พ่อแม่และนิสิตที่ฉันสังเกตเห็น

Nature connection at สวนรถไฟ
ฉันเปิดวิชาเลือกชื่อ Communication & Leadership สำหรับนิสิตวิศวกรรมอุตสาหการ ม.เกษตรฯ ปี 4 หรือมากกว่า เปิดทุกเทอมมา 5 ปี ตอนแรกตั้งใจให้เป็นคลาสพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับผู้คน (Soft skills) แต่เราจะดีลกับผู้คนได้ดีจริงๆ ก็เมื่อเรารู้จักตัวเองอย่างดีไปด้วย ไปๆ มาๆ มันจึงกลายเป็นคลาสเยียวยา นอกเหนือจากการได้ฝึกทักษะ

ฉันได้เรียนรู้เรื่องพ่อแม่และเด็กเยอะมากๆ จากการทำคลาสนี้ ผ่านการอ่าน Reflection ที่เขาเขียน และการคุย ฉันคิดว่าน่าสนใจที่จะสรุปสิ่งที่ฉันสังเกตมา 

ด้านพ่อแม่

  • พ่อแม่มีลูกน้อย และมีลูกช้า นิสิตปีสี่รุ่นนี้ 32 คน ไม่มีใครมีพี่น้องเกิน 4 คน มากสุดคือสามคน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องสองคน, 25-30% เป็นลูกคนเดียว หลายๆ ครอบครัวคิดว่าจะมีลูกเมื่อพร้อม เช่น นิสิตปี 4 บางคนมีพ่อแม่ที่เกษียณแล้ว และบางคนมีหลังจากที่ได้พยายามมีหลายปี จึงมักจะมีแค่ 1 คน
  • ผลของการมีลูกน้อย โดยเฉพาะลูกคนเดียว ทำให้เด็กแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่หนัก ถึงแม้ปากจะบอกว่าไม่คาดหวัง แต่มันออกมาเป็นพลังงาน ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน แบกรับความคาดหวังไว้
  • พ่อแม่ส่วนหนึ่ง micro manage ลูก ตัวอย่างสุดโต่งอันหนึ่งคือ ติดตั้ง GPS tracker ที่โทรศัพท์มือถือของลูก เพื่อตามว่าอยู่ที่ไหน (ลูกเป็นหญิง ปีสี่) ฉันถามว่าถ้าจะไปเที่ยวกลางคืน จะทำไง เด็กบอกว่าก็ทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่ห้อง หลายคนบ้านอยู่ไกลม. มาก แต่พ่อแม่ก็ไม่ให้อยู่หอ (ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นความกังวลว่าลูกจะเสีย)
  • สิ่งที่พ่อแม่ขาดในวัยเด็ก จะต้องการให้ลูกได้รับสิ่งนั้น เช่น ถ้าพ่อแม่เรียนไม่สูง จะอยากให้ลูกเรียนสูงมากๆ ต่อป.โททันทีที่จบปริญญาตรี หรือถ้าพ่อแม่ถูกเลี้ยงมาแบบบังคับ จะเลี้ยงลูกตัวเองแบบปล่อยๆ
  • เด็กหลายคนขาดอิสระ ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำให้ไม่เป็นผู้ใหญ่ (immature) เพราะถูกเลี้ยงแบบเด็กน้อย
  • พ่อแม่หลายคนไม่เคยเห็นใบเกรด (Transcript) ของลูกตัวเอง ซึ่งจริงๆ ควรขอดู เพราะเป็นการสรุป performance ของเด็ก แล้วถ้าเด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน เกรดจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนมาก
  • ยังมีพ่อแม่ที่อยากให้ลูกรับราชการ เพราะมั่นคง เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 
  • ยังมีพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเรียนป.โททันทีที่จบป.ตรี เหตุผลที่มักใช้คือ กลัวว่าจะทำงานเพลินจนไม่กลับมาเรียน การเรียนโทยังเป็นเกียรติ (Status symbol) นิสิตบางคนก็อยากเรียนโทเอง เพราะคิดว่ายังมีความรู้ไม่พอ
  • ประมาณ 15-25% ของนิสิตมีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะหย่าร้างหรือเสียชีวิต สิ่งที่ตามมาคือความมั่นคงทางการเงิน และความมั่นคงทางจิตใจ หลายคู่ทะเลาะกันก่อนแยกทาง ทิ้งบาดแผลไว้ให้เด็ก 
พานิสิตไป Mercy Center ที่สลัมคลองเตย

