เจ็ดวันที่อยู่กับตัวเอง

เพิ่งกลับจาก Meditation Retreat เราไม่อยากเรียกว่าคอร์ส เพราะเราว่ามันดูไม่เป็นการพักผ่อน จริงๆ สำหรับเรามันเป็นการพักสมอง พักใจ  ไปมาแปดคืน เจ็ดวันเต็ม เรารู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่มีอะไรๆ พอจะเล่าได้  จริงๆ มีวาระแอบแฝงอย่างอื่นที่เขียนเรื่องนี้ด้วย

เราไปที่ Retreat นี้เพราะเคยฟังหลวงตาสุริยาเทศน์หลายครั้ง ชอบสไตล์การเทศน์ แต่ไม่เคยคิดว่าจะไปที่วัดป่าโสมพนัสที่ท่านอยู่และจัดอบรม เพราะเราก็มีวัดประจำที่เราไปอยู่แล้ว (ขนาดวัด ยังมี"วัดของฉัน") แต่งวดนี้โรงเรียนอนุบาลจุฑาภรณ์ ที่อยู่ใกล้บ้านเราระยะเดินถึง จัดสำหรับเด็กและผู้ปกครอง หลานเราอยู่ที่นี่เราเลยได้สิทธิ์ เค้าไม่รับคนภายนอก ประจวบเหมาะกับที่เราได้รู้จักพระรูปหนึ่งที่ชื่นชมหลวงตามากๆ เราก็ว่าจะลองดู  พระมาใกล้บ้านขนาดนี้ ไม่ไปก็ดูจะโง่เกินไป

ขนาดว่าเราผ่านมาหลาย Retreat แต่ก่อนไป เราก็ยังมีลังเล ขี้เกียจ รักสบาย แต่ก็ดีที่ก่อนจะไป เราปี๊ดขึ้นกับพระอาจารย์เราเอง เรื่องเล็กน้อยมากๆ เล็กไม่เล็กก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะในทางทฤษฏี เค้าบอกว่าเหตุสมควรโกรธไม่มีในโลก  ตอนโกรธก็รู้หมดเลยว่าควรทำอย่างไร เช่น ไม่หาเหตุผลว่าทำไมโกรธ แกควรไปเดินจงกรม ก็เดินแล้ว เดินก็หายโกรธ พอหยุด ก็ขุ่นเคืองอีก  ชัดเจนว่าการภาวนาของเรานี้นี่ไม่ได้เรื่องอย่างแรง  พระอาจารย์ตอกย้ำอีกว่าอารมณ์แบบนี้สอบไม่ผ่าน นี่ทำมาหลายปีแล้วนะ  ขนาดมีพระรูปหนึ่งคอยจิกกัดเราเรื่องไม่ภาวนาเป็นประจำก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองถดถอยจนกระทั่งประจักษ์เองว่าภาวนาไม่พอจริงๆ ก็เลยยิ่งต้องไป

กิจวัตรประจำวันก็คล้ายๆ กันทุกวัน คือ ตื่นตีสามกว่าๆ นอนในห้องเรียนเด็กอนุบาล นอนแอร์ มีห้องน้ำ ห้องส้วมติดกัน  ทำวัตรเช้าตอนตีสี่สิบห้า สวดมนต์และฟังธรรม ต่อด้วยกินข้าวเช้า ช่วงนี้นั่งยาวเกือบ ๓ ชม. เราไม่เคยนั่งพื้นนานขนาดนี้มานานแล้ว เราพับเบาะให้สะโพกสูงกว่าเข่าก็แล้ว นั่งขัดสมาธิก็แล้ว บิดตัวเป็นระยะๆ ก็แล้ว ก็ยังรู้สึกเมื่อยหลังล่าง สักพักเริ่มรู้สึกถึงเข่าขวาชัดมากๆ  จะพูดว่าปวดก็ได้  ขนาดว่าร่างกายนี้ผ่านการฝึกโยคะมา ๓-๔ ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ ๑.๕ ชม. เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ก็ยังขนาดนี้  ความจริงกระแทกใจเราว่าแกหนีความเสื่อมของสังขารไปไม่พ้นหรอก จะโยคะ นวดไทย กินวิตะมิน ล้างลำไส้ ยังไงก็เสื่อม และความเสื่อมนี้จะไม่สบายมาก มากขึ้นเรื่อยๆ

