เรียน Comm & Leadership แล้วได้อะไร (เทอมปลาย 2564, 1/2)

หลังจากจบการเรียน Communication & Leadership (Syllabus) ทั้ง 14 คาบที่เรียน on site แล้ว นิสิตจะต้องเขียนประเมินตัวเองว่าก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร หรือถ้าไม่เปลี่ยน อยากเปลี่ยนอะไร



นิสิตคนที่ 1

ก่อนที่จะมาเรียนวิชานี้ รู้สึกว่าตัวเองผมย่ำอยู่กับที่ไม่พัฒนา ไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัดไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต ในขณะที่เราเห็นคนอื่นกำลังก้าวไปข้างหน้า เกิดการอิจฉาลึกๆในใจ แต่เราไม่ยอมรับ เราเชื่อมั่นว่าเราช้าเพราะ โรคระบาด เรียนหนัก ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้รวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันคนอื่นๆก็ เจอปัญหาเดียวกัน เราก็โทษเรื่องต้นทุนชีวิตที่แตกต่าง แต่ไม่เคยไปมองหาว่าคนอื่นนั้นผ่านอะไรมาบ้าง พบเจอความลำบากยังไง มองโลกผ่านอัตตาในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง จนมืดบอด เชื่อว่าตัวเองรู้จักตัวเองดีพอแล้ว แต่เมื่อได้เห็นเพื่อนที่สนิทในภาคปกติ ที่ได้เรียนวิชานี้ไปแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความเข้าใจมากขึ้นเลยเริ่มมีความคิดว่าอยากปรับรุงตัวเองอยากเป็นคนที่ดีขึ้น จึงได้ลองขออาจารย์เพื่อที่จะเรียนวิชานี้

