เทอมนี้ของฉัน (Week 1)

Soul's Journey Cards
ของตัวเองหยิบได้ Worry
เทอมนี้ชั้นดูแล ๔ ตัว สองตัวเป็นวิชาคำนวณที่เคยสอนมาแล้ว คือ Operations Research และ Simulation Modeling  อีกตัวเป็นวิชาสัมมนาปริญญาโท เพื่อช่วยให้เค้าเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ ตัวสุดท้ายเป็นวิชาใหม่ ที่ลองเปิดเอง ชื่อวิชา Collaborative Communication and Effective Leadership (พี่ณัฐตั้งชื่อให้) ยังไม่มีในหลักสูตร ภาคชั้นมีช่องให้ลองเปิดวิชาใหม่ๆ ได้ผ่านการเปิด Selected topics (หัวข้อพิเศษ) หรือถ้าเป็นการทำงานกลุ่มเล็กๆ ก็จะมีอีกอันคือ Special Problems

ความตั้งใจของชั้นในเทอมนี้คือชั้นให้เด็กเขียนสะท้อนการเรียนรู้ของเขา และชั้นเองก็จะเขียนสะท้อนการสอนและการเรียนรู้ของตัวเองด้วย

Simulation

ชั้นอยากให้เด็กได้เห็นปลายทางอุโมงค์ก่อน ให้เค้ารู้ว่าเรียนแล้วเอาไปทำอะไร ของจริงมันมีความท้าทายอะไร ที่ผ่านมาก็เชิญลูกศิษย์ที่ทำงาน Consult มาพูดให้เด็กฟังตอนท้ายๆ เทอม แต่เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ชั้นเอาปลายทางมาเปิดตอนต้นเทอมเลย คือ เอาคนที่ทำงานกับโจทย์จริงๆ มาให้เด็กเห็นเลยว่าที่เรียนๆ อยู่น่ะ ไม่ใช่เบบี๋ บริษัทใหญ่ๆ เค้าใช้ และเด็กจะได้เห็นรสชาติของโจทย์ด้วยว่าสถานการณ์แบบไหนที่ใช้ Simulation มาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ได้

Aha moment ของชั้นคือตอนที่เอม นิสิตป.ตรี ปี ๔ มาขอเข้าฟังด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงเรียน นางบอกว่าเผื่อจะได้ไอเดียไปทำ Senior project เราก็เออ... ใช่ว่ะ ไม่ได้คิดถึงมุมนั้น ตอนเราเปิดคาบ แนะนำ Speaker เราก็เลยบอกเป้าประสงค์ด้านนี้ด้วย ทำให้ตอนท้ายเด็กๆ ก็มาถาม Speaker เอง

เราสอนเด็กกลุ่มนี้มาทั้งปีเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่ต้องทำความรู้จักอะไรมาก สิ่งที่ประหลาดใจคือหลายๆ คนมาตรงเวลา ปีที่แล้วนี่เข็นกันมากๆ คนที่เคยมาโคตรสายก็มาเร็ว แต่งตัวเรียบร้อย มันบอกว่าติดนิสัยตื่นเช้าและแต่งตัวเรียบร้อยมาตั้งแต่ตอนฝึกงาน  ชั้นรู้สึกดีใจที่เห็นเด็กๆ เติบโต

ตอนเช็คอิน เราบอกว่าช่วยเล่าใหัฟังหน่อยว่าซัมเมอร์ ไปฝึกงานที่ไหนกันบ้าง เราลองใช้เลโก้ราคาถูกมาให้เด็กต่อ พบว่าถ้าไม่มีตัวหลากหลายพอ เช่น มีคน มีต้นไม้ มีรถ ยังไม่ค่อย Work เท่าไหร่ ปั้นดินน้ำมันหรือวาดรูปน่าจะดีกว่า

สัมมนาป.โท 

เราทำหลายสิ่งมากกับนิสิตป.โท เพราะกลุ่มเล็ก สามารถทดสอบไอเดียหลายๆ อย่างได้ และเรารู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมให้ตรงๆ เท่าไหร่ 

