Right Livelhood ที่ Schumacher college (1/x)

The Old Posten มองจากทางเข้า
ฉันเพิ่งไปเรียน Short course ที่ชูมัคเกอร์ เพื่อนที่เพิ่งเจอที่วัดแนะนำให้ไป เค้าไปเรียนที่นั่นแล้วชอบมากๆ ถึงขนาดเป็นอาสาสมัครอยู่ที่นั่นสามเดือน ตอนแรกฉันไม่ได้สนใจว่าเป็นคอร์สอะไรที่ไปเรียนมากนัก แค่อยากไปดูสถานที่ ดูบรรยากาศ อยากพบสาทิส กุมาร (Satish Kumar ฝรั่งออกเสียงว่า ซาทิช) ซึ่งเป็น Idol ของเพื่อนและของพระอาจารย์เรา เค้าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวิทยาลัยนี้ สาทิสเป็นคนอินเดียที่ตอนนี้อยู่อังกฤษ เคยเดินจากอินเดียไปวอชิงตันดีซี ปารีส และมอสโคว์ โดยไม่ใช้เงิน เพื่อรณรงค์เรื่องสันติภาพ เค้าเล่าเรื่องการจาริกครั้งนี้ในหนังสือ No destination หนังสือแปลเป็นไทยใช้ชื่อว่า"นักเดินเท้าแปดพันไมล์"

ชื่อวิทยาลัยมาจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อ E.F. Schumacher หนังสือที่รวบรวมบทความของเค้าก็มีแปลเป็นไทยอีกเช่นกัน ชื่อ Small is beautiful: Economics as if people mattered ชื่อไทยว่า "เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน" เรื่องตลกร้ายของฉันคือว่า ก่อนหน้านี้ ฉันไม่เคยได้ยินชื่อของสาทิสหรือชูมัคเกอร์เลย แต่พระอาจารย์ฉันน่ะเคยอ่านทั้งสองเล่มแล้ว ท่านน่าจะได้ไปวิทยาลัยชูมัคเกอร์มากกว่าฉัน

ผู้จัดคอร์สส่งบทความของชูมัคเกอร์ชื่อ Buddhist economics หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธมาให้อ่าน ถึงได้รู้ว่าชื่อคอร์สที่ฉันจะไปเรียนนั้นมาจากบทความนี้ Right Livelihood แปลว่า "สัมมาอาชีวะ" หนึ่งในองค์ประกอบของอริยมรรค ชูมัคเกอร์เห็นว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กระตุ้นให้คนบริโภคมากๆ ใช้ทรัพยากรมากๆ นั้น ไม่ยั่งยืน และกำลังล่มสลายด้วยความสำเร็จของมันเอง มีบทความอื่นๆ ในหนังสือ Small is beautiful อีก ฉันยังอ่านไม่จบ หนังสือมัน intense มาก เหมือนกินครีม ต้องค่อยๆ ละเลียด กินทีเดียวอาจจุกได้ 

วิทยาลัยชูมัคเกอร์สอนแต่ปริญญาโทและคอร์สสั้นๆ มีจำนวนอาจารย์และนักศึกษาไม่มาก ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องอาหาร ครัว  อยู่ในบ้านหลังใหญ่ๆ หลังหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า The Old Posten ซึ่งเป็นอาคารโบราณอายุ 600-700 ปี นักศิกษาทุกคนอยู่หอพักที่ห่างไปไม่เกิน ๒๐ ก้าว มีแปลงผัก มีสวน มีครัวของตัวเอง มีป่าและแม่น้ำอยู่ใกล้ๆ พอจะเรียกทำกิจกรรมอะไร เช่น เรียกกินข้าว ก็ลั่นฆ้องเรียก ทุกคนต้องช่วยกันทำงาน แม้กระทั่งผู้บริหารวิทยาลัยและอาจารย์ กินข้าวด้วยกัน มีเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยทำงาน Admin และมีอาสาสมัครทำงานบางอย่าง อาสาสมัคร (Helper) ไม่ได้ค่าจ้าง แต่ได้ที่พักและได้อาหาร ทุกคนได้ห้องพักเดี่ยว ประตูล็อกไม่ได้ ทำความสะอาดห้องเอง บรรยากาศเหมือนอยู่โรงเรียนประจำ อีกอย่างคือฉันรู้สึกว่าชูมัคเกอร์เหมือนวัด เพื่อนที่นั่นบอกว่าสาทิสตั้งใจออกแบบให้ที่นี่เป็นอาศรม  ที่มีเปียโนและกีต้าร์ให้เล่น และมีบาร์ที่เสริฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนค่ำๆ

