โลกเปลี่ยนไปเมื่อใจเปลี่ยนแปลง

ดอยหลวงเชียงดาว
Cr: น้องแจ๊ค Mookhong Hongmook
ความเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจมาตอนที่เราไม่ได้ค้นหา  ฉันเพิ่งไปอบรม Problem-Based Learning (PBL) for the 21st Century Skills ที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เชียงดาว เชียงใหม่ ได้เห็นโพสในเฟสบุ๊ค ไม่ได้รู้จักพี่ก๋วยเป็นการส่วนตัว แค่เคยฟังแกบรรยาย รู้ว่าทำละครเด็ก

ฉันพอจะรู้อยู่แล้วว่า PBL คืออะไร และอยากจะใช้มันในการสอนมานานแล้ว หาโปรเจคในเน็ต แต่ยังไม่ก้าวข้ามความคุ้นชินเดิมๆ (เรียกอีกอย่างว่าขี้เกียจ) ก็ยังไม่ได้ทำในห้อง

ฉันเพียงต้องการหาวิธีการสอนที่ไม่ใช่เล็กเชอร์หรือทำโจทย์ในห้องแบบที่ทำอยู่  คิดว่าวิธีการสอนแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป คือ ไถๆ ไปได้ เป็นการล้มเหลวแบบช้าๆ  ในยุคที่คอมพิวเตอร์ทำแคลคูลัสได้ กูเกิ้ลได้ นิสิตต้องการทักษะอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบที่ฉันถูกสอนมา

เริ่มเห็นนิสิตเกียรตินิยมที่ยังไม่ได้งานในที่ๆ เค้าคิดว่าน่าจะได้ เหมือนว่าองค์กรเหล่านี้มองหาทักษะบางอย่างที่ไม่ได้วัดด้วย GPA หรือคะแนน TOEFL เช่น การทำงานเป็นทีม การพูดจารู้เรื่อง (Verbal articulation)

ฉันเข้าคอร์ส PBL นี้โดยไม่ได้มีความคาดหวังอะไรในแง่แรงบันดาลใจ แค่ต้องการฮาวทูแบบเร็วๆ  ฉันเป็นมนุษย์ Workshop รู้รูทีนว่ามันจะดำเนินไปยังไง มีสุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการถอดบทเรียน
Cr: พี่ก๋วย Guay Makhampom

คนที่มาอบรมมีหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และครู เช่น อาจารย์แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูโรงเรียนมัธยม ครูภาษามือ มีนักเขียน มีนักวิเคราะห์ แพทย์แผนไทย ฝ่ายทรัพยากรบุคคล แก่สุดก็ ๕๐ เรามีกัน ๒๐ กว่าคน

ตอนเช้าและเย็นที่เป็นเวลาว่าง ออปชั่นแถวนั้นมีไปขี่จักรยาน ไปแช่น้ำร้อนออนเซ็น ไปตลาด ร้านกาแฟที่มะขามป้อมก็ทำอร่อย




การเตรียมความพร้อม 

Cr: น้องป้อมปืน Worawas Pompuen Gun-turret 
เราอยู่ด้วยกัน ๕ วัน ช่วง 1.5 วันแรกเป็นการทำความรู้จักตัวเอง รู้จักกันเองและกับกระบวนกร (คือคนที่จัดกระบวนการ)

นอกจากพี่ก๋วยก็มีน้องฝนๆ สอนเราเรื่องสุนทรียสนทนา ครูมักชอบพูด แต่ฟังไม่เป็น (ฉันเองก็เข้าข่ายนี้) จะพลาดตรงชอบพูดแทรกหรือเสนอวิธีปัญหา ทักษะการฟังสำคัญเมื่อครูไม่ใช่เจ้าของเนื้อหาอีกต่อไป

เมื่อมองกลับไป พบว่าการอบรมเริ่มที่การเดินทางภายใน และให้กายและใจมาอยู่ด้วยกัน ยึดโยงให้เรามาถึงที่จริงๆ

การทำความรู้จักกันเองและกับกระบวนกร เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Comfort zone) ให้เรากล้าที่จะทำอะไรที่ไม่เคยทำ สะดวกใจที่จะทำงานร่วมกัน ไว้ใจกันที่จะเป็นตัวเราจริงๆ

ฉันเห็นผลของการออกจากพื้นที่เดิมๆ ชัดมากกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน น้องแทบไม่เคยแสดงความคิดเห็นเวลาประชุมในภาควิชาฯ มาที่นี่ เค้าพูด! แสดงความคิดเห็นในวงเล็กและใหญ่  เรามาแงะทีหลัง พบว่าตอนอยู่ที่ภาคฯ เค้าไม่รู้สึกเซฟเพราะเค้าจบจากภาคนี้ ที่ประชุมมีคนที่เคยเป็นอาจารย์เค้าเต็มไปหมด