 หลังเรียนจบพบว่า สิ่งที่เราคิดนั้นเปลี่ยนไป อย่างแรกความเข้าใจตัวเองที่เรารู้สึกมาตลอดนั้น มันน้อยมาก พอได้เรียนไปเรื่อยๆฟังเสียงตัวเองมากขึ้น รับรู้ความต้องการ รวมไปถึงพลังงานในตัวเรา ทำให้เรากล้ายอมรับความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้น อิจฉาก็ยอมรับว่าอิจฉา เศร้าก็ยอมรับว่าเศร้า ทำอะไรเยอะก็ลองปรับแบ่งกระจาย มีตารางที่อัดกัน เพราะต้องมีกำหนดส่ง ตอนนี้เริ่มทยอยทำ ถึงแม้ไม่มีเดดไลน์เราก็สามารถเริ่มทำสิ่วต่างๆก่อนที่จะรู้ได้มากขึ้น โดยใช้ทัศนะคติเดียวกับการออกกำลังกายว่า ไม่ต้องรอให้ป่วยหรือใกล้ตายแค่ทำไปแล้วความเปลี่ยนแปลงจะเกิดไม่รู้ว่าผลจะดีหรือไม่ดีไม่ต้องคิดเองลงมือทำไปเรื่อยๆ ตอนเริ่มออกกำลังกายก็ทำแบบนั้น ทำให้ชีวิตตอนนี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่อัดไม่เหนื่อย รู้ว่าตัวเองช้าเพราะอะไร รู้ว่าตัวเองมีข้อเสียอย่างไร จนมีคนยอมรับว่าเรามองโลกในแง่ดีขึ้น ปรับเปลี่ยมุมมอง ให้อนุญาตตัวเองพัก ขอบคุณตัวเอง นึกถึงสิ่งดีๆ กล้าร้องขอ กล้ารับฟัง ความสัมพันธ์กับแฟนดีขึ้นมากกับครอบครัวด้วยเช่นกัน ผมกลับบ้านครั้งล่าสุดเพราะรู้ว่ามือถือของพ่อเสีย เลยจะซื้อเครื่องใหม่ไปให้ ตอนไปถึงร้านมือถือ เลยโทรถามพี่สาวว่ารุ่นเก่าของพ่อคืออะไร จะได้เลือกถูกให้เหมาะกับการใช้งาน แต่พี่สาวบอกว่าพ่อซื้อใหม่แล้ว พอกลับมาถึงบ้านพ่อรู้ว่าเราจะซื้อเครื่องใหม่ให้ ท่านเรียกเราไปกอดพร้อมขอบคุณเราที่ต้องการจะช่วยเหลือ ได้มีโอกาสเปิดใจคุยกันในสิ่งที่จะทำต่อ แลกเปลี่ยนความต้องการ ตอนนี้ไม่ต้องรับราชการก็ได้ไม่ต้องหางานที่ได้เงินดีๆเลย ไม่ต้องรีบมั่นคงก็ได้ ท่านบอกเราเองว่าให้เราไปหางานทำแล้วเรียนรู้เอาก่อน ยังไม่มีก็กลับมาอยู่บ้านไม่ได้บีบว่าจบแล้วต้องมีเงินส่งเสียตัวเอง พูดถึงเรี่องถ้าอยากเรียนต่อก็จะสนับสนุน จะส่งเสียต่อไปแต่หากเกิดสะดุด ก็อยากให้มีเงินที่สามารถส่งเสียตัวเองได้ ตอนนี้ความสัมพันธ์ในครบครัวดีขึ้นอย่างมากเลยครับ ตอนนี้ไม่เจอเสียงหมาป่าเลย เราไม่เอาความคิดเราไปตัดสินใครอีก จนกว่าจะได้ลองไปสัมผัส สังเกตจริงๆ ไม่ตัดสินคนจากการมองเพียงครั้งเดียวหรือสิ่งที่เขาทำ ถ้าอยากจะรับรู้จะลงไปทำความรู้จักว่าเขาเป็นอย่างไรแทน กับเพื่อนที่เรากลัวๆกล้าๆ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นด้วย เราก็กล้าที่จะบอก ไม่กลัวว่าจะเสียเพื่อนไป เพราะที่เถียงหรือทะเลาะกัน ความต้องการจริงๆก็คือเป็นห่วงกันและกัน กล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง พร้อมพูดคุยกับคนอื่น จากที่มั่นใจในตัวเองมาก จนทำพลาดตอนที่อาจารย์ประไพศรีเตือน ก็ได้คำแนะนำจากอาจารย์ที่จะกล้าถามเพิ่มเติม ไม่คิดเองว่าเราเป็นอย่างไร จนได้รับคำแนะนำมาเพื่อปรับปรุงตัว เข้าใจมุมมองต่างๆว่าการมองโลกในแง่ดีไม่ใช่โลกสวย ยอมรับความผิดพลาดและเรื่องของจังหวะชีวิต ณ ช่วงเวลานี้เรากำลังทำอะไรควรปรับปรุงและพัฒาตัวเองย่างไรต่อ จากวันที่เริ่มเรียนจนถึงวันนี้ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ทำงานดีขึ้น ไม่ได้กล้ามใหญ่ขึ้น ไม่ได้รวยขึ้น ไม่ได้มีงานรองรับหรือมีบริษัทดีๆมาทาบทาม แต่ก็ไม่ได้เป็นกังวล เรามีความสุขกับทุกวัน ถึงบางวันจะไม่มีแผนหรือผิดแผน แต่เราก็มองหาเรื่องใหม่ๆที่จะไปทำ เช่นลองไปเดินไปวิ่งในที่ ที่ไม่เคยไป ลองกินข้าวร้านอื่น ตอนนี้รู้สึกมีความสุขกับชีวิต ความเครียดต่างๆลดลง ไม่โทษสิ่งอื่นรอบๆตัว ไม่โทษตัวเองแต่เข้าใจในสิ่งที่ทำทั้งดีและไม่ดี

สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปคือการแวะ จาก A ไป B เราชอบวนชอบแวะ ชอบไปช้าๆ อยากโฟกัสและแวะให้น้อยลงบ้างแต่ไม่กดดันตัวเองว่าจะต้องรีบไปให้ทันคนอื่น เพราะเราฝืนแรงต้านไม่ไหว แต่คิดว่าจะลดการไปนอกเป้าหมายหรือแวะลองอย่างอื่นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นหน่อย อยากเห็นตัวเองมีงานทำหลากหลาย มีงานประจำ มีงานเสริมที่เป็นความชอบ เช่นสอนพิเศษหรือเป็นเทรนเนอร์ งานประจำตอนนี้อยากเป็น consult กำลังมุ่งเป้าหางานเพื่อที่จะเรียนรู้ อยากมีบ้านสวนให้พ่อกับแม่ เป็นที่ที่ทำให้เราได้กลับไปพักผ่อนด้วย อยากสร้างงานให้พ่อกับแม่ สร้างธูรกิจให้ท่านจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก อยากมีเงินให้พี่ไปเรียนเพื่อได้ทำในสิ่งที่ชอบ ความต้องการเหล่านี้ล้วนใช้เงิน แต่คิดว่าสามารถทำได้ ถ้าไม่รวยก็ทำขนาดที่เล็กลงมาได้ อยากเป็นคนที่มีระเบียบมากกว่านี้ ช้าลงกว่านี้ในเรื่องของการคิดและการทำงานเพราะบางครั้งเรามุ่งเป้าและทำอย่างรวดเร็วจนเกิดไปแล้วเกิดความผิดพลาด ใจเย็นลง อยากช่วยเหลือคน อยากที่จะมีโอกาสได้พูดให้กำลังใจ ให้ความรู้กับคนอื่น อยากเป็นวิทยากร มีคนเชิญไปพูด

ความรู้สึกที่มีต่อคลาสนี้คือเป็นคลาสที่ปลดล็อกหลายอย่างในตัว ทำให้เรากล้านอกจากการกล้าแสดงออก กล้าพูด ยังกล้าที่จะยอมรับความรู้สึกของตัวเอง เป็นคลาสที่สนุก อบอุ่น และมีพลังงานที่ดีให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ สอนสิ่งที่ตลอดการเรียนในชีวิตมหาลัย ไม่เคยได้ใช้ แต่เป็นสิ่งที่นำไปใช้และสามารถทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นได้ ตอนแรกอยากเสนอให้มีเป็นวิชาบังคับ อยากให้ทุกคนได้เรียน แต่พอมาคิดจริงๆมันต้องใช้ความพยายามพอควร และเปิดใจที่จะเรียนรู้ทุ่มแรงกายแรงใจกับมัน ถึงจะเกิดผล ถ้าบังคับคนอื่นให้เรียนคนที่ไม่อยากอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ เป็นวิชาเลือกแบบนี้น่าจะเหมาะสมแล้วครับ การดูแลของอาจารย์ทั่วถึงมากเข้าใจเลยว่าทำไมจำกัดจำนวนเพราะอาจารย์ก็ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจแต่ละคนจริงๆ อยากได้รับคำแนะนำและมุมมองในหัวข้อของแต่ละครั้งจากอาจารย์ท่านอื่นด้วยบ้าง อาจจะทำให้กล้าที่จะปรึกษากับอาจารย์ท่านอื่นๆในตอนเรียนหรือทำโปรเจค ขอขบคูณอาจารย์ที่ตั้งใจออกแบบคลาส และให้คำแนะนำให้ความช่วยเหลือผม เป็นแรงบัลดาลใจในการปรับปรุงตัวเอง 

อยากเสนอว่า ช่วงนี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้อยากมีโอกาสได้ไปอย่างรุ่นพี่ ที่ออกนอกสถานที่ แต่คิดว่าถ้ารวมภาคปกติกับภาคพิเศษอาจจะเยอะเกินไป หากสามารถชักชวนตามความสมัครใจโดยแบ่งเป็นรอบไปได้ และให้เลือกไปตามความสมัครใจก็คงจะทำได้ถ้าภาควิชาอนุญาติ นี่อาจจะเป็นความต้องการของผมคนเดียวที่อยากจะได้ไปเจอเพื่อนในภาคปกติที่เรียนวิชานี้ด้วยกันเพราะอยากรู้ว่าเพื่อนในภาคของเราใครบ้างที่เรียนและเป็นยังไง 

