Positive Psychology in Learning

มาอบรมกับโครงการก่อการครู จริงๆ มาเพราะเป็น FC ของหมอพนม เกตุมาน ได้คุยกับอาจารย์หลายรอบ ใช้โพสของอาจารย์ในการสอน อยากรู้ว่าเวลาอาจารย์จัด Workshop จะเป็นอย่างไร

Positive Psychology Workshop จัดสองวัน ที่คณะวิทยาการจัดการเรียนรู้ มธ. รังสิต ชั้นเสียตังค์มาเรียนเอง อ.พนมและอ.เฮ้าสอน 

Positive Psychology เริ่มจาก Dr. Martin Seligman สังเกตว่างานวิจัยด้านจิตวิทยามีแต่เชิงลบ เช่น จิตเพท จากการทดลองกับหมา พบว่าการมีความสุขเป็นทักษะที่ฝึกกันได้ ที่มาเวิร์คช็อปนี้ก็เพราะอยากรู้ว่ามันเอามาใช้กับการเรียนการสอนได้อย่างไร

วันแรกเช้า

ชั้นง่วงนอนมาก เอากายหยาบมา สมองยังอึนมาก และมาแบบรีบๆ กว่าจะหาตึกเจอ  
  • Check in แนะนำตัวเอง ความคาดหวัง มีครูโรงเรียนรัฐ โรงเรียนสาธิตมธ. ครูสอนเด็กตาบอด วิทยากรสอนการลงทุน นักวิชาการจากบริษัทเอกชนที่ทำ Learning materials and online content สำหรับรร.ประถม ม.ต้น วิศวกรที่ต้องสอนเด็กปวช. ทั้งหมด ๑๕ คน ชั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียงคนเดียว
  • เกมทางกายให้ตื่น ลดความประหม่า เราเล่นเดินซ้าย ขวา หน้า หลังตามเลขคำสั่ง 1, 2, 3, 4  ทำตรงข้าม
  • กิจกรรม Safe Place, Safe Person ให้เดินสำรวจห้อง หาจุดที่รู้สึกปลอดภัย, เลือกคนที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เดินหาคนนั้นโดยที่เค้าไม่รู้สึกตัว, จับกลุ่มแชร์ความรู้สึกที่เกิด, แชร์วงใหญ่
  • กิจกรรม Life Chart แกนนอนเป็นอายุของเรา แกนตั้งด้านบนเป็นอารมณ์ทางบวก แกนตั้งด้านล่างเป็นอารมณ์ลบ ให้เขียนกราฟแสดงระดับอารมณ์ ระบุเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง จะวาดรูปหรือเขียนก็ได้  จับกลุ่ม เล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง

    ณ จุดๆ นี้ ความชาล้นถ้วยของชั้นบวกความง่วงนอน ชั้นก็เลยทำไปงั้นๆ เห็นได้ชัดว่าการพักผ่อนส่งผลต่อความเป็นมิตรมากๆ
  • กิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม (Connect with past experience) และสร้างความรู้สึกร่วมหรือภาพร่วมกัน (Establish a common ground) ให้นึกถึงครูที่เราประทับใจในชีวิต ให้อธิบายคุณลักษณะของครูเหล่านี้ออกมา ครูทำให้เรารู้สึกอย่างไร แชร์ให้วงใหญ่ฟัง ภาพขึ้นมาอย่างชัดเจนว่าครูที่น่าประทับใจเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือทำให้เรารู้สึกปลอดภัย
  • Reflection สะท้อนว่าช่วงเช้าทำอะไรไป  เกมและกิจกรรมค่อยๆ เสริมๆ กัน สร้างบรรยากาศและ Trust
  • Note หมอพนมคุมเวลา และบอกโควต้าเวลาตลอดเวลา เราไม่รู้สึกกดดันเพราะชอบความชัดเจน

วันแรกบ่าย

  • เกมทางกายให้ตื่นและเช็คอิน ล้อมวง แสดงความรู้สึกด้วยท่าทางทีละคน รอบสองให้แสดงความรู้สึกแล้วเพื่อนที่เหลือทำตาม
  • กิจกรรมอ่านบทความภาษาอังกฤษเพื่อเล่นเกม Kahoot ผงะแรกงงมากเพราะเป็นเวิร์คช็อปแรกที่มีบทความภาษาอังกฤษให้อ่าน อ.เฮ้าถามว่า "ใครไม่ถนัดภาษาอังกฤษแล้วต้องการความช่วยเหลือบ้าง" เงียบ  อ.ถามใหม่ว่า "ใครมีทักษะภาษาอังกฤษแล้วสามารถช่วยเพื่อนได้บ้าง" มีหลายคนยกมือ ทำให้ชั้นเห็นถึงตัวอย่างแรกที่ชัดๆ ของ Positive Psychology ไม่มีใครอยากถูกกดให้ต่ำ แต่มีคนอยากเป็นผู้ให้ ถึงแม้ว่าเป้าประสงค์จะเป็นสิ่งเดียวกัน การเลือกใช้คำสำคัญมาก ชั้นควรละเอียดอ่อนกับเรื่องนี้ น้ำเสียงด้วย ไม่ใช่แค่คำ