โรงเรียนเค้ามีกฏว่า ถ้าเด็กมา ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะต้องมาอย่างน้อย ๑ คน  เด็กส่วนใหญ่อยากมา เด็กอินกว่าผู้ใหญ่เยอะ ส่วนมากอ่ะนะ มีอาม่าอายุ ๗๕ มาคนหนึ่ง ลูกชายขอร้องให้มาเพราะหลานอยากมา  แกนั่งกับพื้นเหมือนทุกๆ คน  ผ่านไป ๒ ชั่วโมง เวลาแกจะลุก แกต้องยันให้ก้นขึ้นก่อนหัว เพราะคงต้องเอาส่วนหนักขึ้นจากพื้นก่อน  คุณยายอีกคนเวลาลงบันได ต้องลงแบบซ้ายขวาชิด คือไม่ได้ก้าวซ้ายขวาซ้ายขวาลงน่ะ  เราก็รู้สึกว่า ถ้าตอนแก่กว่านี้มาภาวนา ถ้าไม่อึด อดทนมากๆ คงสู้ความเสื่อมของร่างกายไม่ไหว คือ นอกจากสู้ความง่วง ความเบื่อ ความคิดแล้ว ก็ยังมีร่างกายนี้ที่จะต้องเข็นให้มันเคลื่อนไป

กินเสร็จ ล้างจานเอง ก็แยกย้ายไปภาวนา  พระแบ่งตามแถวว่าจะให้เดินชั้นไหน ให้เดินที่เดิม ไม่ให้เปลี่ยนที่ เดินในห้องเรียนก็ได้ ทางเดินก็ได้  เราชอบที่สว่าง เราก็เปิดไฟพรึบทั้งห้อง คุณครูเดินมาปิด เราก็อยากจะไปเปิดกลับ แต่ก็เอาวะ...ลองลด Demand ลงบ้าง ก็โอเค แต่ท้ายสุด เราก็หนีไปเดินคนเดียวตรงที่พระไม่ได้กำหนด คือ ตรงสระว่ายน้ำ เพราะสว่าง เห็นท้องฟ้า เดินคนเดียว และไม่มีคนอื่นใช้ จริงๆ เค้าเอาไว้ให้เด็กเดิน เค้าแยกให้เด็กกับผู้ใหญ่ไม่เจอกัน อยู่คนละตึก  แต่ก็นั่นแหละ ความเป็นตัวตนก็ปรากฏชัดอีกเช่นเคย  หลายครั้งเราแหกกฎ push the limit เข้าข้างตัวเองว่า ก็ลองทำดู ถ้าเค้าว่าค่อยถอย ถ้าไม่ว่า ก็แปลว่าโอเค  จริงๆ เค้าอยากให้เราอยู่ได้ในทุกที่ จัดให้ตรงไหนก็ต้องอยู่ตรงนั้น

เจอกันอีกทีตอน ๑๑ โมงเพื่อกินข้าวเที่ยง  อาหารที่นี่ดีนะ แต่ไม่กล้ากินมาก เพราะมันจะง่วงมากๆ  ช่วงบ่ายๆ เดินยาว เพราะนั่งสร้างจังหวะแล้วง่วงมากๆ  ที่นี่เค้าให้เดินแบบปกติ รู้สึกถึงเท้ากระทบพื้น ร่างกายที่เคลื่อน ความคิดที่เกิด ไม่ได้ให้ท่องอะไร หรือเดิน slow motion วันแรกและครึ่งเช้าของวันที่สอง ง่วงมากๆ แต่ก็ทน เราก็คิด...นี่ขนาดเราเดินจงกรมที่บ้านทุกวันนะ อย่างน้อยก็ยี่สิบนาที เช้าบ้าง เย็นบ้าง หรือทั้งเช้าทั้งเย็น เรายังง่วงขนาดนี้  สิ่งที่ทำได้คืออดทน

