ก้าวข้ามความเคยชิน

พอเขียนบล็อกนี้เสร็จ แล้วส่งให้เพื่อน อธิบายให้เพื่อนฟัง พบว่าการเขียนเป็นการไว้อาลัย (Grieving) ของฉัน


ตอนทำความรู้จักไม่ยาก เพราะค่อยเป็นค่อยไป แต่ตอนที่อยากเอาตัวเองออกจากความสัมพันธ์มันยาก เพราะกะทันหัน จริงๆ ก็ไม่กะทันหัน ความอยากที่จะออกมีมานาน 

ฉันรู้สึกมานานแล้วว่าฉันน่าจะสงบกว่านี้ถ้าฉันไม่เจอเขา พยายามมาหลายครั้งที่จะยุติความสัมพันธ์ แต่ก็ยังวนเวียนเจอกันอีก

มันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบหญิงสาวชายหนุ่ม มันคล้ายฉันเป็นพี่เลี้ยงเขา สถาปนาตัวเองเป็นแม่  

การะเบิดงวดนี้เริ่มมาจากฉันไปอธิษฐานกับพระพุทธรูปที่วัดไร่ขิง ขอให้เขาออกไปจากชีวิต แล้วฉันจะถือศีลแปดสามเดือน ซึ่งเป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี

เพื่อนบอกว่าเล่นใหญ่ คนอื่นเขาแค่บนด้วยไข่ 100 ฟอง ฉันบอกว่าไข่ง่ายไป ฉันไม่ชอบของง่ายๆ 

เหตุเกิดมาได้ ๒ อาทิตย์ ก็มีเหงาบ้างที่ไม่ได้ตามจิกเขาทั้งวัน แต่ฉันคิดว่าฉันได้ทำในสิ่งที่ควรทำมานาน และฉันโล่งใจ และสบายใจ 

พอเริ่มแก่ ฉันไม่ชอบดราม่า ฉันคิดว่าการทะเลาะกันบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องสนุก เป็นสัญญาณว่าเราเข้ากันไม่ได้ และควรอยู่ห่างๆ กัน

ฉันคิดว่าฉันดูแลตัวเองได้ดีขึ้นมาก ณ ตอนนี้ เป็นการจบความสัมพันธ์ที่ฉันฟื้นสภาพได้รวดเร็วมาก ฉันอยากลองลิสต์ว่าทำอะไรบ้าง
  1. ตัดจากเขาในโลกโซเชียลทั้งหมด และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ไปส่อง
  2. ลบรูปเขาออกจากโทรศัพท์
  3. ไม่ปฏิเสธอารมณ์ที่เกิดขึ้น เศร้าก็รู้ว่าเศร้า คุยกับเพื่อน เขียนบันทึก
  4. ดูแลร่างให้ดี ออกกำลังกาย กินดี นอนเยอะๆ
  5. ทวงของเราจากเขาทุกอย่าง 
สำหรับฉัน จุดหักเหที่ทำให้ตัดขาดได้สนิทคือตอนที่ฉันเปลี่ยนทัศนคติได้ เดิม ฉันคิดว่าฉันเป็นคนสำคัญของเขา ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เขามีต้นทุนชีวิตที่น่าเห็นใจ พื้นฐานครอบครัวและฐานะไม่ดี ฉันชื่นชมที่เขาส่งตัวเองเรียนจบปริญญาตรีได้ ฉันเห็นตัวเองเป็นไลฟ์โค้ช เป็นผู้สนับสนุนที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น และจะปิดจ๊อบนี้ได้เมื่อเขา"ดีแล้ว"  แต่เมื่อฉันคิดได้ว่า จริงๆ ฉันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ไม่มีเรา เขาก็ดูแลตัวเองได้แหละ ก็โตขึ้นมาได้ขนาดนี้  ฉันประเมินตัวเองสูงเกินไปว่าฉันไปเปลี่ยนเขาได้ 

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้หลุดคือฉันเลิกเฝ้ารอ ฉันรอคอยการเปลี่ยนแปลงของเขาว่าฉันจะสามารถทำให้เขาเป็นแบบที่ฉันคิดว่าดี จริงๆ เขาก็เปลี่ยนไปหลายอย่างตั้งแต่ได้มาเจอกัน 

อาคีไทป์แม่ก็มีด้านมืดคือครอบงำ

ความเนิร์ดของฉันคือ ฉันหลุดได้อีกเปลาะตอนฟังหนังสือเสียงเรื่อง Outliers ของ Malcolm Gladwell เขาพูดถึงเด็กอัจฉริยะที่มีไอคิวสูงมากกลุ่มหนึ่ง ที่มีนักวิจัยตามติดชีวิตจนโต เขาแบ่งเด็กกลุ่มนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ A, B, C คนกลุ่มเอเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ ส่วนกลุ่มซีนี่ไม่เลย ทั้งๆ ที่ก็ฉลาดมาก เป็นเด็กอัจฉริยะ นักวิจัยไปพูดคุยกับคนทั้งสองกลุ่มแล้วพบว่าเอและซีแตกต่างกันเหมือนเป็นมนุษย์คนละสปีชีส์  

ที่มาของความต่างของกลุ่มเอและซีคือพื้นฐานการเลี้ยงดู กลุ่มเอมาจากชนชั้นกลางขึ้นไปที่ถูกฝึกให้เจรจาต่อรอง ตั้งคำถาม มีเซ็นส์ว่าตัวเองมีค่า ส่วนกลุ่มซีเป็นเด็กยากจนที่ไม่มีใครสนใจ ขาดความฉลาดในเชิงปฎิบัติ (Practical intelligence) เป็นความสามารถในการอ่านสถานการณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ จึงทำให้กลุ่มซีไม่สามารถเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ยากๆ ได้ เหมือนว่าระบบการตัดสินใจมีปัญหา 

ฉันป๊๊งทันทีว่า ที่ฉันไม่เข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น บางอย่างที่เขาทำฉันคิดว่าไม่ฉลาดมีที่มาจากการเลี้ยงดู  และมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ยากมาก

พูดง่ายๆ ว่าฉันยอมแพ้ หรือพูดเก๋ๆ คือ ฉันศิโรราบ

เพื่อนสนิทบอกว่า เรื่องความรักจะยังเข้ามาท้าทายฉันอีก ตอนแรกฟังแล้วก็หวั่นใจ แต่ฉันคิดว่า คนที่เข้ามาในชีวิตที่เป็นคนสำคัญทุกคน มาให้ฉันได้เรียนรู้ และคราวนี้ฉันฟื้นเร็วมากจนฉันมั่นใจว่าฉันรับมือกับสิ่งที่จะมาในอนาคตได้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ฉันมั่นใจ 

Comments