เมื่อคนพูดไม่ได้สวดมนต์

ล่ามมือที่เด็กๆ เรียกว่าครู
เป็นวันศุกร์ที่ฉันมีประชุมที่มหิดล ศาลายาพอดี และนึกขึ้นได้ว่าพระอาจารย์มีสอนภาวนาที่วิทยาลัยราชสุดา (สังกัดม.มหิดล) ตอนเย็น ก็เลยนั่งทำงานรอ เพราะอยากรู้ว่าสอนนักศึกษาใบ้จะเป็นอย่างไร แค่สอนวัยรุ่นก็ยากแล้ว นี่ยังมีความผิดปกติเพิ่มอีก ก็ชวนเพื่อนอาจารย์ไปด้วยกัน

ที่ราชสุดานี้รับนักศึกษาที่หูหนวกและหูดี แล้วเรียนด้วยกัน ฝึกเพื่อไปเป็นครูสอนเด็กหูหนวกอีกที ห้องที่จัดกิจกรรมก็เป็นห้องเฉพาะสำหรับทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา คล้ายๆ ชมรม วิทยาลัยมีหอพักสำหรับนศ.ด้วย บรรยากาศยามเย็นน่าอยู่มาก มีต้นไม้เยอะ ลมเย็นสบาย และสตาฟที่นั่นดู Friendly มาก พาเราเดินไปถึงห้องกิจกรรมเลย

ต่อไปนี้ฉันจะเรียกนศ.ว่า "เด็ก" เพราะด้วยความที่ฉันเป็นอาจารย์ ตราบใดที่ยังอยู่วิทยาลัย ก็เป็นเด็กอยู่ดี

การภาวนาก็เริ่มเหมือนหลายๆ ที่ คือ สวดมนต์ทำวัตรเย็น เราสวดบทบาลีที่คั่นด้วยบทแปลไทย (ที่ท่านพุทธทาสแปล) เค้ามีวีดีโอภาษามือของคำสวดภาษาไทยนี้ เด็กๆ ที่พูดไม่ได้ก็ทำท่าตามวีดีโอ คนพูดได้ก็สวดไปตามปกติ ฉันก็สวดไป แล้วก็แอบดูท่าในวีดีโอ ท่าจริงของเด็ก เป็นระยะๆ ดูแล้วเหมือนรำ...

ไฟล์เสียงเทศน์วันนั้น

จากนั้น พระอาจารย์ก็เริ่มเทศน์ ฉันลืมไปว่าภาษามือเค้าแปล real time เหมือนที่ช่อง ๑๑ ไม่ใช่แปลๆ หยุดๆ แต่ดูของจริงมันกว่ามาก การแปลภาษามือนั้น ไม่ใช่ใช้แค่มือ แต่ใช้ทั้งหน้า ทั้งตัวด้วย ก็คือใช้ภาษากายประกอบด้วยนั่นแหละ เช่น พระอาจารย์สอนเด็กคนหนึ่งว่า "อย่าเดินแบบหงอยๆ ให้เดินให้กระชุ่มกระชวย" แล้วฉันก็ดูล่ามมือแปล คือ ถึงไม่ได้ยินเสียงก็ต้อง Get น่ะ เพราะท่าตอนคำว่าหงอยๆ นี่ ไหล่ก็ห่อ หน้าก็สลด ส่วนท่าของคำว่ากระชุ่มกระชวยนั้น ยกไหล่ เงยหน้า ดูสดชื่น

เนื่องจากการแปลภาษามือใช้ทั้งตัว ทำให้ใช้พลังมากในการแปล (ฉันเคยแปลจากไทยเป็นอังกฤษ real time ยังเหนื่อยมากเลย ใช้ปากกับใช้สมอง นี่ต้องใช้ตัว ใช้หน้าอีก) เค้าก็เลยมีสองคนสลับกัน อีกคนช่วยอยู่ข้างๆ ไม่งั้นเดี้ยงแน่นอน

พระอาจารย์โน้ตและพระอาจารย์ตุ้ม
(ถ่ายที่เลมอนฟาร์ม)
พอเทศน์แล้วก็สอนเดินจงกรม การสร้างจังหวะแนวหลวงพ่อเทียน แล้วก็ให้ถาม

ฉันสังเกตว่าเราคิดเป็นภาษาพูด เช่น ถ้าฉันอยู่กับคนไทยมากๆ ฉันก็คิดเป็นภาษาไทย แต่ถ้าอยู่กับฝรั่ง ก็จะย้อนกลับไปถึงความคุ้นเคยตอนเรียน ที่คิดเป็นภาษาอังกฤษ (นี่คือเหตุผลว่า ถ้าคิดเป็นไทยแล้วพูดอังกฤษ จะได้ประโยคแปร่งๆ) ฉันถามเพื่อนที่เป็นล่ามมือว่า แล้วคนหูหนวก ที่ไม่รู้ภาษาพูดนั้น เค้าคิดเป็นภาษาอะไร เพื่อนบอก คิดเป็นภาพ

พระอาจารย์ถามเด็กๆ ว่า เวลารู้สึกตัว มีภาพในหัวไหม เด็กๆ หลายคนบอกไม่มี Another proof that awareness is universal... ความรู้สึกตัวมันเป็นสากล

และเนื่องจากเด็กหูหนวกคิดเป็นภาพ ทำให้จินตนาการเค้าอาจจะบรรเจิดกว่าเรา คำถามเค้าก็จะแตกต่างจากคนหูปกติ เช่น ในวันนั้น เด็กๆ ดูจะหมกมุ่นกับเรื่องผีมาก...

พระอาจารย์บอกว่า เนื่องจากเด็กๆ ต้องใช้ภาษามืออยู่แล้ว การภาวนาแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียนนี่ยิ่งเหมาะ เพราะเด็กๆ ต้องขยับมือ

เวลาเด็กหูปกติคุย ก็จะมีเสียง แล้วก็น่ารำคาญ เด็กหูหนวกก็คุย แต่คุยมือ แล้วมือก็พลิ้วไหวกันไปทั้งห้อง ดูแล้วก็ปวดหัวไปอีกแบบ (ฉันนั่งเก้าอื้หลังห้องเลยเห็น) แต่ภาษามืออาจจะเจ๋งกว่า ตรงที่ส่งสัญญาณระยะไกลได้ ตราบใดที่ยังเห็นกัน...

Comments