    เราแบ่งเป็นทีมตามคนแปล อ.บอกเราว่าให้อ่านบทความนี้ แล้วจะให้ตอบคำถาม Kahoot แข่งกัน ชั้นแปลด้วยความรู้สึกกดดัน บทความก็เป็น How-to เปรี้ยงๆ เป็นข้อๆ ด้วย น้องที่อยู่กลุ่มชั้นบอกว่าตอนนั่งฟังแปล ง่วงนอนมาก ทำให้เค้านึกถึงตอนฟังเล็กเชอร์ในมหาลัย

    ส่วนที่ชั้นชอบในเปเปอร์ 7 Habits of a Happy Brain คือ เค้าให้ความสำคัญกับอารมณ์มาก บอกว่า Feelings predict thoughts.  ความกลัวทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราที่เราบอกตัวเอง (Self narrative) สำคัญ ฉะนั้นใส่ใจกับเสียงในหัว
  • กิจกรรมระดมสมองโดยมีบทความภาษาอังกฤษ หัวข้อเอามาจากกระทู้ใน dekd.com ว่า "ทำไมเด็กไทยไม่ทำการบ้าน" อ.เฮ้าบอกว่าให้ช่วยกันระดมสมองเพื่อตอบกระทู้ เปเปอร์ที่ให้อันที่สองเป็นข้อมูลสนับสนุน จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ชั้นแปล พวกเราระดมสมองในกลุ่ม จากนั้นก็มีการแชร์กันในวงใหญ่ คุยกันมากมายเรื่องการบ้าน

    เปเปอร์นี้เน้นว่าการบ้านหรืองานที่ให้เด็กทำควรเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจภายในของเด็ก น่าสนใจมากๆ จะสั่งการบ้านอย่างไรที่ไม่ใช่ One size fits all.
  • ถอดบทเรียนว่าสองกิจกรรมนี้ต่างกันอย่างไร ชั้นก็เหวอเลยตอนแรก มันต่างกันยังไงวะ ช่วยๆ กันตอบจนชั้นมาถึงจุดที่เก็ตว่า ๑. การเลือกใช้คำพูดในห้องให้เป็นบวก ๒. บรรยากาศการแข่งขันทำให้ตื่นตัว (เปเปอร์แรกที่เล่น Kahoot) แต่ก็ทำให้มีผู้ชนะเพียงคนเดียว ผู้แพ้อาจจะไม่รู้สึกดีก็ได้ ๓. คำถามปลายเปิดทำให้เกิด discussion ซึ่งเกิดจากการที่คนรู้สึกว่า Rank ใกล้ๆ กัน ไม่ได้มีใครเหนือเพราะภาษาอังกฤษ และผ่อนคลายเพราะว่าไม่ต้องแข่ง คุยไปเรื่อยๆ ไม่ถูกจำกัดด้านเวลาเหมือน Kahoot

    ส่วนที่ทำกิจกรรมเหมือนเรียนทฤษฏี แล้วแอบแทรกให้ถอดบทเรียนด้านกระบวนการอีกชั้นหนึ่งนี่ชั้นชอบมาก เหมือนได้สองเด้ง  ชั้นคิดว่าการเรียนวิศวะทำให้ชั้นเห็นโครงสร้างชัด เป็นมนุษย์ชอบ Structure  รายละเอียดพลิ้วได้ แต่ชอบให้มีภาพใหญ่ชัด ทำให้ชั้นถอดโครงเค้าได้ดีพอควร
  • PERMA เป็นปัจจัยของ Positive Psychology ซึ่งคือด้านต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์บวกและการเรียนรู้ ดังนี้
    • Positive Emotion
    • Engagement
    • Relationship ความสัมพันธ์ของนักเรียนกับครู และนักเรียนด้วยกันเอง
    • Meaning ชีวิตหรือเรื่องที่เรียนมีความหมายอย่างไร คล้ายๆ Purpose ช่วงนี้มีคำว่า Purpose-driven organizations
    • Achievement ความท้าทายของชั้นคือทำอย่างไรให้เด็กทุกคนที่เรียนรู้สึก Achieved!  

