ลองเป็นนักบวชหญิง (1/2)

วันออกพรรษา ชาวบ้านตักบาตรเทโว
Credit รูป: วิชัย นาพัว ชมรมเด็กรักนก

Hard core ไปหรือเปล่า


ช่วงปิดเทอมเล็กที่ผ่านมา ฉันมาบวชชีที่วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ ๑๒ วัน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง: อธิษฐานไว้ว่าถ้าพ่อผ่าตัด Bypass แล้วอาการดี จะบวช; อยากท้าทายตัวเอง เพราะคิดว่าฉันยังยึดติดกับ Look ของตนมาก ว่าจะต้องเป็นงี้ๆ  เคยได้ยินพระรูปนึงบอกว่าผู้หญิงติดเรื่องรูปลักษณ์เยอะ ก็เลยอยากหักดิบตัวเอง  อ้อ...แล้วได้แรงบันดาลใจจากผู้หญิงหน้าตาหวานแหวว ช่างแต่งตัวคนหนึ่ง ที่เค้าเคยบวช  ก็คิดว่าถ้าเค้าทำได้ เราก็ทำได้

ขนาดว่าวางแผนมาอย่างดี วันที่จะบวชก็เกือบถอย  เอ๊ ฉัน Hard core ไปหรือเปล่า ต้องโกนผมเลยเหรอ  แต่โชคดีว่ามีเพื่อนมาด้วย ๔ คน เค้าอุตส่าห์มาเป็นเพื่อนเรา ก็จะถอยไม่ได้ ลางานแล้ว เคลียร์งานแล้วด้วย

ที่ตลกคือว่า ฉันบอกบางคนว่าจะบวช เพื่อไม่ให้เค้าช็อคเวลาเจอฉันหัวโล้น คำถามแรกจากเพื่อนผู้หญิงคือว่า แล้วผมเธอจะทำไงตอนเปิดเทอม (ฉันเป็นอาจารย์มหาลัย)  เราก็ขำปนท้อแท้ว่าทำไม๊ มันไม่ถามว่าฉันบวชวัดไหน ปฎิบัติแบบไหน อยู่กี่วัน จะลำบากไม๊  แต่เป็นห่วงเรื่องผมเนี่ยนะ  แสดงว่าผมนี่สำคัญมาก สมกับที่เป็นอุตสาหกรรมหลายพันล้านจริงๆ

เตรียมพร้อมก่อนบวช  


ฉันไปซื้อชุดแม่ชีที่ร้านหอมหวล ซึ่งเค้าขายทางเน็ตและวางขายที่เสถียรธรรมสถานด้วย ฉันชอบผ้าเค้า แห้งไวดี  ตากคืนเดียวก็แห้ง นิ่มด้วย มีเสื้อ ผ้าถุงมีแล้วไม่ซื้อ กางเกงขาก๊วยนุ่งในผ้าถุงกันโป๊ และผ้าครอง (สไบอย่างยาว) เพิ่งมารู้ทีหลังว่าแม่ชีไม่ใส่บรา แต่จะมีเสื้อทับพิเศษที่มีบ่าเดียว (คล้ายอังสะพระ) ที่มี Padding ตรงอกให้ไม่โป๊  เสื้อทับนี้ฉันไม่ได้ซื้อ เพราะคิดว่ามันไม่ได้ใช้อีกถ้าไม่ได้เป็นแม่ชี ก็เลยใช้เสื้อทับธรรมดา  เค้ามีขายชุดสีน้ำตาลด้วย ฉันซื้อมาเผื่อวันลุย 

เหตุผลเรื่องไม่ใส่ยกทรงนี่ประหลาด เค้าว่าสมัยพุทธกาลไม่มียกทรง อ้าว...แล้วกางเกงในล่ะ ทำไมใส่ ทีพระยังไม่ใส่เลย ฉันเลยว่าเหตุผลนี่ไม่ค่อย consistent เท่าไหร่

แล้วก็ท่องคำขอบวชเนกขัมมะ  ซึงมีคำอาราธนาศีล ๘ ด้วย  

พระอาจารย์บอกให้ขอขมาพ่อก่อนไปบวช (แม่ฉันเสียแล้ว) และให้พ่อตัดผม พ่อเค้าไม่อินกับเรื่องอีโมพวกนี้ เค้าก็เลยไม่ได้ตัดให้ แต่ฉันโชคดีที่เค้าเข้าใจและอนุญาติให้บวช  ตอนแรกไม่กล้าขอเค้า กลัวเค้ากังวลว่าเราเพี้ยน  อยู่ดีๆ ไปบวช แต่เค้าก็ป๋าพอที่จะบอกว่า โกนหัวทั้งทีทำไมบวชแค่สิบวัน
  

บวชวัดนี้เพราะ...


