"อธิษฐาน" คือ?

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ไม่เคย"ขอ" อะไร เวลาบริจาคเงิน ถวายของ ใส่ซอง หยอดตู้ อย่างมากก็อุทิศส่วนกุศล ไม่รู้ว่าเอาความคิดนี้มาจากไหน แต่ฉันรู้สึกว่า "อธิษฐาน" ในเซ้นส์ที่คนไทยรู้จัก มันเหมือนค้าขายไปหน่อย ทำอันนี้ ได้อันนี้ ฉันว่าถ้าได้ก็ได้เอง ทำไมต้องระบุว่าอยากได้อะไร แล้วตอนนี้ ฉันก็มีทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ทั่วไปอยากได้อยู่แล้ว (หลงตัวเองขนาดนั้นแหละ) ยกเว้นไว้อย่าง คือ ยังอยากบรรลุมรรคผลอยู่ ซึ่งก็ยิ่งขอไม่ได้ใหญ่ ก็เลยไม่ทำ อ้อ... เกือบลืม เพื่อนฉันมักบอกว่าฉันเป็นองุ่นเปรี้ยว เวลาพูดว่าไม่อยากมีสามี มีลูก (^ ^) มันบอกว่าเปรี้ยวจนหมักเป็นน้ำส้มสายชูแล้ว....

ด้วยความเชื่อมั่นเกินๆ ของฉัน ฉันไม่เคยเช็คกับผู้รู้ที่ไหน ว่าความคิดฉันนี่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือเปล่า โชคดีที่ว่าได้รู้จักกับพระรูปหนึ่ง (เป็นโชคร้ายของท่าน แต่โชดดีของเรา) ที่ยอมตอบคำถามประหลาดๆ ของฉันเสมอ ที่เกี่ยวกับธรรมะอ่ะนะ ก็เลยอีเมล์ไปถาม ฉันคิดว่าคนอื่นน่าจะได้รับประโยชน์จากคำตอบ ก็เลยเอามาแปะไว้ตรงนี้

ปุจฉา

จำเป็นไม๊คะที่เวลาทำบุญต้องอธิษฐาน (เช่นว่า ขอให้บรรลุมรรคผล...) หมายถึงว่า ผลกระทบหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดต่างกันหรือเปล่า ระหว่างอธิษฐานหรือไม่อธิษฐาน คือบางที เราอาจจะทำบุญเพราะว่าเรามีกำลัง รู้สึกว่าสมเหตุสมผลที่ควรทำ และรู้สึกว่าสิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่ขอเฉยๆ ไม่ได้ ก็เลยไม่อธิษฐาน


แล้วโยมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องประหลาดที่จะทำ เวลาฝรั่งบริจาคเงินให้การกุศล หรือทำงานการกุศลหรือศาสนา ไม่เห็นเค้าขออะไรกัน ก็มีบ้างที่ทำงานเพื่อรับใช้พระเจ้า

วิสัชนา

ความหมายคำว่า "อธิษฐาน" ในทางพุทธ คือ ความตั้งใจที่จะทำอะไรให้สำเร็จ เช่น อธิษฐานถือศีล ๘ ตลอดพรรษา, อธิษฐานจะภาวนาให้ถึงมรรคผลให้ได้ในชาตินี้ แต่ชาวไทยเราเข้าใจคำว่า "อธิษฐาน" คือ การขอ เวลาทำบุญก็เลยขอแหลก หวังให้ผลบุญ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลผลให้

ตามความเข้าใจของอาตมา ขณะที่เราทำทาน เราไม่พึงหวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เราทำเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่ผู้อื่น หรือสังคม จะได้รับเป็นที่ตั้ง ทำทานแบบนี้แล้วสบายใจ และมีอานิสงค์ใหญ่ (แต่ก็ไม่ต้องคำนึงอีกแหละว่า จะได้อานิสงค์อะไร อย่างไร เมื่อไร เท่าไร) การทำบุญอื่นก็เช่นกัน (บุญมี ๑๐ แบบ หาอ่านเอานะ) ถ้าวางใจแบบนี้อาตมาว่ามันเป็นการทำบุญที่ตรงกับหลักชาวพุทธจริง เพราะสิ่งที่พุทธองค์ท่านเน้นที่สุด คือ การภาวนาให้รู้จักตัวเอง (บุญที่ก่อให้เกิดปัญญา) จนรู้ว่าตัวตนหรือตัวเองที่แท้จริงนั้นไม่มี นี่แหละทำให้พ้นจากทุกข์ได้แท้จริง

บางทีอาตมาเห็นคนศาสนาอื่น หรือแม้แต่คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีศาสนา เวลาพวกเค้าทำบุญหรือความดีต่างๆ อาตมาก็พลอยอนุโมทนาไปกับเค้าด้วย และนึกสงสารชาวพุทธบางคนที่ติดผลบุญ (บ้าบุญ)

แต่คนศาสนาอื่นเขาก็มีบางอย่างที่วางใจผิดเช่นกัน เช่นหวังไปอยู่กับพระเจ้า หวังเป็นอาตมัน (อมตะ) หรือบางคนทำเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับตนหรือกลุ่มของตน เป็นต้น จำพวกนี้ก็เลยไม่ได้เป็นบุญที่ก่อให้เกิดปัญญา แต่ทำดีก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือดีกว่าการทำชั่ว แต่ควรเข้าถึงปัญญาด้วยถึงจะดีที่สุด

คำอธิบายเพิ่มเติม
บุญมี 10 อย่าง" ที่พระอาจารย์พูดถึง คือบุญกิริยาวัตถุ ดังนี้
๑. "ทานมัย" การทำบุญด้วยการให้เงิน สิ่งของ ความรู้ และหรือ การให้อภัยทาน
๒. "สีลมัย" การทำบุญด้วยการรักษาศีล มีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ
๓. "ภาวนามัย"  การทำบุญด้วยการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา
๔. "อปจายนมัย" การประพฤติตนอ่อนน้อม
๕. "เวยยาวัจจมัย" การช่วยเหลือ ขวนขวาย รับใช้
๖. "ปัตติทานมัย"  การเฉลี่ยความดีให้แก่ผู้อื่น เช่น การบอกบุญ
๗. "ปัตตานุโมทนามัย"  การแสดงความยินดีเมื่อได้ทราบว่า ผู้อื่นกระทำความดี หรือการอนุโมทนา
๘. "ธัมมัสสวนมัย"  การฟังธรรม
๙. "ธัมมเทสนามัย"  การสั่งสอนธรรม,เผยแพร่ธรรมะ
๑๐. "ทิฏฐุขุกัมม์"    การทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม 

Thanks to landham web board.

Comments