Magic English 

เราเปิดด้วยการมีคอร์สภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น Pain point ของชั้นมาก  ชั้นพบว่ามันเป็นอุปสรรคในการเรียน สมมติฐานของชั้นคือเค้าไม่กล้าพูด ไม่กล้าใช้ อาย เพราะกลัวดูโง่ กลัวผิด มันก็ไม่ได้ฝึก ชั้นได้พบผู้หญิงผัวฝรั่งหลายคน เรียนมาน้อย ยังพูดคล่อง ชั้นว่ามันเป็นเรื่องทัศนคติ

ได้เจอครูขวัญ ดร.ขวัญนภา ครูแสง ที่ NVC workshop พี่ณัฐเล่าว่านางสอนภาษาอังกฤษด้วย โดยใช้ Neuro Linguistic Programming (NLP) เพื่อสร้างพลัง เปลี่ยนทัศนคติให้เป็นมิตรกับภาษาอังกฤษ  ชั้นขอเงินภาคฯ มาลอง ๔ ครั้งๆ ละ ๓ ชั่วโมง ครั้งแรกเน้นเรื่องการพูด เปิดด้วยการอธิบายการทำงานของสมอง ซีกซ้าย ซีกขวา Frontal lope ส่วนท้ายทอย (เปิด Wikipedia เค้าบอกว่าทฤษฏีสมองของ NLP ไม่ตรงกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ Oh...well!)   ครูขวัญให้เล่นเกมถี่มาก เพื่อให้เด็กผ่อนคลายและสมองเปิดรับในสิ่งใหม่ๆ  และให้คุย Reflect กับเพื่อนบ่อยมาก มีเทคนิคบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น เวลาฟัง ให้เคาะนิ้วจับจังหวะ จะได้ไม่ตื่นตระหนกเวลาฟังไม่รู้เรื่อง 

ต้องดูกันอีก ๓ คลาสว่าจะเป็นอย่างไร ภาษาเป็นทักษะที่ต้องฝึก เรียนไปไม่ได้ฝึกก็เท่านั้น 

การเขียน

เหล่านี้เป็นคำตอบของเด็กๆ 
คาบแรก ก็เช็คอินด้วย Coaching cards ที่เป็นรูป เลือกรูปที่แทนความรู้สึกตอนนี้ มี Soul's Journey Cards และ Angel Cards ไพ่นี้คว่ำหน้าลง ให้เด็กนึกถึงคำถามที่ต้องการคำแนะนำแล้วหยิบ ชั้นบอกว่าเป็นข้อความจากจักรวาล ในมุมของเรา เราก็ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เค้ากังวลอยู่ คิดอยู่ หลายๆ คนกังวลเรื่องธีสิส

เราอยากให้เด็กจับคีย์เวิร์ดให้ได้จากเรื่องที่ฟัง ก็ให้ดูวีดีโอ แล้วจับคีย์เวิร์ด จากคีย์เวิร์ด ให้ลองเขียนเป็นประโยค อ่านให้เพื่อนฟัง

เราสอนเรื่องการเขียน ที่ผ่านมาเรามวยวัดมาก สอนไม่เป็นระบบ งวดนี้เราได้หนังสือดีที่มีตัวอย่างเพียบ เราอ่าน ขีดเส้นใต้ แล้ว Outsource ให้นิสิตทำ PPT ให้ เด็กทำสวยกว่าเราทำ  ตอนที่เราเอาวิธีการของหนังสือนี้ไปใช้ ก็ให้เด็กลองตั้งชื่อหัวข้อธีสิสตัวเองดู ทำในคาบ หลายคนคิดไม่ออก มาปรึกษาชั้น มันเยอะ ชั้นคิดไม่ทัน ก็เลยบอก เอางี้ เล่าให้เพื่อนข้างๆ ฟังนะ แล้วให้เพื่อนช่วยตั้งชื่อให้ เสร็จแล้วให้ทุกคนไปเขียนบนกระดาน ชั้นช่วยแก้อีกที ทุกคนก็ได้รับรู้หัวข้อของกันและกันด้วย  

การทำ PPT มันดี เราให้อาจารย์คนอื่นในภาคที่ต้องไกด์เด็กทำ thesis and senior projects ใช้ต่อได้อีก นับว่าคุ้มที่จ้างให้เด็กทำ 