ด้านเด็ก

  • ด้วยอายุนิสิต พ่อแม่หรือคนเลี้ยงมีผลต่อตัวเขามาก พฤติกรรมหรือทัศนคติของเขามาจากคนเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ 
  • ถ้านิสิตคิดว่าเรียนไม่ไหวจริงๆ การลาออกและไปเรียนที่ใหม่จะทำให้มีความสุขมากกว่าและประหยัดเงินและเวลากว่า ระบบจะไม่คัดนิสิตออกง่ายๆ นิสิตจะถูกรีไทร์ถ้า GPAX ต่ำกว่า 1.75 ติดกันสองเทอม เด็กเรียนอ่อนมากหลายคนยังไงก็ได้เกรดเกิน (มีวิชาบูรณาการพยุงไว้) แต่จะจบการศึกษาได้ต้องผ่านวิชาบังคับของหลักสูตร และได้ GPAX >= 2.00 มีนิสิตภาคฉันเรียนแบบลอยๆ เท้งเต้งไปเรื่อยๆ ทั้งที่อ.ที่ปรึกษาแนะนำหลายครั้งให้ลาออกไปเรียนที่อื่นเพราะเกรดไม่น่าพอที่จะจบ ท้ายที่สุดลาออกตอนปี 6 โดยไม่ได้ปริญญา ไปเรียนต่อที่อื่น
  • การซิล (เรียนปริญญาตรีที่อื่นมาก่อน แต่ยังไม่จบ แล้วเปลี่ยนที่เรียน) เป็นเรื่องธรรมดา ฉันเจอทุกเทอม 5-10% 
  • นิสิตมีกลุ่มเรียนและ Hangout ซึ่งเปลี่ยนได้ แต่เขาจะมีแก๊งเขา บางทีก็น่าเศร้าที่แก๊งเหนียวแน่นไป เขาไม่ค่อยคุยข้ามกลุ่มถึงแม้เรียนภาคเดียวกัน นิสิตที่ไม่มีแก๊งจะโดดเดี่ยว และหลายคนเป็นซึมเศร้า 
  • มี Strong correlation ระหว่างผลการเรียนและสุขภาพจิตของเด็ก ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เด็กเรียนไม่ดี เลยเครียด หรือว่าความซึมเศร้าทำให้เด็กเรียนไม่ดี
  • สถานการณ์สุขภาพจิตของนิสิตหลังโควิดไม่ค่อยดี ก่อนหน้าโควิดก็แย่แล้ว แต่โควิดทำให้แย่ลงไปอีก ก่อนโควิด ฉันพบเด็กซึมเศร้าแบบกินยาคลายเครียดทุกเทอม 15-20% ฉันเดาว่าโควิดทำให้เด็กโดดเดี่ยว (Lonely) และเป็นซึมเศร้าและแพนิค มันไปเป็นแพ็กเกจ อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ "โลกซึมเศร้า" (Lost Connections)
  • การกินยาหรือพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายสำหรับเขาๆ บอกเราได้ 
  • นิสิต Gender fluid มาก โดยเฉพาะผู้หญิง บางคนมีแฟนได้ทั้งชายและหญิง ขึ้นกับว่าคุยกันรู้เรื่องไหม พบนิสิต LGBTQ ทุกเทอม (ห้าปีที่ผ่านมา) 
  • นิสิตชายที่ไม่ใช่เกย์บางคนทาเล็บ สะพายกระเป๋าแบบผู้หญิงถือ มาม. การฉีดโบท็อกซ์ นวดหน้า เป็นเรื่องปกติ
  • นิสิตหลายคนออกกำลังกาย ดูแลตัวเองเรื่องกินนอน แต่หลายคนก็กินอาหารจังก์ นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน ทำให้ปวดหลัง ผิวไม่ดี สุขภาพไม่ดี 
  • การทำงานพิเศษเป็นเรื่องธรรมดา ก่อนหน้าโควิด งานที่ฮิตคือสอนพิเศษ หลังๆ มีขายของออนไลน์ เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า 
  • เด็กเปิดกว้างทางความคิด ยอมรับความแตกต่าง และสิ่งใหม่ๆ ได้ดี  
  • นิสิตรักสัตว์มาก เช่น ถ้ามาสาย ฉันปรับนาทีละ 10 บ. ให้โอนเงินไปทำบุญแล้วให้ส่งสลิปมา ไม่มีนิสิตคนใดบริจาคเงินให้วัด ถ้าให้เลือกเอง ส่วนใหญ่ (70-80%) บริจาคให้สัตว์พิการ มีปอเต๊กตึ๊งบ้าง หลังๆ ฉันบอกให้ลองไปดูที่เว็บเทใจ เพื่อให้บริจาคไปหลายๆ ที่ 
  • เงินสำคัญมาก เมื่อจบแล้ว เงินเดือนเป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าของตัวเขา บางคนเปลี่ยนงานเพื่ออัพเงินเดือน ความน่าสนใจและ Career path อาจเป็นเรื่องรอง

Comments