เทอมนี้ของฉัน (Week 10)

Pizza party
ที่มก. หยุดเรียนสองอาทิตย์เพื่อซ้อมรับปริญญาและรับปริญญา มีหลายวิทยาเขตจึงหยุดยาวกว่าชาวบ้าน  ช่วงที่ปิด ชั้นพาเด็กไปเขาใหญ่และพาตัวเองปลีกวิเวกไปอุบลฯ ไปงานกฐิน จริงๆ แล้วควรกลับมาสอนด้วยความสดชื่น แต่กลับเอื่อยเนือยและอยากปิดเทอมมากๆ  เริ่มสงสัยว่าพลังและไดรฟ์ที่ชั้นเคยมีมันหายไปไหน หรือว่าจะเป็น mid-life crisis  ก็มโนไป แต่ก็รู้ว่าไม่มีทางอื่นนอกจากดูมันไป

ข้อดีของการมีกำหนดการคือ ไม่ว่าเราจะเซ็งหรือไร้พลังแค่ไหน เราก็จะทำไปตามกำหนดการ  The show must go on.

วันจันทร์ที่ ๒๒ ตค. ช่วงรับปริญญา ได้เชิญหมอพนมมาจัด Feedback workshop ให้อ. ได้ใช้ห้องใหม่ของคณะ  Workshop ออกมาดีมาก  Interaction/Participation ของอาจารย์ดีมากๆ เพราะอ.ลงชื่อมากันเอง ไม่ได้บังคับมา ชอบที่หมอพนมเป็นจิตแพทย์และเป็นอาจารย์แพทย์  มีความเข้มข้นทางวิชาการ ต่างจากเวิร์คช็อปทั่วไป  งานแบบนี้ก็คือ Professional Learning Community นั่นเอง  ชั้นชอบทุกครั้งที่ได้ยินคนแชร์เรื่องราวของตัวเอง ประสบการณ์การถูก Feedback และการให้ Feedback ทั้งด้านบวกและลบ  งวดนี้ชั้นจัด In house สำหรับอาจารย์เป็นครั้งแรก อ.บางคนที่ไม่เคยไปคอร์สต่างจังหวัดได้ ก็มาได้ ทำให้รู้สึกดี แล้วก็มีอ.ที่เคยเจอๆ กันเช่น อ.จากคณะอก. และคณะเกษตร ดีใจที่ได้เจอกัน


Feedback Workshop
วันอังคาร นัดเจอนิสิตที่ทำโปรเจค มีนิสิตปี 4+1 มาสัมภาษณ์สำหรับวิชาสัมมนาป.โท เพื่อให้นิสิตป.โทรู้จักอาจารย์ในภาคฯ นิสิตคนนี้ถามเรื่องชีวิตชั้นว่าทำไมเปลี่ยนเมเจอร์ ทำไมไปเรียนเมืองนอก ทำให้ชั้นได้ทบทวน แล้วนิสิตก็ปรึกษาเรื่อง Career Path ชั้นรู้สึกดีที่การคุยเรื่องของตัวเองเป็นประโยชน์กับเด็ก บางทีผู้ใหญ่ชอบพูดเยอะ บลา บลา บลา กับเด็ก ชั้นเลยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำ  ก็ Empower และ Empower ตัวเองขึ้นมาหนึ่งระดับ


Simulation

วันพุธ เจอนิสิตวิชา Simulation สอนบ่าย เด็กมานั่งรอกันก่อนเวลาเรียน ชั้นจะรู้สึกดีทุกครั้งเวลาเห็นเด็กมาก่อนเวลา  ก็ให้ทำ Quiz แล้วเช็คอินว่าปิดไปสองวีคทำอะไรกันมาบ้าง แล้วก็ให้ทำ Arena Case Studies ซึ่งชั้นให้โจทย์ บอกวิธีทำบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ให้เด็กเติมส่วนที่เหลือเอา การบอกไม่หมดแล้วเด็กทำไม่ได้ ทำให้รู้ว่าเด็กยังไม่เข้าใจในหลายส่วนที่เราคิดว่าเค้ารู้แล้ว ซึ่งดีที่เรารู้

