วันที่หกที่ภูฎาน

Purification Ceremony
ว่ากันว่าควันจากไม้สน Juniper
จะช่วยชำระความไม่บริสุทธิ์
๘ มีนาคม ๒๕๕๘

เมื่อวานตอนเย็น เค้ามีการเล่าเรื่อง (Story Telling) โธเล่านิทานที่เป็นเรื่องที่อาจจะจริงหรือเทพนิยาย (Fairy tales) มาจากหนังสือที่บันทึกโดยคนฝรั่งเศสที่ปลอมตัวมาเป็นขอทาน ต้องปลอมตัวเพราะสมัยนั้นทิเบตปิดประเทศ ไม่อนุญาติให้คนต่างชาติเข้า เดินทางในทิเบตในช่วงคศ. ๑๙๓๐ เขียนร่วมกับลูกชายบุญธรรมที่เป็นชาวทิเบต

เรื่องมันยาวและชั้นก็ง่วงนอนมาก แต่ตัวเรื่องก็เกี่ยวกับความกรุณา (Compassion) อีกนั่นแหละ  เป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งชื่อเมปะ  ชาติก่อนๆ เคยเป็นพระลามะแล้วไม่บรรลุธรรมสักที  เกือบบรรลุธรรมหลายรอบแต่ติดเรื่องผู้หญิงเพราะผู้หญิงคนนี้เคยเป็นอดีตภรรยาที่สาบานว่าจะมาขัดขวางทุกชาติจนกว่าพระรูปนี้จะมี Compassion   ในชาตินี้พระรูปนี้มีคุณสมบัติข้อนี้  ผู้หญิงคนนี้ก็ปล่อยท่านไปแล้วกลับมาเกิดเป็นลูกศิษย์พระอีกที

ตอนช่วงเช้า เค้าให้เราแยกย้ายกันเดินในป่า ๓ ชม. มี Option ให้อดข้าวเช้า แต่ชั้นก็กินอ่ะแหละ แถบนี้เป็นหุบเขา มีภูเขาสูงโอบล้อมรอบ  มีที่โล่ง กว้างๆ  ชั้นพบว่าชั้นภาวนาได้ดีมากๆ เลยในบรรยากาศแบบนี้ (ชีวิตยังพึ่งพาเงื่อนไข) เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงชอบตั้งวัดบนเขา  งวดที่แล้วที่อังกฤษ เค้าให้เดินในป่าสน ชั้นรู้สึกอึดอัด พบว่าไม่เหมาะกับเราเท่าไหร่  เมื่อเช้าภาวนาได้ดีมาก สัปปายะมาก
พ่อออกมาถือศีลที่วัด

สิ่งที่พระอาจารย์บอกก็กลับมาอีก ชั้นรู้ทฤษฎีทุกอย่างแล้วแต่ไม่ทำ  วันนี้นึกได้ก็พยายามวางความคิด กลับมารู้สึกตัว ก็ยังมีการคิดวางแผน หาหนทางนั่นนี่  ไม่ได้นั่งสร้างจังหวะนาน พอมาทำอีกทีก็เพลินมาก  ชั้นนั่งอยู่ตรงศาลาที่มีธงมนต์ คิดว่าคงมีพลังงานที่ดีด้วย

ตอนที่ภาวนา พบว่าเราพุ่งไปข้างหน้าแทบตลอดเวลา คิดถึงอนาคตและพยายามหาทางออกในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนและจบไม่ลง (ณ บัดนี้ เรื่องนั้นก็จบไปแล้ว แบบที่ไม่อยู่ในความคาดหมายด้วย)   พบว่าเราไม่ชอบความไม่แน่นอนและความไม่ชัดเจน  พอคิดไม่ออกก็วนกลับมาใหม่  เหตุมันยังไม่ดับอ่ะนะ ก็ยังมีความคิดเกิดอีก

