Being Mortal

ชั้นสนใจเรื่องการตายและกระบวนการแก่ตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เห็นแม่ป่วยด้วยมะเร็งแล้วเสียชีวิต สิ่งที่จำได้มากที่สุดตอนแม่ป่วยหนักๆ คือ บุคลิกเปลี่ยนไปทีละน้อย จนเหมือนไม่ใช่แม่คนเดิมที่เราเคยรู้จัก หน้าตาเหมือนเดิมแต่นิสัยไม่ใช่ มันทำให้เราสนใจเรื่องการแก่ ความเจ็บป่วย ตัวตน ตั้งแต่ตอนนั้น

ชั้นได้ฟังสัมภาษณ์ Dr. Atul Gawande ในรายการ On Being ของ Krista Tippett แล้วมาได้ฟังหนังสือเสียงของเพื่อน (May God bless you!) แค่ชื่อก็อยากอ่าน อยากฟังแล้ว Being Mortal.

ความเป็นคนพุทธมันดีตรงที่เราเชื่อว่าเราไม่ได้มีชาติเดียว สำหรับชั้น การตายเป็นการเปลี่ยนสถานะ คุณภาพของจิตขณะตายสำคัญมาก

ชั้นชอบที่หนังสือเริ่มด้วยกระบวนการแก่ เช่น อีนาเมลที่เคลือบฟันเราจะบางลง เหงีอกบางลง คนส่วนใหญ่แทบไม่เหลือฟันเดิมของตัวเองตอนแก่มากๆ  เค้าสามารถทำนายอายุจากสภาพฟันได้ใกล้เคียงมาก บวกลบห้าปี  ทำให้ชั้นฮีดฟลอสฟันหลังอาหารอยู่พักหนึ่ง ตามที่หมอฟันสั่ง

นอกจากฟันแล้ว ทุกอย่างที่ควรจะยืดหยุ่น เช่น หลอดเลือดของเรา ข้อต่างๆ ก็จะเริ่มแข็ง หลอดเลือดของคนแก่มากๆ แข็งเหมือนกระดูกอ่อนๆ ส่วนที่ควรจะแข็งแรงก็จะนิ่มหรือเปราะ เช่น กระดูก กระทั่งเนื้อสมองยังหดลง จนเหลือที่ว่างในกระโหลก

ส่วนต่อมา หนังสือพูดถึงการดูแลผู้ป่วยและคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  หมออาตุลมีปู่เป็นคนอินเดียที่อายุยืนเป็นร้อยปี เค้าเปรียบเทียบการดูแลคนแก่ในสังคมชนบทอินเดียที่เหมือนในชนบทไทยสมัยก่อน คือ อยู่บ้านแล้วทุกคนช่วยกันดูแล เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คนเคารพ เพราะสมัยนั้น แทบไม่มีใครอยู่จนแก่ ตัดภาพมาเป็นที่อเมริกาที่คนแก่เฉาตายอยู่ในบ้านพักคนชรา

พอชั้นแก่ตัวลง ชั้นชอบเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับมนุษย์ ชอบ Narratives ชอบ Life drama ซึ่งหมออาตุลทำได้ดีมาก แกเล่าถึงชีวิตคนป่วยและคนแก่ต่างๆ แทรกไปด้วย Medical facts and research findings ทั้งหลาย  ถ้าอัดแต่ผลงานวิจัย คงอ่านไม่สนุกเท่าไหร่

หมออาตุลเล่าถึง Nursing home สมัยก่อนและสมัยเมื่อไม่นานมานี้ว่ามันแย่แค่ไหน บางคนเปรียบมันเป็นคุก (Institutionalized) คือ คนที่อยู่ที่นั่น ถึงไม่ป่วยก็ถูกดูแลเหมือนคนป่วย ไม่มีความเป็นส่วนตัว มีคนเข้าห้องได้ตลอดเวลา บังคับนอนเป็นเวลา กินพร้อมกัน มีคนแต่งตัวให้ บังคับให้ไปทำกิจกรรม  ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้คนแก่ไม่อยากไปอยู่ในบ้านเหล่านี้คือขาดความเป็นอิสระ ไม่สามารถทำในสิ่งที่เค้าอยากทำได้  เพราะเป้าหมายหลักของ Nursing home คือ ให้คนที่อยู่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเซ็งแค่ไหน ขอให้ปลอดภัยก็พอ

มีหลายคนนำเสนอ Model อื่นๆ เช่น Hospice care, Assisted living ที่หน้าตาเหมือนอพาร์ทเม้นท์ที่มีพยาบาลอยู่ประจำ ผู้อยู่ล็อกประตูห้องตัวเองได้ เลือกเวลากินข้าวเองได้ เลือกกินยาหรือไม่กินก็ได้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้ชั้นเข้าใจพ่อชั้นมากขึ้น เดิมชั้นคิดว่าเค้าดื้อ ทำไมไม่ใช้ไม้เท้าจะได้เดินได้มั่นคงวะ ตอนนี้ชั้นเข้าใจแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่เค้าเลือกเอง  เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ไม่อยากดูเหมือนคนแก่ เดินเองไม่ได้

