คลองหลอด and me

แจกอาหาร ที่คลองหลอด
โจทย์ของชั้นคืออยากพานิสิตวิชา Communication and Leadership ของชั้นออกนอกห้องเรียน อยากให้ได้เจอและพูดคุยคนที่ปกติไม่ได้เจอ อยากให้เกิด Empathy อยากให้เป็นงานอาสา ได้ทำประโยชน์ ไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ  ปรึกษาหม่องที่เป็นอาสาฯ มาหลายสนาม หม่องเสนอให้ไปเป็นเพื่อนรับฟังคนไร้บ้าน ให้เบอร์ติดต่อมาให้ ปรากฏว่าเป็นเพื่อนเราในเฟสบุ๊คที่ได้เจอกันใน Workshop อะไรซักอย่าง นี้คือข้อดีของการไปเรียน

เริ่มรู้สึกว่าการสอนให้ดี เหมือนกับเลี้ยงลูกอ่ะ It takes a village to raise a child. ตามสุภาษิต African.  It takes your entire set of friends to teach a class.

เจอกับอ้อม ก็คุยกันถึงงานของมูลนิธิอิสรชนที่นาง volunteer อยู่  ชั้นสนใจเรื่องคน โดยเฉพาะคนที่ไม่เหมือนตัวเอง ที่ Tough กว่า มีประสบการณ์ผ่านเรื่องยากๆ ชั้นไม่สนใจการไปปีนเขา Everest เพราะอันนั้นคุณเลือกที่จะไป ชั้นสนใจกรณีที่คุณไม่ได้เลือก แต่จักรวาลจัดให้

อ้อมเล่าว่าเดิมคนไร้บ้านอยู่สนามหลวงเป็นส่วนใหญ่ ช่วงพีคอยู่กัน ๕๐๐ กว่าคน ทั้งกรุงเทพมีเป็นหลักพัน  พอถูกเคลียร์พื้นที่เพราะมีงาน คนก็เลยกระจายไปรอบๆ รวมถึงต่างจังหวัดด้วย

คนไร้บ้านมีหลายกลุ่ม มีอาการทางจิตก็มี ติดยา ตกงาน คนเพิ่งพ้นโทษที่หางานไม่ได้ โสเภณี แรงงานข้ามชาติ LGBT มีประโยคที่อ้อมพูดบ่อยคือ ขาดความมั่นคงทางจิตใจ  พอข้างในไม่แข็งแรง ถึงจะส่งกลับบ้านหรือหาชุมชนให้อยู่ บ่อยครั้งก็กลับมาอยู่ที่ถนนอีก

อ้อมบอกว่าการอยู่บนถนนนานๆ ก็ทำให้สภาพจิตแย่ลงด้วย นอนไม่เป็นสุขอ่ะ และเวลามีปัญหา ก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร รู้สึกโดดเดี่ยว

อ้อมพาชั้นเดินดูแถวคลองหลอดที่มีคนไร้บ้านอยู่ และเย็นนี้ มูลนิธิจะมาแจกอาหารที่มีเจ้าภาพให้เงิน มีคนนั่งใต้ต้นไม้ ปูเสื่อนอนตั้งแต่บ่ายสาม เดินไปจนถึงวัดเทพธิดารามก็วกกลับ มีบ้านไม้สวยๆ เก่าๆ หลายหลังที่เจ้าของไม่ได้อยู่ บางหลังโทรม บางหลังสวย แถวคลองหลอดดูเป็นแดนสนธยามากๆ มันมี livelihood ความขลังของมันที่หมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดในเมืองไม่มี จ๋าเล่าให้ฟังว่ารัฐมีโปรเจคจะทำราชดำเนินให้เป็นชองป์ เอลิเซ่ เค้าก็บอกว่า แล้วคนพวกนี้จะไปอยู่ที่ไหน  มันทำให้ชั้นนึกถึงการไล่ที่ๆ สามย่าน หรือป้อมมหากาฬ คือ Neighborhood โดนลบไปเลย