เทอมนี้ ชั้นให้ทำโปรเจคส่งเป็นวีดีโอทั้งหมด ไม่มีเขียนรายงาน ส่งวีดีโอคลิปและส่งไฟล์โมเดล อ.บางคนอยากให้เด็กได้ฝึกเขียน ก็ยังยืนยันจะให้ทำรายงาน แต่ชั้นว่าวิธีการสื่อสารเปลี่ยนไป เราควรจะเปลี่ยนตาม ก็ดีที่มีความหลากหลาย บางวิชาอยากให้เขียน ก็เขียนกันต่อไปละกัน

หลังๆ ชั้นไม่ได้ทำเกมร่างกายใดๆ ในห้องเรียน ให้กินขนมซองและลูกอมแทนถ้าอยากให้ High ประหยัดเวลาและไม่ต้องคิด

ชั้นงดสัมมนาป.โท ให้เด็กไปฟังเสวนาของวิศวกรรมสถานแทนแล้วเขียน Reflection มาส่ง ชอบ Free events พวกนี้มาก เด็กได้เปิดโลกและเราไม่ต้อง organize อะไร ข้อดีของการอยู่กรุงเทพคือมีอีเว้นเยอะ

OR1

คลาสเก้าโมงเช้า แต่เด็กกว่าครึ่งห้องที่ปกติมักจะมาพอดีๆ มาก่อนเวลา!! ชั้นรู้สึกประหลาดใจและดีใจ

ให้ Multiple-Choice Quiz เป็นครั้งแรกที่ไม่ให้เปิดชีท ทำเสร็จแล้วก็สลับกันตรวจ  จริงๆ ก็ไม่ได้แปลกใหม่แต่ไม่เคยทำกับคลาสนี้ เด็กๆ ดูตื่นเต้นกับการได้ตรวจ Quiz เพื่อน 

แล้วก็เช็คอินว่าสองวีคที่ผ่านมา ไปทำอะไรมา  ส่วนใหญ่ เด็กทำโปรเจคของวิชาต่างๆ รวมทั้งวิชาชั้น อันนี้เป็นข้อดีของวีครับปริญญา

คาบนี้สอนโจทย์ที่ปีที่แล้วอธิบายได้ไม่ดี ปีนี้เลยเปลี่ยนวิธี อธิบายนำไปหน่อยหนึ่ง แล้วให้เด็กจับคู่ช่วยกันคิดแล้วมาเขียนบนกระดานว่าตัวเลขนั้นๆ ได้มาอย่างไร  ใช้ธีมแบ่งกลุ่ม ช่วยกันคิดแล้วออกมาเขียน ทั้งคาบ พบว่าทำให้เด็กตื่นตัวได้ดีทั้งคาบ ชอบมากเวลาที่เด็กปรึกษากัน อธิบายให้เพื่อนฟัง และทั้งห้องไปด้วยกัน สิ่งที่ต้องแลกมาคือไปได้ช้าลง

Communication and Leadership

พี่ตู่มาสอน Non-violent communication (NVC) ต่อ  ชั้นให้ข้อมูลเพิ่มว่ามีเด็กบางคนที่มองว่า เมื่อทะเลาะกับเพื่อนแล้ว ไม่ต้องกลับมาคุยกันอีกก็ได้ เพราะตัวเองทำดีที่สุดแล้ว คือ เหมือนเนียนๆ เกลื่อนๆ ไป แต่ไม่กลับมาคุยกันอีก คล้ายๆ หนีปัญหา  

พี่ตู่เริ่มด้วยให้ทุกคนพูดถึงคำถามที่มีในชีวิตตอนนี้ ของชั้นๆ บอกว่า ชั้นเริ่มไม่แน่ใจว่าตอนนี้หมดไฟ หรือว่าอันนี้เป็นระดับพลังปกติของมนุษย์ทั่วไป 

NVC เป็นหัวข้อที่ยากที่จะสอนให้สนุก เพราะต้องฝืนสันดานเยอะ พูดแบบใช้การสังเกต ไม่ตีความ ไม่ตัดสิน แล้วยังต้องดูพลังงานตัวเอง เช็คเจตนาอีก

ชอบที่พี่ตู่บอกเด็กๆ ว่า NVC เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์เปราะบางหรือมีความขัดแย้ง ไม่ต้อง NVC ตลอดเวลา เพราะน่าจะเหนื่อยและยืดยาวเกินไป

