้ว Quiz สั้นๆ  เราประทับใจที่เด็กจำการบ้านที่เราสั่งได้ เรื่องวีดีโอสัมภาษณ์อาจารย์ว่า IE คืออะไร เด็กสมัยนี้มีความสามารถในการตัดต่อวีดีโอ

ให้เติ้งพาเพื่อนเล่นเกมเพื่อให้ตื่นเพราะฮีเสนอแนะให้เล่นเกม เราอยากให้เด็กมีส่วนร่วม เติ้งนำได้ดี พบายามมาก

เล็กเชอร์สั้นๆ เรื่องการฟังด้วยสไลด์จากหม่องแล้วชั้นหามาเพิ่ม ให้เด็กทำกิจกรรมสลับกันฟังกับเพื่อนแล้วสะท้อนสิ่งที่ได้ยิน  แล้วสลับ  เด็กที่เดินมาจับคู่กับชั้นชื่อเดียวกับพี่ที่กำลังมีปัญหากับเราพอดี (ชั้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เราน่าจะกลับไปคุยกันได้อีก)  ชั้นหา Throughline แล้วก็เริ่มเล่า

คลาสนี้มีผู้หญิง 2 คน ผู้ชายอีก 11 คน ก็คุยกันจริงจังดี

เนยที่เคยเรียนสัมมนากับชั้นบอกว่าได้เอาการฟังแบบนี้ไปใช้ รู้สึกว่าทำให้ฟังได้ดี มีคนมาปรึกษาเยอะ ได้ใช้ตอนทำ Senior project ที่ต้องทำงานคู่ เราบอกว่าดี ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น

พอตอนท้ายมา Reflect พร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ชั้นชอบมากที่เด็กพูดกันยาว สะท้อนกันได้ดีว่าได้เรียนรู้ว่าวิธีการแก้ปัญหามีหลายแบบ พอเพื่อนตั้งใจฟังแล้วทำให้กล้าเล่า ที่ผ่านมาฟังแล้วขัดตลอด มีบางคนเป็นผู้ฟังที่ดีอยู่แล้ว...  เหมือนเค้ารู้สึกปลอดภัยที่จะพูด คล้ายๆ เป็น secret club

สำหรับชั้น ชั้นชอบที่เด็กเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้ฟัง รู้สึกว่าได้รับรู้ว่าเค้าเป็นอย่างไร เมื่อแก่ขึ้น เราจะห่างจากเด็กรุ่นใหม่ๆ ออกไปเรื่อยๆ

ตอนจบคาบ มีเด็กมารอคุย เป็นเด็กกิจกรรม กำลังกลุ้มเรื่องกิจกรรมมหาลัยที่กำลังจะทำ เราก็ได้ใช้โค้ชชิ่งที่เรียนมา เค้าเล่า เราฟัง ถามและทวน เด็กดูสับสน เรานึกถึง Empathy cards เลยให้เค้าดูเองว่ารู้สึกอย่างไร แล้วก็ให้ดูว่าความรู้สึกนี้เกิดจากความต้องการอะไร เราอ่านให้เค้าฟังว่ารู้สึกแบบนี้ เพราะความต้องการอย่างนี้ใช่ไหม เด็กเลือกความรู้สึกและความต้องการมาเยอะมาก ชั้นบอกเค้าว่าไพ่จำนวนมากที่เลือกมาแสดงว่าเธอสับสนนะ  ชั้นเลยให้ตัดความต้องการออกเหลือ ๑ อย่างสำหรับแต่ละความรู้สึก แล้วตัดอีกให้เหลือแค่ความรู้สึกและความต้องการ ๒ คู่  เด็กบอกว่ารู้สึกชัดเจนขึ้น การนั่งเลือกไพ่ทำให้ได้สมาธิที่ชัดเจน

ตอนท้าย เราอยากให้เค้ามี Message ที่ดีกลับไป ก็ใช้ไพ่ Soul's Journey and Angel's cards หยิบแล้วแปลให้ฟัง เราชอบใช้การ์ดพวกนี้มาก เพราะเราไม่ได้ยัดเยียดคำแนะนำ เค้าหยิบขึ้นมาเอง

พอทำกิจกรรมไปเรื่อยๆ เหมือนเรา Improvise และ Trust ใน Instinct เรามากขึ้น มันไหลไปได้มากกว่า

เอาเข้าจริง เราว่าถ้าอ.จะทำกระบวนการจริงๆ  จำนวนชั่วโมงบินต่อเทอมน่าจะมากกว่ากระบวนกรทั่วไปเสียอีก น่าสนใจมากที่จะเรียน Facilitation

Comments