วันที่สองเช้า

วันนี้ชั้นมีพลัง นอนมาเยอะ รู้สึกได้เลยว่าเป็นมิตรและอยากคุยกับชาวบ้าน เวลาชั้นหน้าเฉยๆ หน้าจะตูดมากๆ คนที่ไม่รู้จักไม่น่าจะอยากเข้าใกล้
  • Morning Reflection ช่วยเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานเรียนอะไรไป เหมือนเล่าให้เพื่อนที่ไม่ได้มาเรียนฟัง การฟังคนอื่นสะท้อนอีกรอบนอกจากทำให้ชั้นได้ทบทวนว่าเมื่อวานทำอะไรไปแล้ว ยังได้เรียนรู้เพิ่มด้วย คนสอนก็ได้ประเมินด้วยว่าคนเรียนจำได้ไหม รู้สึกกับเรื่องที่เรียนอย่างไร
  • เกมเช็คอิน ล้อมวง ลากเก้าอี้มา ๑ ตัว ให้แสดงความรู้สึกของตัวเอง ณ ขณะนั้นโดยใช้เก้าอี้เป็นฉาก  รอบสอง ทำภาพนิ่งด้วยท่าทาง คนที่สองทำท่าเป็นจิ๊กซอไปต่อกับคนแรก จนครบเป็นภาพๆ เดียว เกมนี้น่าจะสร้าง Trust และทำให้ตื่นด้วย
  • Assessment Activity 
    • Self rating: อ.พนมถามเราว่า ด้วยสเกล 1-10 การเรียนรู้ของเราเป็นอย่างไร อ.ให้ทุกคนบอกคะแนนกับกลุ่มใหญ่ทีละคน
    • How to improve it?  อ.พนมให้ Clue ว่า "อันนี้จะท้าทายละนะ" พอได้ยิน ชั้นหูผึ่งเลยว่าจะให้ทำอะไร ชั้นพบว่าการให้ Clue เช่น อันนี้สำคัญนะ อันนี้ท้าทายนะ เป็นการส่งสัญญาณถึงผู้เรียนให้ใส่ใจอ่ะ  อ.พนมพูดต่อว่า "ถ้าอยากให้การเรียนรู้เป็น ๙ จะต้องทำอย่างไร"
    • Brainstorming tool: Toyota Grids  อ.แจกกระดาษ A4 แล้วให้พับเป็น 16 ช่อง บอกให้แต่ละคนเขียนข้อเสนอแนะการปรับปรุงการเรียน โตโยต้ากริดนี้ใช้ในบริษัทโตโยต้า เอาไปช่วยกันหา Solution ได้

      อันนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างความมีส่วนร่วมและ Sense of ownership ของผู้เรียน 
    • Small Group work พอแต่ละคนทำของตัวเองแล้ว ก็เอามาประมวลกันในกลุ่มย่อย ให้เลือกมา 3 วิธี
    • Big Group Work แต่ละกลุ่ม เสนอวิธีแรกมาก่อน วนจนครบทุกกลุ่ม รอบสองก็กลุ่มละวิธี และรอบที่สาม ทำให้กลุ่มท้ายๆ ไม่รู้สึกว่าวิธีของตัวเองโดนเพื่อนเสนอไปแล้ว รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็สำคัญ เหมือนเป็นงานศิลปะจริงๆ
    • ชั้นชอบการคิดของตัวเองก่อน แล้วค่อยแชร์กับกลุ่ม บางคนอาจจะคิดช้า พูดไม่ทัน ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่เลย เค้าอาจจะไม่ได้ Contribute

การประเมิน

  • Measure การวัด เช่น Body Mass Index (BMI) ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลข เป็น Categorical เช่น ศาสนา เพศ ก็ได้ เกี่ยวข้องกับคุณค่า
  • Assessment เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย มีสามด้านที่เชื่อมโยงกัน
    • Observation  เป็นการเก็บข้อมูล
    • Interpretation เป็นการประมวลข้อมูลที่เก็บมา
    • Cognition ต้องรู้ว่าต้องการวัดอะไร อาจจะนิยามตัวบ่งชี้ผิดก็ได้ ทั้งสามด้านนี้มันวนไปวนมาได้ เป็นลูป ถ้าข้อสังเกตไม่สนับสนุน Cognition ก็เปลี่ยน Cognition ได้ สังเกตว่า Cognition เป็นฐาน
  • Evaluation
หลังจากที่เราฟังเล็กเชอร์เรื่องการประเมินแล้ว ให้เราเลือกสิ่งที่เราช่วยกันคิดในกระดานว่าเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้น ให้มาออกแบบ Assessment tool: Observation, Interpretation and Cognition

