Passion, Purpose, and Profession

ชั้นเชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง เราทุกคนมีความถนัด ทักษะเฉพาะพิเศษ เหมือน DNA เรา  เช่น บางคนถนัดเซนส์ความรู้สึกคน ชอบอยู่กับมนุษย์ บางคนถนัดทำคอมพิวเตอร์  ชั้นชอบงานจัดการ ชอบคณิตศาสตร์ ชอบเขียน เสพหนังสือ ดื่มกินความหมาย และไม่ถนัดให้ Empathy

ชั้นเคยอยู่ตามเช็คลิสต์แบบโลกๆ เช่น เข้ามหาลัย มีงานทำ ได้ทุนวิจัย ชั้นอยู่ได้และทำได้ดี แต่ต้องใช้ความพยายาม บังคับตัวเอง ใช้วินัยลากตัวเองไปทำ และรู้สึกว่างเปล่าข้างใน แต่เมื่อได้พบแพชชั่นของตัวเอง งานที่ทำก็งานเดิม แต่มีความหมายขึ้นมา คุณค่าของมันแตกต่างไป เราทำเพราะอยากทำ การตื่นมาแต่ละวันเปลี่ยนไป  ชั้นรู้สึกว่ามีชีวิตชีวา ไม่ตายซาก แต่ก่อนเวลาจะเข้าสอนที ร่างกายเริ่มเกร็ง เริ่มเครียดแล้ว ตอนนี้ก็สบายๆ ไปนั่งรอ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปเผชิญความยากลำบาก  บางทีถ้าเราจะทำอะไรใหม่ๆ กับเด็ก ชั้นตื่นเต้น ตั้งตารอคอย 

ชั้นไม่ได้แยกว่าเวลานี้คือเวลางาน เพลานี้คือส่วนตัว มันคือสิ่งเดียวกัน เนื้อเดียวกัน  งานเราเติมเต็มชีวิตเราในเชิงจิตวิญญาณด้วย เป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตัวเอง

มีแพชชั่นไม่ได้หมายความว่าจะสนุกเพลิดเพลินตลอดเวลา มีบางวันที่ขี้เกียจ อยากป่วย จะได้ไม่ต้องไป แต่ชั้นรู้สึกว่าไม่หลงทาง ชีวิตกูมีทิศทาง ถ้าจะตายตอนนี้ ก็ค่อนข้างพร้อม เพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

อ้อ.. พอพบแพชชั่นและความหมาย ประตูอื่นๆ ก็เปิดเอง เหมือนเราเจอกุญแจ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอุปสรรค แต่พอเราไปชนปัญหาในงานที่เราเลือก ความเหวี่ยงว่าทำไมกูต้องทำวะ มันลดลง อ้าว.. ก็แกเลือกเอง ไม่ได้มีใครบอกให้ทำ ในภาษาสวยๆ คือ มี sense of ownership

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแพชชั่นเราคืออะไร ต้องสังเกตตัวเองดู เอาตัวเองไปลองในหลายๆ สิ่ง ลองอยู่ตรงนั้นนานพอที่จะรู้ว่าใช่ทางหรือไม่ใช่ทางเรา ไม่มีเครื่องวัดหรือดัชนีที่จะบอกได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลล้วนๆ

การสังเกตตัวเองก็เป็นนิสัยที่ฝึกได้เหมือนกัน ชั้นชอบเขียนบันทึกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขียนเพื่อคุยกับตัวเอง ทบทวน คือ ชั้นมีเพื่อนที่คุยได้ แต่ถ้าคุยกับมนุษย์มันต้องอธิบายเยอะ นั่นนี่ คุยกับตัวเองนี่ง่าย เขียนเลย ไม่ต้องอารัมภบท ไม่ต้องมีเหตุผล บางเรื่องก็ไก่กามาก  

การสังเกตตัวเองคือดูอารมณ์ตัวเองด้วย ว่าตอนนี้รู้สึกอะไร ชั้นเชียร์เรื่องรู้สึกทางกาย เพราะมันไม่โกหกเหมือนสมอง เช่น ลมหายใจแรงและสั้น อึดอัดที่อก ตึงระหว่างคิ้ว ตัวเบา โล่ง ถ้าร่างกายไม่ปกติ สัญญาณชัดมากว่ามีอะไรไม่ธรรมดาเกิดขึ้น ก็สังเกตต่อไปว่ามันคืออะไร

จะดีมากถ้าเรามีคลังคำศัพท์ของเฉดความรู้สึก เช่น
  • เคือง หงุดหงิด ขัดใจ แน่น โมโห ระเบิด 
  • ก็ดีนะ โปร่งโล่ง สบายใจ ผ่อนคลาย มีความสุข 
  • เฉยๆ ไม่แคร์ ยังไงก็ได้ 
ดีกรีมันต่างกัน (ทำไมชั้นคิดคำลบได้มากกว่าคำบวก) แค่ชอบกับไม่ชอบเฉยๆ มันหยาบไป หรือเราจะใส่เบอร์ดี เช่น โมโหระดับ 5 เหมือนเวลาที่ไปโรงพยาบาลแล้วหมอไม่มีเครื่องวัดความเจ็บปวด แล้วหมอบอกว่า จากสเกล 1 ถึง 10 ปวดระดับไหน