ชั้นยืนคุยกับอ้อมจนรถแจกอาหารของมูลนิธิมา ได้เจอจ๋าซึ่งเป็นภรรยาของคุณนที ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ คุณนทีตาย จ๋าขึ้นมาแทน พกลูกมาด้วย ชั้นประทับใจคำพูดของจ๋าที่บอกว่า กับคนไร้บ้าน ต้องให้โอกาสเค้าเป็นสิบๆ ครั้ง ไม่ใช่ให้โอกาสแค่ครั้งเดียวแล้วหวังว่าจะดีขึ้น แล้วพอเค้าไม่ดีขึ้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่ให้โอกาสอีกเลย ทั้งๆ ที่ถ้ารอไปซักพัก เค้าอาจจะดีขึ้น กลับมาดูแลตัวเองได้ก็ได้ พี่หน่อยที่เป็นคนทำอาหารแจกนี่ก็เป็นตัวอย่าง

กับอ้อมและจ๋า 
ชั้นนึกถึงตัวเองกับเพื่อน รวมถึงคนในครอบครัวหลายคน บางทีชั้นก็ใจแคบเกินไป แค่เจ็บหนเดียว ชั้นก็ไม่เอาแล้วอ่ะ จะเลิกคบ ชั้นว่าชั้นก็ใจแคบหรือว่า chicken เกินไป

ตอนแจกอาหาร ได้เจอป้าอายุ ๖๐ กว่าคนหนึ่ง แกแต่งหน้าเยอะ ฟันหน้าเหลือ 2-3 ซี่ ตอนโพสท่าถ่ายรูปก็เห็นจริตจะก้านของแก อ้อมบอกว่าแกขายบริการ ชั้นก็โอเค น่าจะเป็น ex-prostitute แต่พอรู้ว่านางยังแอ๊กทีฟอยู่  ชั้นเหวอไปเลยว่าอายุ ๖๐ นี่ยังทำงานนี้ได้ด้วย จ๋าบอกว่า ๘๐ กว่ายังมีเลย และบอกว่าเศร้าไหมล่ะที่ในสังคมนี้ อายุขนาดนั้นแล้วยังต้องทำงานนี้อ่ะ ส่วนโสเภณีเด็กอ่ะมีอยู่แล้ว ซึ่งก็เศร้า

จ๋าบอกว่าคนขายบริการเสพยากล่อมประสาทเยอะ ป้าคนนี้ก็เช่นกัน

คนที่มารับอาหารก็หลากหลาย เหมือนเป็นโรงทานมากกว่า เจ้าของวันเกิดน่ารักมาก มาช่วยแจกอาหารด้วย ชั้นชอบไอเดียการทำโรงทานแบบนี้มาก เราไม่ต้องไปรุมให้อยู่แค่ที่ไม่กี่ที่

ได้เห็นน้องชายวัยรุ่นคนหนึ่ง เดินมาคุยเล่นกับจ๋าบ่อย น้องไร้บ้านตั้งแต่เด็ก แต่เก็บเงินจนซื้อมอไซค์ได้

ชอบระบบการหาอาหารมาแจก พี่หน่อยซึ่งเป็นคนไร้บ้านมาก่อนจะเป็นคนจัดให้ แล้วแต่เจ้าภาพ ถ้าเงินเยอะ ก็ข้าวไข่เจียว ทอดสดตรงนั้น ถูกหน่อยก็ก๋วยเตี๋ยวหมูลูกชิ้น วันนี้วันเกิดน้องชั้นพอดีและมีเงินสด เลยให้เข้าไปทำโรงทานวีคหน้า

