สัมมาอาชีวะที่ชูมัคเกอร์

หญิงพบว่าการเดินทางไปเจอคนที่มาจากอีกอารยธรรมหนึ่งเป็นกระจกสะท้อนตัวเราได้ดีมากๆ ค่ะ มาคราวนี้ได้ฟังเล็กเชอร์ของ Charles Eisenstein ทำให้หญิงเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อพิธีกรรม ว่ามันคงไม่ได้งมงายอย่างที่เราคิด หญิงไม่คิดว่าหญิงจะไปทำพิธีกรรม แต่คิดว่าเราให้เกียรติสิ่งเหล่านั้นว่ามีหน้าที่อะไรบางอย่างที่หญิงยังไม่เข้าใจ เหมือนว่าเราเปิดกว้างขึ้นกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ดูถูกสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ ทำให้หญิงภูมิใจในวัฒนธรรมบ้านๆ บางอย่างที่ดูไม่มีเหตุผลด้วย คิดว่าการเพิ่งไปบาหลีมาก็คงช่วย

เรื่องที่เค้าเล่าที่ชอบมากคือเรื่องแอกติวิสต์ที่ออสเตรเลีย เค้าต่อต้านการขุดน้ำมันแบบ Fracking ที่ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายมากๆ ก็ไปประท้วงกันกับชาวอะบอริจิ้นที่จุดที่จะมีการเจาะ เค้าได้ข่าวมาว่าตำรวจที่มีอาวุธครบมือ มีเฮลิคอปเตอร์ จะมาสลายการชุมนุม แอกติวิสต์คนนี้รู้สึกหดหู่ว่าคงแพ้แน่ แต่ไหนๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็มาเฉลิมฉลองกันแล้วกัน ก็มีการร้องเพลง การเต้นรำ กินดื่ม

พอตำรวจมาเห็นก็งง ทำอะไรไม่ถูก เพราะผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ก้าวร้าวและดูสนุกสนานกัน มันไม่ตรงกับภาพในใจของตำรวจๆ เลยไม่สลายการชุมนุม หลังจากนั้นบริษัทที่จะมาเจาะน้ำมันก็ถูกตรวจสอบเรื่องคอรัปชั่น สรุปก็เลยไม่เจาะน้ำมัน

แอกติวิสต์ไปถามผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้น เธอบอกว่าเธอเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีความขัดแย้งและมีการเอาชนะ แต่คราวนี้ไม่มีความขัดแย้ง เทพของแผ่นดิน (Spirits of the Land) จึงได้ทำงาน ทำให้บรรลุเป้าหมาย

ในสวนของ Dartington Hall
อีกเรื่องที่ชอบคือเค้าเล่าถึงชาวประมงชาวสก็อตที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม คือ ตื่นมาก็กล่าวพร (say a prayer) จะเปิดม่านก็กล่าวพร จะออกจากบ้านก็กล่าวพร เค้าบอกว่าไม่ใช่ทำให้โชคดีหรือทำให้ตัวเองรู้สึกดี แต่มันเป็นการสื่อสารกับบางสิ่ง

ก็เริ่มนึกถึงพระอาจารย์ไพศาล ที่สื่อสารโดยใช้การเล่าเรื่อง จริงๆ การเล่าเรื่องนี่มันมีพลังมากๆ

เมสเสจหลักของคุณชาร์สคือการมองโลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ว่ามีชีวิต มีจิตใจ และเป็นที่รัก เราอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพราะเรารักมัน ไม่ใช่เพราะเรากลัวว่าเราจะตายหรือลำบากเพราะสิ่งแวดล้อมมีปัญหา นึกถึงประเด็นของท่านโน้สว่าท่าทีของเราต่อสิ่งต่างๆ นั้นสำคัญมากๆ และเค้าก็เชื่อเรื่องปาฎิหารย์ (Miracle) ว่าเป็นไปได้ เช่น การสลายของกำแพงเบอร์ลิน การสลายตัวของการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ที่ประเทศแอฟริกาใต้

Martin Shaw นักเล่าเรื่อง บอกว่าเค้าไม่เคยเตรียมว่าวันนี้จะเล่าเรื่องอะไร แต่เรื่องมาหาเค้าเอง หญิงชอบที่มันเป็นธรรมชาติและการเปิดกว้าง พร้อมรับกับพลังงานของคนฟังและสถานที่ บอกเพื่อนฝรั่งว่าเหมือนพระวัดป่าที่ไม่เตรียมเรื่องที่จะพูด เค้าแปลกใจกันว่ามีการมาสอนโดยไม่เตรียมด้วยเหรอ

เพื่อช่วยให้เรามีต้นแบบสิ่งที่จะทำ มาร์ตินแนะนำให้เราเขียนเล่าเรื่องตัวเองโดยใช้เสียงของบุคคลที่สาม เช่น หญิงสาวคนหนึ่งไปเรียนที่... เล่าสั้นๆ และเล่าแบบเป็นเรื่องเล่าขาน

