การเดินทางของฉันที่ Sacred Mountain Festival 2020 (1/2)

ชอบการจัดดอกไม้ของที่นี่
ชั้นไปงานนี้โดยไม่มีความคาดหวัง ไปเพราะรู้จักคนจัดทั้งสามคนและรู้ว่าเป็นคนไม่ธรรมดา งานน่าจะโคตรน่าสนใจ และอยากจะซัพพอร์ต พอมามองย้อนหลัง คิดว่าชั้นตอนนี้พร้อมสำหรับงานนี้มากกว่าชั้นปีที่แล้ว ครูบาอั๋นที่ไม่ได้เจอกันสองปีบอกว่าเมื่อก่อน ชั้น Mechanic มาก คือ เป็นขั้นตอน เป็นหุ่นยนต์ ตอนนี้ซอฟท์ลง ยืดหยุ่นขึ้น เป็นมนุษย์มากขึ้น แต่ก่อนทำตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์

ชั้นก็เลยว่าถ้าชั้นมาปีที่แล้วคงไม่ชอบ เหมือนยังไม่ถึงเวลา

แทบทุกทอล์ก ทุกเวิร์คช็อปในงานเป็นสิ่งที่ชั้นอินในช่วงนี้ เช่น Energy Healing, Voice Dialogue, Process Work   และคนที่มาก็หน้าคุ้นๆ กันทั้งนั้น มนุษย์เวิร์คช็อปทั้งหลาย มีอีกกลุ่มคือแฟนคลับพี่อ้วนและสายภาวนา

รูปแบบของงานคือช่วงเช้ามีทอล์กหรือเวิร์คช็อปอันเดียวรวมกัน ตอนบ่ายมีเวิร์คช็อปย่อยสามอันขนานกัน มีสองช่วง มีหลายครั้งที่เราอยากไปทั้งสองอันที่จัดในเวลาเดียวกัน ก็จะเลือกอันที่เพื่อนสอนหรือป๊อปปูลาร์น้อยกว่า

วันที่ ๑ กุมภา

พิธีเปิดที่ศาลพญานาค
คืนก่อนวันงาน คือ ๓๑ มกราคม มี Reunion ซึ่งชั้นไม่ได้ร่วม วันแรกคือวันที่ ๑ กุมภา มีพิธีเปิด มีการบูชาธาตุทั้งสี่ คือ น้ำ (ที่ศาลพญานาค) ลม (ที่เจดีย์กองหิน) ไฟ (ที่ศาลหัวหน้าผีในพื้นที่ ชั้นจำชื่อไม่ได้) ดิน (Labyrinth ที่งานนี้สร้าง) ชั้นคิดว่าพิธีกรรมจะมีความหมายหรือศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะให้ความหมายหรือว่าเรามีศรัทธาหรือเปล่า  ถ้าติดอยู่ในหัวเยอะ คิดเยอะ สงสัยเยอะ ก็จะสัมผัสพลังงานไม่ได้

ตอนบ่ายของวันที่ ๑ ชั้นไปฟังทอล์กของหมอมะเดื่อเรื่อง Energy Healing ชั้นเคยเรียน Seraphim Blueprint Levels 1 and 2 กับหมอมาแล้ว ก็คุ้นเคยกับสิ่งที่ฮีสอน เช่น ควอนตัมฟิสิกส์บอกว่า สสารและพลังงานเปลี่ยนรูปสลับกันไปมาได้  จักระตามแบบอายุรเวทคือศูนย์พลังงาน  มนุษย์มีสี่มิติ คือ กายเนื้อ (Physical) อารมณ์ (Emotional) ความคิด (Mental) และจิตวิญญาณ (Spiritual)  ด้านทั้งสี่นี้เกี่ยวข้องกัน เช่น บาดแผลทางใจมันฝังอยู่ในร่างกายของเราที่จักระต่างๆ  ตอนนี้ชั้นนึกถึงที่นิ้วกลมเล่าว่าฮีเอาตัวเองออกจากภาวะหมดแรงจูงใจด้วยการถีบจักรยานและวิ่ง ฮีบอกว่าเดิมฮีให้ค่าแต่กับความคิด ลืมร่างกายไปเลย ตอนนี้กลับมาสนใจร่างกายผ่านการวิ่งและถีบจักรยาน

ช้อปปิ้ง
ส่วนตัว ชั้นก็ใช้ Seraphim เยียวยาตัวเองเวลาป่วย และทำให้เพื่อนบ้าง  หมอมะเดื่อบอกว่า ในเชิงการรักษา ก็ดูว่าคนไข้ต้องการพลังงานแบบไหน เช่น ถ้าคนไข้ต้องการความกรุณา Healer ก็คอนเน็ตกับพลังงานแบบนั้น เช่น เจ้าแม่กวนอิม แล้วส่งพลังงานนั้นให้