ชั้นคิดว่าเราจะสังเกตตัวเองได้จริงๆ เมื่อเราไม่พยายามคิดบวก โลกสวย ตลอดเวลา  รู้สึกเซ็ง ก็ยอมรับไปว่ากูเซ็ง รู้สึกเศร้าก็อยู่กับความเศร้า ดีใจก็ดีใจ ไม่ต้องแปะป้าย ไม่ต้องผลักไสหรือกลบเกลื่อน กดมันด้วยเหตุผล แต่ก็ไม่จมจ่อม   

ชั้นเคยลองกับตัวเองว่าเวลาเศร้า ชั้นตั้งใจว่า เออ..มาเลยนะ..เอาให้สุด ชั้นก็อยู่มันไปเรื่อยๆ  อยากร้องไห้ก็ร้องเลย ไม่พยายามหนีความเศร้าด้วยการเล่นเน็ต ดูหนัง ไม่ได้นั่งสมาธิ แต่มีเดินจงกรมบ้าง เพื่อเติมกำลังตัวเอง ก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ รู้ตัวอีกทีมันก็ไม่อยู่แล้ว 

เวลาที่ชั้นพยายามกลบเกลื่อนด้วยการหนี ไม่อยู่กับมัน อารมณ์เหวี่ยงมาก และพอไม่ได้ทำกิจกรรมหนีอารมณ์ อารมณ์นั้น เช่น เศร้า กลับมาด้วยความแรงกว่าเดิม คือ พอหมดแรงกด มันก็ดีดตัวแรง 

สรุปคือ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง  

ชั้นคิดว่าพอเรารับความรู้สึกของตัวเองได้ เราก็รับความรู้สึกของคนอื่นได้ด้วย เช่น เวลาเพื่อนเศร้า เราก็ไม่ได้พยายามโลกสวยใส่ ตลกใส่ หรือชวนคุยเรื่องอื่น ก็อยู่กับอารมณ์ของเค้าได้ แอบดีใจด้วยซ้ำเวลาเพื่อนยอมรับความรู้สึกต่างๆ ที่เป็น"ลบ"กับเรา แสดงว่าเค้าไว้ใจเรามาก  

พอเราสังเกตตัวเองได้ว่าเรารู้สึกยังไง เราจะรู้จักตัวเองจริงๆ  จะจูนได้ว่าสิ่งที่ทำ เราชอบหรือไม่ชอบ คือ ไม่ต้องไปถามคนอื่น หรือรอให้ใครบอก ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราอิน เราทำแล้วลืมเวลา ไม่ได้ยินเสียงคนรอบข้าง เราอยู่ใน Flow ทำเสร็จแล้วรู้สึกมีพลัง Empowered!

เมื่อรู้จักตัวเอง ความมั่นใจ ความชัดเจน ก็มา ไม่ใช่มั่นใจแบบอหังการด้วย มันเป็นสนามพลังของทิศทาง ไม่สับสน

เมื่อเอาตัวเองไปเรียนรู้ เจอในสิ่งที่ชอบ พบแพชชั่น ทีนี้ก็เรื่องสร้าง Service ที่ Serve คนอื่นได้ ถ้าแพชชั่นสร้างเงินให้เราซัพพอร์ตตัวเองได้ก็ดี เช่น ThaiFit หรือ โกดังสังคีต หรืออย่างพี่ณัฐ ชอบด้านจิตใจคน พี่ณัฐจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้คน เป็นโค้ช

จริงๆ เราอาจไม่ได้ทำงานอย่างเดียวก็ได้ งานหนึ่งหล่อเลี้ยงกายหยาบ อีกงานหล่อเลี้ยงกายละเอียด  ตัวชั้นเองสวมหมวกหลายใบ สอนในมหาลัยและดูแลธุรกิจครอบครัว

ไม่ว่าจะสร้างธุรกิจ เรียน หรือภาวนา จะปิดจ๊อบได้ต้องกัดไม่ปล่อย และไม่กลัวพลาด พอกลัวพลาดแล้วเราไม่สร้างสรรค์ หนังสือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทุกเล่มที่เคยอ่านพูดอย่างเดียวกัน แล้วพอเรากลัว เราไม่เรียนรู้ด้วย บางทีก็ตัวแข็ง ไม่ขยับ ไม่ทำอะไร ก็อยู่ที่เดิม

คุณณัฐฬส วังวิญญู พูดว่า ทักษะเพื่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 คือ
  1. ฝึกที่จะเรียนรู้
  2. ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของเรา เรื่องที่เราถนัด
  3. สร้าง Service ที่ Serve คนอื่นได้
ขอแปะข้อความนี้ที่ชอบ

“I make sure that, occasionally late at night, I’ll have a drink or two, not think about anything in front of me but just sit back and think about my life: How’s it going? What’s bothering me? What’s really going on now?” Prof Gordon Mathews, the author of What Makes Life Worth Living? How Japanese and Americans Make Sense of Their Worlds.

Further pointers:


Comments