วันที่สามที่ภูฎาน

๕ มีนาคม ๒๕๕๘  ระหว่างทางจากทิมพูไปหุบเขาโพจิกา

เขียนระหว่างรอรถซ่อมยางแตก  เราออกจากโรงแรมตั้งแต่ตีห้าเพื่อหลบ Road block ปิดถนนเพื่อซ่อมทาง  บางจุดยังมีหิมะหลงเหลืออยู่ ถนนโหด ขรุขระและบางช่วงยังเป็นน้ำแข็ง มีลื่นครั้งหนึ่ง คนแต่ละชาติก็มีปฎิกริยากับความไม่แน่นอนต่างๆ กัน เช่น คนเยอรมันก็เตือนคนขับว่า Icy road ส่วนคนตุรกีก็ร้องเพลงแร็บว่า Ice, Ice Baby!!  ส่วนชั้นก็หันไปบอกเพื่อนเยอรมันที่กำลังกังวลว่า You can pray or meditate.  เพื่อนๆ น่ารักมาก ไม่มีใครบ่น

ยังเล่าเรื่องเมื่อวานไม่จบ พระยกตัวอย่างเรื่องความเชื่อมโยง (Dependence origination) จริงๆ ก็ปฎิจจสมุปบาทนั่นแหละ  ท่านเล่าถึงดาราฝรั่งที่เราเห็นว่าสวย ความสวยมาจากผลงานของคนทำลิปสติก คนทำแชมพู คนทำเสื้อผ้า ไม่สามารถสวยด้วยตัวเองได้...

ยังมีหิมะในเดือนมีนา
ตอนบ่ายเมื่อวานเราทำกิจกรรมกลุ่มย่อย ให้ทำอะไรก็ได้มาพรีเซ็น กลุ่มเรามีเด็กม. ๖ สี่คน พวกเราจากชูมัคเกอร์สาม  เด็กเสนอว่าเต้นประกอบเพลงภูฎานกัน  ก็สนุกดี  เต้นในอากาศเย็นๆ ทำให้สดชื่น เด็กใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก คุยกับเด็กๆ เค้าบอกว่าม.ปลายมีสามสาย มี Arts, Commerce, Engineering (มั้ง อันสุดท้ายไม่ชัวร์) มีสอบเอ็นทรานซ์  ถ้าได้ก็ได้ทุน ถ้าไม่ได้ก็ออกเอง มีม. ๗ แห่งสำหรับประเทศนี้ที่มีคนเจ็ดแสน

เราไปดูพิพิธภัณฑ์ยาพื้นบ้าน (Traditional medicine) ฟังเค้าอธิบาย พบว่าคล้ายแพทย์จีนและอินเดียผสมกัน  ที่ร้านขายของมีขายลูกประคำทำจากเมล็ดของต้นโพธิ์ แพงมาก เส้นละหมื่นห้าพันบาท!!

คนที่นี่ใจดี เมื่อวานช้อปปิ้งที่ทิมพู ก็รู้สึกถึงพลังงานที่ดี ไปตอนร้านเค้าจะปิด ได้ผ้าถุง (ของที่นี่ผืนโตมากๆ  หน้ากว้างและยาว) ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ ทั้งหมดเป็นผ้าเก่าและไหมดิบ ชั้นชอบผ้าเก่าที่มันดูมีประวัติศาสตร์และลายสวย  ซื้อของโดยไม่ต่อราคาเพราะคนในพื้นที่บอกว่าคนที่นี่เค้าไม่บอกเกิน  คนขายแถมของมาให้ด้วย

ตอนหยุดระหว่างทาง ก็ขอร้านค้าเข้าห้องน้ำโดยไม่ซื้ออะไร เค้าก็ไม่ว่า

ทำนาขั้นบันได
ระหว่างทาง ขณะที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น เราหยุดที่ช่องเขา (Pass) แรกที่อยู่สูง ๓๓๐๐ ม.เหนือระดับน้ำทะเล คงเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์เพราะเห็นว่ามีเจดีย์และวัดอยู่ เค้าบอกว่าอธิษฐานได้  ก็อธิษฐานไป