เราเล่นเกมฐานกาย (โยนลูกบอล ใช้ร่างกายทำเป็นรูปต่างๆ) คงไม่ใช่เพื่อเอามันส์หรือเอาขำอย่างเดียว แต่น่าจะทำเพื่อให้เราออกจากฐานหัวด้วย

เราเล่นเกมกลุ่มสร้าง-วัด-เรียนรู้ (Build - Measure - Learn) เอาของที่มีมาประกอบกันเพื่อทำให้ลูกโป่งแตก ฉันพบสิ่งที่ฉันไม่ถนัด คือ งานช่าง เห็นใจตัวเองถอยตอนที่โปรเจคดูจะไม่ไปไหน  พลังกลุ่มช่วยได้มาก  ไม่วางแผนมาก ทำไปเลยก็ดี รู้ผลไว



มีการบรรยาย ดูวีดีโอ รู้สึกเหมือน Build momentum สะสมพลังงานเพื่อจะทำอะไรบางอย่าง มีแบบฝึกหัดที่ทำเป็นกลุ่มๆ ละ ๖-๗ คน เช่น ทำแผนที่ชุมชน (Community Mapping) กับชุมชนหลอกๆ, ใช้การคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking) ผ่านการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิต้นไม้ (Problem Tree Analysis)
ที่มา: http://courses.umass.edu/plnts285/TheIcebergModel.htm



Problem Tree (Cr: ป้อมปืน)
เราเรียนรู้เรื่องโมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg model)  คือ สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ทั้งหมด และถ้าอยากจะแก้ปรากฎการณ์บางอย่างให้ได้จริงๆ ต้องเจาะลงไปให้ถึงรากเหง้าของความคิด (Mental model)



สำรวจชุมชน

ฉันเคยเข้าคอร์สสัมมาอาชีวะ (The Right Livelihood) ที่ Schumacher College เค้าใช้ U Theory Framework ของ Otto Scharmer ส่วนสำรวจชุมชนของที่มะขามป้อม คือ Sensing journey ของยู ที่มะขามป้อมก็ใช้คำว่าเซ็นส์ Sense

ฉันไม่เคยลงชุมชนเพื่อสัมภาษณ์มาก่อน ชุมชนที่ไปก็ใกล้ๆ มะขามป้อมนั่นแหละ นั่งรถผ่านหลายครั้ง เราไปสองครั้ง ครั้งแรกไปคุยกับคนในชุมชนเพื่อรู้จักว่าใคร ทำอะไร มีความสัมพันธ์อะไรกับใคร มีปัญหาอะไรบ้าง

Our community map
สำรวจแล้วก็ทำแผนที่ชุมชน ได้วาดรูป ได้ปั้นดินน้ำมัน ได้คุยกันระหว่างทำ ฉันคิดว่าการใช้ศิลปะเป็นการลดการใช้สมองซีกซ้ายได้ดี ได้ไอเดียไปใช้กับนิสิตเรื่องการใช้สีแสดงความรู้สึก หรือการให้วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน การสอนที่เน้นหัวมาก (Brain on a stick สมองเสียบไม้) ทำให้นิสิตแยกไม่ออกระหว่างความคิดและความรู้สึก คือ ลืมกายไปเลย อยู่แต่ในหัว ความรู้สึกเป็นความจริงที่ปรากฏ ณ ขณะนั้นๆ กับร่างกายเรา แต่ความคิดมันหลอกเราได้ ยิ่งเรียนมาก ยิ่งคิดเก่ง หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเก่ง (Self justification)  ถ้าแยกไม่ได้แล้วเหมือนเราไม่เห็นตัวเอง ข้อมูลไม่ครบ สุดโต่งก็ออกจากความคิดตัวเองไม่ได้ ซึมเศร้า






วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ

ทำแผนที่ชุมชนแล้วก็คุยกันว่าเราจะแก้ปัญหาอะไรดี พอระบุปัญหาได้ ก็แบ่งเป็นสองกลุ่มๆ หนึ่งไปแตกแผนภูมิต้นไม้ (Problem tree) อีกกลุ่มไปสร้างโมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg model)

ประเด็นที่เราตกลงว่าจะศึกษาคือ เกษตรพันธะสัญญาที่เชียงดาว จากที่ไปคุยกับเมียผู้ใหญ่บ้านและตัวผู้ใหญ่เอง และคนอื่นๆ  ชาวบ้านปลูกข้าวโพดส่งโรงงาน ฤดูกาลนี้ยังไม่ได้เงิน

