Land of thousand pagodas

Evening puja at Sule Paya, Yangon
ก่อนอังกฤษรวบรวมพม่าแล้วแปะเข้าไว้กับอินเดีย เพื่อให้ง่ายในการบริหารจัดการ  สิ่งที่เราเรียกว่าสหพันธรัฐพม่า ประกอบด้วยคนหลายชาติเผ่า เช่น พม่า มอญ ไทยใหญ่ (อยู่รัฐฉาน) กะเหรี่ยง ดังนั้น หากเราไปบอกคนพม่าว่าคุณเป็นพม่า เค้าอาจบอกว่าเค้าไม่ใช่ เค้าเป็นไทยใหญ่ก็ได้

ตั้งแต่ฉันไปพม่าเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน ฉันก็สังเกตเห็นแล้วว่าคนพม่าเค้าใช้พื้นที่วัดต่างจากเรา คือ เค้าก็ยังคงไปทำบุญที่วัดเหมือนเรา แต่เค้าใช้มันมากกว่านั้น คือ เพื่อการสวดมนต์และการภาวนาในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว บางที ก็เห็นถือปิ่นโตมานั่งล้อมวงกินข้าว  มานอนพักตอนบ่าย  มานั่งคุยกันฉันเพื่อน ฉันแฟน  ด้านหน้าพระพุทธรูป มีลูกประคำสาธารณะและหนังสือสวดมนต์ให้คนทั่วไปใช้  บางทีก็มีแผ่นไม้ (คล้ายๆ pallet ที่เอาไว้วางของตามโกดัง) เพื่อเอาไว้นั่งภาวนา จะได้ไม่เย็นก้น และไม่สกปรก   วัดส่วนใหญ่ปิดค่ำ เช่น ชเวดากองปิดสี่ทุ่ม นอกจากนักท่องเที่ยว ก็มีคนมาภาวนากันมาก  และอีกที่หนึ่ง Botataung Paya ("Paya" แปลว่า Buddha) ที่เราไปตอนค่ำ มีการสอนธรรมะด้วย  ที่ย่างกุ้งและมันฑะเลย์ดูมีบรรยากาศการภาวนาหนาแน่นกว่าเมืองอื่นๆ ที่เราไป

Fragrant mala
วัดที่เราได้ไปพักส่วนใหญ่มีเณรอยู่ด้วย  ที่พม่ายังคล้ายๆ เมืองไทยสมัยก่อน ที่ลูกชาวบ้านที่ขัดสน จะมาอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ และมีกิน มีที่พัก มีเสื้อผ้าไปด้วยในตัว  ท่านณรงค์ พระไทยในพม่าที่เราเจอ บอกว่า จากเณร เหลืออยู่ในเพศบรรพชิตประมาณ 5-10%  เณรที่ฉันพบดูเรียบร้อยเป็นระเบียบดี  ท่านอยู่ด้วยกันเป็นโรงนอน แต่ละคนจะมีหีบใส่ของ แล้วก็เครื่องนอนของตัวเอง  บางวัดก็จะเข้มงวดกับเณรมาก เช่น ที่วัดจากาไวย (Kha Khat Wain) เณรใหญ่บอกว่าไม่ให้อ่านหนังสืออ่านเล่น, ถ้าทะเลาะกัน จะถูกไล่ออกทั้งคู่, มีเช็คชื่อตอนไปบิณฑบาต, หากฝนตกตอนบิณฑบาต ก็ไม่ให้กางร่ม, ถ้าขาดบิณฑฯ จะต้องมาทำงานใช้แรงแทน  เจ้าอาวาสรูปก่อนเอาเณรและพระไปทำงานบูรณะเจดีย์โบราณด้วย โดยท่านบอกว่า...กินข้าวก็กินเหมือนกัน ก็จะต้องใช้แรงเช่นกัน... 

Evening chant at Sule Paya, Yangon


ใจฉันๆ ชอบให้เด็กมีวินัย  การมีอิสระเสรีมันก็ดี  แต่คนเราจะอิสระได้จริง ต้องเข้มแข็งพอ ไม่งั้นจะเป็นลูกแหง่ตลอดไป  ฉันว่าเด็กสมัยนี้โดนตามใจ เลยทำให้ใจเสาะ อ่อนแอ ท้อแท้...

