เมื่อฆราวาสสอนภาวนา

วิวตรงที่เรากินข้าว


One doesn't become enlightened by imagining figures of light but by making darkness conscious.  
Carl G. Jung

ช่วงนี้ฉันรู้สึกว่าฉันกลับมาเป็นคนธรรมดา เดิมเคยสุดโต่งทั้งสองด้าน เคยวัตถุนิยม ถือเอาการช้อปปิ้งเป็นสรณะ ใช้ของแบรนด์เนม ยึดติดรูปลักษณ์และไลฟ์สไตล์หรูหรา แล้วก็ดีดมาด้านเป็นผู้ภาวนาสุดโต่ง ไม่ย้อมผม ไม่แต่งหน้า ไม่แต่งตัว

หลังจากที่ไปจนสุดทางมาสองด้านแล้วพบว่าไม่ใช่ ก็กลับมาเป็นตัวเอง ทั้งในแง่การใช้ชีวิตและการภาวนา

ฉันกำลังลองทำสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำ ฉันชอบภาวนา เห็นประโยชน์ของมันและชอบเพราะชอบด้วย  แต่การภาวนาของฉันมันแห้งแล้งไป ทำเป็นหน้าที่เหมือนแปรงฟันแต่ไม่ได้อินกับมัน ไม่รู้สึก Spiritual ใดๆ  อยากหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ  เห็นคอร์สของตั้มหลายครั้งก็ไม่ได้ไปซักที ปรึกษาพี่ณัฐ ฮีบอกว่าลองไปดู   "ชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์" เป็นคอร์สสายวัชรยาน (พุทธทิเบต) ๗ วัน แต่มีวันเข้าและวันออก รวมเบ็ดเสร็จ ๙ วัน  ก่อนไปก็เอ๋อขนาดนับจำนวนวันผิด จัดที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว ฉันไปเพราะชอบเชียงดาวด้วย

The Divine Doi Luang Chiang Dao
ครูที่สอนมี ๒ คน ครูหลักคือตั้ม และครูรองคือพี่น้อง ทั้งสองคนเรียนภาวนามาจาก Reggie Ray ที่ Dharma Ocean ที่ Colorado, USA เรจจี้เป็นลูกศิษย์ของ Chogyam Trungpa อีกที

ฉันเคยเจอตั้มหลายครั้ง ที่งานเสวนาบ้าง ที่ Workshop คนนั้นคนนี้บ้าง  ประหลาดใจที่เค้าจำเราได้  ตั้มบอกว่าฉันเคยไปเรียนภาวนากับเค้าที่สวนเงินฯ แต่ไปไม่ครบคอร์ส เค้าบอกว่าคนที่นั่งยุกยิกอยู่ข้างเสาไม่มาในวันรุ่งขึ้น แต่ฉันก็ความจำเสื่อม จำไม่ได้เลยว่าไป อาจจะไปแล้วโดดจริงๆ ก็ได้

เคยไปงานภาวนาสายนี้ตอนที่ตั้มเชิญเพื่อนอเมริกันมาสอน Body work แล้วพี่ณัฐเป็นล่ามแปล จำได้แค่ว่าหลับเยอะมากๆ ทุกคาบ เป็นครั้งแรกที่เจอพี่ณัฐ

คอร์สเรามี ๑๖ คน มีคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยภาวนาคอร์สนี้ ๔ คน ที่เหลือเป็นศิษย์เก่า

ฉันชอบที่คอร์สนี้ไม่ตื่นเช้ามาก ไม่บังคับมาก ใช้มือถือได้ เวลาพัก ไปวิ่ง ฝึกโยคะ ทำงานได้ และฉันได้นอนเต๊นท์ อาบน้ำในต้นน้ำแม่ปิง ได้ออนเซ็น  ตอนมาใหม่ๆ ครูตั้มบอกว่ามาภาวนานะ ไม่ได้มาพักผ่อน ฉันก็อ้าว..ไหนบอกในเฟสบุ๊คว่าแค่มาเชียงดาวก็คุ้มแล้ว  วันแรกๆ ครูหน้าเข้ม ไม่ยิ้ม ประหนึ่งเป็นครูโรงเรียนประจำ