วิทยาลัยตั้งอยู่ใน Dartington Estate เป็นพื้นที่ขนาด 3000 ไร่ที่เคยเป็นของเจ้าขุนมูลนายอังกฤษ ขายให้เศรษฐีอเมริกันซึ่งตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อทดลองรูปแบบขององค์กรทางสังคมแบบต่างๆ  เมืองที่ใกล้ที่สุดคือ Totnes ท็อตเนส ซึ่งเป็นเมืองฮิปปี้มากๆ

สีแดงๆ คือบีทรูทกับถั่วเลนทิล
สิ่งที่เด่นมากของชูมัคเกอร์คืออาหาร เป็นมังสวิรัติ ใช้ของออร์แกนิค มีฟาร์มผักแถวนั้นเอาผักมาส่ง ผักสลัดหรือผักหัวบางอย่างก็ปลูกเอง เค้าเชื่่อในเรื่องการไม่ทำร้ายสัตว์ นอกจากนี้การเลี้ยงสัตว์สิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่าการกินพืชโดยตรง อาหารทุกอย่างทำใหม่ ไม่ใช้ของสำเร็จรูปที่แช่แข็งมา วันแรกๆ ที่ฉันกิน รู้สึกจืดมากเพราะลิ้นชินกับอาหารรสจัดและผงชูรส พอกินไปสักพักก็เริ่มปรับได้  ฉันกินอาหารที่มีกากใยเยอะมากจนถ่ายวันละสามหน แต่ก็ไม่ผอมลงเลยเพราะขนมและขนมปังที่นี่อร่อยมาก  เค้าพยายามใช้ทรัพยากรให้น้อย ที่ห้องอาหารใช้ผ้าเช็ดปากแทนทิชชู ฉันใช้จนเริ่มชิน กลับมากรุงเทพก็พยายามใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษทิชชู  เศษอาหารถูกทำเป็นปุ๋ยสำหรับสวน

จริงๆ สิ่งที่เด่นกว่าคือคนที่นั่น ซึ่งมีแต่แปลกๆ จะได้กล่าวถึงทีหลัง 

ป่าที่ใกล้ๆ วิทยาลัย
เล่าถึงกิจวัตรประจำวัน ตอน 7.15น. คอร์สเรามีภาวนาร่วมกัน วิทยากรคนหนึ่งเป็นชาวเวียดนาม ลูกศิษย์ท่านติชนัทฮันห์ Tho ช่วยนำภาวนา คอร์สเราใช้ Mindfulness (พอแปลว่า"สติ" แล้วรู้สึกประหลาด มีกิจกรรมไหนที่ไม่ใช้สติบ้าง) เป็นเครื่องมือ; 7.45น.อาหารเช้า ซึ่งโดยมากเป็น Cereal ผลไม้ ขนมปัง; 8.30น. มี Community meeting เพื่อมา check in กันว่าวันนี้ใครทำอะไรบ้าง มีอะไรจะแจ้งหรือเชิญชวนให้คนอื่นทราบไหม บางทีก็มีเพลงหรือข้อความมาอ่านให้ฟัง หลังจากนั้นทำงานชุมชน เค้าจัดงานให้พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาคอร์สสั้น คนอื่นๆ ก็ใช้ลงชื่อว่าจะทำอะไร บางอย่างก็เป็นช่วงเช้า เช่น ทำสวน ทำความสะอาดภายในอาคาร บางอย่างก็เป็นตอนบ่าย เช่น ช่วยงานที่ครัว ฉันชอบงานครัวมากกว่างานทำความสะอาด งานทำสวนก็โอเค ได้อยู่ข้างนอก; 10-13น. เรียน; 13น. กินข้าวเที่ยง; 14-17 น. เรียน; 18.30น. กินข้าว ตอนค่ำๆ ก็อาจจะมีคนมาพูดให้ฟัง เป็นกิจกรรมของวิทยาลัยอยู่แล้ว หรือบางทีก็เป็นคนพูดพิเศษสำหรับคอร์สเรา; 21.30น. บาร์เปิด ฉันนอนหัวค่ำ จึงไม่เคยไปบาร์เลย

Comments