จากการไปอบรมเรื่องการสอน การช่วยเหลือของเพื่อน การค้นพบด้วยตัวเอง ฉันน่าจะ KM เก็บไว้ ดังนี้
นิสิตหรือคนทั่วไปชอบให้เราจำชื่อเค้าได้ แต่ว่าชื่อจริงสมัยนี้มันซับซ้อนมาก ฉันใช้จำชื่อเล่น ก็จะเรียกเค้าด้วยชื่อเล่น ทางจิตวิทยาว่าการเรียกนิสิตด้วยชื่อทำให้เค้ามีตัวตนในห้องเรียน They feel that they belong in the classroom.
เด็กจะเรียนรู้ได้ดีกับคนที่เค้าชอบ ฉันไม่ได้อยากให้เค้าชอบฉันเพื่อชอบฉัน แต่อยากให้ชอบฉันเพื่อให้เค้าอยากเรียน ฉันไม่ได้พยายามอะไรมาก แค่เอาตัวเองเป็นนิสิตในบางที เช่น ไม่บ่นมาก (แต่ก็มี) ปล่อยตรงเวลา ไม่พยายามใช้อำนาจ (แต่มีหลุดแน่นอน)
เล่นเกมคาบสุดท้าย มีรางวัลให้เพื่อน |
ตอนแรก ฉันลองไม่เช็คชื่อ ปรากฏว่านิสิตเข้าเรียนสายมากๆ ระดับสาย 1.5 ชม. สำหรับคาบ ๓ ชม. หรือไม่มาเรียนเลย ฉันก็ต้องกลับไปใช้วิธีโบราณ คือ เช็คชื่อแบบมีคะแนน (วิชาสัมมนา) และ Quiz ทุกคาบตอนต้นคาบสำหรับวิชา Operations research คือ ถ้าเด็กมาสาย ก็ไม่ได้ทำควิซ การทำ Quiz ทุกครั้ง ช่วยทำให้นิสิตตื่นตัว ทยอยอ่านหนังสือ ไม่รอจนกระทั่งสอบกลางภาคหรือปลายภาค เมื่อเด็กทำเสร็จ ฉันเฉลยทันทีในห้อง ก็ได้ทบทวนในสิ่งที่เรียนไปเมื่อคาบที่แล้ว คาบต่อมา ฉันแจกควิซคืน เป็นการให้ Feedback นิสิตว่า perform เป็นยังไงบ้างแล้ว ถ้าคะแนนไม่ดี ก็จะมีคะแนนห่วยๆ ตอกย้ำไปเรื่อยทุกสัปดาห์ว่าแย่แล้วนะ
ฉันโพสคะแนนสะสมหรือ Gradebook บน Google spreadsheet ซ่อนชื่อจริงไว้ แสดงแต่คะแนนและรหัสนิสิต (ตั้ง Setting เป็น "can view" ซึ่งจะ edit file ไม่ได้) เพื่อให้เค้าเห็น performance ของตัวเองและของเพื่อน และเพื่อความโปร่งใสด้วย ถ้าฉันบันทึกผิด เด็กจะได้แย้งได้
ฉันสร้าง Facebook group สำหรับแต่ละวิชา เพื่อสื่อสารกับนิสิต แปะลิ้งต่างๆ โพสเฉลยการบ้าน เฟสบุ๊คดีกว่า Learning management system ใดๆ เพราะเป็น Platform ที่เด็กใช้อยู่แล้ว และฉันจะเห็นทันทีว่ามันอ่านข้อความกันหรือยัง ใครที่อ่านแล้ว ใครยังไม่อ่าน เด็กตอบสนองทางเฟสเร็วมากๆ จะถามความเห็น Facebook ก็มีโพลให้
เมื่อตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว ฉันคืนข้อสอบกลางภาคและปลายภาคให้เด็กดูทุกครั้ง ให้เอามือถือถ่ายเก็บไว้ได้ ต้นฉบับขอคืนเพราะเป็น"หลักฐานของทางราชการ" ฉันโพสเฉลยในเฟสบุ๊ค ถ้าตรวจผิดหรือรวมคะแนนผิด นิสิตมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ฉันอยากให้เค้ารู้ว่าเค้าทำผิดตรงไหน การคืนข้อสอบให้นิสิตดูเป็นเรื่องธรรมดาที่อ.ทุกคนทำตอนฉันเรียนปริญญาตรีโทเอกที่อเมริกา คืนให้เก็บไว้เองเลยด้วย ตอนกลับมา ฉันประหลาดใจที่เค้าไม่ทำกันที่นี่
