ช่วงเปลี่ยนผ่าน (2/2)

อาจด้วยความเป็นลักษณ์สาม ฉันมีไอด้อลในทุกช่วงเวลาของชีวิต เป็นคนที่มีสิ่งที่ฉันขาดและต้องการในขณะนั้นๆ เช่น ในวัยเด็ก ไอด้อลของฉันเป็นพ่อกับแม่ ช่วงที่เรียนป.เอก ไอด้อลเป็นอ.ที่ปรึกษา ช่วงที่อินกับการฝึกโยคะมากๆ ไอด้อลเป็นครูสอนโยคะ ส่วนตอนนี้ไอด้อลเป็นครูทางด้านจิตวิญญาณ

พระอาจารย์และพี่ณัฐมีิสิ่งที่เหมือนกันที่ฉันชอบคือความเนิบ ความสโลว์ไลฟ์ ความนุ่มนวล ฉันเป็นคนทำอะไรเร็ว คือ เร็วกันทั้งบ้าน มีเพื่อนบอกว่าฉันตื่นก็วิ่งเลย พอเร็วมากก็ทำให้ตัวเองเหนื่อย พลาด ไม่ประณีต ฉันอยากช้านะ แต่มันต้องพยายามฝืนตัวเอง

สองคนนี้ใจเย็น มีพลังงานความเย็นออกมา อยู่ใกล้ๆ แล้วสบายใจ  แต่ก่อนฉันเป็นคนร้อนมากๆ ระดับที่ถ้านิสิตคุยๆ กันอยู่เป็นกลุ่ม ถ้าฉันเดินผ่านนี่หยุดคุยเลยอ่ะ รังสีมาคุอบอวลในบรรยากาศ  คนร้อนก็ชอบคนเย็นเป็นธรรมดา

ครูสองคนนี้เป็นผู้ฟังที่ดีมากถึงมากที่สุด ไม่ใช่สำหรับฉันคนเดียว คนอื่นๆ ก็ด้วย ฉันปล่อยของได้เต็มที่ อยากเล่าอะไรก็เล่า  ที่รู้สึกว่าเล่าได้คงเป็นเพราะคนฟังอยู่ตรงนั้นเพื่อฟังจริงๆ ไม่ตัดสิน ให้คำแนะนำที่รู้สึกว่า insightful

จริงๆ อาจจะไม่ใช่ความฉลาดส่วนบุคคล เป็นความตัวตนน้อย ดราม่าน้อยมากกว่า พออีโก้น้อย ความฉลาดที่มีอยู่แล้วในสรรพสิ่ง ซึ่งไม่ใช่ของใคร ก็ไม่ถูกบล็อก มันสื่อสารกับเราได้เอง

พี่ณัฐเคยบอกว่า เวลาโค้ช ให้ผ่อนคลาย tune in with nature or great wisdom, whatever your larger source is, then ask for guidance when coaching someone.

จริงๆ คำที่เหมาะกับครูทั้งสองของฉันไม่ใช่เนิบ แต่คือผ่อนคลายแบบ relaxed attention ใส่ใจแบบผ่อนคลาย

วันนี้เป็นวันพัก หลังจากผ่านพายุของการเปิดเทอม รู้สึกผ่อนคลายที่ได้ทำงานเสร็จ  Workshop รวมถึงเสวนาที่จัดให้นิสิต ช่วยให้เราได้เรียนรู้ไปด้วย บางอย่างเหมือนมา Confirm ในสิ่งที่เราเคยได้ยิน เช่น พี่ณัฐเคยบอกว่า Connection before correction.  หมอสร ตอนที่มาสอนเทคนิคการสัมภาษณ์ บอกว่า ความสัมพันธ์มาก่อนข้อมูล การให้เกียรติคนที่ถูกสัมภาษณ์เป็นเรื่องสำคัญมากๆ

Connection is everything.

ฉันชวนเพื่อนนักเล่านิทาน มาทำกิจกรรมกับนิสิตป.ตรีปีสี่ หัวข้อที่ให้คือ Creativity มูเล่านิทานให้นิสิตฟัง ให้เล่นเกม ชวนดูคลิปนิทาน ให้แต่งไฮกุ ตอนท้ายคาบ ฉันให้นิสิตเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ นิสิตหลายคนเขียนว่า: ไม่ด่วนตัดสิน, การมองหลายๆ ด้าน, ทุกคนมองต่างกันได้, ไม่มีถูกมีผิด, การออกนอกกรอบ  ฉันทึ่งมากๆ ที่เด็กๆ get the messages ผ่านกิจกรรมอนุบาลเหล่านี้  ทึ่งและรู้สึก respect พวกเค้า (นิสิตแม่งฉลาดกว่าที่คิดว่ะ)

อีกงานหนึ่งคือ Welcome party สำหรับนิสิตปริญญาโทและเอก  ฉันกับอ.บอลลองรันเอง (ปีที่แล้ว outsource) ด้วยรูปแบบและความตั้งใจของเราที่อยากให้นิสิตรู้จักกัน เค้าก็เล่าเรื่องเค้า ด้วยหน้าที่ ฉันก็ต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อฟังเพราะเราต้องรับรู้อารมณ์ในห้อง  พบว่าจริงๆ การฟังอ่ะไม่ยาก ประเด็นอยู่ที่ความตั้งใจที่จะฟัง  แต่ก่อนฉันไม่เคยมั่นใจเรื่องทักษะการฟังของตัวเองเลย สะกดจิตตัวเองกลายๆ ว่าฉันเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี  ตอนนี้เริ่มฟังเป็นละ

การฟังเป็นการสร้าง connection การรับรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร ให้ค่ากับอะไร ได้รับอะไรจากกิจกรรม ทำให้เรามีความเคารพในตัวตนคนอื่น พอความเคารพมา เห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนกัน ตัวตนของเรามันก็ปรับเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องพยายามลดอีโก้ตัวเองแบบกดๆ อย่างที่ฉันเคยทำ

ฉันเคยปฏิเสธ Ego ของตัวเอง (ที่ไม่ใช่น้อย) แบบผลักไส คล้ายๆ ว่าแกนี่ตัวตนเยอะจริงๆ เลย จริงอย่างที่พี่ณัฐว่า ว่าเสียงในหัวสำคัญมาก  เมื่อฉันเป็นมิตรกับตัวเอง ก็เป็นมิตรกับคนอื่นอ่ะ

เมื่อเมตตาตัวเอง อย่างอื่นก็ตามมา เช่น ผ่อนคลาย ความกลัวลดลง ไม่กลัวก็เลยไม่ต้องวางแผนเยอะ ซึ่งก็ทำให้ความคาดหวังน้อย ผิดหวังน้อย  อ้อ..ความเป็นเด็กก็มา คือ อยากรู้ว่าจะเกิดอะไร (Curious) ไม่ได้ล็อคสเป็คว่าทำเฉพาะสิ่งที่มั่นใจว่าจะสำเร็จ ซึ่งเป็นโหมดการตัดสินใจขฉงฉันในอดีต

มันมาเป็น package

ตั้งแต่ไหนแต่ไร ฉันหมกมุ่นกับตัวเองมากๆ อยู่คนเดียว รำคาญมนุษย์ แบบนั้นก็เหมาะกับฉันในช่วงชีวิตหนึ่ง แต่ตอนนี้การเจอกับคน ทำงานกับคน น่าจะเป็นการฝึกขั้นต่อไปของฉัน

Comments