My Reflection on the Leadership Class (2/2)

ฝรั่งมีคำพูดว่า All is well if it ends well. คือ ทั้งหมดมันดีถ้าจบดี คลาสนี้ก็เช่นกัน

อย่างที่เล่าไปว่าตอนแรกชั้นฝืดมาก ทำเหมือนเดิมแต่ขาดพลัง เหมือนเครื่องยังไม่ติด เทอมนี้ชั้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เครื่องติดคือปัญหาของเด็กที่เพิ่งค้นพบ ปรากฏว่าคนที่มีประเด็นชีวิตจัดๆ ซ่อนตัวเองอยู่หลังความสุภาพ และเพิ่งมาเล่าให้ชั้นฟังตอนท้ายๆ  งานจึงเหมือนยังไม่จบแม้ว่าจะหมดการเรียนการสอนแล้ว ก็ยังคงโค้ชกันต่อไป ชั้นยินดีที่จะดูแล มันทำให้ชั้นรู้สึก Alive!!

คาบสุดท้ายของเราเป็นคาบสุดท้ายของเทอมนี้ ซึ่งเป็นเทอมสุดท้ายของนิสิตปี ๔ บางคน ซึ่งก็ได้ความหมายดี เด็กๆ มานำเสนอ Prototype interviews คนที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพที่เค้าอยากทำใน Odyssey Plans ชั้นได้พบอาชีพใหม่ๆ เช่น Streamer ซึ่งเล่นเกมไป พากย์ไปด้วย สตรีมออนไลน์ไปด้วย อาชีพท็อปฮิตของเด็กผู้ชายวิศวะไออีตอนนี้คือนักบินเพราะรายได้ดี ส่วนอาชีพในฝันของหลายคนคือเปิดร้านอาหาร ช่างภาพ และเล่นหุ้น วิศวกรเป็นงานหลักอยู่แล้ว มีอาชีพแปลกๆ อย่างอื่น เช่น DJ

ชั้นให้ถามว่าแต่ละวันชีวิตทำอะไรบ้าง, มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร, สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบในอาชีพนี้ แล้วถ้าให้กลับไปแก้อดีต จะแก้อะไร

สังเกตได้ชัดว่า คนที่ชอบงานที่ตัวเองทำ มักบอกว่า อดีตทำให้มาถึงจุดนี้ ความผิดพลาดเป็นบทเรียน แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบก็บอกว่าจะไปเรียนอย่างอื่น

เมื่อเด็กได้พูดถึงงานที่ตัวเองอิน ประกายตาเปลี่ยนเหมือนองค์ลง มีบางคนที่พอพูดเสร็จ ตัวตนเดิมกลับมา ความขี้อายกลับมาในดวงตาอีกครั้ง

พอท้ายๆ เทอม เด็กเป็นธรรมชาติ ธรรมดากับชั้น เช่น บอกให้ไปเปิดสไลด์ของตัวเองที่จะพูด ทำให้บรรยากาศห้องดูเป็นมิตร เหมือนเป็นปารตี้ที่ไม่มีเหล้า เป็นวงคุยที่มีคุณภาพ

มีเด็กบางคนที่ชั้นรู้สึกรำคาญตอนต้นเทอม เมื่อชั้นยอมรับความรำคาญและอยู่กับมัน ก็ไปได้แบบไถๆ พอให้มูโค้ชเด็กให้ ชั้นคุยกับเค้ามากขึ้น รู้จักเค้าดีมากขึ้น ตอนนี้ก็รักไปเลย ไม่ต้องควบคุมตัวเองไม่ให้เหวี่ยงทางหน้า แต่ชั้นก็ไม่ใช่นางฟ้าที่จะรักทุกคนเท่ากัน ก็มีสนิทมากสนิทน้อย

กิจกรรมในคาบสุดท้ายหลังพรีเซ็น ให้ Acknowledge หรือชื่นชมเพื่อนในห้องรวมทั้งชั้น ด้วยความที่เด็กไม่สนิทกันทั้งหมดและเพื่อคุมเวลา ชั้นให้เขียนลงกระดาษ ตอนมอบให้เพื่อน ก็ให้กอดกันก่อนให้ คาบนี้ เราก็ได้กอดกันอีกรอบหนึ่ง ชั้นเริ่มรู้จักใช้แสงไฟเป็นตัวสร้างบรรยากาศ