เล่นเกมคาบสุดท้าย Minimal spanning tree |
ฉันใช้ Google classroom เพื่อโพสวีดีโอที่ฉันต้องการให้เด็กดู ในยูทูปมีวีดีโอดีๆ มากมายที่ฉันสามารถใช้เป็นสื่อการสอนได้ ถ้าให้ดูวีดีโอเฉยๆ จะน่าเบื่อมาก และคาดว่าเด็กจะไม่ดู เพื่อนฉันสอนใช้ edPuzzle เพื่อสร้างคำถามแทรกในวีดีโอยูทูป มีคำถามได้หลายแบบ เช่น ปรนัย (Multiple choice) ซึ่งเราจะกรอกคำตอบที่ถูกต้องได้ หรือคำตอบสั้น เราแทรกคำอธิบายเพิ่มเติมก็ได้ ถ้าเป็นปรนัย edPuzzle จะตรวจให้เลย แต่ถ้าเป็นคำตอบสั้น เราต้องเข้าไปตรวจเอง แล้วมันรวมคะแนนให้ มันมี Option ห้าม Skip วีดีโอด้วย พอทำคำถามใน edPuzzle เสร็จก็สร้างเป็น assignment ใน Google classroom เด็กๆ ก็จะเห็น การตอบคำถามเหล่านี้เก็บคะแนนเป็นการบ้าน
ฉันเชื่อที่ Khan (from Khan Academy) เคยบอกว่าเด็กเรียนรู้ได้ดีจากวีดีโอเพราะเค้าจะดูกี่รอบก็ได้ ถ้าวีดีโอทำดีอ่ะนะ
เล่นเกม TSP ในม. |
TSP game: พิกัดที่จะต้องไป ถ่ายเซลฟี่หน้าโลเกชั่น บันทึกเส้นทาง กลับมาให้เร็วที่สุด |
วิชานี้มีโปรเจคงานกลุ่ม คือ ให้เด็กคิดเกมสำหรับปัญหาทาง OR ต่างๆ เช่น Blending problem, Minimal spanning tree problem, Transportation problem งานมีสองส่วน ส่วนแรกคือทำ Proposal เป็นวีดีโอ อธิบายปัญหาที่ศึกษาและวิธีเล่นเกม เด็กยุคนี้เกิดมาพร้อมกับมือถือและการถ่ายวีดีโอ ทำกันได้ดีมาก บางกลุ่มมีดนตรีเป็น background บางกลุ่มมีซับไตเติ้ล ฉันไม่เคยสอนเค้าทำวีดีโอเพราะตัวเองก็ทำไม่เป็น สั่งให้ทำเลย ไม่มีใครบ่นว่าทำไม่ได้ เหมือนเกิดมาก็ทำได้เลย Playlist ของวีดีโออยู่ที่นี่
คาบสุดท้ายก่อนสอบ ก็ให้มาเล่นเกมกัน เค้าต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง บางกลุ่มเตรียมรางวัลมาให้เพื่อนด้วย น่ารักมาก เป็นการทบทวนก่อนสอบด้วย เนื่องจากใช้งานมันหนัก ก็มีกินข้าวกันหลังคาบ โดนทวงด้วย เด็กบอกอ.คนอื่นเลี้ยงพิซซ่านะ อ.จะไม่เลี้ยงอะไรเหรอ ก็ต้องเลี้ยงอ่ะนะ ทวงขนาดนี้
ถ่ายรูปแล้วใส่กลอนไฮกุของ ตัวเองและเพื่อนอีก ๔ คน |