ชอบแสงตอนเช้า สาดลงไปบนอะไรก็ดูดีหมดเลย

ขโยกเขยกจนมาถึงหุบเขาโพจิกา เค้าพาเรามาวัดอายุ ๓๐๐ กว่าปี  สถาปัตยกรรมที่นี่แปลก สร้างสูง  ถอดรองเท้าถอดหมวกเข้าโบสถ์ซึ่งห้ามถ่ายรูปทุกที่  พระประธานอยู่ชั้นล่างและข้างบนมีห้องพิเศษสำหรับบูชาพระอาจารย์ต่างๆ  และมีห้องของเทพท้องถิ่นที่ไม่ให้คนต่างชาติเข้า วัดนี้เด่นตรงไม้แกะสลักด้านนอก ระหว่างที่อยู่ในโบสถ์ ได้ยินเสียงสวดมนต์  พอออกมา ก็พบพระเพิ่งทำวัตรเสร็จ ออกมาจากอีกอาคารหนึ่ง เณรเยอะ

เดินตลาดระหว่างรอซ่อมยาง
จากวัดนี้ เราก็เดินไปที่บ้านชาวนา (Farmhouse) ประมาณ ๒ ชม. เข่าเดี้ยงจึงเตรียมไม้เท้ามา ช่วยได้มาก  เดินได้ช้าแต่มีเพื่อนมาเดินด้วยสองคน คนหนึ่งเป็นนักจิตบำบัดชาวอังกฤษ คือ ให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่น อยู่ไม่สุข เครียด  ตอนนี้เค้าเป็นอาสาสมัครอยู่ที่ชูมัคเกอร์  เค้าบอกว่าเค้ากำลังเรียนรู้ที่จะเปิดใจตนเอง  เคยได้คุยกันแบบ Dialogue พบว่าเหมือนเค้าใช้ความสุภาพเพื่อปกปิดอะไรบางอย่าง ก็ดีใจกับเค้าที่จะค้นพบตัวเอง

เค้าเล่าว่าที่อังกฤษมีเว็บชื่อ Big White Wall ให้คนที่มีปัญหามาโพสได้แบบนิรนาม ก็มีคนอื่นมาให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ มีเจ้าหน้าที่คอยดูอยู่ ถ้าเคสไหนดูไม่ดี ก็จะเข้ามาช่วย เราว่าดี

บ้านชาวนาทำเป็นอาคารสามชั้น ชั้นล่างสุดเอาไว้ให้สัตว์อยู่ ชั้นสองเอาไว้เก็บเมล็ดพันธุ์ ชั้นสามเอาไว้อยู่  มีชั้นดาดฟ้าอีก เอาไว้ตากของ  บ้านเค้าเอาดินมาทำฝา แม่บ้านทำชาเนยมาให้เรา ชาเนยที่นี่ทำจากนมวัว ไม่ใช่จากจามรี  เค้าทำข้าวใส่น้ำตาลใส่เนย  ได้ชิมเนยสด อร่อย แล้วก็ชิมไวน์หมักเอง กินตอนอุ่นเหมือนสาเก ใส่ไข่ด้วย

บริเวณนี้มีนกกระเรียนคอดำ (Black-necked cranes) ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ๆ จนชาวบ้านเลือกที่จะไม่มีไฟฟ้า  เพราะถ้าต้องมีสายไฟระโยงระยาง นกอาจจะวิ่งชนสายไฟตายได้  กษัตริย์เห็นว่าควรมีไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศ จึงจัดให้เดินสายไฟลงดิน

ที่นี่พอมืด พระอาทิตย์ตก หนาวมาก ลมแรงด้วย  เค้าใช้เตาที่มีปล่อง แบบที่ทิเบตใช้  หน้าหนาวๆ จนคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น  พระก็กลับไปอยู่บ้านตัวเอง ๒ เดือน

พอถึงโรงแรม พบว่าไม่มีอินเตอร์เน็ตในหุบเขานี้ เราจะ disconnected ไปห้าวัน  ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชั้นติดอินเตอร์เน็ตหนักมากพอดีด้วย  

Comments