Design Thinking

อาจารย์ที่ภาคชั้นสอน Systems Engineering ซึ่งเค้าทำ Design Thinking Workshop ให้กับนิสิตด้วย อ.บอลน่ารัก สอนดี เด็กชอบ และพูดง่าย ขอให้ช่วยอะไรก็ทำให้ ชั้นเลยขอให้เค้ามาทำให้ ๖ ชั่วโมง เช้าบ่าย รวบเอาหลายวัตถุประสงค์ อยากให้เด็กป.โทปี ๑ และ ๒ ได้รู้จักกัน ก็ให้มันมา Workshop เดียวกันนี่แหละ ได้ความรู้ ได้สนุกด้วย   

เป้าหลักของชั้นคืออยากให้เด็กๆ ได้เครื่องมือเพื่อทำ Thesis  เท่าที่อ่านจาก Feedback เด็กหลายคนไปถึงจุดนั้น ว่าได้เครื่องมือ ได้วิธีคิดสำหรับทำธีสิส สนุก อยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้อีก ตอนเด็กทำก็ดูใส่ใจมากๆ  ขอบคุณอ.บอลอีกครั้ง การมีมิตรดีเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์จริงๆ อย่างที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้

ตอนต้น Workshop เนื่องจากเด็กเพิ่งมาเจอกัน เราก็ต้องทำกิจกรรม Ice breaking และกิจกรรมฐายกายให้ตื่น ชั้นก็เปิดหนังสือทำเล่นให้เป็นงานและเอาจากที่เคยได้ทำ จริงๆ แล้วสันดานเดิมของชั้นคือไม่ชอบพูดในที่สาธารณะ ไม่ชอบเล่นเกมทางกาย อย่าว่าแต่มานำ แต่เมื่อเราจะทำ Workshop มันหนีไม่ได้ที่จะต้องมีเกมมากระตุ้นกายหยาบ ทำไปเรื่อยๆ ก็ทำได้เองแหละ  เลือกเกมที่ไม่ต้องมาขึ้นอยู่กับเรามาก ที่มันสนุกด้วยตัวเอง เกมที่เล่นมีดังนี้
  1. น้ำท่วม หรือลมเพลมพัดนั่นแหละ เพื่อ Establish common ground ว่าใครมาจากไหน ความคาดหวังอะไร รู้สึกยังไงเช้านี้ และได้ขยับร่างด้วย
  2. เป็ด มีหลายรูปแบบมาก ชั้นใช้เก้าอี้ คือ ทุกคนนั่งเก้าอี้ มีเก้าอื้ว่าง ๑ ตัว ทุกคนต้องระวังไม่ให้เป็ดนั่งเก้าอี้ว่างได้  ถ้าคนเยอะ มีเก้าอี้ว่างหลายตัว เป็ดหลายตัว จะทำให้สนุกขึ้น ก็จับเวลาว่าไม่ให้เป็ดนั่งได้นานแค่ไหน ตอนแรกเป็นเป็ดเองเพื่อสาธิต แล้วก็ให้เด็กคนอื่นเป็นแทน เพราะแก่แล้วช้า
  3. ออกเสียงนับ ๑ ถึง ๑๐๐ แต่ถ้าตัวเลขมี ๓ หรือ ๙ ให้ตบมือแทน ไม่พูด ถ้าผิด เช่น ขยับตัวตอนให้พูดเฉยๆ  ก็เริ่มนับ ๑ ใหม่ 
พอแต่ละเกมสิ้นสุด ก็ให้คุยกับคนข้างๆ ว่าเล่นแล้วรู้สึกอะไร ได้เรียนรู้อะไร พักเหนื่อยด้วย

OR 1

ไม่อยากงดเลยเอาพวกมันมาเรียน Design Thinking ด้วย  ปีที่แล้วคาบแรกให้เล่น Board games ที่ต้องวางแผน เช่น Chicago Express, Kingdom Builders ปีที่แล้วใช้เด็กป.โทให้ไปฝึกเล่น แล้วมาสอนน้อง ปีนี้ฉลาด คือ ให้เค้าแบ่งกลุ่มๆ ละเกม ไปฝึกเล่นมา แล้วเอามาสอนเพื่อนคาบหน้า ได้ฝึกทำงานเป้นทีม ฝึกเป็นผู้นำด้วย ได้หลายเด้งมาก และชั้นไม่เหนื่อย 

