ลองออกแบบชีวิต

ฉันเคยได้ยินเรื่อง Design Thinking มานาน ได้ฟัง TED talks  ได้ไป Design Thinking Workshop ที่สวทน. จัด  ส่วนที่ฉันสนใจคืออยากรู้ว่าจะเอาวิธีนี้มาช่วยนิสิตค้นพบหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ไหม 

ฉันด้นจากหนังสือ Designing Your Life ซึ่งเค้าเอาวิธี Design Thinking มาออกแบบชีวิต มันเป็นวิชาจริงๆ ที่นักศีกษาทุกคณะมาลงเรียนที่ D School ที่ Stanford ได้ หมอคนหนึ่งสรุปหนังสือเล่มนี้เอาไว้เป็นภาษาไทย ซึ่งช่วยฉันมากในการทำสไลด์ประกอบการสอน ต้องขอบคุณมากๆ

เทอมนี้ฉันลองเอามาใช้ดูกับนิสิตปริญญาโท ซึ่งโชคดีที่มีอยู่ ๘ คน เหมาะกับกิจกรรมนี้พอดี

สิ่งแรกที่ทำคือให้เขียนบันทึกสิ่งดีๆ (Good-time journal) ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ให้บันทึกทุกวันตั้งแต่ปิดเทอม ฉันบอกนิสิตว่าฉันไม่อ่าน ขอแค่ดูว่าบันทึก ความตั้งใจคืออยากให้นิสิตหัดเขียน และฝึกมองโลกในแง่ดี

จุดเริ่มต้นของหนังสือคือเค้าบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในสาขาที่จบมา และส่วนใหญ่ไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองชอบอะไร Passion อยู่ที่ไหน

อีกประเด็นคือเค้าให้ฝึกแยกว่าปัญหาไหนเป็น Gravity Problem ซึ่งถ้าจะอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องทำใจยอมรับ ปัญหาไหนแก้ได้จริง ตัวอย่างปัญหาแรงโน้มถ่วง เช่น บริษัทที่เป็นกิจการครอบครัว ที่มีนโยบายให้ลูกหลานเป็นผู้บริหาร เราทำงานที่นี่ก็ต้องทำใจว่าคงขึ้นไม่ถึงที่สุด

ส่วนอีกอันคือ Anchor problem เป็นปัญหาที่แก้ได้ แต่เราปักหมุดอยู่ที่สถานการณ์เดียว คำตอบเดียว ไม่ไปไหน เช่น อยากทำงานกับเด็ก ต้องทำงานเป็นครูเท่านั้น แต่จริงๆ มีวิธีการอื่นๆ เยอะแยะ เช่น ติวเตอร์ อาสาสมัคร

Work, Play, Love and Health Balance

กิจกรรมแรกคือเค้าให้เราสำรวจตัวเองในหลายแง่ เช่น สมดุลในด้าน Love, Play, Work and Life ลองดูจากบันทึกสิ่งดีๆ  กิมมิคคือเค้าใช้ Dashboard บ่อยมาก มันช่วยให้การเปรียบเทียบเห็นชัด (Visual comparison)  แล้วก็เขียนอธิบายสั้นๆ


Building a compass

เพื่อสร้างเข็มทิศ  ประเด็นที่สำรวจคือ จุดยืนของขีวิตและการทำงาน สิ่งใดที่เราให้ค่า และจุดยืนสองด้านนี้สอดคล้องกันหรือไม่

Mindmapping 

จากนั้น ให้ทำ Mind map ของสิ่งที่ชอบทำ แล้วแตกออกเป็นวงถัดไปอีก ๕ อัน จากวงนี้ แตกออกเป็นอีกวง อีก ๕ อัน ทำจนได้ ๓ วง เลือก ๓ คำจากวงนอกสุดนี้ แล้วสร้างเป็น Job description ซึ่งต้องแสดงด้วยรูปที่วาดเอง (Napkin cartoon)

กิจกรรมที่นิสิตชอบมี: กิน อยู่บ้าน แต่งหน้า จัดห้อง เที่ยว  ตอนที่ฉันเห็น ฉันก็ไม่มั่นใจว่าจะสร้างเป็นอาชีพอะไรได้

ผ่านไป ๑ สัปดาห์ กลับมาเจอกัน ฉันประทับใจมากๆ นิสิตได้ Job description ดังนี้


พิมชอบเดินห้างกับเพื่อนหรือพี่น้อง เบื่อที่จะต้องรอจนกว่าจะช้อปกันเสร็จ อยากให้มี Relax lounge เพื่อเอาไว้นั่งรอ นอนรอแบบสบายๆ มีเน็ตให้เล่น ฉันนึกถึง Airport lounge or a day hotel











น้ำหวานชอบแต่งหน้าและชอบดูวีดีโอแต่งหน้า นางอยากลองทำวีดีโอคลิปสอนแต่งหน้าของตัวเอง








เฟรินขอบอ่านหนังสือ แนวหนึ่งที่ชอบคือลี้ลับ นางโยงไปโยงมาจนได้ธุรกิจพาไปเที่ยวที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยแต่งชุดให้เข้าธีมด้วย











Odyssey Plans

ประเด็นหลักของ Design thinking คือ ให้มีหลายๆ ตัวเลือกพร้อมๆ กัน อย่าติดอยู่กับคำตอบๆ เดียว  เราจึงต้องทำแผน ๕ ปีสามแผน ห้าปีเพราะว่าสองปีน้อยไปที่จะเห็นผล สิบปีก็ยาวไป
  • แผนที่เรามีอยู่แล้ว เช่น จบปริญญาโท ทำงานโรงงาน 
  • แผนที่เราจะทำถ้าแผนแรกไม่เกิด เช่น สมมติว่าโลกนี้ไม่ต้องการวิศวกรแล้ว จะไปทำอะไร
  • แผนที่เราจะทำถ้าเงินไม่เป็นประเด็น 
เค้าให้ตั้งชื่อแผนแต่ละอัน ใส่ Dashboard ด้าน Resource, Likability, Confidence, Coherence กับจุดยืนของเรา และเขียนประเด็นที่ไม่ชััวร์หรือคำถามที่ยังคิดไม่ตก 

แผนปัจจุบันของนิสิตส่วนใหญ่คือจบปริญญาโท ทำงานบริษัทหรือโรงงาน เก็บเงิน ดูแลพ่อแม่ด้วยการผ่อนบ้านให้หรือพาไปเที่ยว

ที่แปลกคือมีแค่ ๒ ใน ๘ คนที่วางแผนจะแต่งงานในห้าปีข้างหน้า  รุ่นนี้สนใจเรื่องเที่ยวมากๆ 






แผนสองของน้ำหวานคือเปิดร้านขายของฝากนักท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ที่เป็นบ้านเกิด มีโรงงานทำผลไม้แห้ง  ตอนนางเล่าแผน นางดูอินมาก น้ำเสียงดูน่าเชื่อถือ 







การบ้านสำหรับคาบต่อไปอีก ๒ สัปดาห์คือทำ Prototype จากแผนเหล่านี้ มี ๒ วิธี คือ Prototype interview และ Prototype experience การสัมภาษณ์คือไปพูดคุยกับคนที่กำลังทำงานที่เราอยากทำ ส่วนประสบการณ์ก็อาจจะไปสังเกตหน้างานจริง หรือลองไปฝึกงาน ฉันบอกให้ไปสัมภาษณ์มา ๓ คน แล้วนำเสนอด้วยวีดีโอคลิป 

Comments