The Path to the Deathless (1/2)

ธรรมเทศนาโดยพระสุทธิศาสตร์  ปญฺญาปทีโป หรือพระอาจารย์โน้ต วัดป่าสุคะโต (ชัยภูมิ) ที่สวนแสงอรุณ ปราจีนบุรี หลังทำวัตรเช้า วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

ดาวน์โหลดไฟล์ MP3

ตอนถอดเสียง คิดว่าน่าจะชัดเจนกว่าที่จะแทรกคำแปลภาษาอังกฤษสำหรับ "Technical terms" ไว้ด้วย เพราะบางคำเราก็ใช้ปนในภาษาไทย โดยความหมายไม่เหมือนภาษาพระ  อ้างอิงจากพจนานุกรมของท่านปยุต

I hope you enjoy this talk as much as I did...

การสวดมนต์ก็คือการฟังธรรมเช่นเดียวกัน เป็นการฟังธรรมโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เราอาจจะเกิดไม่ทันในสมัยที่พระพุทธเจ้าท่านมีชีวิต แต่การสวดมนต์ในบทสวดมนต์ต่างๆ แล้วรู้ความหมาย รู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือการฟังธรรมนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างจากสมัยพุทธกาล ถ้าเรามีสติปัญญาพร้อม การสวดมนต์จะทำให้เราซาบซึ้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าถ้าเราเทียบเคียงดูคำสอนต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงที่จารึกไว้ ถ้าเราเอามาปฎิบัติได้ ก็จะเกิดผลได้ ไม่จำกัดกาลเช่นเดียวกัน

ทางสายกลางหรือถ้าภาษาพระเรียกว่าอริยมรรค (The Noble Path) มีองค์แปด ทางแปดประการซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เมื่อเกือบ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว ตรัสไว้ในทางเส้นนี้ เป็นทางที่...ที่จริงมันก็มีมานานเนิ่นนานแล้ว แต่ก่อนที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ทางมันรกรุงรัง เหมือนกับอยู่ในป่า ไม่รู้ว่าทางออกจากป่าเป็นเส้นไหน พระพุทธองค์และพวกเราเป็นคนที่หลงอยู่ในป่า แต่ไม่รู้ทางที่จะออกจากป่า พระพุทธองค์เป็นเพียงบุคคลแรกซึ่งพยายามค้นหาหนทางในการออกจากป่าให้ได้ และท่านก็ค้นพบทางสายนี้ ที่เรียกว่าทางสายกลาง ค้นพบแล้วและเดินออกไปแล้ว ถึงมาประกาศ มาบอกต่อว่า ให้เดินตามทางตรงนี้ ถ้าคุณเดินตามทางตรงนี้ คุณจะออกจากป่า ออกจากความหลง ออกจากความทุกข์ได้

ทางทั้งแปดประการนี้ ที่จริงไม่ใช่เรื่องของแปดสายแต่เป็นเรื่องของสายเดียว ซึ่งประกอบด้วยองค์แปดประการ องค์ธรรมแปดอย่างที่สำคัญๆ แต่จะว่าโดยย่อ ก็เป็นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา (Morality, Concentration and Wisdom) สัมมาทิฎฐิ: การเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ: การคิดชอบ เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาที่เห็นความจริง ว่าอะไรคือทุกข์ เห็นจริงหรือเปล่า ว่ากายและใจนี้เป็นตัวทุกข์ กายใจคนอื่นก็เป็นตัวทุกข์เช่นเดียวกัน สิ่งอื่นรอบๆตัวเราก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน แต่ก็เห็นต่อว่า สาเหตุของความทุกข์ใม่ใช่ปัจจัยภายนอก แต่สาเหตุของความทุกข์อยู่ที่ตัวเราเองนั่นเอง อยู่ที่การวางใจไว้ผิดนี่เอง อยู่ที่อุปาทาน (Attachment) การยึดมั่นถือมั่น ความอยาก นี่แหละทำให้เกิดความทุกข์ พอกลับมาเห็นความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น หรือกลับมาเห็นธรรมชาติของความทุกข์ที่แท้จริงของกายและใจที่เราไปยึดถือขันธ์ (Aggregates) นี้เอง มันก็จะวางความทุกข์ได้ ผลของความไม่ทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ทันที เป็นการเดินตามอริยมรรคมีองค์แปดประการโดยสมบูรณ์