กอดกันเสร็จแล้วก็ให้จับมือกันเป็นวง แล้วก็เช็คเอาท์ด้วย ๑ ประโยคหรือ ๑ คำ

ตอนท้ายมี Surprise คือ เด็กๆ ล้อมวงบูมให้ชั้น เพิ่งเคยได้รับการบูมครั้งแรกในช่วงที่เป็นอาจารย์มา ๑๗ ปี

ประเมินตัวเอง

ชั้นคิดว่าชั้นไว้ใจจักรวาลมากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น บังคับตัวเองและชาวบ้านน้อยลง สุดโต่งน้อยลง และไม่กลัวการใช้อำนาจที่มากับตำแหน่งอาจารย์ เช่น การบังคับให้เด็กทุกคนไปเขาใหญ่เป็นการตัดสินใจที่ถูก มันเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านของเด็กทุกคน

ชั้นภูมิใจว่าชั้นคิดถูกที่เปิดคลาสนี้ มันให้เด็กๆ ได้เรียนทักษะที่จำเป็นจริงๆ ต่อชีวิต และหลายๆ คนได้คลี่คลายปมตัวเองก่อนไปทำงาน

ชั้นขอบคุณความบ้าระห่ำของตัวเองที่ทำเรื่องที่ไม่เคยมีให้เป็นเรื่องปกติ คือ มีคลาสนี้ทุกเทอม ชั้นได้เจอเด็กทุกเทอม

ความสัมพันธ์และความไว้ใจยังคงมีหลังคลาสจบ ชั้นยังได้เจอเด็กบางคนที่มาปรึกษาเรื่องต่างๆ ยังคุยกันทางไลน์ มูบอกว่าชั้นมีสังฆะของตัวเอง

การมีกัลยาณมิตรสำคัญมาก ดีแล้วที่ไม่บ้าทำทุกคาบเอง เพราะแค่อ่าน Reflection และเขียนตอบก็เหนื่อยแล้ว การที่เพื่อนกระบวนกรได้เห็นเด็ก ทำให้ชั้นมีที่ปรึกษา และได้เป็นผู้สังเกตการณ์ในห้อง

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงเทอมหน้า

  • เริ่มคาบแรกด้วยการกอด (ไอเดียมู) พบว่าเด็กชอบถูกกอดมากๆ 
  • มีกิจกรรมฐานกายเพื่อสร้างความไว้ใจหรือความเป็นทีมแบบที่เก๋มานำตั้งแต่ต้นๆ เทอม
  • ให้นิสิตทำแบบสอบถาม และแผนที่ชีวิต เพื่อรู้พื้นฐานครอบครัว แล้วนัดมากินข้าวและคุยกลุ่มย่อย พื้นฐานครอบครัวโคตรสำคัญต่อเด็ก 
  • พยายามให้นิสิตเขียน Reflection แบบที่ไม่แค่เล่าว่าทำอะไรบ้าง แต่อยากให้เขียนความรู้สึกหรือความคิดความเห็นที่เกิดขึ้นต่อกิจกรรม อันนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร อาจจะเอา Reflection ของเทอมที่ผ่านๆ มา ที่คิดว่าดี มาเป็นตัวอย่างให้ดู
  • ทำการบ้านส่องเฟสบุ๊คของเด็กเพื่อดูที่มาที่ไป ความชอบ ความถนัด
  • สิ่งที่อาจจะทำ คือ ให้รุ่นพี่ที่จบคลาสนี้ไปแล้ว ที่อยากทำ เป็นบัดดี้หรือโค้ชให้น้อง อายุอาจจะใกล้กันเกินไป แต่ก็เผื่อชั้นดูไม่ไหว
  • ไปเขาใหญ่ตอนต้นๆ เทอม เพื่อให้สนิทกันมากขึ้น พบว่าเขาใหญ่เป็นจุดเปลี่ยนของคลาส
  • Design Thinking เขียน Good-time journal ให้ส่งทุกวัน ๒๑ วัน


Comments