พี่ตู่สอนเรื่อง ข้อสังเกต vs การตีความ, ลักษณะของการให้ข้อสังเกต, การร้องขอ vs. คำสั่ง  พี่ตู่และขวัญแผ่นดินได้ไปสอนให้กับวิศวกรและช่างของบริษัทที่ทำงานด้านแท่นขุดเจาะน้ำมัน ประเด็นเรื่องความปลอดภัย บางทีวิศวกรเตือนกันเรื่องเซฟตี้แล้วเตือนแรง ทำให้โกรธกัน  ชั้นขอให้พี่ตู่แชร์ให้เด็กๆ ฟังว่าทำไมบริษัทนี้ถึงจ้างขวัญแผ่นดินไป เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าการสื่อสารแบบนี้สำคัญและเอาไปใช้ได้จริง  คนที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าไม่ใช่แค่เก่งทางเทคนิค แต่สื่อสารเก่งด้วย

ตอนจบคาบ ชั้นแบ่งกลุ่มเด็กๆ เป็นสองกลุ่มๆ ละ 7-8 คน เพื่อมาคุยเรื่อง Odyssey Plans ที่สั่งให้ทำเป็นการบ้าน เกรงใจเด็กๆ เหมือนกันว่าต้องอยู่ต่ออีกหลังจากเรียนไปแล้ว ๓ ชั่วโมง ก็เลยเลี้ยงพิซซ่า จะได้ไม่หิว  

ชั้นพบว่าเมื่อเราได้ใจคนแล้ว การที่เราจะขอให้เค้าทำอะไรเป็นเรื่องที่ง่ายมาก Connection before solution indeed, just like P Tu said.  

ไอเดีย Odyssey Plans มาจากหนังสือ Design your Life ของ Stanford D school เราทำมาหลายแบบฝึกหัดต่อเนื่อง ชั้นชอบที่เค้าให้ทำแผน 5 ปีข้างหน้า ๓ แผนๆ แผนแรกคือแผนที่จะทำอยู่แล้ว แผนที่สองคือ ถ้าโลกนี้ไม่ต้องการอาชีพในแผนแรก จะทำอะไร แผนสามคือสิ่งที่เราจะทำ ถ้าเงินไม่ใช่ประเด็น  Concept ของพวก Design Thinking คือ ยิ่งไอเดียเยอะ ยิ่งดี

เด็กต้องวาดแผนนี้ลง Timeline ตั้งชื่อแผน เขียน Dashboard ในแง่ Resource, Likability, Coherence, Confidence และเขียนข้อกังวลที่เรามีกับแผนของเรา

ขำที่ไอซ์ต้องหยิบเสื้อช้อปมาใส่ก่อนพรีเซ็น
เลยถ่ายรุปนี้ไว้เพราะมันตั้งใจทำให้เป็นทางการ
ชั้นอยากให้เด็กได้มีโอกาสนำเสนอแผนตัวเองให้เพื่อนฟัง การได้พูดออกมาให้คนอื่นฟังเป็นการประกาศให้โลกรู้ ทำให้มันจริงกว่าเขียนแล้วส่งเงียบๆ  นอกจากนี้แล้ว ชั้นขอให้เพื่อนๆ ช่วยๆ กันถามแบบสนับสนุนเพื่อน ไม่ใช่วิจารณ์  

เมื่อเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน แต่ละคนก็สนใจในแผนของคนอื่น ฟีดแบ๊ก คนนำเสนอก็ดูมั่นใจ ไม่ประหม่าว่าแผนเราเป็นไปไม่ได้ ชั้นว่าอันนี้ได้ Empowerment ด้วย  

ชั้นคิดว่าได้รู้จักเด็กๆ ดีขึ้นมากเมื่อเห็นแผนพวกเค้า ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้ทำ Napkin sketch ของสิ่งที่อยากทำ ทำให้เห็นภาพชัดมากว่าความฝันของเค้าคืออะไร

ตอนคุยกัน ฟังกัน ก็ฮาไปด้วย จริงจัง ซัพพอร์ตกันไปด้วย สิ่งที่กังวลคือการล้อเลียนกัน บางทีมันล้อกันแรงไปและเป็นเรื่องเซ็นซิทีฟ เช่น เพศสภาพ ชั้นเบรคเล็กๆ ในห้อง แต่ก็เขียนเตือนไปในเฟสบุ๊ค 