เราเจอกัน 6.30 น. เพื่อนั่งภาวนาร่วมกัน 45 นาที ครึ่งหลังของคอร์ส มีสวดมนต์สรรเสริญครูในสายธรรมและเป็นบทธรรมะ แปลไทยจากอังกฤษโดยครูตั้ม จากนั้นก็ให้แยกย้ายไปทำการบ้าน การบ้านที่เราทำต่อเนื่องคือ My Spot ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตั้มทำทั้งเทอมที่ Naropa University ที่ๆ เค้าจบป.โท ครูให้ไปหาจุดที่เรา Connect ด้วย แล้วแต่การบ้านว่าครูจะให้ไปทำอะไรกับที่ตรงนั้น เช่น ไปสื่อสารกับสถานที่ ไปวาดรูปพลังงานของจุดนั้น  ทำให้ฉันมั่นใจฝีมือตัวเองว่าพอได้

การบ้าน My spot
พยายาม Capture ดอยหลวง
ตอนมีหมอก
สายๆ เราก็มากินข้าวเช้ากัน อาหารที่ค่ายอร่อยมาก ผักเยอะ ได้กินมะละกอทุกวัน

เจอกันอีกที 9 น. นั่งภาวนา 45 นาที สลับกับเดินภาวนา 15 นาที ทำแบบนี้ ๓ รอบ  ฉันไม่ชินกับการเดินภาวนาด้วยกันเป็นวงกลม เดินตามเข็ม ทักษิณาวัตร ฉันก็ทำกับเค้าบ้าง เดินไปกลับแบบที่เคยเดินเองบ้าง เห็นคนอื่นทำก่อน ก็รู้ว่าเค้าให้ทำได้

ฉันไม่ชินกับการนั่งภาวนา วันแรกๆ ง่วงมากๆ ก็ใช้วิธีเปิดตาภาวนา ครูบอกว่าโอเค  จริงๆ Reggie เองก็เปิดตาภาวนา สายหมู่บ้านพลัมก็ใช่ ฉันว่าเปิดตาดีกว่า เพราะจะได้ไม่ติดนิมิต

ระหว่างที่นั่ง ครูก็จะสอนภาวนาบ้าง แสดงธรรมบ้าง ในบางครั้ง คำสอนที่ฉันงงมากๆ คือเรื่องขอบ (Edge) ของสัมปชัญญะ ครูบอกให้ทำขอบนี้ให้นุ่ม  ฉันงงตั้งแต่บอกให้หาขอบของ Awareness แล้ว การฝึกของฉันที่ผ่านมากำหนดให้สติเป็นจุด เป็นขณะ

เรื่องความอ่อนนุ่มเกี่ยวกับความอ่อนโยน เกี่ยวกับการรักตัวเอง เปิดกว้างให้กับทุกสิ่งที่เป็นเรา

อีกเรื่องคือ Emptiness, Empty space ฉันเข้าใจในเชิงตรรกะ เชิงฟิสิกส์ ว่าร่างกายเราเต็มไปด้วยความว่าง แต่ฉันก็ไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง

วันแรกๆ ครูตั้มหน้าโหดมาก ไม่ยิ้มเลย ขรึม แล้วฉันเองก็ยังไม่คุ้นกับสไตล์นี้ ทำให้งงและรู้สึกไม่ลงตัว แต่เค้าก็พูดให้กำลังใจและเข้ามาคุยกับพวกเรา พอคุยส่วนตัวแล้วโอเค คุยได้  ด้วยอาชีพอาจารย์ ฉันรู้ว่าเวลาสอน มันเหนื่อย ต้องสังเกตคนเรียน ต้องคิด ต้องพูด ก็ไม่อยากจะชวนคุยเท่าไหร่

เราภาวนากันหลายแบบ แบบที่ฉันชอบคือแบบที่ให้ผ่อนคลายตอนปลายสุดของลมหายใจออก  การฝึกโยคะทำให้ฉันคุ้นเคยกับลมหายใจของตัวเอง ฉันรู้ว่าเราหายใจออกแล้วหยุดนิดนึง เพื่อหายใจเข้าต่อ ตรงปลายสุดที่หายใจออก เค้าบอกให้เข้าไปสัมพันธ์กับพื้นที่ตรงนั้นดู  อันนี้ก็เป็นอีกคำสั่งที่โคตรงง ทำไมต้องสัมพันธ์ อยู่เฉยๆ ไม่ได้เหรอ