กลุ่มชั้นเลือก การเปิดใจ จากนั้นช่วยกันคิดประโยค Definition ของการเปิดใจ: พวกเราบอกคือการรับรู้และการยอมรับความแตกต่างในตัวเองและในคนอื่น ก็เลือกพฤติกรรมที่สังเกตได้ เช่น การพูดแสดงความเห็น การสบตาเพื่อนหรือครู การตอบคำถาม ก็มีคนแย้งว่า อ้าว ถ้าเป็นคนที่ Introvert ล่ะ เกณฑ์ที่พูดมานี่ตกหมดเลยนะ เราก็เพิ่มว่ามีการเขียนแทนการพูด ทีนี้ คนที่เป็น Extrovert ก็อาจจะชอบพูดมากกว่าเขียน ชั้นก็เลยรู้สึกชัดๆ ว่า Assessment นี่มันต้องทำแบบหลากหลายเพื่อ accommodate ความถนัดหรือความชอบหลายๆ แบบ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท้าทาย ทำแต่สิ่งที่ตัวเองถนัดหรือเคยทำ แต่ชั้นว่ามันต้องมีโอกาสให้เด็กได้แสดงความถนัดของตัวเอง และได้ถูกท้าทาย 

ชั้นได้เรียนรู้ว่า Assessment เป็น Feedback data ให้อาจารย์ได้รับรู้ว่าที่สอนไปเนี่ย เด็กรู้สึกอย่างไร เก็ตไหม ไม่ใช่ Evaluation  อีกอันที่อ.เฮ้าพูดบ่อยคือว่าให้เชื่อว่าเด็กทุกคนไปถึงฝั่งได้ แต่อาจจะถึงด้วย Timing ที่ต่างกัน Assessment ช่วยบอกได้ว่าคนเรียนไปถึงฝั่งหรือไม่ ดังนั้นแทนที่จะให้เกรด A, B,... F น่าจะให้เป็น In progress, Close to the Goal, Meet the Goal, and Exceed the Goal  มีคุณแม่โฮมสกูลคนหนึ่งแชร์ว่าการให้เกรด A, B,... F ส่งผลต่อลูกเค้ามาก ที่รู้สึกโดนตัดสินจากโรงเรียนในระบบจนไม่อยากเรียน คุณแม่บอกว่าการให้เกณฑ์ In progress, Close, Meet, and Exceed ทำให้ลูกมีกำลังใจ และรร.ที่ใช้เกณฑ์นี้ ครูก็มีกำลังใจด้วยว่าที่สอนไปน่ะมีเหลืออยู่ในเด็กนะ  ทั้งนี้ ให้เปลี่ยนทั้งตัวหนังสือและการปฎิบัติต่อเด็กด้วย

หมอพนมเพิ่มเติมว่า นอกจากให้เกณฑ์แล้ว จะช่วยเด็กมากถ้าจะระบุว่าที่ขาดไป ขาดอีกกี่เปอร์เซ็น ขาดหัวข้อใดไป ซึ่งชั้นว่าดีมาก

อีกอันที่ชอบมากที่คุยกันตอนกินข้าวเที่ยงคือ Critical Reasoning  อ.พนมเล่าใหัฟังว่า เมื่อนศ.แพทย์ลอกข้อสอบ แทนที่จะพร่ำบอกว่าการลอกไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ดีงั้นงี้ ชวนเด็กมาร่วมกันวิเคราะห์ว่าทำแล้วมีผลอย่างไร เช่น อาจารย์ไม่ทราบว่าตัวเองสอนเป็นอย่างไร นศ.อาจไม่เข้าใจก็ได้แต่คะแนนออกมาดี; นศ.เป็นแพทย์ที่ไม่มีความรู้  คือ เมื่อนศ.เห็นผลของการกระทำแล้ว ก็อาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้เอง โดยไม่ต้องสั่ง Positive psychology indeed.