Collaboration & Leadership  

Angel's card ที่หยิบได้
น่าจะยังขาดความพอใจในช่วงนี้
เป็นคลาสที่กังวลมากสุดเพราะไม่เคยทำ ทุกคลาสที่ผ่านมาในชีวิต ชั้นมีต้นแบบที่ลอกเค้ามาได้ แต่อันนี้ได้มาจากที่ตัวเองไปเรียนและปรึกษาคนอื่นด้วย  ประหลาดตั้งแต่คนสอน ชื่อวิชา หัวข้อที่สอน และการประเมินผล

คาบแรก ชั้นอยากรู้จักเด็กๆ ชั้นให้ทุกคนทำป้ายชื่อเองระหว่างรอเพื่อน เพราะว่าเราจะมีวิทยากรหลายคนตลอดเทอม จะได้รู้ขื่อกัน แค่ดูจากป้ายชื่อที่ทำก็เห็น Character แล้ว  ชั้นรู้สึกว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเพื่อนเด็กของชั้นมากกว่า ชั้นบอกว่าชั้นไม่ได้มาสอน เป็นคนจัดกระบวนการเฉยๆ คลาสนี้เป็นการเดินทาง เป็น Journey เป็น Experiment.  ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน  

ชั้นมีเด็ก ๑๒ คน มี ๑ คนลงทะเบียนไม่ได้เพราะหน่วยกิตเต็ม ชั้นให้เด็กนั่งล้อมวง การจัดที่นั่งสำคัญ พลังงานแตกต่างกัน นั่งแล้วให้บอกชื่อจริง ชื่อเล่น สิ่งที่ชอบทำ และความคาดหวังจากการเรียนวิชานี้  ชั้นเริ่มจากการเล่าที่มาของคลาส และเรื่องของตัวเอง  ข้อดีของเด็กกลุ่มนี้คือเค้ารู้จักกันมาแล้ว สนิทกัน พอเล่าก็เล่าเยอะ หลายคนชอบดูหนัง ชั้นว่าเด็กสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือแต่ไปดูหนัง ดูยูทูป ฟัง PodCast แทน วิธีการเสพสื่อมันเปลี่ยนไป  

หลายๆ คนไม่ได้ชอบวิชาคำนวณจ๋า อยากได้ทักษะอื่น นิสิตปี ๕ ทั้งสามคนมาเรียนเพราะชอบวิชาสัมมนาที่ชั้นจัดปีที่แล้ว เค้ารู้สึกว่าเค้าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งชั้นดีใจมาก ตอนแรกคิดว่าตัวเองค่อนข้างเฟลในปีที่แล้ว 

พอแนะนำตัวเองเสร็จ ก็ให้ไปหยิบการ์ดเหมือนที่ทำกับสัมมนา ให้เล่าการ์ดรูปที่ถามว่ารู้สึกยังไงวันนี้ แต่ส่วนการ์ดอีกสองอัน ถ้าอยากเล่าก็เล่า

ไม่ได้เล่นเกมฐานกาย เพราะดูตื่นกันดีอยู่ และตะกี้เพิ่งทำป้ายชื่อกันมา

จากนั้นให้ทำกิจกรรม Who Am I?  ซึ่งชั้นได้มาจากเน็ต ไม่เคยเล่นเอง ถามคำถามว่า ฉันคือใคร ๑๐ ครั้ง ให้เด็กตอบ จากนั้น บอกให้เด็กตัดออก ๓ ข้อ แล้วตัดอีก ๓ ข้อ ของจริงหยุดแค่นี้ แต่ชั้นให้ทำอีกครั้ง จนเหลือ ๑ ข้อ ตอนทำเสร็จ ชั้นให้คุยกับเพื่อนข้างๆ ว่าทำแล้วรู้สึกยังไง รู้สึกยังไงที่ต้องตัดออก ตัดอันไหนออกก่อน เด็กบอกว่าทำกิจกรรมนี้แล้วรู้สึกได้ปลดปล่อย ตอนตัดทิ้ง ก็รู้สึกใจหาย