ปกติจะไปวัดป่าสุคะโตมากกว่า เพราะพระอาจารย์อยู่ที่นั่น แต่เลือกมาภูหลงเพราะคนน้อยกว่ามาก ที่กุฎิที่พักไม่มีไฟฟ้า (ใช้เทียนหรือไฟฉาย) แต่มีน้ำบ่อที่ต่อท่อมา มีไฟฟ้าเฉพาะที่ศาลาทำวัตรและครัว  ไม่มีคลื่่นโทรศัพท์ มีเฉพาะบางจุดในที่โล่ง  Hightlight คือที่นั่นเป็นป่าขนาด ๒๐๐๐ ไร่ สามารถหลีกเร้นไม่เจอใครได้  และที่สำคัญคือพระและแม่ชีที่นี่น่ารัก เป็นกันเอง ไม่เรื่องเยอะหรือจุกจิก  ฉันรู้จักแม่ชีทุกรูป และพระแทบทุกรูป (มีพระที่เพิ่งมาบวชในพรรษานี้ที่ฉันไม่รู้จัก) หลวงพ่อคำเขียนและพระอาจารย์ไพศาลก็จำพรรษาที่นี่ปีนี้  และพระอาจารย์อีกรูปของฉัน...ท่านตุ้ม..ก็อยู่ที่นี่ โชคดีที่ท่านตุ้มอยู่ตลอดในช่วงที่ฉันอยู่  ท่านตุ้มเป็นคนอบอุ่น อยู่ใกล้ๆ แล้วเหมือนอยู่ที่บ้าน (Feel like home)

กุฎิมีจำกัด และเต็มหมดในช่วงพรรษา  แม่ชีเลยจัดให้ฉันพักกับแม่ชีอีกรูปหนึ่งที่มีกุฎิที่ระเบียงกว้าง พอที่ฉันกางเต๊นท์นอนได้  อีก Option คือพื้นที่กางเต๊นท์ส่วนตัว แต่ห้องน้ำตรงนั้นน้ำไม่ไหล ก็เลยไม่ได้ไปตรงนั้น ซึ่งก็ดี เพราะว่าฉันเจอช่วงที่พายุเข้า ฝนกระหน่ำสองวันติดกัน ถ้าอยู่ตรงนั้นคงเดินจงกรมไม่ได้ ได้แต่นั่ง

วันที่บอกลาผม


พระอาจารย์ตัดผมฉันเป็นคนแรก ใช้กรรไกรยาวๆ แบบไม่ต้องสัมผัสผม ท่านวางผมลงมาบนใบบัวที่ฉันถือบนพาน  เห็นแล้วก็โอ้...เราว่าผมเราสั้นมากแล้วนะ ตัดออกมาแล้วยาวขนาดนี้เชียวหรือ แล้วก็หงอกมากด้วย แล้วก็พระอาจารย์อีกคนของฉันตัดต่อ ตามด้วยแม่ชีและเพื่อนๆ  แม่ชีวิโกนให้  แล้วก็โกนคิ้ว  จริงๆ ฉันไม่เสียดายผม แต่เสียดายคิ้วมากกว่า เพราะหน้าจืดมากเมื่อไม่มีคิ้ว  มีคนบอกว่าถ้าไม่มีหู ก็ใช่ปลาไหลเลย...

แล้วก็ขึ้นไปขอบวชบนศาลา เสร็จแล้วพระอาจารย์ก็เทศน์สั้นๆ ตอนสวดฉันนั่งท่าเทพธิดา (นั่งทับขาแบบญี่ปุ่น) แล้วพอฟังเทศน์ ฉันเปลี่ยนเป็นนั่งขัดสมาธิ ซึ่งโดนดุบอกให้นั่งพับเพียบและให้พนมมือฟังด้วย ก็เลยเพิ่งรู้ว่านั่งพับเพียบสุภาพกว่านั่งขัดสมาธิ  ฉันจำใจความของธรรมเทศนาไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าน้ำตาไหล (Finally, I did it!!) จำได้ว่าท่านบอกว่าอนุโมทนาด้วยที่ตัดเรื่องสวยงามออกไปได้  แล้วก็บอกว่าให้ดูแม่ชีอื่นๆ เป็นตัวอย่าง อะไรที่งามก็ให้ทำตาม  

เสร็จแล้วท่านก็กลับไปวัดป่าสุคะโต ฉันก็อยู่ที่ภูหลงไป

พบว่าการที่วัดไม่มีกระจกเงาเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราไม่ค่อย Aware เรื่องรูปลักษณ์ของเรา  ถ้ามีกระจก ก็อดส่องไม่ได้  พอไม่มี เราก็ไม่รู้สึกว่าเราหัวโล้นและปราศจากคิ้ว  

ออกบิณฑบาต


วันที่สองของการเป็นแม่ชีก็ได้ออกบิณฑบาต ตามพระอาจารย์ตุ้มและแม่ชีอีกรูปหนึ่ง  เป็น "เส้นสั้น" แค่ ๔ กม. คือสั้นเมื่อเทียบกับอีกเส้นที่ยาว ๘ กม. แม่ชีให้เรายืมบาตร ถอดรองเท้าเดิน เจ็บเท้าจากก้อนกรวดเล็กใหญ่  ก็จะเดินช้าเวลาทางยาก ข้อดีของเท้าเปล่าคือเดินระวัง จะเหยียบอะไรก็จะดูก่อน และรู้สึกตัวดีมากๆ ท่านตุ้มชี้ให้ดูนั่นนี่ ทำให้ลืมเจ็บไปบ้าง และการเดินเพลิดเพลินขึ้น อากาศตอนเช้าปลอดโปร่ง และแสงสวยมาก  บ้านแรกที่ใส่บาตร ฉันรู้สึกอนุโมทนาไปกับเขาด้วย และดีใจที่เราเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำบุญของเขา  ได้ช่วยพระและแม่ชีสวดให้พรเค้าด้วย   


Comments