ยามเช้าที่สวนข้างๆ Credit รูป: น้องเอฟ |
พันพรรณเป็นสวนอยู่ริมเขาขนาด ๒๐ ไร่ ที่บ้านแม่โจ้ แม่แตง เชียงใหม่ เข้าไปจากถนนใหญ่ลึกเหมือนกัน เป็นที่ๆ อยู่ในเขตชลประทาน มีคลองส่งน้ำไหลผ่าน น้ำดี ที่ดินอยู่บนเนินซะเป็นส่วนใหญ่ ที่ราบก็เอาไว้ทำบ่อ ทำแปลงผัก บ้านพักและอาคารจึงอยู่บนเนิน เดินแล้วรู้สึกเหมือนขึ้นเขาตลอดเวลา
คอร์สนี้มีคนมาร่วม ๓๐ กว่าคน หลากหลายอาชีพและอายุ ตอนที่ให้แนะนำตัวเอง หลายคนบอกว่ามาเพราะอยากทำบ้านดิน บางคนก็อยากไปทำสวนของตัวเอง เราไม่ได้อยากทำบ้านดินเพราะมีบ้านอยู่แล้ว แต่พอมาเรียนวิธีทำ ก็พบว่ามันมีเสน่ห์ เหมือนทำของใช้เอง Customize ให้ไม่เหมือนใคร ประโยชน์หลักของมันคือทำใช้ได้เอง จากวัสดุที่ๆ ไหนก็มี ไม่ต้องตัดไม้ ระเบิดภูเขา ราคาถูก ไม่ต้องเป็นหนี้เพราะทำบ้าน ใช้แรงเป็นหลัก และค่อยๆ ทำคนเดียวได้ ก็ทำอิฐจากดินไปเรื่อยๆ แต่ถ้าทำกันหลายๆ คนก็สนุกมาก ในแง่การนำกลับมาใช้ใหม่ก็ดีมาก คือ ทลายบ้านลงแล้วก็ได้ดินเหมือนเดิม ปัญหาหลักของบ้านดินคือปลวก เค้าเลยให้เทคาน ก็คือฐานบ้านนั่นเอง
กับนาง (คนขวา) |
พันพรรณทำแต่อาหารมังสวิรัติเป็นหลักจากผักที่ปลูกที่สวน มีไข่และปลาบ้าง แต่น้อย กินพร้อมกัน ให้สัญญาณโดยการเคาะระฆัง ก็คล้ายชูมัคเกอร์อีก คล้ายวัดนั่นแหละ อาหารอร่อยมาก ขนาดเด็กวัยรุ่นที่ปกติไม่กินผักยังว่าอร่อย
บ้านดินที่พี่นบทำ |
พี่โจบอกว่าสิ่งที่เค้าสนใจเป็นหลักตอนเริ่มทำพันพรรณคือการเก็บเมล็ดพันธุ์ ตอนนี้คนไม่ค่อยปลูกผักกินเอง ไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้เมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านค่อยๆ หายไป ในที่สุดอาจจะสูญพันธุ์ ฺความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และการไม่เก็บเมล็ดไว้ ทำให้ต้องไปซื้อ หมายความว่าเราให้สิทธิการครอบครองชีวิตเหล่านี้กับบริษัทใหญ่ๆ
สิ่งที่เราประทับใจมากที่สุดที่พันพรรณคือคน ที่เป็นแรงบันดาลใจมากๆ คือพี่โจ (naturally อ่ะนะ) เค้าก็คงมีจุดเปลี่ยนหลายครั้ง ผ่านการทดลองด้วยตนเองมา เค้าเป็นคนที่มีการศึกษาน้อยอีกคนหนึ่งที่เราพบว่าฉลาดมาก อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรียบเรียงความคิดและนำเสนอให้เข้าใจได้ง่าย เค้าเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก ใช้ตัวอย่างประกอบเรื่องที่เล่า ทำให้เราเห็น Get อย่างมากๆ
คุณเต๋า จากสมุทรสาคร หนุ่มเซอร์ที่นุ่งโสร่ง only สอนเราใช้แบบทำอิฐดิน |
พี่เค้าบอกให้เราลองทำเองดู อย่าเชื่อในสิ่งที่เชื่อตามๆ กันมา ให้สังเกต ให้ตั้งคำถาม ให้ทดลอง ยังกับเรียน Research methodology ระเบียบวิธีวิจัย อยากเอานิสิตปริญญาเอกมาเข้าคอร์สจัง พี่โจน่าจะสอนเรื่องนี้ได้ดีกว่าพวกเราที่จบเอกมา ฟังเค้าพูดแล้วทำให้ทบทวนกระบวนการคิดของตัวเอง บางทีก็รู้สึก Cynical ว่ากูไปเรียนทำไมตั้งไกลและตั้งนานวะเนี่ย
ตัวอย่างที่ชอบมากคือเรื่องการปลูกถั่วเพื่อปรับปรุงดิน ตอนได้ที่ดินผืนนี้มา มันเป็นเขาหัวโล้น ตำราเกษตรเค้าบอกให้ปลูกถั่ว พี่เค้าก็ปลูก ปรากฎว่าได้ผลน้อยมากเพราะดินแย่ พี่โจก็สังเกตว่าอะไรขึ้นได้ดีแถวนี้ ซึ่งก็คือหญ้าคอมมิวนิสต์ (หญ้าที่สูงจนคอมมิวนิสต์ซ่อนตัวได้ละมัง) พี่เค้าก็ปลูก พอมันขึ้นสูง ก็ตัด ให้ใบหญ้าเป็นปุ๋ย เป็นสารอินทรีย์คลุมหน้าดิน ทำซ้ำจนดินเริ่มดีขึ้น พอปลูกอะไรได้ พี่เค้าบอกว่าหญ้าไม่ใช่ศัตรู แต่ช่วยคลุมหน้าดิน การตั้งคำถามกับทุกอย่าง การสังเกต ทำให้เรานึกถึงคนแต่ง Freakonomics
พี่โจเน้นเรื่องความเรียบง่าย อย่าทำอะไรให้มันยุ่งยาก เหมือนเป็น Common theme ในทุกสิ่งที่ทำ
อย่างอื่นที่เรียนก็เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำแปลงผัก การเก็บเมล็ดพันธุ์ การทำโยเกิร์ต การทำน้ำหมัก (กล้วยหมักและ Kombucha) วิธีการทำดูตรงไปตรงมามากจนเราอยากทำปุ๋ยหมักเอง จะได้ไม่ต้องทิ้งใบไม้
พันพรรณมีคลิปวีดีโอบน YouTube สอนการทำนั่นนี่ด้วย เช่น สบู่ ถ่าน (อันล่างนี้) โยเกริต อินเตอร์มากมี English subtitles...
พอเขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็นึกถึงพระอาจารย์ตุ้ม พระสันติพงศ์ เขมปัญโญที่วัดป่าสุคะโต ที่พี่โจทำ ท่านตุ้มก็ทำ: เก็บเมล็ดพันธุ์ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ รู้เรื่องสมุนไพร ซ่อมของ ลดขยะ แถมเย็บผ้าได้ด้วย แล้วก็รู้สึกว่าเราโชคดีมากที่ได้รู้จักคนเหล่านี้
Comments