สุดท้ายสิ่งที่ทำวันนี้ความคิดของผมวันนี้ต่อไป หากไปเจอโลกของการทำงานจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรก็คงไม่สามารถรู้ได้ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคลาสนี้ ณ ปัจจุบันคงส่งผลให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้นได้จะพยายามนำไปใช้เพื่อไม่ให้ลืมสิ่งที่เรียนในวันนี้ ในวันข้างหน้าโพสนี้คงจะเตือนผมอยู่นทุกๆปี ณ ช่วงนี้คงจะได้กลับมาอ่านและย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ ขอขอบคุณอาจารย์มากๆครับ 

นิสิตคนที่ 2

 วิชา Collaborative communication and Effective Leadership หรือเรียกสั้นๆว่า วิชา Leadership เป็นวิชาที่ผมเคยเห็นโพสผ่านๆ อยู่ในกลุ่ม KU IE Undergrad ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมคิดไว้ในใจเลยว่าต้องเรียนวิชานี้ให้ได้ เนื่องจากตอนที่เห็นโพสในกลุ่ม ได้เห็นรูปภาพที่พวกรุ่นพี่ได้ไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ได้ไปทำค่ายอาสานอกสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมนั้นอยากทำกับเพื่อนๆ มาตลอด โดยปกติผมมีนิสัยชอบทำกิจกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอถึงปี 4 ก็มีลังเลว่าจะเรียนดีไหมเนื่องจากโรคระบาดที่ทำให้อดจัดกิจกรรมนอกสถานที่ แถมยังมีวิชาเรียนที่หนักๆ อยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายพอมาคิดดูแล้ว การได้ฝึกพัฒนาการสื่อสารของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ผมตั้งเป้าไว้มานานแล้วเหมือนกัน และผมคิดว่ามันสำคัญกว่าความสามารถด้านวิชาการที่เรามีเสียอีก เลยได้ตัดสินใจลงทะเบียนเรียนตามที่ตัวเองนั้นตั้งใจไว้ โดยภาพก่อนได้เรียนของวิชานี้ที่อยู่ในความคิดคือเป็นภาพที่ คลาสนี้มาเรียนเกี่ยวกับการพูดปลุกใจคน การพูดในที่สาธารณะ การพูดกล่าวในงานต่างๆ และการฝึกการทำงานร่วมกัน เป็นแนวนั้นมากกว่า แต่พอเริ่มเรียนคลาส สองคลาสแรก ก็เริ่มสนุกกับมันมากขึ้น ผิดจากที่คิดไว้โดยสิ้นเชิง

การได้เข้ามาเรียนในวิชานี้เป็นเหมือนกับการมาพักผ่อนจากเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ผมไม่เคยรู้สึกเหมือนมาเรียนเลย เหมือนกับว่าได้มานั้งล้อมวงแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ มุมมองต่างๆ กับเพื่อนที่ในช่วงเวลาปกติตั้งแต่ปี 1 ยัน ปี 4 ไม่เคยได้คุยกันเลย มันเป็นความรู้สึกที่ไม่เหมือนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่เคยได้เรียนทั่วไป แตกต่างทั้งความรู้สึกตั้งแต่ตอนเดินทางมาห้องเรียน ณ ขณะนั้งเรียน และหลังเลิกเรียน เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนมาสนามเด็กเล่นตอนวัยเด็ก

เนื้อหาหลักๆของวิชานี้เหมือนเป็นการที่นำพาเรามาศึกษาตัวเองให้มากขึ้น การได้ศึกษาเกี่ยวกับนพลักษณ์ การได้ศึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองลึกๆ ที่เมื่อก่อนมันไม่รู้จะหาคำไหนมาอธิบาย การแยกแยะเกี่ยวกับความรู้สึก และความต้องการของตัวเราเอง พูดรวมๆให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ฝึกจัดการชีวิต และความคิดตัวเอง จากที่มันวนๆ ลอยๆ จะจับมาเรียบเรียงก็ทำไม่ได้ วิชานี้มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก โดยผมขอแบ่งเขียนเป็นส่วนสั้นๆ ในแต่ละวันที่ได้เรียนไป