ชอบกิจกรรมนี้ มันเรียบง่าย และทรงพลังดี  

ตอนแรกชั้นอยากให้อ่านออกเสียง มีเด็กขึ้อายคนหนึ่งปฏิเสธเสียงดัง ชั้นบอกว่างั้นไม่ต้องก็ได้ แต่อยากให้กลับไปอ่านออกเสียงให้ตัวเองฟังนะ แล้วให้เขียนวันที่่บนกระดาษ แล้วเก็บเอาไว้ เผื่ออนาคตอยากกลับมาดู 

จากนั้น ชั้นเชิญคณบดีมาพูดเรื่อง What is Industrial Engineering?  ตามคำแนะนำของอ.ก้องกิติ คล้ายๆ รู้รากเหง้าของวิชาชีพตัวเอง Facebook live ไว้ด้วย เพราะอ.พีรยุทธ์เป็นคนสำคัญในวงการ น่าเก็บความคิดความเห็นของฮีไว้ ผลพลอยได้คือเด็กที่ต้องไปทำธุระอื่น อยู่ฟังไม่ได้ ก็ได้ฟังด้วย

เมื่อเป็นวิชาใหม่ที่ว่าด้วยการรู้จักตัวเอง Self empowerment, Communication ชั้นพบว่าชั้นต้องเปิดตัวเองกับความเป็นไปได้มากกว่าเคย คาบแรก เด็กมาถามว่าจะขาดเรียนไป ๒ ครั้งเพราะต้องกลับบ้าน จะทำยังไงดี ชั้นก็ขอเวลาคิด (ทักษะคิดช้าๆ นี่ก็เพิ่งฝึก) แล้วบอกให้เด็กไปอ่านหนังสือในหัวข้อที่เราจะสอน คือ การฟัง และ นพลักษณ์ แล้วมีแบบฝึกหัดให้ลองไปทำ แล้วเขียนมาเล่าด้วยว่าไปทำแล้วเป็นอย่างไร คือ ถ้าเป็นแต่ก่อน คงบอกว่าไม่ได้อ่ะ หรือว่าช่างมึง แล้วมาวัดตอนสอบ แต่อันนี้ไม่มีสอบ  ก็ต้องหาทางออก

บางที ชั้นรู้สึกว่าชั้นไม่ได้เชื่อใจเด็กมาก พอไม่เชื่อใจแล้วมันต้องใส่หน้ากาก คลาสนี้ชั้นลองท้าทายตัวเองแล้วก็เชื่อ โอเค ต้องกลับก็กลับ แล้วจะเชื่อว่าคุณจะไปทำ Assignment ที่ให้ไป 

แต่ชั้นก็ไม่ได้กลัวที่จะใช้อำนาจที่มี ไม่ใช่คนอะไรก็ได้ ไม่ลังเลที่จะฟันถ้าจำเป็น ชั้นไม่กลัวคนไม่ชอบ ชั้นกลัวชั้นไม่ชอบตัวเองมากกว่า 

สำหรับวิชานี้ ชั้นขอให้เด็กเขียน Reflections เป็น Facebook note ให้ตั้งค่าให้ชั้นอ่านได้  อันนี้ก็ทำให้ต้องขอเป็น Facebook friend กับนิสิตทุกคนที่เรียนกับเรา เมื่อก่อนนี่ชั้นจะแยกอย่างชัดเจนว่าอันนี้เป็นเรื่องงานมหาลัย อันนี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ไม่รับนิสิตเป็น Facebook friend ตอนนี้ไม่มีเส้นแบ่งดังกล่าวละ เราไม่ได้รู้สึกว่ามีเรื่องส่วนตัวอะไรที่ประหลาดขนาดนิสิตจะรู้ไม่ได้ ก็เป็นชีวิตธรรมดา เราไม่ค่อยโพสเรื่องส่วนตัวด้วย เอาจริงแล้ว ใช้มันเป็น Platform เพื่องานมากกว่า 

พอสัปดาห์แรกผ่านไป ได้เห็นหน้าคนที่เรียนกับเราแล้วรู้สึกโล่งใจ 

Comments