จริงๆ มันก็คงไม่ต้องทนอะไร ถ้าเราไม่ปฏิเสธสิ่งที่เป็นอยู่ แต่พอเราอยากได้อย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ แล้วไม่มีทางหนีจากตัวเอง เช่น ดูทีวี คุยโทรศัพท์ อ่านหนังสือ ก็เหลือทางเลือกเดียว คือยอมรับและทนเอา  มา Retreat แบบนี้ ฝึกท้้งกายและใจ คือ นั่งทน เดินทน และเจอกับตัวเองจังๆ

วันที่สองตอนบ่ายก็หายง่วง ก็เจอกับความเบื่อแทน ก็อยากรู้ว่าความเบื่อมันมาทางไหน ก็พบว่า เมื่อไม่มีอะไรให้ฟุ้งซ่าน ก็เบื่อ ช่วงแรกๆ ก็ท้าทายตัวเองว่า อ้าว...ก็รักตัวเองนักไม่ใช่เหรอ นี่เป็นโอกาสที่ได้อยู่กับคนที่รักแบบไม่มีคนอื่นแล้วนะ  บางทีก็..อืม...อยากรู้จักตัวเองนักใช่ไหม นี่ไงโอกาส...  จริงๆ เค้าไม่อยากให้คิด Trick ที่เล่ามานี่ก็แค่คิดเอา เค้าให้"รู้" ไม่ใช่ให้คิด

เราเชื่อมาตลอดว่าเราเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ไม่มั่นใจ เพราะหลายครั้งเราทนความเบื่อไม่ได้ หนีด้วยการไปมองโน่นมองนี่ (ตอนเดินจงกรม ก็สงสัย ทำไมบางทีฉันไปดูนก ดูเครื่องบิน ก็พบว่าใจบอกให้กายทำแก้เบื่อแค่นั้นเอง) เกานั่นนี่ กินน้ำ เข้าห้องน้ำ ชัดเจนว่าทุกวันนี้ที่กินนี่แก้เบื่อซะมากกว่าหิวจริง

พระสั่งครูให้เก็บโทรศัพท์และนาฬิกาข้อมือหมด นาฬิกาที่ผนังก็ปิดกระดาษไม่ให้เห็นเวลา เขียนว่า "อย่าท้อนะโยม" ซึ่งเราก็ยังแอบดูเข็มยาวอยู่  จริงๆ นาฬิกาเราไม่โดนยึด เพราะเราไม่รู้ ครูแค่บอกว่าไม่ให้ใส่ เราบอกว่าเราเก็บในย่ามได้  ก็พยายามไม่ดูเวลา ประเด็นคืออยากให้อยู่กับปัจจุบัน บอกเวลาด้วยออด

ที่ Retreat นี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราไปโดยไม่รู้จักใคร ซึ่งดีมาก ชอบ เพราะไม่คุย เป็นครั้งแรกที่เป็นความบอบบางของสติ (ความรู้สึกตัว) ที่เราฝึกมา มีบางช่วงที่คุยเล็กๆ น้อยๆ ยังรู้สึกใจกระเทือน  ชัดเจนว่าที่เม้าแตกทุกวันนี้นี่สติฉันกระเจิงแค่ไหน  ห้องเรานอนเจ็ดคน เวลาตื่นเช้าหรืออาบน้ำตอนเย็นเพื่อเตรียมตัวไปทำวัตร ก็มาจับกลุ่มคุยกันบ้าง เราไม่ได้มาเข้าสมาคมผู้ปกครอง เลยเลี่ยง อยู่ห้องให้น้อยที่สุด หรือรีบนอน  ในทุก Retreat หรือการภาวนาสั้นๆ พระอาจารย์ทุกรูปจะบอกให้เก็บวาจา คืองดพูด เราไม่เคยใส่ใจจะทำจนถึงงวดนี้ ไม่ใช่กลัวพระแต่อยากลองดูว่าทำแล้วเป็นไง โอกาสก็เหมาะด้วยคือเราไม่อยากรู้จักใครและไม่มีใครสนใจเรา

