เมตตา เมตไตร มิตร

เมื่อวานได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากฉันในทุกแง่ ทั้งพื้นฐานครอบครัว อาชีพ การศึกษา ก็เหมือนกันตรงที่เป้าหมายในชีวิตตรงกัน คือ ทางธรรม

ช่วงที่ผ่านมา รู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่หาจุดลงตัวไม่เจอ ด้านปฎิสัมพันธ์กับนิสิตในที่ปรึกษาตัวเอง เหมือนเราไม่แน่ใจว่าเราควรจะสอนหรือบอกมากน้อยแค่ไหน บอกมากเกินไปเดี๋ยวมันไม่ได้คิดเอง บอกน้อยเกินไปก็ออกมาไม่สมบูรณ์ดั่งใจฉัน แต่ก่อนฉันไม่ค่อยสนใจเรื่องสอนเท่าไหร่ ก็เลยไม่แคร์ ห่วยก็ห่วย แต่พอฉันตั้งใจสอน ความคาดหวังก็มาก และความผิดหวังก็มากตาม

เพื่อนบอกว่าให้เน้นที่ประเด็น "ทำอย่างไร" ถ้าเราตั้งเป้าว่าชีวิตนี้เราจะทุกข์ให้น้อยลง ก็ต้องสำรวจดูว่าการสัมพันธ์กับคนอื่นสอดคล้องกับเป้าประสงค์หรือเปล่า แล้วชีวิตก็จะไม่หลงทาง เช่น กรณีฉัน เพื่อนบอกว่าก็ทำหน้าที่ของเราไป ผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ฉันเองก็เริ่มเห็นแล้วว่าที่ทุกข์กับลูกศิษย์เพราะเราเอาความเป็นเราไปแปะอยู่บนผลงานหรือ Performance ของพวกเค้า ถ้ามันดี เราก็ดีใจ ถ้ามันไม่ดี เราก็เริ่มโทษตัวเองแล้วว่า..เอ๊..หรือฉันเป็นอาจารย์ที่ไม่ดี... ความทุกข์มันไม่อยู่ที่ตัว Performance ของพวกเค้า แต่อยู่ที่อัตตาของฉันที่โดนกระทบมากกว่า

ฉันบอกเพื่อนว่า ฉันรู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของฉันคือการรู้จักตัวเอง (Self realization) เค้าก็เตือนว่า ต้องแยกแยะระหว่างพุทธกับพราหมณ์ ฮินดูถือว่าตัวตนที่บริสุทธิ์ (อาตมัน) นั้นมี และพยายาม purify ตัวเองเพื่อเข้าสู่สภาวะนั้น แต่พุทธนั้นบอกว่าไม่มี เพื่อนบอกว่า...

ไม่มีเราเก่ง ไม่มีเราดี ไม่มีเราไม่ดี ... ไม่มีเรา ไม่มีเขา
ฝึกหัดเพื่อให้เห็นความไม่มีตัวตน

ไม่มีอ.หญิง ไม่มีผศ.ดร.จุฑา ไม่มีฉัน
ที่จริงมันก็มี แต่ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมันไว้
มีเพื่อทำหน้าที่ มีเพื่อเกี่ยวข้อง
แต่สิ่งสำคัญ คือเกี่ยวข้องอย่างไรด้วยใจไม่ทุกข์

เค้าอ่านฉันออกอย่างน่าอัศจรรย์ ที่ฉันพยายาม perfect myself ถึงแม้ว่าเรื่องที่ฉันทำเป็นเรื่องที่ดี เจตนาผิวเผินก็ดี แต่ลึกๆ แล้วก็ยังทำเพื่อตอกย้ำความมีตัวตนอยู่ดี เค้าบอกว่า

ความเก่ง / ความสำเร็จ มันเป็นแรงขับสำคัญในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา รวมถึงชีวิตในปัจจุบันด้วย บุคคลที่มีความเก่งมากกว่าเรา หรือมีในสิ่งที่เราต้องการมี จึงเป็นที่พอใจสำหรับเรา

เพื่อนแนะนำว่า นอกจากการใคร่ครวญดูความสอดคล้องของการกระทำและเป้าหมายในการไม่ทุกข์แล้ว อีกวิธีหนึ่งคือการเห็นสมมติ (Convention) คงเหมือนที่ท่านเขมานันทะเปรียบเทียบว่าตัวตน อารมณ์ทั้งหลายเหมือน Mirage ภาพลวงตาในพยับแดด มันมีในความไม่มีของมัน เพื่อนว่า...ถ้าเราเห็นสมมติในคำชม คำตำหนิ เราก็จะไม่ไปยึดกับมัน...

คำสอนของศาสนาพุทธมันเรียบง่ายและตรงประเด็น และฉันเข้าใจในแง่ตรรกะทุกอย่าง แต่ในแง่ปฎิบัติ มันต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและความอดทนอย่างมหาศาล ที่จะเปลี่ยนความเคยชินแบบเดิมๆ จนบางทีคนขี้โกรธอย่างฉันก็อดหงุดหงิดไม่ได้...ทำไมมันยากจังวะเนี่ย...

พอคุยเสร็จแล้วก็เข้าใจแล้วว่าทำไมการมีกัลยาณมิตรจึงเป็น Number two item on มงคลสูตร (อันแรกคือ "อเสวนาจะพาลานัง" การไม่คบคนพาล)... นอกจากรับฟังและแนะนำแล้ว เพื่อนฉันเป็นกระจกสะท้อนให้ฉันเห็นตัวฉัน ซึ่งก็ยังมีในความไม่มีของมัน...

Comments