แจกอาหารไม่นานก็หมด แล้วอาสาสมัครก็เดินไปแจกของให้กับคนไร้บ้าน ชั้นตามไปด้วยเพราะอยากรู้  การเดินแจกของเป็นการสำรวจไปด้วยว่ามีใครต้องการความช่วยเหลือไหม แจกถุงยางอนามัยให้กับหญิงขายบริการด้วย เป็นสาวๆ ที่นั่งอยู่ริมฟุตบาทนั่นเอง  กระทั่งริมฟุตบาทสว่างๆ คนเยอะๆ แถวหน้านิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ริมถนนราชดำเนินก็มี  ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อบริการเป็นคนไทย ได้เจอน้องสาวหน้าตาไม่น่าถึง ๒๐ แต่ดูผ่านอะไรมาเยอะ พี่หน่อยบอกว่าเค้าเพิ่งคลอดลูกแล้วให้ลูกไปกับมูลนิธิ

แถวคลองหลอดมีโรงแรมถูกๆ เยอะด้วย ก็เลยเป็นแหล่งขายบริการ

แต่ก่อนชั้นไม่รู้วิธีดูว่าใครขายบริการในที่สาธารณะ ถ้าในบาร์แถวสุขุมวิทจะดูออกชัด แต่ตอนนี้รู้ละ แต่งหน้าเยอะๆ ตอนเย็นๆ นั่งริมฟุตบาท เป็นอาชีพที่โคตรอันตราย ส่วนใหญ่นั่งเป็นกลุ่มหลายคน มีน้องคนหนึ่ง หน้าใส นั่งอยู่คนเดียวใกล้ๆ วัดมหรรณพาราม น้องดูติสด์ ไม่ได้ดูกร้านโลก จริงๆ เค้าอาจจะไม่ใช่แต่เราดันไปแจกก็ได้ แต่เค้าก็ไม่ได้ดูประหลาดใจและไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับ

สำหรับคนไร้บ้าน จะได้ถุงยังชีพที่มีสบู่ ผ้าเช็ดหน้า ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มีแจกขนม นมกล่อง ยา เช่น พาราฯ หรือยากันยุงด้วย มีน้องคนหนึ่งมาเพื่อแจกของโดยเฉพาะ

รายได้หลักของคนไร้บ้านคือเก็บแยกขยะขาย แถวคลองหลอดก็มีที่รับซื้อ

พี่หน่อยก็อธิบายไปเรื่อยๆ แถวๆ นั้น ตึกแถวเปลี่ยนเป็น Hostels เยอะมาก ที่ทุบทิ้ง ทำใหม่เป็นโรงแรมก็มี มีแบกะดินขายของมือสอง ที่เอามาจากขยะที่เก็บมา เดิมแผงเหล่านี้อยู่ที่สนามหลวง แต่โดนไล่ที่ มีบาร์ที่ออฟผู้ชายได้ อันนี้ไม่แปลกใจเพราะว่ารัชดาก็มี

ถามอ้อมว่าคนไร้บ้านที่นอนแถวคลองหลอดไม่โดนไล่เหรอ เค้าบอกเทศกิจก็ไม่อยากทำหรอกถ้าไม่จำเป็น ก็คนเหมือนกัน

ชั้นถามว่าแล้วเค้าอาบน้ำ เข้าห้องน้ำที่ไหน แถวนั้นมีให้อาบน้ำทีละ ๑๕ บาท ห้ามซักผ้า ห้ามอาบนาน เข้าห้องน้ำ ๓ บาท มีสุขาเคลื่อนที่ของกทม. แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ

ชั้นถามว่าไปเข้าห้องน้ำ หรือเอาอาหารที่วัดได้ไหม อ้อมบอกว่าส่วนใหญ่คนไร้บ้านจะไม่ไปวัด เพราะรู้สึกว่าโดนมองว่าจะไปขโมยของ อันนี้ก็เศร้าอีก เพราะประเทศเรามีวัดเยอะมากๆ และมีทรัพยากรที่วัดเยอะมากเช่นกัน