คนขับรถของเรา เอาข้าวที่เหลือให้แพะ
หน้าตาดี นิสัยดี


จริงๆ การภาวนาก็ไม่มีอะไรมาก  จริงๆ เป็นการสร้างนิสัยใหม่

ช่วงเช้า ก่อนให้เราแยกย้ายกันภาวนา เค้าให้เราเข้าพิธีล้างความไม่บริสุทธิ์  (Purification)  พอเดินเสร็จกลับมาก็กินข้าว แล้วทำพิธีต่ออายุ (Long live)  พระวัชรยานทำให้  ได้สายสิญจน์ด้วย ยาวแบบใส่คอได้ ยังใส่อยู่จนวันนี้  พระลามะที่ทำพิธีเป็นเจ้าอาวาสยังหนุ่มอยู่  ท่านตั้งใจมาพัฒนาวัดบ้านนอกที่เกือบร้างนี้

ตอนนี้ที่วัดมีถือศีลอด (Fasting)  นึกถึงที่วัดป่าสุคะโตมีพ่อออกแม่ออก  ที่นี่เค้าอด ๑ วัน (ข้าวและน้ำ) และกิน ๑ วัน สลับกันจนครบเวลาที่ตั้งใจไว้  งวดนี้ ๘ วัน

เพื่อนๆ แทบทุกคนในคอร์สนี้สนใจพุทธศาสนา  จริงๆ เรื่องการภาวนาเป็นเรื่องที่นิยมมากๆ ในประเทศตะวันตก  แต่ทำแบบมีอัตตาหรือเพื่อลดอัตตาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  รู้สึกโชคดีที่เราเกิดในเมืองพุทธ เพราะหลายอย่างเราก็เข้าใจได้ง่าย  บางคนเค้าก็รู้ว่าชีวิตที่เป็นอยู่ไม่โอเค แต่เค้าไม่รู้ว่าจะออกจากมันอย่างไร  กว่าจะหาครูหรือวิธีปฏิบัติที่ลงตัวก็ไม่ใช่ง่าย

ตอนค่ำๆ จูเลีย วิทยากรอีกคน มาพูดเรื่องพุทธแบบวัชรยาน ครูของเค้าเป็นพระทิเบตที่อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส คนนี้เขียนเรื่อง The Tibetan Book of Living and Dying มีแปลเป็นไทยด้วย เค้าเรียนหมอมา เคยทำงาน UN แล้วก็ออกมาอยู่ที่ GNH Center ที่ภูฎาน งานนี้ดี เค้าลาไปอยู่วัดได้ปีละสามเดือน  จูเลียและโธเป็นคนโชคดี หน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ก็ทำบุญมาดีอ่ะนะ  

เค้าบอกว่ามีครูที่เป็นตัวคน ครูที่เป็นตัวหนังสือหรือรูปภาพ  และครูที่เป็นตัวตนภายในของเรา  ครูของเราจะช่วยให้เราเห็นตัวตนของเราได้ชัดเจนขึ้น ชี้ข้อเสียของเรา นึกถึงพระอาจารย์เราเลย ใช่มากๆ  และครูจะกลับมาเกิดพร้อมกับเราอีกหลายๆ ชาติ  ถึงตอนนี้ก็เริ่มสงสารท่านแทน

ไกด์หลักของเราชื่อ Tsering (เป็นชื่อที่โหลมากๆ ที่ภูฎาน) เค้าเคยมาเมืองไทยเพราะภรรยามาเรียน Journalism ที่ม.รังสิต  น่ารักมาก นิสัยดี

ประเทศนี้อาหารน่าเบื่อมาก กินเหมือนกันเช้ากลางวันเย็น  มีชีสใส่พริก คล้ายๆ น้ำพริก ที่กินกับอาหารทุกมื้อ  อาหารที่เรากินเป็นอาหารคนต่างชาติกิน ก็โอเค ไม่พื้นบ้านเท่าไหร่ถึงเราจะกินข้าวทุกมื้อก็ตาม

Comments