ธุรกิจเพื่อสังคมและเพื่อโลก

เรามาเข้าคอร์สที่ Schumacher College ชื่อ The right livelihood ซึ่งแปลเป็นไทยว่าสัมมาอาชีวะ (เพิ่งรู้หลังจากที่จ่ายเงินแล้ว อะไรแล้ว)  ภาพรวมที่ได้จากการเรียนไปครึ่งหนึ่งของโมดูลแรกคือว่าด้วยการดำเนินชีวิตที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดที่ผิดทาง (Disconnect or disresonate ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยมากๆ )

เพราะว่าเราใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ไม่หลับอยู่กับงาน งานจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะเกิดสัมมาอาชีวะได้ คนจัดคอร์สพาเราไปดูตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งมีเป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แต่ก็ไม่ใช่องค์กรการกุศลที่รับเงินบริจาค เป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยตนเอง

ตัวอย่างที่อ่านเจอจาก Facebook post ของคุณทรงกลด บางยี่ขันคือ ร้านอาหารที่มีแปลงปลูกผักของตัวเอง ร้านอาหารที่รับคนทั่วไปมาทำงาน เพื่อเรียนรู้และฝึกงานไปด้วย

พนักงานที่ Recycle center


ที่คอร์สมีสองตัวเลือก อันแรกคือร้านเฟอร์นิเจอร์ใช้แล้วชื่อ Restore และฟาร์มปลูกผักและดอกไม้ชื่อ School farm เราเลือกไปที่ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ชื่อ Restore ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ งานมีสองส่วน ส่วนแรกคือรับบริจาคเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า หนังสือ จักรยาน เหมือนร้านมือสอง แล้วก็มาซ่อมถ้าเสีย มีสองราคาๆ แรกสำหรับคนรายได้น้อย ที่รับความช่วยเหลือจากรัฐ กับอีกราคาหนึ่งสำหรับคนทั่วไป ร้านนี้ซอมซ่อหน่อย ของบางส่วนจะมาจาก Recycle center ที่ชาวบ้านเอามาทิ้ง โดยมีสตาฟของมูลนิธิไปเลือกมา ทางศูนย์ Recycle ได้ประโยชน์ตรงที่รัฐจ่ายเงินคืนให้ ตามน้ำหนักของของที่ถูกเอาไปใช้ คือ แทนที่จะเอาไปทิ้งที่ๆ ทิ้งขยะ (Landfill) ก็ประหยัดพื้นที่  ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์เพราะได้ของราคาไม่แพง และเป็นการช่วยโลกลดขยะ ลดการใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตของใหม่ เป็น Win-win situation

ที่หน้าร้าน Restore


จุดแรกที่เค้าพาเราไปดูคือ Recycle center ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนจากฝรั่งเศส  เดิมรัฐเคยทำเอง เค้ามีถังใบใหญ่ๆ ให้แยกขยะอย่างชัดเจน เช่น แบตเตอรี่ น้ำมันเครื่อง สารเคมีจากบ้าน หลอดไฟ เศษใบไม้ อาหาร เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เศษเหล็ก ไม้  พนักงานเค้าหน้าตาดูไม่ค่อยรู้อะไร แต่ปรากฎว่าข้อมูลเยอะมาก  เค้าบอกได้ว่าแต่ละอย่างไปไหนบ้าง เช่น แต่ก่อนเศษเหล็กถูกส่งไปจีน แต่ตอนนี้จีนซื้อเหล็กจากรัสเซียได้ราคาถูก ก็เลยไม่ซื้อเศษเหล็กแล้ว  ส่วนเศษไม้ส่งไปสวีเดน ผสมอย่างอื่น แล้วอัดเป็นก้อนๆ ทำเป็นเชื้อเพลิง  พวกเรารู้สึกว่าสิ้นเปลืองมากที่ส่งนั่นนี่ไปที่ต่างๆ  พนักงานคนนี้บอกว่าไม่มีอะไรถูก Recycled จริงๆ ใน UK หรอก เพราะค่าแรงแพง (ค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 344 บาท) ชอบที่เค้าบอกว่า พอคนเอาทีวีมาทิ้ง แล้วถูกส่งไป Recycled ที่เมืองจีน ที่นั่นก็ได้โอกาสผลิตทีวีเครื่องใหม่มาให้คนที่นี่ใช้

หลังร้านเป็น Workshop ดู Artsy มากๆ


ส่วนที่สองเป็นร้านและ Workshop ชื่อ Restore ไอเดียคือเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นยังใช้ได้อยู่ แต่อาจชำรุดหรือเก่าตกรุ่น  Adrian มีทักษะด้านช่างไม้ ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ได้  ก็เลยมาทำ เค้าให้คนทั่วไปมาเรียนรู้ ช่วยซ่อมเฟอร์นิเจอร์ได้ เป็นการสร้างอาชีพ เสริมทักษะให้กับคน  ตอนที่ไปก็เห็นมีเด็กฝึกงานอยู่ นอกจาก Adrian ก็มีอาสาสมัครคนอื่นๆ ที่มีทักษะและอยากถ่ายทอดวิชา เช่น เราได้ไปช่วยศิลปินหญิงคนนึงแปะเศษกระเบื้องบนโต๊ะที่ถูกทิ้ง  ครูบางคนก็เป็นผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ก็ได้ทำประโยชน์กับสังคม  ของที่ขายที่นี่เป็นงานดีไซน์ จึงตั้งราคาแบบเดียว  เราชอบไอเดียของการฝึกทักษะและการซ่อมเฟอร์นิเจอร์ บางอันมันเป็น Antique น่ะ  เสียดายที่มันจะถูกทิ้ง  เค้าให้พื้นที่กับศิลปินมาวางขายงานด้วย  ถ้าศิลปินมาช่วยสอนก็จะคิดค่าคอมมิชชั่นกับของที่ขายน้อยหน่อย แต่ถ้าไม่มาช่วยเลย ก็คิด 30%

Adrian กับคุณป้าอาสาสมัครที่พาเราไปดูทุกที่


เพื่อนที่ไปด้วยบอกว่าประทับใจความอินกับงาน (Passion) ที่อาสาสมัครหลายๆ คนทุ่มเทให้  บางคนบอกว่าประทับใจที่สามารถสร้างงานศิลปะได้จากขยะ

เราชอบ Quote ที่เค้าแปะที่ฝาผนังว่า

"It's impossible," said pride.
"It's risky," said a pessimist.
"It's pointless," said reason.
"Give it a try," said the HEART.




Comments