ฉันมาทำสัมมนาปริญญาตรีเทอมนี้เป็นเทอมแรก แต่ของปริญญาโท ทำมาหลายปีแล้ว ของป.ตรีเป็นกลุ่ม ๖๐ คนซึ่งใหญ่กว่าปริญญาโท ๕ เท่า ฉันเชิญเพื่อนที่ได้พบใน Workshops ต่างๆ มารันกิจกรรมให้ เช่น เชิญมู ชัยฤทธิ์ มาเปิดตัวแบบแรงๆ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การไม่ตัดสิน เชิญหม่องจากขวัญแผ่นดินมาทำ Deep listening, ผู้นำสี่ทิศ เชิญแป๊ก อังคาร จันทร์เมือง มาสอนเรื่องการเขียน
Thanks to หัวหน้าภาคซึ่งอนุมัติเงินให้จัด Mindmapping Workshop และเวิรคช้อปการจับประเด็น สองอันนี้ทำยาว คือ ต้องเป็นคาบ ๖ ชั่วโมง พบว่านิสิตทำได้ดี แต่มีฟีดแบ๊คว่าช้าไป เค้าชอบอะไรที่เร็วๆ สั้นๆ เค้าไม่เห็นประเด็นของกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมไปสู่กิจกรรมหลัก มองว่าเยิ่นเย้อ ไม่จำเป็น เข้าเรื่องเลยไม่ได้เหรอ ถามอะไรเยอะ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่บอกว่าต้องค่อยๆ ไต่ระดับการเรียนรู้ให้เป็นระฆังคว่ำดูจะไม่ Work นิสิตเร่งจังหวะอยากให้พีคเลย
นิสิตชอบกิจกรรม Soft skills ที่แค่ ๓ ชั่วโมง เช่น Deep listening และผู้นำสี่ทิศ สนุกกันมาก การที่กระบวนกร (หม่อง) อายุไม่ต่างจากพวกเค้ามากก็ช่วยด้วย
Mindmapping |
ทุกคาบที่ทำ ฉันจะให้นิสิตเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้และข้อเสนอแนะบนกระดาษโพสอิท แล้วแปะที่ประตูก่อนออก ได้ไอเดียนี้มาจากกระบวนกรมะขามป้อม ซึ่งดีงาม เพราะเราได้รับรู้ฟีดแบ๊ค แต่บางทีฟีดแบ๊คแรงๆ ในเชิงลบก็จุกคอเหมือนกัน เป็นการฝึกสำหรับฉันด้วย ว่าจะรับฟีดแบ๊คอย่างไรแบบที่เราไม่ถอดใจกับการทำงาน และได้เอามันมาใช้ปรับปรุงจริงๆ ฉันอยากเป็น visionary ทำอะไรแปลกใหม่ แต่พอมันแปลกใหม่ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะ work หรือไม่ พอมันไม่เวิรค ก็ต้องยอมรับและทิ้งไอเดียนั้นไป ไปหาใหม่
รุ่นพี่มาพูดคุย จัดให้นั่งเป็นวง เพราะมีผลต่อพลังงานในห้อง อยากให้เค้ารู้สึกว่าเท่าเทียมกัน |
พอนิสิตผ่านกิจกรรมหลายอัน เค้ารู้ว่ามันสนุกกว่านั่งฟังเฉยๆ ก็มีฟีดแบ๊คมาตอนท้ายเทอมว่าอยากให้เป็นแบบนี้
ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำ ฉันสรุปว่าเป็นเพราะ I'd rather die trying than not doing anything at all. ฉันคิดว่าวิธีที่ฉันเคยทำหรือคนอื่นทำมันไม่เวิร์คอีกต่อไป ฉันนั่งเฉยๆ ดูความหายนะของตัวเอง แล้วก็ be cynical ก็ได้ But being a cynic is the last thing I ever want to be.
Comments