แม่ครัวผู้เนรมิตอาหารอร่อยๆ 
บางเรื่องที่หญิงพูดๆ ออกไป มีเพื่อนบางคนที่จำได้ขนาดผ่านมา ๙ เดือน ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องที่เราเห็นว่าเล็กน้อย อาจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ (ทั้งด้านดีและร้าย) แต่หญิงก็ไม่ได้ตั้งใจเทศน์ให้ใครฟัง เพราะคงไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาสอนนอกเสียจากว่านับถือกันจริงๆ เป็นความรู้สึกอยากแบ่งปันเพราะปรารถนาดีมากกว่า เช่น เพื่อนชาวอเมริกันคนนึง ดูเป็นคนมั่นใจมากๆ อายุ ๖๐ กว่าแล้ว เป็นกิจกรรมเดินแบบทำไดอาล็อก เค้าเล่าให้ฟังเรื่องเสียงในหัวที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ทั้งๆ ที่เค้าก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรมาเยอะ ประสบความสำเร็จมามาก ใจหญิงอยากจะแนะนำแต่คิดว่าเค้าคงไม่น่าจะอยากได้ ก็เลยไม่พูด พอถึงคราวหญิงเล่าเรื่องตัวเองบ้าง หญิงก็บอกว่าหญิงพบว่าการภาวนาในรูปแบบทุกวันให้ประโยชน์ แต่ก็มีขี้เกียจทำบ้าง และพบว่าการแยกว่าความคิดเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ตัวเรา เป็นประโยชน์มาก เพื่อนบอกว่า อ๋อ เหมือนกับที่เค้าว่าๆ ไม่ควรเชื่อความคิดน่ะสิ (Don't believe in every thought.) หญิงคิดว่ามันดูนุ่มนวลกว่าที่จะบอกว่าเธอควรทำนั่น ควรทำนี่

เพื่อนคนนี้บอกว่าหญิงโชคดีนะที่เกิดมาเป็นคนพุทธ ทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดีจริงๆ

งวดนี้มีพระภูฎานมารูปหนึ่ง ท่านถามวันเกิด และทักเพื่อนชาวตุรกีว่า ชาตินี้เกิดมาเพื่อใช้กรรม (You have to pay karma in this life) หญิงไม่แน่ใจว่าเพื่อนกังวลไหม ก็ถาม เค้าบอกไม่ หญิงก็เลยไม่พูดอะไรต่อ แล้วเค้ามาถามหญิงอีกทีว่าคิดว่ายังไง หญิงก็บอกว่าสำหรับหญิงแล้วชีวิตนี้มีค่ามาก เพราะเป็นโอกาสที่จะบรรลุธรรม (become enlightened) กลัวฝรั่งไม่เข้าใจเลยเสริมว่า หมายถึงการไปให้ถึงที่สุดของศักยภาพของตน เค้าบอกว่าเค้าชอบคำตอบนี้ ก็บอกเพื่อนว่าเจตนาสำคัญมากๆ และบอกเค้าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่ แต่ทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งเหล่านั้นสำคัญกว่า (What happens doesn't really matter, but your attitudes towards it are.) ก็ยกตัวอย่างเรื่องมะเร็งว่าบางคนกรี๊ดสลบเวลาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง บางคนเฉยๆ เพื่อนอีกคนแย้งว่างั้นจะฆ่าคนโดยไม่ตั้งใจก็ไม่เป็นไรงั้นเหรอ ก็เลยเล่าเรื่ององคุลีมาลให้ฟัง สาทิส กุมารเขียนหนังสือเรื่องนี้ด้วย ก็บอกให้เพื่อนไปหาอ่านเอา มีขายที่ร้านของวิทยาลัย

พายคาราเมลช็อกโกแลต
พร้อมฟรุตสลัด
กินส่งท้าย
คุยกับเพื่อนอังกฤษที่หญิงคิดว่าเค้าน่าจะเป็นลักษณ์ ๗ เค้าพูดถึงเกมชื่อ Synchronicity เริ่มโดยการที่คนๆ หนึ่งให้คำใบ้ (clue) แล้วคนที่เหลือต้องไปหาสถานที่ สิ่งของ หรือทำอะไรที่ใช้คำๆ นี้ แล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ หญิงก็คิด...เล่นไปทำไมวะ แล้วพอคิดว่าคิดออก ก็ไปถามเค้าว่าใช่ไหม เพื่อนบอก..เล่นเพื่อสนุกไม่ได้เหรอ หญิงก็คิด...เออว่ะ.. เรานี่ใช้เหตุผลตลอดเลย เวลาเล่าเรื่องก็เล่าแบบเรื่องย่อ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่ดราม่าเลย...

ผลพวงของการจับประเด็นอยู่ตลอดเวลาคือเวลาเพื่อนบางคนเวิ่นเว้อ หญิงปวดหัว เพราะเราพยายามจะจับในสิ่งที่ไม่มี คือ ประเด็น และเราจับอย่างอื่น เช่น อารมณ์ของคนพูดหรือสิ่งที่เค้าต้องการแต่ไม่ได้พูด ไม่ได้ด้วย

หญิงได้ทำแบบสอบถามที่เป็นการบันทึก เพื่อช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น พบว่าหญิงอีโก้ลดลงอย่างยิ่งงงงง พอเค้าให้เขียนสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความสำเร็จของเรา มันไม่ใช่คำตอบเดียวกับเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เค้าให้มองว่าถ้าจะตายแล้วให้คำแนะนำกับคนๆ นี้ที่อยู่ตอนนี้ ก็พบว่าคำแนะนำนั้นก็เป็นสิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ ก็รู้สึกดีที่ชีวิตเราอยู่บนเส้นทาง เพียงแต่เคลื่อนไปช้าไปหน่อย

และก็พบว่าการช่วยเหลือคนอื่นเริ่มเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา และเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ สำหรับการพัฒนาตัวเอง

Comments