แต่ฉันก็ลองดูอ่ะแหละ ลองผ่อนคลายที่ปลายสุดของลมหายใจออก ตอนหายใจเข้ารู้สึกตัวทั้งตัว ทำให้ไม่ง่วง มีคราวหนึ่ง ลอง let go คนๆ หนึ่ง ปรากฎว่าน้ำตาไหลออกมา ครูคงเห็น ครูบอกว่าเรามาภาวนาพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา นัยยะคือชีวิตไม่แยกส่วน

ข้อเสียของความเป็นคนจริงจังคือฉันตั้งใจเกินไป ไม่ผ่อนคลาย True self is probably like a wild animal.  ออกมาตอนเราผ่อนคลาย ตอนเราเผลอ มีครูภาวนาคนหนึ่งเคยบอกไว้ พอฉันตั้งใจมากไป เกร็ง ก็ไม่ได้สภาวะ

ชอบการภาวนาแบบโพธิจิตด้วย ให้หายใจเข้าไปที่ Empty space ที่ศูนย์ใจ

อีกการภาวนาหนึ่งที่ชอบคือ Body work ซึ่งเป็นการภาวนาบนฐานกาย (Somatic meditation) ฉันว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้จักร่างกายตัวเอง ผ่อนคลาย เค้าให้นอนหงาย ชันเข่า เอาเชือกมัดเข่าให้ติดกันก็ได้ แล้วเอามือวางไว้ที่ท้องน้อย แล้วแต่แบบฝึกหัด เช่น บางทีก็ให้หายใจเข้าที่จุด ๑๐ จุดที่สัมผัสพื้น เช่น ฝ่าเท้า ข้อศอก หลังส่วนบน ก้น แล้วก็มีให้หายใจเข้าที่จุดดิน ซึ่งก็คือ Uddiyana bandha ของโยคะ

เขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว
ช่วงแรกๆ ฉันหลับทุกครั้งที่ทำ Body work ไปไม่ถึง ๑๐ นาที ช่วงหลังเริ่มรู้สึกได้มากขึ้น

หลังอาหารเที่ยง เราเจอกันบ่ายสอง พี่น้องนำภาวนา มีพูดคุยบ้าง ตอนสี่โมงเย็น ครูปล่อยให้ภาวนาอิสระ

เล็กเชอร์ของพี่น้องอันที่ชอบที่สุดคือเรื่องไมตรี ซึ่งก็คือเมตตา พี่น้องบอกว่า การแสดงออกของความไม่เมตตาต่อตนเองคือการเป็น Perfectionist (อ้าว..กูเองนี่) เพราะเราจะมีเส้นแบ่งว่าอันนี้โอเค ที่เหลือจากนี้ไม่โอเค เราไม่ได้เปิดกว้างยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัวเรา  อีกอันที่ชอบคือเค้าบอกว่าการปฎิเสธการเปลี่ยนแปลงคือการสตัฟสิ่งๆ นั้นไว้ ตอกหมุดไว้ ให้มันเป็นของตาย ไม่มีชีวิต อันนี้ก็เป็นนิสัยฉันอีก ชอบความชัวร์ ชอบควบคุม หรืออีกนัยหนึ่งคือชอบของที่ตายแล้ว

การเป็นมิตรกับตัวเองเป็นการเดินทางชั่วชีวิต If not in this lifetime, then the next...

การรักตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นของการรักคนอื่นจริงๆ เพราะเราจะเห็นว่ามีเอกภพอยู่ในตัวเรา สิ่งที่คนอื่นเป็น เราก็เคยเป็น หรือเป็นอยู่

เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับทหารที่เรจจี้เล่าก็ชอบ เกี่ยวกับการตัดสินคนอื่น เรื่องมันยาว ขี้เกียจพิมพ์

เล็กเชอร์เรื่องโพธิจิตของตั้มก็เป็นอันที่ชอบมาก ฮีบอกว่า Quote วิจักษข์ได้เลยว่าพูดว่า
คำสอนเรื่องความว่างเป็นคำสอนของหัวใจ
The moment you are open, you connect. เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในตัวเพื่อนมนุษย์ว่าทุกคนมีหัวใจมนุษย์และมี Buddha's nature