ที่พม่า พระและเณรจะทำวัตรเช้าตอนตีสี่ถึงสี่ครี่ง แล้วฉันเช้าประมาณตีห้าหรือหกโมง อาหารเช้าก็จะเป็นข้าว กับเล็กน้อย (ที่ย่างกุ้งดูมีอาหารมากกว่าที่อื่นๆ) แล้วจะออกบิณฑบาต บางวัดก็จะออกพร้อมกันเป็นแถวยาว บางวัดก็จะทยอยกันออกไป  อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตสำหรับเพล (อาหารเที่ยง)  พระพม่าบางรูปถือพัดไว้กันแดดด้วย

พระบางรูปจะมีบ้านประจำที่ท่านจะไปรับอาหาร โดยชาวบ้านจะนิมนต์ให้ท่านเข้าบ้าน ไปนั่งรับอาหาร (รับมาฉันที่วัด)  พระใหม่ๆ จะยังไม่มีบ้านประจำ ต้องมาบิณฑบาตประจำจนชาวบ้านคุ้นเคยและนับถือ จึงจะได้รับนิมนต์เป็นพระขาประจำ  

พระท่องหนังสือ ที่วัด Kha Khat Wain
สำหรับที่ Kha Khat Wain ที่หงสาวดี ที่พระและเณรบิณฑบาตกันสายละร้อยกว่ารูป  ญาติโยมก็ใส่กันเป็นหลักร้อยเช่นกัน  ถ้าใส่ทัน ก็จะใส่พระรูปแรกของแถว บางที ก็แค่เอาจานข้าวจรดกับบาตรของพระว่าได้ถวายแล้ว แล้วก็เทลงใส่ภาชนะของเด็กวัด  ส่วนกับข้าว เด็กวัดก็จะมีปิ่นโตมาใส่ (ไม่เห็นกับข้าวถุงเลย) โยมก็เทจากจานใส่ปิ่นโตวัด  โยมบางคนก็ใส่ข้าวในบาตรพระทีละรูปจนกว่าจะหมดที่เตรียมมา  เท่าที่จะใส่ได้   ดังนั้น พระที่รับงานหนัก คือ พระรูปแรกๆ  พระรูปท้ายๆ แถวก็ไม่ค่อยได้รับ  บางรูปก็เลยท่องหนังสือไป เดินบิณฑบาตไป  อาหารที่ได้จะถูกนำไปแบ่งอีกที

วัดที่ Inle Lake ที่อยู่บนน้ำ พระไม่ต้องไปบิณฑฯ โยมเอามาถวายเอง

เท่าที่เราถาม พระและแม่ชีที่พม่าจะแยกกันอยู่คนละวัด (ของแม่ชีเรียก Nunnery) บางทีก็รั้วชนกันกับวัด  ที่อินเล เราได้พักกับแม่ชี  แม่ชีที่นี่บิณฑบาตด้วย แต่ใช้หม้อมีหูแทนบาตร แม่ชีที่นี่ไม่นุ่งขาว แต่จะมีหลายเฉดสี เช่น ชมพู น้ำตาล แกมเหลืองก็มี  โดยเค้าให้เหตุผลว่าต้องการแยกแยะจากพวกฤาษี (Hermits) บางพวกที่นุ่งขาว และพวกเตรียมบวชพระที่เรียกว่า อนาคาริก (Anakariga) ด้วย

แม่ชี, Sirium

ความสัมพันธ์ระหว่างโยมและพระในพม่าคล้ายๆ ในไทย เพราะเราเป็นเถรวาทเหมือนกัน เช่น โยมยังให้ความนับถือพระอยู่มาก เวลาคุยกับพระก็พนมมือ เวลาเดินผ่าน ก็ยอบตัวลง พระและโยมกินข้าวกันคนละโต๊ะ  แต่ก็มีข้อแตกต่าง เช่น โยมผู้หญิงสามารถยื่นและรับของจากมือพระได้เลย สามารถนั่งติดกับพระได้

ที่พม่านี้ มีพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกได้อยู่ ๑๒ รูป (ตอนนี้เหลือ ๖) "ทรง" คือ ทรงจำได้ทั้งหมด  ฉันเพิ่งรู้ว่าภาษาบาลี (ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฏก) มีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน  ดังนั้นการสืบทอดจึงต้องใช้การท่องจำ ส่วนการบันทึกเป็นตัวเขียนจึงใช้ภาษาท้องถิ่น เช่น ไทย พม่า 

ที่ห้องพักของเณรใหญ่
ตามท้องถนน ฉันเห็นป้ายที่มีรูปพระ เหมือนประกาศอะไรสักอย่าง มารู้ทีหลังว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การแสดงธรรมของพระรูปที่อยู่ในป้าย  ก็ดีนะ...  น่าจะได้ผลกว่าอินเตอร์เน็ต....

Comments