การได้เขียนความสุขของเราในแต่ละวันเป็นงานที่ผมชอบนะ เหมือนเราได้มานั้งทบทวนเรื่องราวในวันหนึ่งวัน ว่าได้ผ่านอะไรมา ได้กลับมานั้งคิดถึงความสุขที่เกิดในแต่ละวัน โดยในตอนปกติผมแถบจะไม่ได้มานั้งถึงนึกความสุขพวกนี้เลย ตอนมีความสุขก็แค่รู้สึกแฮปปี้แล้วก็ปล่อยมันผ่านไป ไม่ได้มานั้งไตร่ตรองว่าทำไม หรืออะไรทำให้เรามีความสุข ซึ่งมันก็คล้ายๆ กับตอนที่ให้เขียนชื่นชมตัวเองใน 1 วัน แต่การชื่นชมตัวเองนั้น มันคือการหาความสุขจากตัวเองที่แท้จริง ไม่ต้องการสิ่งแวดล้อมมาช่วยเราเลย แล้วพอได้เรียนคลาสของพี่มะขวัญ มันทำให้เราเห็นคำว่า ความสุขที่มันลอยๆ อยู่ในอากาศชัดเจนขึ้นมาก ทั้งการผ่อนคลายตัวเองในช่วงเวลาเครียด การบิดขี้เกียจเป็นมืออาชีพ โดยผมว่าความสุขเรามันก็เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย และประสบการณ์การต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว อย่างที่ผลวิจัยออกมา ความสุขมันคือการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบตัว

ส่วนของนพลักษณ์เป็นส่วนที่ผมชอบสุดๆ แล้วจริงๆ มันทำให้เรามองตัวเองได้ลึกขึ้นมาก ในทุกการกระทำที่เราทำ ในทุกความคิดที่เราคิด เมื่อก่อนเคยคิดตลอดว่าเราจะเป็นคนที่ดีขึ้น ดีขึ้น แต่ว่าดียังไง 5555 เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าตรงไหนคือจุดแข็ง หรือจุดอ่อนของเรา อาจจะรู้บ้างเป็นบางเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ส่วนมากอยู่ดี แต่พอได้มาศึกษานพลักษณ์ มันสามารถอธิบายได้ว่า เราเป็นคนแบบไหน พฤติกรรมต่างๆ ของเรา ความคิดในหัว การตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว มันมีเหตุผลมาจากบางอย่างที่อยู่ในตัวเรา กลับกลายเป็นว่า เวลาผมทำอะไร หรือคิดอะไร มันจะมีความคิดที่พ่วงมาเสมอ คือการหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงคิดแบบนี้นะ แล้วก็ไปแลกเปลี่ยนกับไอจ๊อบ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทผม ซึ่งมันทำให้รู้เลยว่า จริงๆแล้วทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง อันเนื่องมาจากบุคลิกของแต่ละคนนั้นเอง โดยไอคำว่า ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ผมได้ยินมาบ่อยนะ แต่ไม่เคยจะเข้าใจมันสักที ผมชอบเห็นความคิดคนอื่นมีจุดบกพร่องเสมอ แต่ของตัวเองต้องมานั้งหาสักพักนึง ซึ่งไม่ดีเลย 