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงภาวนาสะท้อนความเป็นตัวเรา ตั้มกล่าว

เย็นๆ เราเดินไปแช่น้ำร้อนใกล้ๆ ได้ออนเซ็น ค่ำๆ ก็มีวงสนทนา ตอนแรกๆ ฉันไม่ชอบพูดเลย คือ ฉันว่าฉันต้องคิดจีงจะพูดได้  ปกติฉันก็คิดเยอะอยู่แล้ว ฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ยิ่งต้องพูดก็ยิ่งฟุ้ง แต่ก็พูดเท่าที่จำเป็น

ฉันชอบการที่มีครูสองคน หยินหยางดี  ฉันชอบเวลาที่พี่น้องเล่าเรื่องการเดินทางภายในของตัวเอง ฉันว่าฉันมีอะไรคล้ายๆ กับนาง โดยเฉพาะความเป๊ะ ฟังแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ในขณะที่ครูตั้มไม่พูดถึงตัวเองเลย

ช่วงแรกฉันไม่เข้าใจว่าครูพูดอะไร ไม่อิน ก็ไม่จด ช่วงท้ายๆ เข้าใจละ ก็เริ่มดี เริ่มอยู่ตัว นี่ขนาดฉันฟังพระสายวัชรยาน (เช่น Pema Chodron, Khyentse ที่เขียนเรื่อง What makes you not a Buddhist) มาบ้างนะ ยังเหวอขนาดนี้

ส่ิ่งที่ฉันชอบในคำสอนในคอร์สนี้คือการเปิดรับทุกอย่างที่ตัวเองเป็น ทั้งด้านมืดและด้านสว่าง Be honest with yourself all the way through. ชอบคำว่า "all the way through"  มันทำให้เราเมตตาตัวเอง รักตัวเอง แล้วก็เห็นตัวเองในคนอื่น ไม่ต้องแอ๊บเป็นคนดีตลอดเวลา อย่างบางคนที่ฉันเคยเจอตามที่ปฎิบัติธรรมทั่วไป  พี่คนหนึ่งเล่าว่าจะโกรธแม่ก็โกรธได้ไม่สุด เพราะถูกสอนมาว่าไม่ควรโกรธคนที่มีพระคุณต่อเรา ความรู้สึกนี้ก็เลยค้างเป็นฝีกลัดหนอง ลักลั่นกันอยู่อย่างนั้น การโกรธแบบสุดๆ แต่ไม่สร้างสตอรี่หลังจากนั้นเป็นการภาวนา

Manifestation of Vajira beings (ธรรมชาติของความว่าง) comes from emptiness/primordial space.
The True Self is the softest part and yet indestructible in me.

อีกประโยคที่ฉันฟังแล้วนึกถึงคือ Surrender to what is.  แต่เดิมฉันไม่ชอบคำว่า "ศิโรราบ" เลย ในฉันมีอีกตัวหนึ่งที่ถามว่า ทำไมต้องยอม แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ก็พบว่าศิโรราบคือการยอมรับมากกว่ายอมจำนน

คุณครูกับพี่อ้วน
ตำศัพท์ที่ใช้บ่อยในการภาวนานี้คือ สัมพันธ์ (Connect), โอบอุ้ม (hold), เป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง, ขอบ (Edge), พื้นที่ว่าง/ความว่าง, อ่อนนุ่ม, อ่อนโยน, โพธิจิต

วันที่ ๕ ครูให้มีพูดคุยส่วนตัวทีละคน เรียกว่า Interview  เนื่องจากครูตั้มดูไม่เป็นมิตรสำหรับฉัน มีโมเม้นต์ที่ฉันถามในห้องแล้วถูก Brushed aside หรือถูกจิกกัดด้วยคำพูด ก็เลยไม่อยากไปคุยเท่าไหร่ แต่ปรากฎว่าเป็นประโยชน์มาก การบ้านที่ได้คือ ครูปรารภว่า ทำไมพี่ชอบทำให้การภาวนาไม่ personal ก็เออ...จริงว่ะ  ฉันแยกตัวเองออกมาดู ฉันไม่เคยสังเกตจริงๆ เลยว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีอะไรอยู่ใต้นั้น Be curious. อันนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่แตกต่างจากที่ฉันถูกสอนมา