ได้ยินคำว่า Connect บ่อยมากในงานนี้

Session ต่อมาเป็น Homeopathy โดยหมอนิล ที่เป็นหมอเทรนมาแบบตะวันตกที่เกาะยาว  ฮีเป็นหมอคนเดียวของเกาะ ก็ต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มี  น่าสนใจที่กระทรวงสาธารณสุขมีเทรน Homeopathy ด้วย  ล้ำมากๆ  เพราะเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่ได้รับก็ควรจะต่างกัน  หมอจะซักถามคนไข้ก่อน แล้วค่อยจ่ายยา  ชั้นชอบที่หมอบอกว่า เราทุกคนควรรู้ขั้ว (Polarity) ของตัวเอง คำว่าขั้วน่าจะหมายถึงขอบ เช่น ชั้นชอบคำชม และในเวอร์ชั่นที่ยังไม่พัฒนา จะโหยหาคำชมมาก และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับ  ถ้าเราไม่ตระหนักในขั้วของเรา ให้มันทำงานจนสุดโต่งแล้ว unhealthy มากๆ  เช่น เฟคความสำเร็จเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

เค้าให้กางเต๊นท์นอนที่งานคือที่ค่ายเยาวชนเชียงดาวได้ แต่ชั้นแก่แล้วและต้องการพื้นที่ปลีกวิเวก อยากนอนหัวค่ำแบบเงียบๆ ตื่นเช้ามาฝึกโยคะ ชั้นจึงไปกางเต๊นท์นอนที่มะขามป้อมแทน  ตอนเย็นวันแรก ก็กลับเลย รู้สึกเหนื่อยเพราะมาแต่เช้า แต่ที่นี่กลางคืนก็มีดนตรี มี "ปล่อยของ" improvised โดยคนที่มา

วันที่ ๒ กุมภา

ก่อนที่จะเข้าเวิรคช็อปเช้า ครูพลอยมานำเราทำกิจกรรมกลุ่ม ปกตินางสอนร้องเพลง และนางรู้วิธีการเต้นรำและการใช้เพลงเพื่อทำกิจกรรมกลุ่มที่เป็นศาสตร์ของออสเตรีย สำหรับชั้นที่กลัวการเต้นรำ กิจกรรมของนางน่าทึ่งในความเรียบง่ายและพลังของมัน เอาคนเป็นร้อยให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ และทำตามนางได้ ชั้นเห็นพลังของเสียงเพลงที่มันพลิกบรรยากาศจริงๆ พอเปิดเพลงปุ๊บ เหมือนเราอยู่ห้องบอลรูมที่ยุโรปเลย กำลังเชียร์ให้นางจัดเวิร์คช็อปสอนเรื่องนี้ ชั้นไม่อยากเรียนร้องเพลง แต่อยากรู้วิธีการรันกิจกรรมแบบนาง

ช่วงเช้าเป็นเวิร์คช็อปของพี่ณัฐ ณัฐฬส ซึ่งชั้นคุ้นเคยกันดี เพิ่งรู้สึกว่าพี่ณัฐเป็น influencer ของเราและของหลายๆ คนในงาน ถูกพูดถึงบ่อย  ฮีบอกว่า สิ่งที่ทำให้อีโก้สลายไปชั่วคราวคือการตกหลุมรัก; คนหรือเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตทำให้เรารู้จักตัวเอง (ชั้น: โดยเฉพาะพวกตัวป่วน); Getting to know oneself is a work of a lifetime; จิตใต้สำนึกส่งเมสเสจมาให้เราผ่านความฝัน; ความสัมพันธ์เชื้่อเชิญให้เราเติบโต

พอพิมพ์มาถึงตอนนี้แล้วชั้นก็รู้สึกว่าชั้นเริ่มใช้ชุดคำศัพท์แบบเดียวกับพี่ณัฐ คือ มนุษย์ทั่วไปเค้าไม่ใช้คำว่า เชื้อเชิญ ชื่นชม เติบโต งอกงาม พวกนี้

