Kindness makes the world go around

พระนอนที่พุกาม
จริงๆ แล้วฉันมีความอยากเล่ามากกว่าที่จะอยากเขียน...

ฉันไปพม่ามาเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกไปกับทัวร์ ก็เลยเฉยๆ และจำอะไรไม่ได้ ครั้งนี้พิเศษมาก เพราะฉันไปกับพระและแม่ชี และเราไปกันเอง โดยไม่มีไกด์ มีแต่หนังสือ Lonely Planet หนังสือพม่าตราตรีง และ Trips Magazine และแผนที่ประเทศพม่า

ด่านแรกที่เราไปถึงคือย่างกุ้ง ซึ่งฉันจองโรงแรมได้ และเป็นที่ๆ Lonely Planet แนะนำ ส่วนเมืองอื่นๆ ที่เราจะไป (มัณฑะเลย์ พุกาม อินเล หงสาวดี ไจท์ทิโย) ฉันจองไม่ได้ทางอินเตอร์เน็ต ก็เลยไม่จองและคิดว่าเราน่าจะขอพักที่วัดได้ เพราะไปกับพระ ๔ รูป แม่ชี ๑ พักที่โรงแรมไม่สะดวกเพราะทำวัตรเช้าไม่ได้ และไม่เหมาะกับนักบวชเท่าใดนัก คนก็มองแปลกๆ ด้วย  เราก็พักโรงแรมแค่ที่เดียวคือ ย่างกุ้งและไจท์ทิโย (พระธาตุอินทร์แขวน) ที่เหลือนั้น เราก็ได้พักที่วัดทั้งหมด ซึ่งทำให้เราได้คุยกับคนในท้องถิ่น ได้ไกด์ Local ได้เห็นวิถีชีวิตพระและเณรพม่า ได้ที่พักที่ดีมากๆ ได้รับการต้อนรับอย่างดี นอกจากประหยัดเงินแล้ว

พระไกด์ของเรา
ที่วังเก่าที่วัด Shwenandaw มัณฑะเลย์
ประเด็นคือว่า..แล้วจะพักที่วัดไหนล่ะ (Monastery คือ ที่ๆ อาศัยของพระ แต่ Temple เป็นที่ๆ บูชา) สำหรับมัณฑะเลย์ หนังสือ Lonely Planet ไฮไลท์ Shwe In Bin Monastery (ไกด์บุ้คไทยไม่พูดถึงสักเล่ม) ว่าเป็นเรือนไม้สักทอง สวยมาก น่าไป และอยู่ใน Monk district (อีกแหล่งข้อมูลทางเน็ตบอกว่าที่ Mandalay มีจำนวนพระอยู่ครึ่งหนึ่งของพระทั้งหมดในพม่า เราถามคนที่นี่ เค้าบอกสามแสนที่เมืองนี้ เกือบเท่าพระทั้งประเทศไทย) เราก็เลยคิดว่ามีความน่าจะเป็นสูงที่จะได้ที่พักแถวๆ นั้น

พอไปถึง Shwe In Bin เราไม่ได้รับอนุญาติให้พัก (คงเป็นเพราะมีนักท่องเที่ยวมานี่เยอะ) ฉันก็ใจฝ่อนิดหน่อย แต่ Lonely Planet ก็บอกว่าใกล้ๆ กันมี Ma Soe Yien Monastery ที่ใหญ่และยัง active มาก (กิจกรรมและจำนวนพระลดลงไปมากหลังจากที่รัฐบาลทหารจัดการกับพระที่ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่มัณฑะเลย์ในปี 2007 โดยบังคับให้กลับบ้านบ้าง ขังคุกบ้าง) เราก็ถามทางชาวบ้าน เค้าก็ชี้เข้ามา เราอ่านป้ายวัดภาษาพม่าไม่ออก เราก็เดินเข้าไป ปรากฎว่า เข้าวัดผิด! (จะขุดชื่อวัดมาเติมทีหลัง) แต่โชคดีที่วัดนี้มีพระไทยอยู่ด้วย ชื่อ ท่านณรงค์ ที่นี่เรียกว่า อูวิสารทะ ("อู" แปลว่า พระ)  ตอนแรกเค้านึกว่าเราเป็นแขกของท่าน ท่านไม่อยู่ พระก็ต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับท่าน  ค่ำวันนั้น ท่านณรงค์ก็ต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง โดยกลับมาที่วัด และพาเราไปเที่ยวในวันรุ่งขึ้น เราโชคดีมากๆ เพราะมีพระไทยในพม่าแค่ ๒-๓ รูป ท่านณรงค์พูดพม่าได้ (ท่านบวชที่วัดพม่าที่ลำปาง) และเรารู้ทีหลังว่าท่านเป็น expert ด้านบาลี สันสกฤต ท่านอยู่ที่นี่เพื่อสอนและเรียนไปด้วย ท่านว่าการเรียนบาลีที่พม่าเข้มมาก