อีกคำแนะนำคือ เมื่อความคิดเกิดขึ้น ให้ขยายมันไปเลย Amplify it. ฉันเอาไปใช้ พบว่าความคิดดับทันที คือ แค่พอเราเห็นว่ากำลังคิดแล้วจะไปช่วยขยายให้มันใหญ่ มันก็ดับแล้วอ่ะ  ทำให้ไม่กลัวความคิด ความฟุ้งซ่านอย่างทึ่เคย เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ

นึกถึงว่า Amplification เป็นเทคนิคหนึ่งของโค้ชชิ่ง คือเวลาโค้ชชี่เริ่มคร่ำครวญ ก็ขยายใหญ่ให้เค้าเห็นชัดๆ ไปเลย

อีกอันคือให้ Embody ทำให้เป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง จำไม่ได้ละว่าให้ Embody อะไร

ฉันถามครูว่าแล้วปกติแต่ละวันภาวนาในรูปแบบยังไง ฮีบอกว่าฮีก็สำรวจร่างกายตัวเองว่าปวด ไม่สบายตัวตรงไหน แล้วก็ Breath into it.  น่าสนใจ จะลองไปทำตามบ้าง

มีแบบฝึกหัดอื่นๆ ที่ให้ทำอีก ซึ่งมันช่วยเยียวยาคนได้มาก รู้สึกเหมือน therapy session เวลาเราทำแล้วมาคุยกัน

เราได้ไปเดินป่าตอนกลางคืนด้วย บางคนกลัว เราไปกันกลุ่มใหญ่มากจนฉันว่าไม่น่ากลัวอ่ะ มีพี่อ้วนนำทางอีก มีขณะหนึ่ง เราได้เงียบ ได้ปิดไฟฉาย

แล้ววันที่ ๗ เราก็ไปเดินป่าตรงเชียงดาว ๓ ชั่วโมง กลุ่มเรามีคนสูงอายุ ก็สนุกดี ได้ลุยน้ำ ได้ช่วยกัน ชอบมาก ได้ผ่อนคลาย  ได้พลังจากธรรมชาติ

ต้นปรงกำลังงอกใหม่
พี่อ้วนบอกว่าเมื่อมีการเกิด
ก็ย่อมมีบางส่วนตายไป
หลังจากเดินป่า ตอนค่ำ ก็ได้กอดล่ำลากัน เป็นคอร์สภาวนาที่มีการกอดซึ่งน่ารักดี

คืนสุดท้าย ครูเลี้ยงเบียร์ที่แคมป์ไฟ ครูให้ออกมาเล่าเรื่องหรือร้องเพลงก็ได้  ครูตั้มร้องเพลง Rainbow connection ที่พี่ณัฐเคยร้องที่วัชรสิทธาให้ฟังด้วย  คงเป็นคอร์สภาวนาเดียวในประเทศที่มีอีเว้นต์นี้

วันสุดท้าย ครูให้ตั้งวงแชร์ว่ากลับไปจะไปทำอะไร คำอธิษฐานของฉันคือ let go of my anger and fear.

ก่อนกลับ ฉันเขียนจดหมายบอกตั้มว่าขอบคุณที่ทำให้ฉันตกหลุมรักการภาวนาอีกครั้งหนึ่ง พอย้อนกลับมาดู การที่มีครูที่ดูมีอารมณ์ขึ้นลงเหมือน"คนปกติ" ทำให้ฉันไม่ให้ค่า"อารมณ์ลบ" เช่น หงุดหงิด โกรธ นอยด์ ว่าเป็นเรื่องลบ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น คือ พอเราปฎิเสธมัน มันก็เลยสำคัญกว่าเดิม ร้ายกว่าเดิม ครูภาวนาเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่พระพุทธรูป และเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าฮีจะเป็นด้วย

พี่ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของฮีมานานบอกว่าแต่ก่อนฮีเหวี่ยงกว่านี้!?! แต่พวกพี่เค้าไม่สนใจ เค้ารู้สึกว่าครูตั้มเข้าใจพวกเค้าจริงๆ  อัศจรรย์!