ตอนทุกคนนำเสนอเสร็จ ชั้นให้สะท้อนว่าตอนเขียนแผน รู้สึกอย่างไรกันบ้าง ส่วนใหญ่ก็บอกว่าสนุก ได้คิด มีบางคนที่บอกว่ามึนเหมือนกัน

มีเด็กถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเราชอบอะไร ชั้นบอกว่าต้องลองทำดู ไม่มีทางรู้ได้จนกว่าจะลอง แล้วก็ถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเรา ชั้นบอกว่า ถ้าใช่ ทำแล้วมีพลัง เหมือนขุมพลังที่อยู่ภายในถูกเปิดออก และเวลาเราทำอะไร ประตูต่างๆ ถูกเปิดออก ครูมา เพื่อนมา เราได้รับการช่วยเหลือ (Hero's Journey แต่จริงๆ คงต้องเดินทางกันอีกหลายรอบ) แต่ทั้งนี้ ต้องมี Hero's Journey กันหลายครั้งในชั่วชีวิตหนึ่ง

พอคุยไปเรื่อยๆ รู้จักเด็กไปเรื่อยๆ แต่ละคนมีแง่มุมที่น่าสนใจ ที่เป็นเอกลักษณ์ และมีบางแง่ที่ชั้นอยากไกด์หรือโค้ช บางคนมีหน้าตาที่เชื้อเชิญให้เราไปดูแลมากๆ แต่ก็ต้องดูว่าทำแค่ไหนจึงจะไม่ทำให้เด็กอึดอัดและยังช่วยเหลือตัวเองได้  และชั้นยังอยู่ในสมดุล

ด้วยความที่ต้องคลุกวงในกับเด็กมากๆ และชั้นต้องเปิดให้เค้าเข้ามาในสนามพลังของชั้น และชั้นเข้าไปในพื้นที่ของเค้า การมีคลาสแบบนี้มันใช้พลังงานที่แตกต่างไปจากคลาสปกติ  ในกรณีสุดโต่งของคลาสทั่วไป เด็กไม่ต้องรู้จักชั้นและชั้นไม่ต้องรู้จักเด็ก แต่คลาสแบบรู้จักตัวเอง / Empowerment / Communication แบบนี้ ชั้นต้องรู้จักเค้าและรู้จักตัวเอง  ในแบบที่ยังคงมีพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน และชั้นต้องรอเป็น ว่าบางอย่างมันต้องใช้เวลาในการสุกงอม   

หลังจาก Pizza party ชั้นถ่ายรูปหมู่โพสลงเฟสบุ๊คของคลาส เด็กๆ มาคอมเม้นว่าสนุกมาก อิ่มมาก ชั้นประหลาดใจเพราะคิดว่ามันเป็นงานที่เราให้เค้าทำ ขึ้นชื่อว่างาน ไม่น่าจะสนุก แต่พอเด็กมาคอมเม้นว่าสนุก ชั้นดีใจและโล่งใจมาก เหมือนช่วยขายคอร์สวีคหน้าให้ด้วย เพราะต้องเจอกับเด็กที่เหลือ

ชั้นมั่นใจว่าชั้นจัด Workshop การรู้จักตัวเอง การสื่อสาร อะไรพวกนี้ได้ ชั้นว่าเซ็นส์ชั้นดีพอตัวว่าทำอะไรแล้ว Work ก็ต้องขอบคุณเด็กๆ ด้วยที่เปิดใจมาเรียน

การได้คุยกับเด็กทั้งในคาบเรียนปกติและช่วงฟัง Odyssey plans ทำให้ชั้นกลับมามีพลัง มีแรงขับอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ก็เบื่อมาก อยากอยู่เฉยๆ ตอนนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่าถ้าอยู่เฉยๆ หรือไปเที่ยวอย่างเดียว คงเซ็งกว่าเดิม มีอะไรทำได้ก็ทำๆ ไป  ทรัพยากรในชีวิตที่ได้รับมามีไว้เพื่อทำงาน 

   


  




  






Comments