อีกเรื่องที่ค้นพบคือ คุณภาพของการนอนขึ้นอยู่กับความฟุ้งซ่านของวันก่อนหน้า ถ้าฟุ้งมากแล้วไม่เคลียร์มันออก จะต้องนอนเยอะและนอนไม่ดี แต่ถ้าไม่ฟุ้ง หรือเคลียร์มันเรื่อยๆ มันจะไม่สะสมมาถึงตอนนอน อยู่ที่นี่ เรานอนไม่เกิน ๕ ชม.ครึ่ง แต่ก็ไม่ง่วง เลยเข้าใจทำไมหลวงตาบอกว่านอน ๓-๔ ชม.ก็พอ

เค้าไม่ให้นอนกลางวันเด็ดขาด ออดดังตอนห้าโมงเย็นให้ไปอาบน้ำ เจอกันห้าโมงครึ่งเพื่อเดินจงกรมหมู่ แล้วก็รับน้ำปานะ (งดข้าวเย็น) และทำวัตรเย็น คือ สวดมนต์และฟังธรรม หลวงตาอึดมาก พูดได้ยาวๆ  ท่านอธิบายข้อธรรม เช่น พระสูตรต่างๆ ในหนังสือสวดมนต์ อธิบายสภาวะธรรมบ้าง หรือเล่าเรื่องขำๆ ให้พวกเราหายง่วงบ้าง แต่มันยาวมากกก นั่งตั้งแต่ ๑๘-๒๑ น. หรือกว่านั้น  ครูใหญ่กำชับว่าอย่าดื่มน้ำเยอะ เพราะหลวงตาไม่ชอบให้ลุกไปลุกมาเข้าห้องน้ำ นอกจากเมื่อยเราก็ทรมานเพิ่มจากการปวดฉี่ บางวันไม่ไหวก็ลุกอยู่ดี  ช่วงท้ายๆ พอทั้งง่วง เมื่อย ปวดฉี่ ก็จะส่งกระแสจิตไปหาหลวงตาว่า เลิกเถอะค่ะ  พร้อมปลอบใจตัวเองว่า นี่คือการทดสอบความอดทน

การบอกตัวเองว่า กำลังโดนสอบอารมณ์ เป็น Trick ที่ใช้ได้ใน Retreat นี้ และถ้าไม่ลืม ก็จะเอาไปใช้ต่อ  วันสุดท้าย (วันก่อนออกมา) เราไม่ได้รับอาหารเช้า ได้แต่เพล เราไม่โกรธ ไม่กังวล ก็เออ..ลองดู  การผ่านความลำบากก่อนหน้านี้ช่วยได้มาก ช่วยให้มั่นใจว่าเราไม่ตาย ไม่หน้ามืดแน่ คือ ตอนไปธุดงค์ก็อดมาครั้งหนึ่ง ตอนไปศรีลังกา เดินลงจากภูเขาศรีปาทะเพื่อลงมากินเพลข้างล่างโดยที่ยังไม่ได้กินข้าวเช้าก็อีกหนึ่ง แล้วได้ข้อสรุปว่าการอดทั้งสามครั้งนี้มีพระเกี่ยวเนื่องด้วยทั้งสิ้น  ถ้าเราจัดสรรเอง คงไม่ให้ตัวเองอดแน่