ความเห็นชอบเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาในการเห็นถูกต้อง เมื่อเห็นถูกต้อง ก็เข้าใจสิ่งต่างๆ ไปทั้งหมด เมื่อเห็นถูกก็คิดถูก คิดในทางที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ปองร้ายคนอื่น ไม่พยาบาท หรือคิดในการออกจากกาม (Sensuality) ทั้งหลาย การออกจากกามทั้งหลายในที่นี้ไม่ใช่การออกบวชเท่านั้น แต่เป็นการเห็นว่าโลกทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย โลกจะเป็นโลกของกายของใจที่เรายึดมั่นถือมั่นก็ดี หรือโลกที่เราเห็นแสงสีเสียง รูปรสกลิ่นเสียงภายนอกก็น่าเย้ายวนใจ น่าสัมผัส น่าหมกมุ่น ใคร่ครวญ น่าที่จะเกลือกกลั้วอยู่กับเขาอย่างไม่รู้จักเบื่อ เพราะก็เห็นว่า มันก็สุขบ้าง มันก็ทุกข์บ้าง ก็ยังดี  เราก็หมกมุ่นแบบนั้น มันยังไม่เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ยังไม่เบื่อจากความลุ่มหลงในโลกใบนี้

บางทีพวกเราอาจจะรู้จักความเบื่อ แต่บางทีเป็นความเบื่อที่เกิดจากการที่อาจจะไม่ได้ของดังใจ หรือมีอะไรทำให้เกิดเป็นความรำคาญใจ ก็เลยเกิดเป็นความเบื่อ แต่มันเบื่อ แล้วมันหน่ายแค่ชั่วคราว มันหน่ายคนอื่น มันหน่ายสิ่งภายนอก แต่ถ้าเบื่อหน่ายในทางธรรมจริงๆ จะเห็นสภาวะอาการต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเอาทั้งนั้น มันเห็นอะไรต่างๆ ก็เหมือนมันจืด มันชืด มันเห็นถึงความไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารในสิ่งต่างๆ มันถึงจะเกิดความเบื่อหน่าย มันถึงจะคลายกำหนัด (Detach) จริงๆ  มันจะเห็นเลยว่า อะไรต่างๆ มันก็เป็นแค่ของชั่วคราวเท่านั้น  ไปยึดมั่นสำคัญหมายไม่ได้หรอก อะไรต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่อาการธรรมชาติ ธรรมดา ของมันจริงๆ  จิตใจจะเริ่มเข้าสู่ความเบื่อหน่าย เมื่อมันเห็นโลกนี้ โลกคือกาย คือใจของเราก็ดี โลกคือสภาวะภายนอกก็ดี เป็นสภาวะที่มีแต่สิ่งที่น่าเบื่อหน่าย  จิตใจก็จะเกิดความปล่อยวางจางคลายการยึดมั่นถือมั่น การหลงผิด การสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกนี้  พอจิตใจเกิดสภาวะนี้ มันก็มุ่งมั่นจะออกจากทุกข์ให้ได้ เพราะมันรู้แล้วว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเคยหมกมุ่นมาหลายสิบปีหรือหลายภพหลายชาติที่ผ่านมา มันเกลือกกลั้วแต่เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องที่ไม่ได้แก่นสารทั้งนั้น  มันมีแต่ว่า..เอ้อ..เราเห็นทางแล้ว  พยายามที่จะเดินออกจากทางนี้ให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่แปลกนะ จิตใจคนที่เบื่อหน่ายเรื่องของโลกต่างๆ  จะมีความสุขเข้ามาแทนที่  ใจหนึ่งมันเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ แต่อีกใจหนึ่งที่ลึกลงไปข้างใน มันกลับมีความอิ่มเอิบ มีความสุขใจ ที่เห็นว่าแก่นสารของชีวิตที่แท้จริงมันคืออะไร  มันเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย แต่ภายในใจมันเติมเต็ม มันเอิบอิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ  มันเอิบอิ่มเพราะเห็นความจริง เห็นธรรมะ มีความสุขขึ้นเรื่อยๆ มีปิติหล่อเลี้ยงในจิตใจ  ก็เป็นสิ่งที่เหมือนขัดแย้งกัน แต่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้  ในสภาวธรรมที่ถ้าเราปฎิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจอาการตรงนี้

พวกนี้เป็นความคิดที่เกิดในทางที่ชอบ  ความเห็นที่เกิดในทางที่ชอบ  เมื่อเป็นเช่นนี้ กายวาจาของเราก็จะเรียบร้อยขึ้นโดยอัตโนมัติ กายวาจาจะเรียบร้อยขึ้นโดยที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีล  ไม่ใช่ว่ารักษาศีลเพื่อที่จะอวดว่าเราเคร่ง เราถือศีลห้า แสดงว่าเราต้องดีกว่าคนที่ผิดศีล  เราถือศีลแปด เราบวชเป็นพระ เป็นแม่ชี จะต้องเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีสูงกว่าคนธรรมดา  ถ้าถือศีลเช่นนั้น ก็เรียกว่าถือศีลแบบสีลัพพตปรามาส (Adherence to rules and rituals) ก็คือการยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร  หรือบางทีเราก็สร้างวัตร สร้างแบบฝึกหัดอะไรบางอย่างให้เหนือกว่าปุถุชน คนธรรมดา  แต่ถ้าไปสร้างเพื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นสีลัพพตปรามาสทั้งนั้น  แต่การที่เรารักษาศีลก็ดี การที่เรามีข้อวัตรอะไรต่างๆ ก็ดี  ถ้าเป็นไปเพื่อ..รู้ว่าเป็นไปเพื่อ..การขัดเกลากิเลส (Defilements; impurities)  รู้ว่าเป็นไปเพื่อทรมานกิเลส รู้ว่าเป็นไปเพื่อเดินไปสู่ทางที่จะไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน อันนี้ถูกต้อง ไม่เป็นไร