ขากลับ ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ยังรู้สึก surreal อยู่ ตะกี้ชั้นเดินเท้าแจกของ คนบางคนนอนอยู่บนถนน ตรอกมืดๆ ผู้หญิงนั่งรอขายบริการ แพร๊บเดียวมาอยู่ที่สถานี BTS ดูคนละโลกมาก  มาถึงบ้านตัวเองแล้วก็ irony หนักมาก ตู้เสื้อผ้าเต็มๆ สามตู้ ตู้รองเท้า กระเป๋าอีก หนังสือ สมบัติ

ช่วงที่ชั้นเป็นคนไร้บ้านที่สุดก็ช่วงธุดงค์ รู้สึกฟินตรงที่ของทุกชิ้นที่แบกอยู่บนหลังคือจำเป็นต้องใช้จริงๆ  Bare minimal ขนาดน้ำดื่มยังไม่อยากแบก เพราะขวด 500 ml หนัก 0.5 กก. แต่เรารู้ว่าการเป็นอนาคาริก (Homeless) สิ้นสุดวันไหน แล้วเราก็ไม่อด เดินตามพระ พระได้รับบิณฑบาต ท่านก็แบ่งให้เรา มีกินแน่ทุกวัน พอได้เห็นความลำบากแบบนั้น ชั้นรู้สึกว่าตัวเองละอ่อนไปเลย

Note: คำชี้แจงเพิ่มเติมจากอ้อม

มูลนิธิอิสรชนเรียกคนเร่ร่อนไร้บ้านหรือคนที่อยู่ในถนนว่า ผู้ใข้ชีวิตในที่สาธารณะ เพื่อให้ความหมายที่ไม่กดทับและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบ่งออกเป็น 13 ประเภท ได้แก่


  1. คนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือบนท้องถนนเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องมาจากการถูกไล่ที่ดินที่เป็นที่พักอาศัย ไม่มีที่ดินทำมาหากิน 
  2. คนเร่ร่อน ออกมาใช้ชีวิตตามจุดต่างๆ เช่น สนามหลวง สะพานพุทธ หัวลำโพง หมอชิต 
  3. เด็กเร่ร่อน/ครอบครัวเร่ร่อน คือเด็กที่ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยและเร่ร่อนตามถนนหรือที่สาธารณะ เช่น กลุ่มเร่ร่อนขอทาน เร่ร่อนตามวิถีชีพครอบครัว 
  4. ผู้ติดสุรา คือ บุคคลที่ติดสุราเรื้อรังแล้วครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ หรือรับไม่ได้กับพฤติกรรมการติดสุรา
  5. ผู้ป่วยข้างถนน คือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พลัดหลงออกจากบ้าน 
  6. พนักงานบริการ คือบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายบริการทางเพศ 
  7. ผู้พ้น คือ บุคคลที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำแล้วไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ เพราะสังคมยังไม่ให้โอกาสคนเหล่านี้ 
  8. คนจนเมือง คือ บุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน จึงอพยพมาเสี่ยงโชคในเมือง และเมืองหลวงไม่ได้มีอนาคตอย่างที่คาดหวัง ทำให้คนเหล่านี้ผิดหวัง ไม่มีที่ไปจึงใช้ชีวิตเร่ร่อน 
  9. คนที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว คือบุคคลที่มาทำภารกิจบางอย่าง แล้วไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีเงินพอเช่าห้องพักราคาสูงได้ จึงใช้ที่สาธารณะหลับนอน 
  10. คนเร่ร่อนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิมที่ไม่สามารถอยู่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม 
  11. ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การที่มนุษย์มีเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิสัย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ด้วยการไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว สังคม ชุมชน 
  12. ชาวต่างชาติตกยาก คือ ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่พลเมืองในแถบอาเซียน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและประสบปัญหาสังคม ทำให้กลายเป็นคนเร่ร่อนตกยากอยู่ในประเทศไทย และ 
  13. ครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน คือ กลุ่มประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง


Comments