ความดุของหลวงตา และการที่ท่านสั่ง จับวางทุกอย่าง กระทบโดนตัวตนของเราอย่างมาก พระจะบอกตั้งแต่...แจกหนังสือสวดมนต์ ไหว้ ลุก  หลวงตาจะหยุดเทศน์เมื่อท่านหยุดเทศน์ คือ มีเวลาอย่างคร่าวๆ แต่ก็ไม่ตายตัวตามนั้น  ความเป๊ะตามตารางของเราโดนทดสอบ ความอยากจัดการ ความอยากให้มันเป็นในแบบที่เราอยากเป็นแสดงตัวชัดเจน  แต่ก็อยู่ได้โดยไม่เคืองเพราะคิดว่ามันเป็นบททดสอบ คือ เราไม่ชอบคิดในโหมดคนดี  คนดีมันก็ดี แต่เราว่ามันใสซื่อ naive ไป และเรารู้ว่าเรา Bitchy เกินกว่าจะ operate ในโหมดนั้น ซึ่งพระอาจารย์คงบอกว่านี้ก็เป็นตัวตนเราอีกเหมือนกัน

หลวงตาพูดเรื่องสภาวธรรม คือ สิ่งที่คุณจะพบเมื่อคุณภาวนาถูกหรือไม่ถูก  สิ่งที่ผิดไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา แต่เพราะเราอยากได้สิ่งที่ถูก มันก็เลยไม่เกิด จะเอาความอยากไปดับความอยากได้อย่างไร  การรู้มากก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งสำหรับคนชอบฟัง ชอบอ่านธรรมะอย่างเรา เราไม่ได้ฟังเพราะคิดว่าฟังธรรมแล้วทำให้ดี แต่เรารู้สึกว่าฟังแล้วมันผ่อนคลาย รู้สึกว่ามันใช่ ใช่มากๆ ชอบความรู้สึกที่เกิดเวลาได้ฟังธรรมแล้วมันโดน เหมือนมันคลิก

อีกอย่างที่กระทบเราคือท่านพูดถึงเทวดาว่าคือคนที่อยู่อย่างสบาย อยากได้อะไรก็ได้ เรารู้อยู่แล้วว่าเรานี่แหละเทวดา ชีวิตเราดีกว่าคนทั่วไปมาก ไม่ลำบาก ทำงานก็ไม่อึดอัด เพื่อนดี แต่ข้อเสียคือ มันทำให้เราอ่อนแอ ไม่อดทน ภาวนาไม่ขึ้นหรือบางคนก็ไม่มาเลย อยู่เฉยๆ ก็มีความสุขดี ทำไมต้องทำตัวลำบาก  หลายๆ ทีเราเองก็คิดแบบนั้นขนาดเข้าวัดมาหลายปีแล้ว  "ข้อดี"ของเรากลับมาทำร้ายเราเอง

วันที่ห้า มีความอยากให้เพื่อนสนิทเราได้มาภาวนาบ้าง  ซึ่งเราได้เคยลองพยายามแล้ว บางคนมา คนที่อยากให้มามากที่สุดกลับไม่เคยไปได้  ทั้งๆ ที่เราคิดว่าเค้าน่าจะทำได้ดีมาก เพราะพื้นฐานสมาธิเค้าดีและครอบครัวก็ให้สวดมนต์ ไปวัดตั้งแต่เด็กๆ  ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ตั้งใจเล่าให้พระอาจารย์ฟัง, ตอบคำถามว่าไปแล้วเป็นไงมั่ง และเป็นการ PR สำหรับคนที่ไม่เคยไป  ไม่รู้ว่า Convince ให้ไป หรือเล่ามากไปแล้วเห็นว่าลำบากไป จึงไม่ไปก็ไม่รู้

จริงๆ แล้ว โพสนี้คง more convincing ถ้าได้ตอบว่าเราภาวนาไปทำไม คำตอบสั้นๆ คือ เราอยากรู้จักตัวเอง อยากรู้ความจริงที่ไม่เปลี่ยนเพราะความแก่ ความจน ความสูญเสียน่ะ  แต่ณ ตอนนี้ คงขับเคลื่อนด้วยความอยากสุขละมัง




Comments