ส่วนบ่ายวันนั้น ก็ได้พระพม่าที่พูดอังกฤษที่วัดนี้นำเที่ยวไปก่อน ท่านหน้าใสกิ๊กมาก พระพม่าไม่โกนคิ้ว และคิ้วก็เข้มมากๆ ด้วย ก็เลยดูเข้มไปอีก ท่านก็จัดการหารถเช่าให้  พระที่เราเจอที่พูดอังกฤษได้ส่วนใหญ่บวชตั้งแต่เป็นเณร คือ เค้าให้เรียนบาลีก่อน พอผ่านระดับ ๕ (เทียบเท่าเปรียญ ๙) ถึงอนุญาติให้เรียนภาษาอังกฤษ และต้องขวนขวายหาเอง  พระที่เราเจอหน้าเด็ก แต่บวชเกิน ๑๐ พรรษาแทบทั้งนั้น

กับท่าน Thadhina ที่พุกาม

ชอบบรรยากาศที่วัดที่มัณฑะเลย์มาก มีการสวดมนต์กันทั้งคืน เพราะเป็นดงวัดจริงๆ วัดรั้วติดๆ กัน มองไปทางไหนก็เห็นแต่พระ เห็นมากกว่าฆราวาสอีก ไม่เคยเจอที่ไหนพระหนาแน่นเท่าที่นี่เลย เสียงสวดมนต์ออกทางไมค์บ้าง และเป็นเสียงลอยลมมาบ้าง  ฉันหลับไปท่ามกลางเสียงสวดมนต์...

จากที่มัณฑะเลย์ ท่านณรงค์แนะนำชื่อวัดที่พุกามให้ พอเราเดินไปใกล้ๆ วัด Alo Daw Pyi ก็เห็นพระรูปหนึ่งยืนอยู่ ปรากฎว่า ท่าน Thadhina เดินไปเดินมาอยู่ตรงนั้นพอดี  ท่านก็ช่วยเหลือหารถพาเราเที่ยว และท่านก็ไปเป็นไกด์ให้เรา ถึงฉันเคยไปพุกามมาแล้วรอบหนึ่ง แต่มีหลายวัดที่ท่านพาไปที่ไกด์บุ้คไม่ได้พูดถึง  วัดนี้ให้ที่พักสำหรับคนพม่าที่มาจาริกที่พุกามด้วย ก็เลยพร้อมรับคน เค้าจัดให้เราพักอย่างดี ให้พระฉันเช้าที่วัดด้วย  และเป็นธุระจัดการเรื่องรถเช่าจากพุกามไปอินเล ซึ่งได้ราคาดีแบบพระท้องถิ่นติดต่อให้เท่านั้น  ตอนแรกเราจะไปรถบัสหรือเครื่องบิน แต่เต็มหมด สุดท้ายก็เหมารถกันไป