การสื่อสารแบบสันติ โห้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมโหยหายมาสักพักแล้ว แต่จับประเด็นปัญหาในการแก้ไขมันไม่ถูกสักที่ ผมเคยถูกรับเลือกให้เป็นประธานค่ายอาสาของชมรมพัฒนาชนบทของมหาลัย แล้วด้วยการทำงานเป็นทีม และ ขาดไม่ได้ต้องมีการสื่อสาร ซึ่งผมทำมันได้ไม่ดีเลย โดยที่ผมไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ผลคือความสัมพันธ์ของเพื่อนบางคนก็ผิดใจกับผมไป ซึ่งเป็นสิ่งผิดพลาดที่ติดอยู่ในใจนานเลย กว่าจะก้าวต่อไปได้ เคยหาหนังสือมาอ่านเรื่อง “พูดอย่างไร ให้คนเข้าใจ” มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย เพราะเราแก้ไขผิดประเด็น 555 พอได้เรียนเรื่องการสื่อสารแบบสันติ จริงๆ แล้วมันเริ่มที่ตัวเองก่อนเลย การเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และวิธีในการพูดมันออกไป ให้คนฟังไม่รู้สึกลบหรือปิดกั้นต่อเรา เป็นการพูดที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ และการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน โดยวิธีการที่ได้ ก็อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีการที่แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย น่าจะได้เรียน NVC ก่อนไปทำค่ายจริงๆ เสียดายมาก ยิ่งถ้าได้เรียนประชาธิปไตยเชิงลึก หรือผมขอสรุปเรียกสั้นๆ ว่า มันคือการเอาใจเขา มาใส่ใจเรา และแหวกใจเรา มาใส่ใจเราอีกที ผมว่าการทำงานกลุ่ม ทำงานกับผู้คนจะสนุกมากขึ้นกว่านี้แน่

เมื่อก่อนผมเป็นยังไง ผมว่าตอนนี้ผมก็เป็นคนแบบเดิม แต่เพียงว่า เรามองเรื่องราวต่างๆ ปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ประสบการณ์ ลึกขึ้นกว่าเดิมมากๆ จากเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยจะหาสาเหตุของเรื่องราวอะไรสักเท่าไหร่ มองเป็นเพียง 2 ด้าน ขาวหรือดำ ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ไม่เคยมีนอกแหนือจากผลลัพธ์พวกนี้เลย อาจจะเป็นเพราะด้วยความที่เราเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจผลลัพธ์เป็นต้องออกมาเห็นเป็นภาพชัดเจน แต่พอได้เข้ามาเรียนในวิชานี้ ความคิดต่างๆ มันเริ่มแตกต่างออกไป จากการที่จะต้องหาสาเหตุของปัญหา การจะต้องมานั้งหาคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสงสัย เราเปลี่ยนมันไปเป็นการเข้าใจเรื่องพวกนั้นก็เพียงพอแล้ว การเข้าใจในปัญหา การเข้าใจในการกระทำ ความคิดของคนรอบข้าง เพราะเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตคนเรามันไม่ได้มีคำตอบเหมือนกับตอนเรียนเสมอ ผมชอบที่เวลามีเพื่อนมาปรึกษาปัญหาต่างๆ ผมมองปัญหาเหล่านั้นได้ลึกขึ้น ผมมองความรู้สึกเพื่อนผมได้ลึกขึ้น และไม่ได้ตัดสินเพื่อน จากปกติที่การปรึกษาของเพื่อนจะจบด้วยคำแนะนำของผม ก็เปลี่ยนเป็นการปรึกษาของเพื่อนจบที่เราได้รับรู้และเข้าใจว่าเขาเป็นอะไร

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณอาจารย์จุฑามากๆ ที่เปิดคลาสเรียนแบบนี้ขึ้นมา มันเหมือนเป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายไปในช่วงการเรียนมหาลัยจริงๆ วิชานี้สอนให้คนๆนึง เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว คนในสังคม ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุขนั้นเอง เป็นวิชาที่สอนให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งผมไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน จะเรียนรู้ก็จากการตกผลึกเองทั้งนั้น ผมอยากเสนอเลยว่า วิชานี้ควรเป็นวิชาที่ทุกคนควรได้เรียนในเรียนมหาลัยสักครั้ง มันไม่ควรมาอยู่ตอนปี 4 มันควรเป็นวิชาที่อยู่ในปีต้นๆ ของการเรียนมหาลัยเลย มันน่าจะช่วยคนได้อีกหลายคนเลย

Comments