การมี Hospice care professionals ช่วยทำให้คนแก่หรือคนป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการใส่ใจรายละเอียดบางอย่างที่ถ้าเราไม่ได้เรียนมาเราก็ไม่รู้ เช่น เค้าบอกว่าคนที่กินยามากกว่า ๕ ขนานพร้อมกัน มีความเสี่ยงต่อการล้มมากกว่าเพราะยาทำให้มึน การสังเกตเท้าของคนแก่ เพราะว่าเท้าเป็นตัวบอกว่ามีคนดูแลเค้าหรือเปล่า คนแก่บางคนตัดเล็บเท้าไม่ถึง หรือฟอกสบู่ไม่ถึง

อีกส่วนที่ชอบมากคือหมออาตุลพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนอยากมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย มีนักวิจัยศึกษาเรื่องนี้แล้วเรียกว่า Loyalty คือ มี Cause อะไรบางอย่างที่่เราอยากอยู่เพื่อทำงานให้กับสิ่งนี้ เช่น ดูแลครอบครัว ทำงานเพื่อสังคม  ถ้าไม่มีตรงนี้ ชีวิตไม่มีความหมาย ไม่อยากอยู๋

ชั้นว่าโคตรจริง เคยคิดว่า Vacation is desirable because I can't have it all the time.  ถ้าชั้นพักตลอดเวลา คงเบื่ออ่ะ  เคยเที่ยวยาวที่สุด 21 วัน ขนาดเป็นยุโรป ตอนท้ายๆ ยังเริ่มเบื่อ อยากนอนบนที่นอนตัวเอง ขี้เกียจเดินทางทุกวัน

ชั้นยอมรับเลยว่าชั้นเสพติดการมีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา

หมออาตุลเล่าถึงความเจ็บป่วยของพ่อตัวเอง ซึ่งเป็นหมอเช่นกัน มาจากอินเดีย แม่อาตุลก็เป็นหมอ เป็นคนอินเดียเหมือนกัน  อาตุลเล่าถึงบทสนทนาที่ญาติคนไข้จำเป็นที่จะต้องคุยเพื่อรู้เจตจำนงของคนป่วย ที่สำคัญมากคือคุณภาพชีวิตระดับไหนที่คุณยังอยากมีชีวิตอยู่ เช่น บางคนแค่อยากกินไอติมช็อกโกแลตได้และดูฟุตบอลทางทีวีได้ บางคนอยากจะเจอเพื่อนฝูง พูดคุยได้  พอเรารู้สิ่งที่เค้าต้องการแล้ว ตอนที่เค้าป่วยมากๆ คนรอบข้างจะได้ตัดสินใจแทนได้

อยากจะปั๋มหัวใจไหม กินอาหารทางสายไหม อยากอยู่ ICU ไหม

ที่เมืองไทย มีการรณรงค์การเขียน Living will เพื่อแสดงเจตจำนงนี้ ซึ่งดีงามมาก

คนป่วยเลือกได้และควรเลือกว่าจะรับการรักษาไหม เช่น Chemotherapy การรักษาบางอย่างมีความเสี่ยงสูงและอาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง  คุณอยากเป็นแบบนั้นไหม  เวลาป่วย คนไข้ไม่อยู่ในสภาพที่ตัดสินใจเองได้ หมอและพยาบาลที่รู้จักการคุยเรื่องแบบนี้จำเป็นมาก

ขนาดพ่ออาตุลเป็นหมอ พอตัวเองป่วย ก็หวั่นไหวกับความเจ็บปวด และความไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เดิมพ่อเป็นนักสร้างเนื้่อสร้างตัว เป็นสายอึด ที่ทำอะไรเองตลอดเวลา ทำงานเพื่อสังคม  ชั้นนึกถึงตัวเองว่าคงอึดอัดคับข้องใจเบอร์ใกล้ๆ กันถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  นี่ขนาดแค่คนมาถามเซ้าซี้ ชั้นยังรำคาญเลย 

เมื่อสองวันก่อน เพื่อนที่รู้จักห่างๆ เสียชีวิตกะทันหัน สะเทือนใจ เพราะเค้าเป็นคนที่เราชื่นชมในผลงาน ได้คุยกับนิสิตที่ทำงานกับเค้า ก็ชื่นชมอาจารย์ตัวเองมาก  แต่การตายนี้ก็ทำให้เรา put things in perspectives ถ้าอยู่ๆ ตายโครมขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร  เคยคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ว่าจะทำอย่างอื่นที่แตกต่างไหม ถ้ารู้ว่าเหลือเวลาในโลกนี้อีกไม่นาน แล้วชั้นก็ตอบตัวเองว่าก็ทำอย่างที่ทำอยู่นี่แหละ ไม่มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ จริงๆ ก็พร้อมตายแล้วนะเนี่ย

By the way อีกเล่มที่อ่านแต่ไม่ชอบมากเท่าเล่มนี้คือ When breath becomes air.  เราว่า Being mortal มีข้อมูลปิ๊กกว่า  When breath becomes air มันส่วนตัวเรื่องความตายของคนเขียน

ทั้ง Being Mortal และ When Breath Becomes Air มีแปลเป็นภาษาไทย

Comments