อีกประเด็นของการสอบคือมันสร้าง Anxiety ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อการเรียนรู้ก็ได้ 

มีการพูดเรื่อง Teaching Philosophies ว่ามีสอง Schools คือ 
  1. Instructionism ผู้สอนเป็น Expert ผู้เรียนดาวน์โหลดจากผู้สอน
  2. Constructionism มนุษย์พัฒนาองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนสร้างความรู้จากการปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สังเกตว่าเล็กเชอร์ก็นับว่าเป็นสิ่งแวดล้อม ดังนั้น "การวางแผนการสอน" กลายเป็น "การจัดประสบการณ์เรียนรู้"  
ตอนท้าย อ.เฮ้าให้เขียนจดหมายถึงตัวเองว่าเรียนแล้วจะไปทำอะไร ซึ่งก็ไม่ได้ให้อ่านแชร์ แล้วหมอพนมให้ทำ Six Thinking Hats ของเวิร์คช็อปเพื่อการปรับปรุง ตอนท้าย เช็คเอาท์ด้วย 1-2 ประโยคถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่จะเอาไปใช้

โดยรวม ชอบมากๆ โดยเฉพาะเรื่อง Assessment ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน 

ถ้าใครอยากเข้าเวิร์คช็อปนี้ ให้ไปได้ที่ EDUCA ซึ่งหัวข้อนี้จะจัด 17 ตค.


ถอดรหัสเกมและกระบวนการ จากอ.พนม

ในกิจกรรมสองวันที่ผ่านมานั้น ผมและอาจารย์เฮาส์ออกแบบให้ผู้เรียนรู้ได้สัมผัสกับกระบวนการ ที่จะเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ที่น่าจะเกิด PERMA  ในแนวคิด Positive Psychology ในวันแรกด้วย ก่อนจะโยงมาถึงการประเมิน ในวันที่ 2

  • กิจกรรมแนะนำตัว อยากให้รู้จักชื่อ ความรู้ความเข้าใจเดิม และความคาดหวัง หรือ Grounding  สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน มีกติกาง่ายๆ คือ ขอให้ลองทำ (Hand) คิดและรู้สึกตาม (Head and Heart) แล้วมาแชร์กัน ถอดบทเรียนด้วยกัน
  • กิจกรรมแรก เดินหา Safe Place Safe Person ต้องการให้ฝึก sensing ความรู้สึกตนเอง กับคนและสิ่งแวดล้อม ให้เชื่อความรู้สึกและความคิดตน ได้แชร์กันในการจับกลุ่มเล็ก กล้าเปิดเผยตัวตน (self disclosure) และฟัง (listening skill) เป็นพื้นฐานสำคัญ สร้างพื้นที่ปลอดภัย (safe environment) ก่อนที่จะกล้าเปิดเผยตัวตนในกิจกรรมต่อมา คือ กราฟชีวิต  (Life Chart)

    ก่อนเขียนกราฟชีวิต ให้หลับตา กำนดสติ อยู่กับร่างกาย การหายใจ เพื่อให้ใจสงบ ( imaginery relaxation) ทบทวนชีวิต ระลึกถึง safe place safe person ก่อนจะทบทวนอารมณ์ในชีวิตที่สัมพันธ์กับจุดเปลี่ยนแปลง การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้แชร์กันได้หลากหลาย

    สรุปช่วงเช้า สร้างบรรยาศที่พร้อมสำหรับการทำงานร่วมกัน ถ้าห้องเรียนเปรียบเหมือนวงดนตรี ครูก็ช่วยให้ทุกคนแสดงร่วมกันให้สนุกครับ
  • เกมนำอันหนึ่งที่ใช้ คือ Body Emotion ให้ทุกคนก้าวออกมาแสดงท่าทาง ร่างกาย แสดงอารมณ์ในขณะนั้น เพื่อให้ผ่อนคลาย กล้าแสดงออก ไม่มีถูกผิด สร้างสรรค์

    รอบสองให้แสดงตามเพื่อน เพื่อให้เกิดการ เขื่อมโยง สังเกต และแสดงการทำงานกลุ่ม

    เกมนี้แสดงความส้มพีนธ์ระหว่างร่างกายและอารมณ์ ความคิด  เชื่อมโยงไปถึง สามเหลี่ยมพฤติกรรม (Behavior Triangle) เพื่อไปถึง  Positive emotion ในภาคบ่ายครับ
  • วันที่ 2 มีเกมนำ Group Sculpture ให้แสดงโดยใช้ร่างกาย เสริมกับเพื่อนไปทีละคนประกอบเป็นภาพสะท้อนการเรียนรู้ เป็นการใช้ร่างกาย แสดง ความคิด แต่เป็นกลุ่ม ให้เกิดความรู้สึกดีต่อการทำงานกลุ่ม เป็น collaboration ทุกคนในกลุ่มมีความสำคัญ เพื่อนำไปสู่กิจกรรมกลุ่ม เรื่อง assessment ให้เห็นการทำงานกลุ่มที่เกิดความรู้สึกแตกต่างกัน ตรงนี้เป็นทักษะสำคัญ ในการจับความรู้สึกกลุ่ม เชื่อมโยงกับกิจกรรมในบ่ายวันแรกด้วยครับ



Comments