Work in progress |
ตอนแรกที่ทำ ฉันคิดว่ามันเป็นการพัฒนาทักษะล้วนๆ แต่พอยิ่งทำไป ฉันได้รู้ว่าสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญสำหรับนิสิต และจุดเปลี่ยนใหญ่คือช่วงโควิดที่นิสิตต้องเรียนออนไลน์ ทักษะการพูดคุย การสบตาระหว่างคุย ดูแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
เทอมนี้ ก็เป็นอีกเทอมที่ได้เจอเด็ก "แปลกๆ" แปลกคือพฤติกรรมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งที่ก็สอนวิชานี้มา เจอนิสิตมาเกิน 200 คน
เคสแรกคือใช้ AI เขียน Reflections วิชานี้ไม่มีสอบ เราทำ workshops กันทุกคาบ หลังเรียนเสร็จ นิสิตจะต้องส่ง Reflections ตามหัวข้อที่ให้ไป หลังจากมี DeepSeek ฉันได้อ่านรีเฟลกชั่นที่ AI เขียน อ่านแล้วรู้ว่าไม่ใช่คน และไม่ใช่คนนี้เขียนแน่ เช็คกับเจ้าตัวแล้วก็ใช่ ก็ให้ไปเขียนใหม่
เคสที่สองก็เป็น Reflections อีก คือ ส่งตรงเวลา (ปกติเลท) ชื่อหัวข้อ และคำตอบในคำถามข้อแรกเป็นของใหม่ ส่วนหัวข้ออื่น เขาเอาอันที่เขาเคยเขียนมาใส่ ฉันงงมาก ถามเจ้าตัวๆ บอกว่าไม่อยากส่งงานช้า และรู้สึกมึนๆ ท่วมท้น จนเขียนไม่ออก ก็หาอะไรส่งๆ ไปก่อน นี่ฉันก็โทรคุยเช่นกัน
เคสที่สาม ไม่มานำเสนองาน ตามที่เขาได้ลงชื่อไว้ ให้เพื่อนโทรไปถาม เขาบอกว่าดูเวลาผิด ตอนนี้กำลังไปส่งแฟนอยู่ ฉันบอกว่าไม่ต้องมาแล้ว ให้มากลุ่มต่อไป ก่อนหน้านี้ นิสิตคนนี้มาเรียนสาย และส่งงานช้าเป็นประจำ ฉันทำจม. ให้เขาเซ็นว่าถ้ามาสายหรือส่งงานช้าอีก ให้ไปดร็อป พอถูกด่า และต้องเซ็นจม. พฤติกรรมก็เปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ดูตื่นขึ้นจากการหลับใหล
เคสที่สี่ มาสายเป็นประจำ ฉันปรับเวลามาสายนาทีละ 10 บาท ก็ไม่เป็นผล ปรับ 230, 300 บาท ก็ยังมาสาย จนตอนท้ายๆ เทอม มาสาย 8 นาที แล้วตอนพักครึ่งเวลา มัวแต่ไปต่อคิวซื้อ Potato Corner ใช้เวลาเบรคไป 30 นาที แทนที่จะเป็น 15 นาทีที่ให้ไป มาสายกันเป็นกลุ่ม วิทยากร ฉัน และเพื่อนๆ ก็รอไป ฉันด่ายับและโยนถุงขนมลงถังขยะ แลกกับฉันให้เงินไป 200 บาท เคสนี้ก็ดีขึ้นหลังถูกว้ากไป
ทั้งหมดนี้ ฉันเสียใจ ผิดหวัง และโกรธ และได้สื่อสารความรู้สึกไปทั้งหมด ถ้าไม่พูดว่ารู้สึกเสียใจ เด็กจะเห็นแค่ด้านที่เราโกรธและด่า ฉันต้องการให้การสื่อสารได้ผล ฉันจึงบอกความรู้สึกของฉันด้วย
คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์พิเศษ อีกคนเป็นคุณแม่ คุณแม่บอกว่าเราก็ว้ากได้ และสงสารได้พร้อมกัน ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และเราสู้กับโทรศัพท์มือถือ เด็กอยู่กับโทรศัพท์จนมึน ที่เราพูดๆ ไป ไม่เข้าสมอง ไม่เข้าถึงหัวใจ
หลังๆ สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผลการเรียนและสุขภาพจิต หลายๆ เคสที่เรียนแย่มากๆ มีปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาครอบครัว แต่ก็ไม่เสมอไป นิสิตมาเรียนวิศวะเพราะที่บ้านอยากให้เรียน แต่ตัวเองไม่ถนัด ก็เยอะ
ฉันคิดว่างานอาจารย์ มันมีทั้งด้านให้ความรู้ และบ่มเพาะทัศนคติ และพฤติกรรมด้วย พอเราทำงานใกล้ชิดกับเด็ก ได้ทำ workshop ร่วมกันทั้งเทอม ได้อ่านงานที่เขียน ได้ฟังแผนชีวิต มันทำให้เราได้เรียนรู้มนุษย์ไปด้วย
แต่ก่อนเคยคิดว่าความรักทำให้เรามีจุดอ่อน เพราะคนที่รักทำให้เราเสียใจได้ เช่น นิสิตในคลาสที่เล่ามา ตอนนี้ฉันรู้สึกกลัวความเสียใจน้อยลง คิดว่าความเสียใจเป็นเรื่องปกติ มาได้ก็ไปได้ ฉันก็ชอบการมีความรักมากขึ้น
Comments