ถือศีลเพื่อรักษาใจให้เป็นปกติ  หรือข้อวัตรปฎิบัติอะไรต่างๆ เช่น สวดมนต์ทำวัตร ตั้งใจที่จะภาวนาในรูปแบบให้ได้ทุกวัน บางคนอาจตั้งใจลองงดข้าวเย็น หรือบางคนตั้งใจที่จะออกไปยังที่สงบวิเวกบ่อยๆ มากขึ้น เพื่ออะไร?  เพื่อขัดเกลาจิตใจ  เพื่อฝึกหัดจิตใจ ถ้าแบบนั้นทำได้  หรือบางคนตั้งใจที่จะอดอาหารดู แต่ไม่ใช่อดแบบดำเนินอัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนให้ลำบาก แต่อดเพื่อจะเรียนรู้ว่าจิตใจในสภาวะที่อดอาหารเป็นเช่นไร  จิตใจแยกจากร่างกายได้หรือไม่  แบบนั้นไม่ใช่การบำเพ็ญทุกรกิริยา (Self-mortification)

บางคนอาจจะตั้งใจเนสัชชิก  ลองไม่นอนสักคืนหนึ่ง สองคืนดู มันเป็นเช่นไร  ถ้าจิตใจของเราสามารถอยู่อย่างไม่ทุกข์ไม่กระสับกระส่ายได้  อันนั้นไม่ใช่การบำเพ็ญทุกรกิริยา  แต่เป็นการขัดเกลากิเลสบางตัวให้เบาบางลง  ก็สามารถทำได้  แต่ถ้าบางคนทำไปแล้ว เกิดความทุกข์หนัก หมายถึงว่าทุกข์กายด้วย ทุกข์ใจด้วย  ทุกข์ใจที่ไม่สามารถอยู่กับมันได้อย่างหนึ่ง  หรือบางคนไปทำแล้วเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองดี ตัวเองวิเศษ ตัวเองเก่ง  อันนั้นเป็นการผิดทางทั้งนั้น

บางทีการบำเพ็ญข้อวัตรต่างๆ ถ้าเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน   ถือว่าเป็นทางสายกลางทั้งนั้น  ดังนั้น การที่เรารักษาศีล ทางกาย ทางวาจา  ทางกิริยาต่างๆ หรือศีลทางสังคมหรือข้อวัตรต่างๆ  ก็ต้องรักษาให้ถูก เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสร้างอัตตา (Self) มานะ (ความถือตัว; Conceit) สำคัญว่าตัวเองดีเก่ง วิเศษกว่าคนอื่น ถ้าเรารักษาศีลเป็นจริงๆ จะเกิดเป็นศีลที่ปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่น

ตอนแรกเป็นการตั้งใจรักษาศีล  แต่พอทำไปเรื่อยๆ จิตใจเป็นปกติ  เมื่อจิตใจเป็นปกติ  กายวาจาก็เรียบร้อยของมันเอง  สิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด  สติปัญญาจะบอก ก็จะเตือน ก็จะสอน ก็จะเป็นตัวระลึกเองว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ  กิริยาอาการต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน  ก็จะงดเว้นจากการทำผิดศีลโดยอัตโนมัติ เพราะรู้ว่าถ้าทำแบบนั้น มันเบียดเบียนทั้งตัวของเราเอง ทำไปแล้วจิตใจก็เศร้าหมอง ทำไปแล้วคนอื่นก็ได้รับผลของการเบียดเบียน ได้รับทุกข์ได้โทษจากการกระทำของเราเช่นเดียวกัน  มันจะระงับ มันจะวิรัติ (เจตนาเครื่องงดเว้น, Abstinence) ของมันเอง  หรือบางครั้ง แม้มันเผลอพลั้งพลาดไป  ทำผิดศีลโดยไม่ได้ตั้งใจก็ดี ก็จะรู้จักให้อภัยตัวเอง มันรู้ว่าจิตที่ไม่มีเจตนาที่จะทำผิด มันก็ไม่ต้องรับผลของกรรมนั้น

คลิกเพื่อไปอ่านส่วนที่เหลือ

Comments