ถ้าไม่ทำเกษตรพันธสัญญาจะไปทำอะไร? ชาวบ้านบอกว่าปลูกอย่างอื่นก็มีปัญหาเรื่องราคา ไม่รู้จะไปขายใคร ค้าขายได้ไหม? เมืองเชียงดาวเป็นทางผ่าน ค้าขายไม่ได้มาก สรุปคือไม่มีช่องทางทำมาหากินให้เลือกมากนักที่เชียงดาว

Mental model ของตัวฉันเองก่อนหน้านี้ คือ ฉันคิดว่าถ้าไม่ได้เงินก็ไม่ต้องปลูก ไปทำเกษตรอินทรีย์ บลา..บลา..บลา.. ความฝันของ hipster

Solution Design (Cr: ป้อมปืน)

กำหนดผลลัพธ์ (ภาพฝัน)

เราใช้ Problem tree and Iceberg Model เพื่อกำหนดผลลัพธ์  เครื่องมือที่ช่วยลดความเวิ้นเว้อคือ ให้เขียนลงกล่อง สาเหตุ -> ปัญหา -> ผลกระทบ -> .... -> ภาพฝัน

ภาพฝันเราสวยหรูมากคืออยากให้เกษตรกรปลอดหนี้และยิ้มได้

ออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ฉันชอบการเล่าเรื่องของกระบวนกร เห็นได้ชัดว่าทักษะการละครมันช่วย เค้ามีลูกเล่น (Gimmicks) เช่น บัตรคำมาแปะๆ บนฟลิปชาร์ตระหว่างสอน คือ เราจะไม่ได้เห็นทั้งก้อนทีเดียว  กล่องที่หายไประหว่าง "ผลกระทบ" กับ "ภาพฝัน" คือ วิธีการ ฉันว่าเค้าไม่อยากให้เราหมกมุ่นกับวิธ๊การก่อนที่จะระบุภาพฝัน (Outcome)

ฉันเห็นบ่อยมากที่นิสิตติดกับดักวิธีการ อยากใช้วิธีการนี้ จึงค่อยหาโจทย์มาแก้

กิจกรรมที่เราจะใช้เพื่อให้ได้ภาพฝันคือ PBL

ทำสื่อเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ

จุดหมายคือทำวีดีโอคลิปเพื่อให้สิ่งที่มองไม่เห็นปรากฏ (to make invisibility visible) เค้าสอนเราสร้าง Story board ซึ่งคล้ายๆ ช่องการ์ตูน สนุก ทำให้ภาพชัดและตรงกัน เป็นเครื่องมือในการพูดคุย (discuss) ด้วย  เค้าบอกว่าการกลับเข้าไปทำสื่อเป็นกระบวนการวิจัย คือไม่ใช่ทำวีดีโอคลิปเพื่อทำวีดีโอคลิป (Video clips are not the end in itself.)

แล้วก็สอน tips ง่ายๆ เรื่องมุมกล้อง, ระยะการถ่าย, แสง/Contrast

ตอนที่ไปสัมภาษณ์และถ่ายวีดีโอ มันก็ตอกหมุดสิ่งที่พบเมื่อวาน คือ ชาวบ้านยังคงทำเกษตรพันธสัญญาเพราะตัวเลือกไม่มาก ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) มันขึ้นมาเลย เราเข้าใจละ ฉันไม่มีคำตอบ แต่เริ่มเข้าใจ

กระบวนกรพูดหลายครั้งว่าความจริงที่เราเจอเป็นแค่ความจริงชุดหนึ่งซึ่งเปลี่ยนได้ ฉันว่าเราคงเข้าไม่ถึง ความจริงอันสมบูรณ์ ถ้าเรายังไม่เห็นธรรมะอ่ะนะ

อีกสิ่งหนึ่งที่เค้าย้ำคือ A learning process is more important than knowledge. กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้  

ฉันประทับใจกระบวนการที่ทำให้เราอินกับเรื่องที่ทำ  ฉันเป็นคนกรุงเทพที่ไม่ใช่เกษตรกร ไม่เคยคิดที่จะปลูกอะไรเอง ฉันยังอินกับเกษตรพันธสัญญาได้  รู้สึกคลิกว่าเราน่าจะใช้ PBL ในการโค้ชนิสิตตอนทำโปรเจค ทำวิทยานิพนธ์ ออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียน  

ไม่จำเป็นต้องกำหนดหัวข้อไว้ก่อน ถ้าเชื่อมโยงได้ หัวข้อมันมาเอง การออกไปรับรู้ด้วยอายตนะทั้งหกเป็นเรื่องสำคัญ Sensing journey is crucial.  

น้องแจ๊ค หมูโข่ง มานั่งฟังตอนเรา discuss น้องเสนอว่าถึงแม้จะเป็นโปรเจคแก้ปัญหาในโรงงาน ถ้าเราหา human element or human side ของมันได้ คนทำโปรเจคจะสร้างความเชื่อมโยงจากตรงนั้นเอง ตามที่ Brene Brown บอกใน Ted Talk ว่าเราอยู่ที่นี่เพื่อเชื่อมโยง We are here to connect.   