เข้าใจละ ตอนที่ตั้มบอกว่าพุทธแบบไทยๆ มุ่งให้คนเป็นนักบวช ไม่ใช่ฆราวาส ถึงจะสอนโดยฆราวาสก็เป็นคนที่พยายามทำตัวเป็นนักบวช คำที่ตั้มพูดบ่อยๆ คือ วัชรยาน decentralizes Buddhism. คล้ายว่าการภาวนาสายนี้รองรับวิถีชีวิตฆราวาส

ถ้ายิ้มแล้วจะดูดี
อ้อ.. ฉันชอบคนในคอร์สภาวนานี้มาก คุยกันจนเริ่มสนิทอ่ะ  แต่ละคนดูมีตำนานเป็นของตัวเองดี มีพี่สาวคนหนึ่ง แต่งตัวเปรี้ยว ชอบ นางบอกว่านางชอบสายนี้เพราะยอมรับเรื่องราวที่นางเคยทำ ซึ่งก็ไม่ใช่นางเอกตลอดเวลา นางเคยไปวัดอื่นๆ ตอนฟังพระเทศน์แล้วรู้สึกว่าตัวเองคงตกนรกแน่ๆ แต่สายนี้มีที่ว่างสำหรับเขา  ฉันก็..เอาอีกแล้ว..ศีลธรรมกดทับคนอีกแล้ว Dehumanizing...

ครูสั่งการบ้านให้วาดรูประบายสีเทพแห่งดอยหลวงเชียงดาวด้วย ฉันวาดตั้งแต่อยู่ที่นั่นละ แต่ไม่ได้ระบายสี ว่าจะให้หลานช่วยทำให้

ชอบโพสนี้ ยาวดี ดูมีชีวิตดี ใช้เวลาเขียนนานมาก เพราะต้องเรียบเรียงว่าจะพูดอะไร

ส่งโพสนี้ให้พี่น้องอ่าน นางตอบกลับมาว่า...

อ่านสนุก เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปอาทิตย์ที่แล้ว นึกๆ ดู แค่อาทิตย์เดียว ทุกอย่างก็มลายหายไป เคยมีครูคนนึงที่โน่นพูดระหว่างคอร์สภาวนาว่าสิ่งที่เราทำอยู่วันนี้ อีก 2-3 วันนับจากนี้ ทุกอย่างก็หายไปไร้ร่องรอย เป็นอีกแง่มุมนึงของความว่างที่น่าสนใจ

พี่น้องคือคนซ้ายสุด
ไม่คิดว่าตัวเองเป็นครูรองนะ แต่เป็นคนมาช่วยครูตั้มมากกว่า ส่ิงที่เราไปเรียน เมื่อเทียบกับที่ครูตั้มไปเรียนก็น้อยมาก แต่สิ่งที่เรามีน่าจะเป็นความทุกข์ใหญ่หลวง เมื่อได้กระบวนการเรียนรู้ที่ปลุกเร้าให้เรายอมรับทุกด้านของตัวเอง มันกลายเป็นความอ่อนโยน ความเปิดกว้าง การยอมรับที่จะเป็นตัวเราอย่างถึงที่สุดที่ดูเหมือนเราเองเพิ่งเริ่มเข้าใจ มั่นใจ และวางใจ ส่วนตัว รู้สึกว่าตัวเองก็เหมือนคนอื่นๆ นี่เองมั๊งที่ทำให้หญิงรู้สึกว่าเราแขร์ความรู้สึกตัวเองเยอะ

ตอนที่คุยเรื่องไมตรี สิ่งที่น่าสนใจมากคือการถามตอบ สำหรับตัวเองซึงไม่เคยสอนใคร วันๆ ทำงานคนเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเองเป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึงจริงๆ เราสามารถตอบไปได้เรื่อยๆ โดยไม่หวังว่าต้องไป convince ใคร ไม่กลัว ไม่ panic ไม่หาเหตุผล แค่พูดสิ่งที่มันเป็น คิดว่าโมเมนต์นั้น สายธรรมกำลีงพูดผ่านเราอ่ะ

ถ้าการภาวนาที่ผ่านมาทำให้หญิงและเราทุกคนได้เข้าใกล้ความเป็นตัวเราอีกนิด แค่นี้ก็โคตรขอบคุณครูบาอาจารย์


Comments