Ying on foot with her stuff on her back

พระอาจารย์ไพศาล ส่งสารถึง
Cleveland Dhamma Walk ระหว่างพัก
ฉันเพิ่งกลับจากการเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวที่ชัยภูมิ  เป็นครั้งแรกที่เราให้คนเดินที่อายุน้อยกว่า ๕๐ ปีแบกเป้เอง  ฉันไม่ได้กังวลเรื่องการแบกของ เพราะเคยเดินป่าที่เมืองนอกแบบแบกเต็นท์ ถุงนอนและอาหารมาแล้ว รู้ว่าทำได้ (ถึงจะโคตรเหนื่อย) แต่สิ่งที่ฉันกลัวมากกว่าคือ ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในงานและความปี้ดแตกของฉันที่จะตามมา

ปีที่แล้ว ฉันบังเอิญไปช่วยคณะนี้ เพราะไปขอหัวข้อ Senior project ให้นิสิตปริญญาตรี เลยได้ช่วยทำเว็บและลงทะเบียน (ไม่ไว้ใจว่าเด็กป.ตรีจะทำเสร็จทัน) เนื่องจากฉันทำเว็บทั้งๆ ที่ไม่เคยไปร่วม ฉันก็เลยไปให้รู้ว่าเป็นไง และฉันก็งงมากกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เจอ  โดยเฉพาะความไม่เป็นระบบของมัน (ซึ่งมันอาจจะแค่อะไรไทยๆ ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง) ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบรรดาครูโรงเรียนมัธยมในแถบชัยภูมิ ที่เห็นธรรมยาตราเป็นค่ายดัดสันดานเด็ก ส่งเด็กความประพฤติไม่ดีมาให้ แล้วสัญญากับเด็กว่าจะแก้เกรดที่ติด "ร" ให้ถ้าเดินครบ  และอีกส่วนหนึ่งคือจำนวนเด็กที่เยอะมาก  อยู่ดีๆ โยนมาให้ ๗๐-๘๐ คน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

คราวที่แล้วที่ไป ฉันไปแค่ ๒ คืน เดิน ๒ วัน แล้วก็กลับมาเสียศูนย์ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ไม่มีระบบขนาดนี้เชียวเหรอ เหมือนอีโก้ถูกลบเหลี่ยม จิตตกไปหลายวัน และพยายามงัดตัวเองออกจากอาการจิตตกไปอีกหลายวัน ซึ่งก็ทำให้ยิ่งแย่ไปใหญ่

คราวนี้ฉันเลยลังเลที่จะไป ทั้งๆ ที่งานที่รับผิดชอบมีมากยิ่งกว่าคราวที่แล้ว เพราะสตาฟปีที่แล้วคนหนึ่งถอนตัวไป  แต่ก็รู้ว่าต้องไป...

ไปแล้วก็พบว่า ความกลัวของฉันนั้นถูกเตะกระเด็น  การกำหนดข้อบังคับเรื่องแบกของเอง งดกินข้าวเย็น กันคนที่ไม่ตั้งใจออกไป  ส่วนหนึ่งอาจเพราะน้ำท่วมที่เพิ่งลดด้วย ทำให้หลายคนต้องไปทำงาน ทำความสะอาด และเราจำกัดจำนวนนักเรียนที่มาเป็นหมู่คณะว่าไม่เกิน ๑๐ คน และให้ครูมาด้วย  ด้วยจำนวนคนที่ลดลง ทำให้การบริหารคนง่ายขึ้น และไม่วุ่นวายเรื่องห้องน้ำกับคิวตักอาหารมากนัก

สำหรับฉัน การแบกของไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณแบ็กแพ็กที่เพิ่งถอยมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะรู้ว่า gear นั้นสำคัญ และ Hiking boots ที่อยากได้มานาน ก็ได้เหตุผลที่ทุ่มทุนซื้อ ทำให้เท้าฉันไม่มีปัญหา ไม่ลื่นและไม่เปียก  และฉันก็มีเสื้อแขนยาว หมวก แว่นกันแดด ประมาณว่าครบเครื่องการเดิน  ฉันไม่ใช่คนขี้ร้อน ก็เลยไปได้เรื่อยๆ  ระหว่างทางที่เดิน ก็มีเสียงกลองให้จังหวะ มีวิวข้างทางให้ดู มีลมพัดเย็น  มีแค่วันแรกเท่านั้นเองที่คิดว่าเมื่อไหร่จะถึง วันอื่นก็ไปได้แบบเพลินๆ หลังก็ไม่เดี้ยง


น้องเอมีและน้องฝ้ายเดินตั้งแต่วันแรก
บางคนในขบวนก็น่ายกย่องมาก ที่แบกเป้แล้วยังถอดรองเท้าเดิน เพราะพระส่วนใหญ่ก็ถอดรองเท้าเดินเช่นกัน  ฉันไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรเสี่ยงๆ แบบนั้น แค่มาเดินก็ Ironic มากแล้ว แต่ก่อนตอนรู้ข่าวธรรมยาตรา แต่ไม่ได้มาช่วยงาน มีเพื่อนเคยชวนไป ฉันยังคิด..ใครจะบ้าไปเดินวะ  ร้อนก็ร้อน...