พี่ณัฐพูดถึงหนังสือ Man's Search for Meaning by Viktor Frankl ฮีเป็นจิตแพทย์ที่ติดอยู่ที่ค่ายกักกันของนาซีที่ Auswitz แล้วสังเกตว่าคนที่รอดตายไม่ใช่คนที่ร่างกายแข็งแรง แต่คือคนที่อยู่เพื่อความหมายอะไรบางอย่าง หาความหมายของชีวิตได้  หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือบางๆ ที่ทรงพลังมาก คนเราอดอาหารและทรมานอยู่ได้นาน แต่เมื่อใดที่หาความหมายของชีวิตไม่เจอ ก็ถอดใจตายกันง่ายๆ เลย

ทุกๆ เที่ยง เราจะได้รับอาหารทิพย์จากพี่เยาว แห่ง Bird Nest Cafe อาหารแกมี Combination ที่แปลกดี มันไม่ฟิวชั่นจนกระแดะ ไทย ฝรั่ง แขก เป็นอาหารที่ไม่พยายามมากเกินไป ให้เกียรติกับวัตถุดิบ ได้รสชาติของวัตถุดิบ รสไม่จัด ชั้นชอบมากๆ คือ แค่มากินอาหารก็คุ้มแล้ว

ตอนบ่าย ชั้นไปฟัง Puja ของเชฟหมี  สันดานเดิมของชั้นไม่สนใจพิธีกรรม แต่ thanks to P'Nut ชั้นเริ่มเห็นคุณค่าของมัน ประจักษ์ด้วยตัวเองและสังเกตจากคนอื่น ว่ามันช่วยเตรียมความพร้อมของเราไปสู่สิ่งที่จะทำ ฮีบอกว่า มนุษย์มี Collective unconciousness (Carl Jung) จิตใต้สำนึกหมู่ที่เราแชร์ร่วมกันในฐานะมนุษย์ เช่น สี ไม่ว่าจะชาติไหน คนก็เห็นผีใส่ชุดแดง ไม่ใช่ชุดสีสะท้อนแสง; สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกสะท้อนความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง; โจทย์ของเราคือเราจะสร้างพิธีกรรมที่มีความหมายได้อย่างไร; ขณะที่บูชา ให้มีจินตภาพและมีสติขณะทำ พิธีกรรมควรเรียบง่าย

เชฟหมีพูดเร็ว แต่ฮีเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่งมาก และตลกมาก  ชั้นเห็นคอร์สที่ฮีจัดที่วัชรสิทธา ไม่เคยคิดจะเข้าเพราะไม่คอนเน็คกับหัวข้อ แต่พอมาฟังฮีพูด เริ่มอยากเข้าละ

 อันสุดท้ายของวันคือ Wuji โดยอ.ต้น วูฉีที่ปกติเรารู้จักในนาม Tai Chi จากภายนอก อ.ต้นดูไม่เหมือนไทชิมาสเตอร์เลย เพราะพุงกลมโตและดูเนิร์ดแว่น ในมโนคิดว่าจะต้องดู fit and trim เหมือนจอมยุทธ  แค่กายภาพของอ.ก็ท้าทายความเชื่อชั้นแล้ว  ที่ชอบมากคือฮีสอนเรื่องการอนุญาตตัวเอง (Allow oneself) การไม่กล้าคือการไม่อนุญาตให้ตัวเองทำ ฮีสอนให้เรายืน ให้เรากดกระหม่อมและรับรู้แรงกดที่เดินทางผ่านกระดูกสันหลัง ลงถึงฝ่าเท้า เมื่อคลายแรงกด รับรู้แรงสะท้อนจากพื้น แรงสะท้อนนี้คือซัพพอร์ตที่ช่วยให้เราไม่ล้มเวลาถูกผลัก เราต้องศิโรราบให้แรงนี้ได้ดูแลเรา เวลาเพื่อนผลัก ให้เราเผชิญหน้ากับมันแบบลดการดิ้นรน อันนี้ก็วรรคเด็ด เผชิญหน้าแบบไม่ดิ้นรน คือ ปกติชั้นเป็นสายดิ้นรน การไม่ดิ้นรนนี่มันต้อง Trust แบบสุดๆ ว่าแรงสะท้อนนี้ดูแลเราได้จริงๆ  ประเด็นของชั้นในช่วงนี้คือศรัทธาและความไว้ใจ

ภาวะวูฉีคือการทิ้งการควบคุม ศาสตร์นี้สอนให้เราเปลี่ยนวิธีการคุมร่างกาย

เสร็จแค่นี้ชั้นก็เหนื่อยมากแล้ว ก็ไปแช่น้ำร้อนก่อนกลับมะขามป้อม กลับไปก็ขอเหยียดยืด ปลดปล่อยอารมณ์ที่ล็อคอยู่ในร่างกาย

เอาไว้มาเขียนของอีกสองวันที่เหลือ






Comments