แล้วเราก็ใช้วิธีนี้ไปตลอด ขอ Contact วัดในที่ๆ เรากำลังจะไป   ที่อินเล เราได้พักที่ Kan Gyi Monastery ที่ Nuaung Shwe จาก Contact ที่พุกาม  แต่ที่หงสาวดี (พะโค หรือ Bago) เราไม่มีวัดเป้าหมาย ก็ได้ Lonely Planet อีกเช่นกัน เค้าก็แนะวัด Kha Khat Wain ที่เป็นวัดใหญ่มาก มีพระและเณร ๔๐๐ กว่ารูป เค้าแนะในแง่ว่าพระวัดนี้เดินบิณฑบาตเป็นแถวยาว น่าชมมาก (ทัวร์ไทยนิยมไปใส่บาตรตอนสายๆ) เราก็ดุ่ยๆ ไปเลย  เจ้าอาวาสก็อนุญาติ จัดให้เราพักในอาคารใหม่ หาเณรไทยใหญ่ที่พูดไทยได้มานำเราเที่ยว แถมยังให้สามล้อวัดมาใช้อีก พอเราไปกราบท่านทีไร ก็ให้ขนมมาด้วยทุกที

ที่ Kha Khat Wain นี้ พระไทยของเราก็ได้บิณฑบาตเป็นครั้งแรกในพม่า (ท่านเอาบาตรและถุงนอนมาด้วย) เค้าแบ่งเป็น ๔ สายๆ ละร้อยกว่ารูป  ฉันก็เดินตามพระไป ถ่ายรูปด้วย  Observe ด้วย  เค้าก็เรียงตามลำดับความสูงของตัวและพรรษาด้วย เณรน้อยๆ ก็อยู่ข้างหลัง  ไว้จะเล่าเรื่องการบิณฑบาตของพระพม่าทีหลัง แต่อยู่แถวนี้ อยากจะใส่บาตรพระ ๙๙ รูปทุกวันก็ได้

พระไทยเด่นในพม่าเพราะสีจีวรไม่เหมือนกัน
Alms round at Bago
ส่วนจุดสุดท้ายที่เรากลับมาคือที่ย่างกุ้ง เพื่อพักหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็ขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ เราได้ Contact จากท่าน Thadhina ที่พุกาม เป็น Meditation center ใหญ่ พอไปถึง หน้าตาสถานที่ไม่ใช่วัด แต่ดูเป็นโรงแรมหรือ Convention center พบคนที่หน้าประตู เค้าบอกพักไม่ได้ เราก็เข้าใจว่าวัดข้างๆ นี้เป็นวัดที่ดูแลตึกนี้อยู่ พูดกับพระน่าจะรู้เรื่องมากกว่า ปรากฎว่าผิดอีกเช่นเคย  เป็นวัดเล็กๆ ที่มีพระและเณรอยู่ ๘๐ รูป  เจ้าอาวาสทักเราก่อนเป็นภาษาไทย  ท่านมีหลานเป็นกะเหรี่ยงที่เคยทำงานที่กรุงเทพ และพูดไทยได้ "ดา" เป็นล่ามให้เราอย่างดี  ท่านจัดให้พระพักที่ห้องรับรอง ส่วนฉันและแม่ชีไปพักที่ Study Hall (มีฉากกั้น) ซึงปรากฎว่าเณรและพระใช้ท่องพระสูตรกัน ที่นี่ฉันอยู่ท่ามกลางเสียงสวดมนต์เลย ดังแบบสนั่น ไม่ใช่แว่วมาไกลๆ อย่างเคย  พอสามทุ่มครึ่ง มีเสียงระฆังให้ไปนอน เสียงก็หยุด ไฟดับ ปรากฎว่ามีเณรกางมุ้งนอนอยู่อีกมุม อีก ๕ รูป

สิ่งที่ประทับใจมากๆ คราวนี้คือความช่วยเหลือและการดูแลที่เราได้รับอย่างดี  ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสวัสดิภาพของเรา ไม่ได้บอกเล่าก่อนว่าจะมา  การจาริกคราวนี้เป็น one of the best trips in my life so far, and I've been to many places!  I feel really grateful for all the hospitality that we received, and I'm no longer worried about not knowing EXACTLY what to do or where to go, like I have greater trust in people.  Not that I become naive but just that I have a firmer belief in inherent good hearts in people.

Comments