ถ้าเชื่อมโยงได้ การมีส่วนร่วม (Engagement) จะมา เมื่อการมีส่วนร่วมมา เจตจำนงจะมา  ฉันคลิกอีกรอบ เอ๊ย ฉันมีทางเพิ่มแรงจูงใจกับนิสิตแล้ว 

น่าสนใจ.. จะเชื่อมโยงอย่างไร  แจ๊คบอกว่า ให้เราเริ่มจากหัวข้อง่ายๆ ไปยาก สุภาษิตเหนือว่าจูงหมาขึ้นเขา คือ จูงขึ้นไปครึ่งทางด้วยความสนุกแล้วปล่อยให้ผจญภัยเอง

เรื่อง"ง่าย"อันหนึ่งคือเริ่มจากตัวเอง แจ๊คเคยทำ PBL กับมะขามป้อมตอนอยู่ปีหนึ่ง นำเสนอประเด็นตัวเอง่ผ่านละคร เล่นให้เพื่อนดู แล้วขยายผลไปถึงประเด็นของเพื่อน หรือ Generation เค้า

AAR at night (Cr: ป้อมปืน)


After Action Review

พี่ณัฐแห่งสถาบันขวัญแผ่นดินเล่าว่า กระบวนกรที่เก่งมากคนหนึ่งพูดว่า ถ้าไม่มีเวลาถอดบทเรียน ก็ไม่ต้องทำกระบวนการ จึงไม่แปลกใจที่เราต้องทำทุกวัน

ตั้งวงคุยกันเพื่อประเมินผลตัวเอง ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทบทวนกระบวนการทำงาน ดูปัญหา อุปสรรค และดูว่าจะก้าวข้ามมันอย่างไร

กลุ่มฉันเข้ากันได้ดี เป็นฉันและเพื่อนที่ไปด้วยกันครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็ไม่พูดมาก จึงเสร็จไวมาก ได้นอนเร็ว ซึ่งชอบ  

ฉันประทับใจกับน้องสองคนที่ช่วยงานพี่ก๋วย ทั้งสองคนอายุไม่เกินสามสิบ น้องป้อมปืนเป็นเด็ก Home school จบป.ตรีจากอาศรมศิลป์ น้องแจ๊คแก่กว่าป้อมปืน สองคนนี้ทำทุกสิ่ง ชวนเล่นเกม บรรยาย ถ่ายรูป ขี่ซาเล้ง ทำบัญชี ทำงานอาร์ต ประสานงาน ช่วงที่ฟังน้องเค้าบรรยายในวันแรกๆ อีโก้ของฉันมันขึ้นมาแวบนึงว่าฉันกำลังเรียนกับเด็กอยู่เหรอ พอสติมา ก็วางการตัดสิน เรียนต่อไปได้แบบไม่ทุกข์

เหมือนค่ายทั่วไป สตาฟได้นอนดึกกว่าผู้เข้าร่วมเพราะต้องมาสรุปงานที่ทำในวันนั้น และเตรียมงานในวันรุ่งขึ้น มีอยู่คืนหนึ่ง สตาฟนอนกันตีสอง แล้ว ๖.๓๐ น. ตื่นมาขับรถปิกอัพพาเราไปแช่น้ำร้อน ตอนขับรถ แจ๊คดูวิญญาณยังไม่เข้าร่างเท่าไหร่

ทำให้ฉันนึกถึงธรรมยาตรา รู้สึกว่าควรไปช่วยงานเป็นอย่างยิ่ง

ขากลับ นั่งรถสองแถวมากับเพื่อนภาคเดียวกัน มีปู (TK park) และหมอต้องซึ่งตลกและมีข้อมูลเยอะ มากๆ ได้มุมมองเรื่องการศึกษาเพียบ เป็นอีกขุมทรัพย์หนึ่งที่ฉันเล็งไว้แล้วว่าจะใช้ประโยชน์ซักวันหนึ่ง :-) คนอื่นๆ ก็ประทับใจ ทำให้รู้สึกคุ้มที่มา

ตอนนั่งเครื่องกลับ เพื่อนอ.ที่สนิทกัน ที่เป็นคนแรกที่ฉันชวน ถามว่า พี่หญิงไม่เบื่อเหรอ Workshop พวกนี้มันอีโมมากๆ อ่ะ (กลุ่มนางมีคนร้องไห้ตอน AAR มากกว่าหนึ่งคน) ฉันบอก..นี่น้อยแล้วนะ

ส่วนเพื่อนอาจารย์อีกสองคนชอบ บอกว่าปีหน้าจะมาอีก ดีใจที่มีคนพูดภาษาเดียวกันในภาคฯ

Comments