เสน่ห์ของการเดินธรรมยาตรานี้ นอกจากการเดินซึ่งเป็นการภาวนาในตัว (Dhamma in motion) และวิวทิวทัศน์แล้ว ยังเป็นเรื่องของคนร่วมเดิน (ทั้งพระและฆราวาส)  หลังทำวัตรเช้าและเย็น พระอาจารย์ไพศาล วิสาโลเทศน์ประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านเป็นคนอ่านหนังสือมาก มีเรื่องนู้นนี้มาเล่าอยู่เรื่อยๆ  (ฉันเคยเป็น big fan ของท่าน แบบซื้อทุกเล่มที่เจอบนแผง ตอนนี้ไม่ซื้อแล้ว รอรับของฟรี) แล้วก็มีเพื่อนๆ ที่ร่วมเดินที่ส่วนใหญ่เป็นคนน่าสนใจ

ก๊วนแรกคือเด็ก Home School ซึ่งฉันเพิ่งรู้ว่ามีด้วยในประเทศไทย คือ พวกที่ไม่ได้ไปโรงเรียน แต่กลุ่มพ่อแม่สอนให้ที่บ้าน (บางวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ หรือดนตรี ก็จ้างครูมาสอน) พ่อแม่แต่ละคนก็รับไปคนละวิชาสอนให้ลูกๆ บ้านอื่นด้วย เด็กพวกนี้มาจากขอนแก่นและสุพรรณ บ้านหนึ่งมาสามคนพี่น้อง อีกสองบ้านมาสองคนพื่น้อง มีคุณแม่มาด้วยหนึ่ง เป็นคุณแม่ที่ไม่หนีบลูกติดกับตัวเหมือนคุณแม่ไทยทั่วไป

สิ่งที่แตกต่างในเด็กกลุ่มนี้ คือ ความช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น น้องฝ้ายอายุ ๗ ขวบ เดินไปไหนมาไหนในค่ายเอง  และยังมีสปิริตจิตอาสาสูงมาก  ฉันมารู้จักกับเด็กกลุ่มนี้เพราะเค้ามาช่วยฉันทำงานลงทะเบียนโดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งไปๆ มาๆ ก็ป้ายชื่อไม่พอ ก็ช่วยกันทำ และก็มีงานช่วยกันระบายสีป้ายข้อความ (อันที่อยู่ในรูปข้างบน) อีก คุยกับพวกเค้าแล้วตลกดี หัวไว ยิงมุขกันตลอดเวลา 

ส่วนพวกสตาฟเองก็น่าสนใจ มีทั้งคนท้องถิ่นที่ชัยภูมิ และคนที่มาจากกรุงเทพซึ่งเป็น Freelance จัดกิจกรรมกลุ่มอยู่แล้ว  มีหลายคนในกลุ่มนี้ตลกมาก ความตลกนี่เป็นสิ่งที่ born to be จริงๆ ต้องช่างสังเกต สร้างสรรค์ และรู้จักเวลายิงด้วย

ความประทับใจอื่นๆ ก็คงเป็นความประหลาดใจในตัวเองที่ฉันอยู่ได้ ๖ วัน โดยไม่หงุดหงิด ไม่ปี้ด ทั้งๆ ที่ต้องอยู่กับคนหมู่มาก ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้สะดวกมากนัก คงเป็นเพราะอยู่กับคนส่วนใหญ่ที่ใจเย็นละมัง ก็เลยเย็นตาม

อ้อ..แล้วนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันไปขออาบน้ำที่บ้านชาวบ้านในหมู่บ้าน พวกเราพักที่วัด ซึ่งบางทีก็มีห้องน้ำ ๔ ห้องสำหรับผู้หญิง ๑๐๐ คน ที่ต้องใช้ทั้งอาบน้ำและขับถ่าย  คราวที่แล้วฉันได้อาบน้ำในแม่น้ำลำปะทาว (ส่วนที่กว้างและตื้นประมาณลำธาร) เพราะรอห้องน้ำไม่ไหว คราวนี้วิชัยบอกให้ไปขอชาวบ้านอาบ และจะได้ชวนเค้ามาทำบุญ ฟังธรรม ในวันรุ่งขึ้นด้วย ก็ดีนะ ได้ไปทำในสิ่งที่ปกติฉันไม่ได้ทำ

อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือ ไม่ใช่โหมดคนดี แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกสงสารคนที่นิสัยแย่ๆ  ว่ามันจะทุกข์ขนาดไหนน้อ... ได้เจอเด็กมัธยมคนหนึ่ง แม่ชีที่เป็นแม่ครัวบอกให้ช่วยเช็ดโต๊ะ (กำลังรีบเก็บของกันเพื่อเคลื่อนขบวน) พอแม่ชีลับหลัง ก็เขวี้ยงผ้าขี้ริ้วทึ้ง ฉันก็บอกว่า..ทำไมไม่ช่วยกันล่ะ จะได้เสร็จเร็วๆ แล้วฉันก็เช็ดเอง (ด้วยความอยากให้งานเสร็จ จะได้ไปซะที)  ฉันก็นึก..ไอ้เด็กคนนี้..หน้าตาก็ไม่ดีแล้วนิสัยยังแย่อีก น่าสงสารจริงๆ...

พระอาจารย์บอกว่า..เห็นไหม..กลัวไปก่อนที่ตอนแรกจะไม่ไป...

Comments